ร่มไม้ ลานบ้าน-ลานใจ : วงสนทนาด้วยหัวใจในวิถีชาวบ้าน


เมื่อวานวันอาทิตย์ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ระหว่างร่วมจัดงานรำลึก ๑๐๐ ปีชาติกาลหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ และนั่งเจริญสติไปกับการฟังปาฐกถาธรรมและเสวนาวิชาการเพื่อเป็นอาจาริยบูชาและเรียนรู้การเจริญสติภาวนาเพื่อสะท้อนไปสู่การทำงานและการดำเนินชีวิต ระหว่างนั่งฟังก็รู้สึกดีและนึกถึงหลายท่านในมหิดลที่อยากให้ได้มาร่วมกิจกรรมด้วยกัน นึกถึง ดร.โอภาส ปัญญา ซึ่งเคยอยู่คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ และได้ไปเป็นนักวิชาการอิสระแล้ว และนึกถึง ดร.โสฬส สิริไสย สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย สองกระบวนกรการทำ dialogue นึกถึงอาจารย์เอี่ยม ทองดี ครูอาจารย์และนักวิจัยแนววัฒนธรรมชุมชน สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย ทั้งสามท่านมักชอบกิจกรรมที่เป็นการพัฒนาความคิด งานสร้างสรรค์ชุมชน และการทำงานบนชีวิตด้านใน มีกิจกรรมดีๆอย่างนี้ที่ไหนก็มักได้ชวนเชิญและบอกกล่าวกันให้ทราบ

อาจารย์ ดร.โสฬส สิริไสย ซึ่งเคยเขียนหนังสือ dialogue พากย์ไทย ย่อยแนวคิดและองค์ความรู้ของเดวิดโบห์มมาเล่าให้ผู้คนที่สนใจได้เข้าถึงอย่างลึกซึ้ง ณ เวลานี้กำลังทำหนังสืออีกเล่มที่เกี่ยวกับ dialogue และบอกว่าอยากได้รูปหน้าปกเป็นรูปวาดลายเส้นของผมซึ่งนับว่าให้เกียรติมากอย่างยิ่งที่จะได้ทำหมายเหตุความทรงจำด้วยกันในชิ้นงานที่กลั่นออกมาจากชีวิต ผมตั้งใจว่าจะเขียนให้อาจารย์สักวัน

มาเมื่อวาน ขณะกำลังนั่งฟังพระอาจารย์วีระพันธุ์ ชุติปัญโญ และอาจารย์กำพล ทองบุญนุ่ม ห้วงหนึ่งที่ให้เกิดความรู้สึกดีมากนั้น ผมนึกอยากเห็นการทำงานของจิตใจและอารมณ์ตอนนั้นบนการทำงานอะไรสักอย่าง เลยก็นึกถึงการวาดรูปให้อาจารย์,อาจารย์เป็นมิตรผู้พี่ที่ผมรู้จักคุ้นเคยมากว่า ๒๐ ปี ได้มีโอกาสทำสิ่งดีๆด้วยกันหลายอย่าง แต่ตอนนี้ได้ข่าวว่าอาจารย์จะหวนคืนสู่บ้านเกิดเมืองนอนที่อีสาน เลยขอวาดภาพนี้มอบให้อาจารย์เพื่อเป็นหมายเหตุชีวิตด้วยกัน

ภาพร่างด้วยดินสอ

ลงหมึกลายเส้น เคลื่อนไหว ทำสมาธิ และเจริญสติไปกับการวาดภาพลายเส้น

ภาพเสร็จสมบูรณ์

เขียนไปก็นึกถึงไรแดด เสียงจักจั่น เสียงนกร้อง ในบรรยากาศของสังคมหมู่บ้าน บ้าน ที่แวดล้อมด้วยธรรมชาติและวิถีชีวิตชุมชน พยายามหาวิธีบันทึกและถ่ายทอดบรรยากาศในขณะกำลังวาด ที่สุดก็ลองใช้รูปโบสถ์บนเชิงเขา และนก แมว ที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่แห่งความปลอดภัยและเต็มไปด้วยพลังความงอกงามของชีวิต 

ลานบ้าน ร่มไม้ วงสนทนาด้วยหัวใจและอย่างเป็นธรรมชาติ กระบวนการทางสังคมที่เหมือนกับเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางวัฒนธรรม dialogue ในวิถีชีวิตของชาวบ้านในท้องถิ่นและภูมิภาคต่างๆ.

หมายเลขบันทึก: 448587เขียนเมื่อ 11 กรกฎาคม 2011 17:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

บรรยากาศ ดีมากมาก นำอาหารมาฝาก จะได้แซบครับ

คารวะอาจารย์หมอ JJ ครับ

  • จากถิ่นอีสาน มาอยู่ชายเล เห็นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นไปด้วย
  • เมื่อก่อนมักเห็นเมนูจากลาบก้อยกับไข่มดแดง แต่ตอนนี้เป็นเมนูปลาเลยนะครับ
  • ทำให้น้ำลายไหล ท้องร้องจ๊อกกกกๆๆๆๆขึ้นมาเลย
  • ต้องหาเหตุไปนอนคุยและล้มทับอาจารย์สักวัน

เรียนท่านอาจารย์ ดร.วิรัตน์ เรียนเชิญครับ ตำนานชีวิต เหลือน้อยนิด แต่หากมีชีวิต ต้องพัฒนา ครับ

  • อาจารย์ happy life มากเลยนะครับ
  • ฟังอาจารย์เล่าตอนเดินทางออกจากกรุงเทพฯไปอยู่ขอนแก่นหลังจบจุฬาฯก็แสนสนุกและเห็นชีวิตทีมีพลัง
  • มาที่บูรพา ก็ดูมีเรื่องราว มีสีสัน
  • มันอยู่ที่การพัฒนาชีวิตจริงๆเลยนะครับ

น่าสนใจมากๆเลยค่ะ ชอบดูเขาวาดรูปเก่งๆ แต่ตัวเองทำไม่เป็น

- อาหารน่าหม่ำที่สุด กำลังหิวเต็มที่เลยอดโพสต์ข้อความไม่ไหว อิอิ

ชอบความเป็นตัวตน ที่อาจารย์ถ่ายทอดได้อย่างถึงแก่นของจิตใจและความรู้สึก มาก ๆ ผมอดคิดถึงไปถึง ...ธรรมชาติ ของคนเราไม่ได้เลย ครับ ถูกหล่อมหลอมมาเช่นไร ...ย่อมแสดงออกเช่นนั้น

ท่านอาจารย์หมอ JJ อ่านการสนทนาของคุณพยาบาลชุมชนแล้วมีอันต้องยิ้มเหมือนผมแน่เลยละครับ
กำลังหิวและเห็นรูปอาหารของอาจารย์ เลยทำให้ต้องเข้ามาโพสต์
นี่ถ้าหากทำให้หายหิวด้วยละก็ ต้องนับว่าเราได้ช่วยกันดูแลคนที่ต้องไปดูแลคนอื่นๆต่อไปอีก ให้พอมีกำลังวังชาฝืนความหิวเพื่อทำงานนะครับ
แต่ว่าอย่าลืมไปกินข้าวจริงๆด้วยนะครับ

ชอบรูปถ่ายทิวทัศน์ยามเย็นนี้อีกแล้วละครับคุณแสงแห่งความดี
ข้อสังเกตของคุณแสงแห่งความดีนี่เป็นหลักของการฝึกฝนการวาดภาพเลยละครับ
การวาดภาพในแนวหนึ่ง นอกเหนือจากการสะท้อนตัวตนจากด้านในแล้ว ภาพแนวบอกเล่าและถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆนั้น ก็เป็นบันทึกประสบการณ์ในการเห็นและข้อมูลชีวิตที่เกิดจากประสบการณ์แบบต่างๆอย่างหนึ่งเลยละครับ เวลาต้องการวาดเรื่องราวต่างๆจึงจะสามารถประมวลผลข้อมูลในหัว ทดลองสร้างภาพให้เห็นก่อนในความคิด พอลงตัวแล้วก็ถึงจะนึกภาพออกและวาดออกมาได้ การมีความทรงจำและการเรียนรู้เรื่องราวต่างๆไปบนเส้นทางชีวิตจึงเป็นวิธีที่ช่วยสะสมข้อมูลทำงานคิดสร้างสรรค์ให้ได้มากเลยละครับ

ภาพฝีมืออาจารย์งดงามเสมอครับ นึกถึงอารมณ์และบรรยากาศเมื่อก่อนๆ ที่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยเห็นครับ..

ให้นึกถึงภาพนี้  เมื่อปลายปีที่แล้ว  ที่บ้านวังน้ำมอก  อ.ศรีเชียงใหม่  หนองคาย

เย็นนี้ทีมเจ้าหน้าที่ภาคราชการอำเภอสระใคร  ก็จะไปตั้งวงคุยกับแกนนำ  ผู้นำชุมชน  ที่บ้านผู้ใหญ่บ้านหมู่ ๒ บ้านหนองบัวเงิน  "โสเหล่" เรื่องราวเพื่อความสุขคนบ้านเรา  ต่อเนื่องจากปีที่แล้ว  ที่ได้ร่วมกันศึกษาชุมชนแบบมีส่วนร่วมกับทีมชาวบ้านแล้ว

ตั้งวงโสเหล่คุยไปเรื่อย ๆ ล่ะค่ะ  เป็นกระบวนการเรียนรู้ระหว่างราชการและชาวบ้าน  ที่จะร่วมลงมือทำกิจกรรมพัฒนาไปด้วยกัน  พยายามจะใช้ความรู้  ภูมิปัญญาและทรัพยากรในชุมชนให้มากเป็นพื้นฐาน

งานนี้อีกนานค่ะ  จนกว่าชาวบ้านจะนิยามความหมาย  แค่ไหน  อย่างไร  ถึงจะเป็นการพึ่งตนเอง  บรรลุความสุข  อยู่ดีมีแฮง...ในมุมของชาวบ้านเอง

สวัสดีครับอาจารย์ธนิตย์ครับ

ผมเองนั้น นอกจากนำมาอวดและแบ่งปันเป็นกำลังคิดให้กันกับผู้อื่นแล้ว ก็ได้พยายามศึกษาไปด้วยครับว่าภาพเขียนและรูปวาดวิถีชีวิตกับชุมชน นอกจากให้ความเพลิดเพลินบำรุงจิตใจทางศิลปะแล้ว ก็เป็นเครื่องมือและวิธีจัดการความรู้ ที่สามารถเข้าถึงประสบการณ์ชีวิตและทำให้ผู้คนนำเอาสิ่งที่บันทึกไว้บนเส้นทางการเติบโตตงอกงามในชีวิต มาสื่อสารทบทวนสร้างประสบการณ์ชุดใหม่เพื่อชี้นำชีวิตให้ดีกว่าเดิมในเงื่อนไขแวดล้อมใหม่ๆของปัจจุบัน ได้ใช้สิ่งที่้ทำได้มาทำงานและสร้างความรู้ แลกเปลี่ยนและร่วมมือกับคนอื่นๆสร้างสิ่งๆเล็กๆน้อยๆให้กับสังคม

รูปชุดนี้ผมกำลังเตรียมจัดแสดงและติดตั้งในบ้านที่สันป่าตอง เพื่อทำสภาพแวดล้อมไว้สุมหัวหรือเป็นเวทีทำงานความคิด เวทีวิชาการ ของเครือข่ายที่มีแนวทางเชื่อมโยงกันได้ จะลองทำดูนะครับอาจารย์ หากได้ผลอย่างไรแล้ว ผมก็อยากให้เป็นเวทีสร้างพลังวิชาการกับพลังความสร้างสรรค์ของคนอื่นๆด้วย เป็นต้นว่า สักวันหนึ่ง ที่อาจารย์ไปทำงานที่เชียงใหม่หรือผ่านไปแถวนั้น ก็หิ้วรูปถ่าย บันทึก และประสบการณ์ติดตัว ไปจัดแสดงและจัดเวทีย่อยๆ ชวนครูอาจารย์ สื่อ คนทำงานศิลปะ คนมหาวิทยาลัยพันธุ์เดียวกัน มานั่งฟังและสนทนากัน ดูงานศิลปะ เล่นดนตรี คุยและชี้นำให้สติปัญญากัน ทำนองนี้นะครับ อาจารย์สะสมไปด้วยนะครับ ไม่ได้ทำด้วยกันก็เสมอตัว แต่ถ้าหากมีโอกาสก็จะได้ทำไปแบบสบายๆเหมือนเดินทางคอนกระเป๋าหิ้วติดตัวและแวะหาพรรคพวกเมื่ออยากแวะ

สวัสดีครับคุณหมอธิรัมภาครับ

  • เป็นบรรยากาศที่อยากบอกเล่าและบันทึกไว้ในรูปเขียนเลยละครับ ดูม่วนหลายแท้
  • คนทำงานในพื้นที่ทางด้านสุขภาพและสาธารณสุขทางภาคอีสานนี่เข้าชุมชนเก่งมากนะครับ เข้าไปถึงทั้งก้นครัวและหัวใจผู้คน
  • ผมได้เข้าไปดูคลิ๊ปการทำงานของคุณหมอ เครือข่ายสหสาขาวิชาชีพ และเครือข่ายชุมชน ที่มีกิจกรรมเหมือนที่เห็นในภาพนี้หลายชุดแล้ว ก็ให้ทึ่งและประทับใจทั้งต่องานและต่อวิธีจัดการความรู้ของเครือข่ายคุณหมอมากครับ
  • ขอเป็นกำลังใจและเป็นกองเชียร์ที่อยู่แถวหน้าเสมอไปด้วยเลยนะครับ

เป็นวงสนทนาที่เปี่ยมด้วยชีวิตชีวาอย่างแท้จริง ด้วยความรักและเคารพอาจารย์เสมอครับ

สวัสดีครับ ดร.ป๊อปครับ
ไปนำเสวนาเวทีมหกรรมสุขภาพชุมชนครั้งที่ ๒ ที่ผ่านมาเมื่อเดือนที่แล้ว
ได้เจอทีมวิจัยของอาจารย์ไปนำเสนอบทเรียนการทำงานในชุมชนเมือง
ก็ได้ความประทับใจ ชื่นชม และคิดถึงอาจารย์อยู่ว่าน่าจะได้ไปร่วมเวทีด้วยอีกคนหนึ่งนะครับ
พวกเราที่มหิดล ศาลายา สบายดีนะครับอาจารย์ รำลึกถึงทุกท่านเช่นกันครับผม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท