ความสุขของงานปฐมภูมิ


คลินิกเบาหวานที่นี่ไม่ใช่การตรวจแบบง่ายๆ ขั้นต้น แต่เป็นคลินิกเบาหวานขั้นเทพ มาตรฐาน สปสช.(เพราะรับเงินส่วนใหญ่จาก สปสช....ฮา ฮา)

 

     ผมมีความสุขที่ได้ออกตรวจคนไข้ที่ สอ.(รพสต.)เครือข่าย เพราะผมได้เจอสิ่งดีๆเสมอ การออกตรวจที่ สอ.ของผมไม่เหมือนเมื่อก่อน ที่ใช้วิธีหมุนเวียนแพทย์ออกไปตรวจ ซึ่งจะเกิดปรากฎการณ์ว่า คนไข้ก็จะรอวันที่แพทย์จะออกมาตรวจ แล้วมาออกันรอตรวจ บางทีตรวจกับเจ้าหน้าที่ สอ.แล้วไม่คักใจ ก้ขอมาตรวจกับแพทย์อีก จนสุดท้ายสภาพไม่ต่างจากการตรวจที่ OPD รพ. คือ แน่น รอนาน ตรวจได้ไม่ละเอียด หรือที่พวกเราเรียกว่า Extended OPD นั่นเอง

   เดี๋ยวนี้เปลี่ยนไปแล้วครับ ผมรับผิดชอบ ๒ ตำบล ประชากรประมาณ ๑๒,๐๐๐ คน มี สอ.ในเครือข่าย ๓ สอ. ผมกับเจ้าหน้าที่ทั้งหมดค่อนข้างสนิทกัน เพราะทำงานด้วยกันมานาน ตอนนี้เกือบๆจะรู้ว่าใครทำอะไรได้ แค่ไหน อย่างไร ผมรู้สมรรถนะของทีม และทีมรู้ว่าผมทำอะไรได้บ้างืแต่ที่สำคัญยิ่งกว่าคือ ประชาชนที่ผมดูแลรู้ว่า ผมรักษาอะไรได้บ้าง และเจ้าหน้าที่ สอ.รักษาแบบไหนได้ดีเท่าผม หรือดียิ่งกว่าผม

   วันนี้เป็นวันเบาหวาน ความดัน ของคำบก แต่คลินิกเบาหวานที่นี่ไม่ใช่การตรวจแบบง่ายๆ ขั้นต้น แต่เป็นคลินิกเบาหวานขั้นเทพ มาตรฐาน สปสช.(เพราะรับเงินส่วนใหญ่จาก สปสช....ฮา ฮา)เราทำได้หมดที่คนไข้พึงได้รับตามมาตรฐาน ตรวจเลือดได้ทุกอย่างเหมือน รพ. ตรวจเท้า ตรวจตา ตั้งแต่หัวจรดเท้าของคนไข้เป็นองค์รวม ไม่แยกว่าเป็นของใคร คนใดคนหนึ่ง มีแต่ว่า มีอะไรบ้างที่เราจะร่วมกันทำให้คนไข้ได้ดีกว่านี้ ผมพบคนไข้ที่นี่อย่างต่อเนื่องมา ๒ ปีกว่าแล้วครับ ไม่นับรวมตั้งแต่มีโครงการศูนย์แพทย์ชุมชน(CMU) ก็เกือบ ๕ ปีแล้วครับ จำประวัติคนไข้ได้มากพอสมควร แต่ยังไม่หมด (สมองมีเนื้อที่จำกัดครับ) ประเภทคนไข้เริ่มเล่าประวัติก็พอนึกอ๋อในใจได้บ้าง ผมมีเวลาคุยกับคนไข้แต่ละคนมากกว่าอยู่ใน รพ.เป็นอย่างมาก และสามารถลดการเข้ารับการรักษาใน รพ.ของคนไข้เขตที่ผมรับผิดชอบได้มากโขอยู่ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเช้ามีคุณลุงคนหนึ่งเป็นความดันมาหลายปี วันนี้ขอรักษาเพิ่มอีกโรคคือ ปวดเข่า ผมตรวจ และอธิบายภาวะของโรคข้อเข่าเสื่อม พร้อมสอนการบริหารข้อเข่าอย่างถูกวิธีซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการรักษา ไม่ง่ายนะครับกับการสอนให้คุณลุงอายุเกือบ ๗๐ เข้าใจและปฏิบัติตาม แต่เวลาที่ใช้ไปเกือบ ๒๐ นาที มันหมายถึง จำนวนครั้งของการไป รพ.ที่ลดลงในอนาคต ของคนไข้ คุ้มเกินคุ้มครับ มีอีกหลายเรื่องที่อยากจะเล่าแต่ต้องเอาไว้รอบหน้าแล้วล่ะครับ...บ่ายผมมีแผนที่จะเยี่ยมบ้านผู้ป่วยมะเร็ง ๒ ราย ผมว่าการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่บ้าน หรือในชุมชน เป็นอีกเรื่อง ที่เราทำได้มากกว่าที่อื่นๆ และมีความภูมิใจที่ทำให้คนไข้ของเราจากไปอย่างสงบ ในวาระสุดท้าย

  

๑๙ ก.ค. ๕๔

       คำบก

 

หมายเลขบันทึก: 452362เขียนเมื่อ 4 สิงหาคม 2011 15:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 13:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เป็นความหวังนะคะหมอ ว่าชุมชนของเราเมื่อไรจะเหมือนที่คำบก หรือ รพ.สต.ปทุม

แต่ทุกอย่างกำลังก้าวเดิินไปในทางที่ดี(กว่าที่ผ่านมา)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท