ผ้าโบราณ 'จวนตานี' มรดกประวัติศาสตร์ที่ถูกลืม


ผ้าจวนตานี

ผ้าโบราณ ‘จวนตานี’ มรดกประวัติศาสตร์ที่ถูกลืม

 ความเป็นมา

           ผ้าลีมาหรือผ้าจวนตานีนี้ จัดเป็นผ้าของชนชั้นสูงและมีราคาแพง เดิมเป็นที่นิยมมากในจวนปัตตานี แต่ได้ยกเลิกการทอไปเมื่อประมาณรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  โดยใช้วิธีนำเข้าจากรัฐกลันตันและตรังกานูของมลายูแทน จนกระทั่งเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง ข้าวยากหมากแพง การติดต่อมีอุปสรรค ผ้าลีมานำเข้าจึงไม่มี และหันมาทอผ้าชนิดนี้กันใหม่

จุดเด่น  สีสันสวยงาม สะดุดตา เชิงผ้าจะมีสีแดงเข้ม มีลวดลายวิจิตรพิสดาร

สถานที่ติดต่อ  นางสาวสมนึก พรหมสุข  กลุ่มทอผ้าจวนตานี 

 “นุ่งยกตานีทองช่องไฟ   ห่มสไบชมพูชูศรี     นั่งเอี่ยมเยี่ยมคอยนาที   พอค่ำสองศรีก็ลีลา”

          พระราชนิพนธ์ สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก , 2514: 145 ดาหลัง ตอนมิสาประหมังกุหนิงกับมิสาหยัง    สาหรี่ออกตามกุดาวิราหยา ได้เมืองบาหลี บรรยายว่าตัวละครนั้นนุ่งผ้ายกตานี

          ผ้าจวนตานี ซึ่งมีรากศัพท์จากภาษามลายู “จูวา-ตานี” มีความหมายว่า ร่อง หรือ ทาง เป็นผ้าที่มีเอกลักษณ์ลวดลายการถักทอเฉพาะถิ่น ซึ่งเป็นผ้าโบราณที่เคยสูญหายไปแล้วชั่วระยะเวลาหนึ่ง

          จากรายงานเรื่องผ้ากับวิถีชีวิตชาวไทยมุสลิมใน 5 จังหวัดชายแดนใต้ของประเทศไทย ของ ผศ.จุรีรัตน์ บัวแก้ว นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (มอ.ปัตตานี) ระบุว่า พบหลักฐานว่ามีผ้าลีมา (จวนตานี) ซื้อขายกันในสมัยกรุงศรีอยุธยา เรื่อยมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

          “ในอดีตคนอิสลามไม่นิยมนุ่งไหม ผ้าไหมจะเป็นผ้าของคนมีเงินคนชั้นสูง ส่วนผ้าฝ้ายสามัญชนคนธรรมดาจะนุ่งห่มกัน เพราะผ้าไหมจะมีราคาแพง แต่ตอนนี้เป็นชนชั้นกลางที่นิยมนุ่งห่ม โดยมีการส่งเสริมให้ผลิตฝ้าย เนื่องจากมีราคาต่ำกว่า ผืนละไม่กี่ร้อย ซึ่งทางจังหวัดได้มีการรณรงค์ให้ข้าราชการสวมใส่ 1 วันต่อสัปดาห์”

           “นุ่งจวนตานีสีตอง   ยกเป็นตะเกียงทองเฉิดฉาย   พระนุ่งให้เฟื้อยเลื้อยลอยชาย   คาดปั้นเหน่งสายลายทองเรือง”

          ครั้งหนึ่ง สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรผลงานวิจัย เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2542 และทรงมีพระราชเสาวนีย์ว่า “ผ้าไหมลีมาสวยงามมาก สมควรที่จะค้นคว้าทดลองต่อไป”

          ผ้าจวนตานี ที่ถูกปลุกฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง ยังรอคอยความหวังสร้างเศรษฐกิจท้องถิ่นเพื่อกระจายรายได้สู่ชุมชน หากสถานการณ์ความไม่สงบยังคงยืดเยื้อ ชาวบ้านอีกหลายครัวเรือนก็คงต้องลำบากต่อไป

          “ศรีประจันครั้นแลเห็นลูกสาว   กูนี้หัวหงอกขาวมันพ้นที่

           จะตกแต่งตัวไปทำไมมี          คว้าผ้าตานีห่มดอกงำ”

           ผ้าจวนตานี หรือผ้าลีมา เป็นผ้าที่มีชื่อเสียงของปัตตานี เป็นผ้ามัดหมี่โบราณประเภทผ้าปูม ลักษณะ เป็นผ้ายาวหรือผ้าปล่อย คล้ายผ้าขาวม้า ลวดลายในศิลปะแบบชวา-มลายู คล้ายกับลายในเชิงผ้าปูมเขมร มี ลวดลายสวย สะดุดตา งามเด่น และมีราคาแพง พบเห็นได้ที่กลุ่มทอผ้าจวนตานี หมู่ที่ 3 ตำบลทรายขาว อำเภอ โคกโพธิ์ นอกจากนี้ ยังมีการทำผ้าบาติก ผ้าคลุมผมสตรี และหมวกกะปีเยาะห์ในจังหวัดด้วยส่วนราษฎรอำเภอไม้แก่นทอผ้าฝ้ายลายลูกแก้ว ลายราชวัตร ลายเหลี่ยม ลายพิกุล ลายพุดซ้อน และลายปีกนก

           ผ้าไหมมัดหมี่ลายจวนตานี สินค้าแห่งภูมิปัญญารางวัล “นกยูงพระราชทาน” นับเป็นผ้าทอพื้นเมืองจากภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่สะท้อนตัวตนของชาวปักษ์ใต้ได้อย่างชัดเจน เป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นที่ยากจะหาสินค้าชนิดเดียวกันจากแหล่งใดเสมอเหมือนอย่างยิ่ง“จวนจูวา”ลายทักทอที่ปรากฏบนผืนผ้าที่กั้นระหว่างตัวผ้าและหัวผ้าโดยคำว่า จวน จึงเป็นดั่งตราประทับที่บ่งบอกว่าเป็นผ้าที่ผลิตจากเมืองปัตตานีเท่านั้นและกลายเป็นที่มาของการเรียกขานกันติดปากว่า “ผ้าทอลายจวนตานี”

           “จากความพากเพียรในการอนุรักษ์ศิลปะท้องถิ่นจากภูมิปัญญาวันนี้ ทำให้กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองภาคใต้ลายจวนตานี ได้รับเครื่องหมายตรา นกยูงพระราชทาน คือ นกยูงสีทอง Royal Thai Silk, นกยูงสีน้ำเงิน Thai Silk และนกยูงสีเงิน Clasisc Thai Silk ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจเป็นที่สุดสำหรับสมาชิกทุกคน” นัชฎาภรณ์ กล่าวด้วยความภาคภูมิใจ

วัสดุที่ใช้ในการทอผ้า

 ไหม  ฝ้าย  ใยสังเคราะห์  ด้ายโลหะหรือดิ้น  สีย้อมผ้า

วิธีการทำ

          การทำผ้าจวนตานีเป็นงานอาชีพเสริมของกลุ่มแม่บ้านอำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี เพื่อสืบสานงานตามโครงการศิลปาชีพในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ การทอจะมี 3 แบบคือ

          1. การทอแบบธรรมดา ซึ่งเป็นการทอที่ไม่มีเทคนิคพิเศษ ความสวยงามของผ้าจะอยู่ที่การวางเรียงเส้นด้ายที่ผ่านการย้อมสีต่าง ๆ ตั้งแต่ 2 สีขึ้นไป การทอแบบธรรมดาจะแบ่งเป็น 2 แบบคือ ทอแบบ 2 ตะกรอ ซึ่งจะมีการทอแบบลายขัด และการทอแบบ 4 ตะกรอ จะเป็นลายรูปสี่เหลี่ยมในผ้า

          2. การทอแบบมัดหมี่ เป็นการทอที่ต้องมัดด้วยเชือกไนลอน หรือเชือกกล้วยให้เป็นลวดลายต่าง ๆ แล้วนำไปย้อมสีตามต้องการ นำมาทอเป็นผืน ซึ่งต้องอาศัยความแม่นยำในการจัดวางเส้นด้านเข้าฟืม และการพุ่งเส้นด้าย

          3. การทอแบบยกดอก การทอต้องใช้เทคนิคการคัดเก็บลายด้วยไม้เรียวปลายแหลม ตามลวดลายที่กำหนด จนครบลายคัด ยกเส้นเป็นจังหวะลวดลายเฉพาะแล้วสอดพุ่งไปในแนวนอน ทอกระทบตามลายที่คัดไว้จนเต็มลาย การทอผ้ายกความยาว 3 หลา ต้องใช้เวลาถึง 3 เดือน ผ้ายกจึงเป็นผ้าที่ใช้ในโอกาสพิเศษเท่านั้น

 การประยุกต์ใช้

          ผ้าจวนตานี เป็นผ้าโบราณที่ใช้ในแถบภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทยเป็นผ้าที่มีความงดงาม สันสันแปลกตาและมีลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น เรียกว่า ล่องจวน ปรากฏอยู่ในผืนผ้าทุกผืน ปัจจุบันกำลังได้รับการส่งเสริมให้กลุ่มสตรีในท้องถิ่นได้รวมกันทอขึ้นเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน ใช้ในงานพิธีต่าง ๆ และเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักกันทั่วไป

          ผ้าจวนปัตตานี หรือ ผ้ายกตานี หรือ ผ้าล่องจวน  เป็นผ้าพื้นเมืองดั้งเดิมแบบหนึ่งของปัตตานี และจังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ คือ มีสีล่องหรือลวดลายตามชายผ้า หรือที่ริมผ้า ช่างทอผ้าชาวเมืองปัตตานีรุ่นเก่าๆ เรียกผ้าดังกล่าวว่า "จูวา" จูวา หมายถึง ลวดลายที่ปรากฏอยู่บริเวณชายผ้าทั้งสองด้าน หากลวดลายวางเป็นแนวอยู่ในช่องขนานมีลักษณะเป็นร่องริ้วเรียกว่า "ล่องจูวา" ลายจูวาส่วนอื่นเป็นลายที่ใช้กรรมวิธีมัดหมี่ รูปแบบของลายจูวามีหลากหลายลักษณะ ผ้าที่เป็นลายจูวาเต็มผืนเรียกว่า "ผ้าลีมา" เป็นผ้าชั้นสูง ต้องใช้ความประณีต มีราคาแพง สำหรับกรณีที่เอาลายจูวาไปทำเป็นลายผ้าที่ตำแหน่งสะโพก(ปาต๊ะ) เรียกว่า "ปาต๊ะจูวา" หากเป็นโสร่ง เรียกว่า "ผ้าโสร่งปาต๊ะจูวา" ผ้าโบราณที่พบในปัตตานีพบว่า ผ้าโบราณมีหลากหลายแบบทั้งกรรมวิธีกาทอ เทคนิคพิเศษหรือวิธีการผลิตลวดลาย และ วัสดุหรือเส้นใยที่นำมาใช้

          สมัยอยุธยาและต่อมา เมืองไทยกลายเป็นตลาดผ้า พ่อค้าชาวอาหรับ เปอร์เซีย อินเดีย จีน และชาวยุโรปต่างนำสินค้าผ้าของตนเข้ามาจำหน่ายตามเมืองท่า โดยเฉพาะที่เมืองตานี ได้ชื่อว่าเป็น "แหล่งรวมสินค้าผ้าไหมชั้นนำนอกเหนือจากกวางตุ้ง" จึงเกิดมีผ้าแปลกแผกชนิดมีชื่ออย่างเทศและไทยมากมาย เช่น ผ้านุ่งซึ่งเป็นที่นิยมกันทั้งหญิงและชาย เพิ่งมาเลิกในปลายสมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ได้แก่ ผ้าที่ทอด้วยไหมล้วนๆ เรียกว่า ผ้าไหม ถ้าทอยกเป็นดอกแลดูเด่นด้วยไหมต่างสีเรียกว่า ผ้ายก ผ้าที่ให้มีลวดลายเต็มทั้งผืนผ้า เรียกว่า ผ้าปูม ถ้าทอเกลี้ยงๆ ไม่มีลาย เรียกว่า ผ้าม่วง ถ้าทอมีเชิง เรียกว่าผ้าม่วงเชิง ถ้าทอด้วยไหมปนเส้นด้าย เรียก ผ้าด้ายแกมไหม แต่ถ้าทอด้วยด้ายล้วนไม่จำกัดสี เรียก ผ้าพื้น ผ้าที่ทอประกายด้วยเส้นลวดทอง เรียก ผ้าทอง ถ้าทอเป็นดอกเรียก ผ้ายกทอง ผ้ายกตานีเป็นผ้าที่ทอด้วยไหมจากประเทศจีน และใช้เส้นลวดทองเงินจากอินเดีย เปอร์เซีย ทอด้วยฝีมือช่างชั้นดีจึงเป็นที่นิยมกันแพร่หลาย สาเหตุต้องเลิกทอ เลิกใช้ผ้าพื้นเมือง สรุปได้ว่าการช่างฝีมือเราไม่ด้อยไปกว่าชนชาติใด แต่ขาดผู้ผลิตวัตถุดิบ ต้องซื้อไหมเส้นลวดทองเงินจากต่างประเทศ และถูกพ่อค้าคนกลางขายวัตถุดิบและรับซื้อผ้าเอาเปรียบราคาของผ้าที่ผลิตออกมาต้นทุนสูงกว่าผ้าที่ผลิตจากต่างประเทศ เลยต้องเลิกกิจการ

          ปัจจุบันสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ  ทรงมีพระราชดำริให้รื้อฟื้นเพื่อส่งเสริมอนุรักษ์และเผยแพร่การใช้ผ้าจวนตานีขึ้นมาใหม่

คำสำคัญ (Tags): #ผ้าจวนตานี
หมายเลขบันทึก: 445029เขียนเมื่อ 20 มิถุนายน 2011 14:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

จะมีรูปมาให้ได้ยลมั่งไหมครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท