จาก อ.อุดากร ถึง ตึกกรอสส์ แล้วมา..น้ำตาซึม


บันทึกนี้ มิได้เจตนา เกิดจากความบังเอิญ
ให้เกิดแรงอยากเขียน จนเก็บไว้เขียนพรุ่งนี้ไม่ไหว..
เริ่มจาก ท่าน อ.วิรัตน์ คำศรีจันทร์ ได้กล่าวถึง อ.อุดากร
ข้าพเจ้าจึงเกิดความสนใจว่าท่านผู้นี้คือใคร
เมื่อเปิดเข้าไปดูใน wiki จึงพบว่า..
ท่านเป็นนักเขียน นักศึกษาแพทย์ ผู้อาภัพ และอายุแสนสั้น
เรื่องสั้นเด่น คือ "ตึกกรอสส์" ข้าพเจ้าอยากรู้มาก ว่าเรื่องเป็นอย่างไร
( ถึงตรงนี้ท่านใดเคยอ่าน ช่วยเล่าเป็นวิทยาทานสักนิด จะขอบคุณมากมายคะ)
 

พูดถึงตึกกรอสส์ ข้าพเจ้านึกถึงกลิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ก่อนอย่างอื่น
กลิ่นฟอร์มาลีนฉุนในห้องที่แสงนีออนสว่างจ้า
ร่างอาจารย์ใหญ่สีน้ำตาลเข้ม ที่เหยียดบนเตียงสแตนเลส
หนังสือคู่มือ "Netter anatomy" ที่มีสีน้ำตาลเป็นจ้ำๆ วางอยู่ปลายเตียง
ข้าพเจ้าและเพื่อนอีกสามคน ศีรษะแทบจะชนกัน
เพื่อค้นหา "Recurrent laryngeal nerve"
ต้องค่อยๆ ตัดกล้ามเนื้อออกทีละนิด..
เศษชิ้นเนื้อแต่ละส่วน ต้องเก็บไว้ในถุง
เพื่อรวบรวม สำหรับ วันพระราชทานเพลิงศพ อันทรงเกียรติ

จึงหาคำว่า "ตึกกรอสส์" และ "อ.อุดาการ" และ "อาจารย์ใหญ่" ใน google

ไปๆ มาๆ สะดุดกึกเข้าที่ youtube นี้..

 

นาทีที่ 5.11

พิธีกร "ทำไมถึงอยากมาบริจาค"
ป้าอำนวย "อยากเป็นอาจารย์หมอคะ" ( เหอะๆๆ)
             "และก็..ทำบุญเดี๋ยวนี้นะ เราไม่ค่อยมีเงินทำบุญ..ตรงนี้เขาว่าได้บุญดี ยายก็เลยอยากได้บุญ.. "
พิธีกร "แล้วไม่กลัวเหรอ.."
ป้าอำนวย "ก็กลัวเหมือนกัน กลัวๆ กล้าๆ นี่แหละ เหอะๆ"
...
พิธีกร "แล้วป้ารู้ไหม ว่าคุณป้าเสียแล้วเขาเอาไปทำอะไรบ้าง"
ป้าอำนวย "เขาเอาไปเรียน ไปผ่าดูเส้นในใส้ในอะไร คงอย่างนั้นนะ"
พิธีกร "แล้วป้าไม่กลัวหรือ"
ป้าอำนวย "อ้าว ก็เราตายแล้ว ..ขนาดเขาเผาเรายังไม่รู้ร้อนเลยนะ.. เราตายแล้วจะไปรู้อะไร"
พิธีกร "แต่บางคนเค้ากลัวว่าตายไปแล้ว ตัดแขนไปแล้ว ตัดขาไปแล้ว จะทำอย่างไร"
ป้าอำนวย "อุ๊ๆๆ ช่างเถอะ ชาติหน้าเราเป็นอย่างไรไม่รู้ ขอให้ชาตินี้เราสบายๆ ก็แล้วกัน"
พิธีกร "ก็คือเป็นครูชาตินี้ไม่ได้ ก็ขอให้เป็นครูในวันหน้านะ.."
ป้าอำนวย "ชาตินี้เราโง่ ไปไหนก็ไปไม่ถูก ... ก็เลยอย่ากทำบุญ
             เผื่อเกิดชาติใหม่เราจะได้ดีกว่านี้สักหน่อย.."


...
ข้าพเจ้าน้ำตาซึม..ด้วยความ...ละอาย..

หมายเลขบันทึก: 453533เขียนเมื่อ 12 สิงหาคม 2011 12:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 03:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (33)

อ. ดุอาการ .....นานมากแล้ววรรณกรรมรุ่นนี้

ชอบตึกกรอสส์ที่เขียนโดย อ. อุดากร 

(ผมจำชื่อผู้เขียนผิดหรือเปล่าหนอ) นานหลายปีเหลือเกินที่อ่านมา

ขอบคุณมากครับ คุณหมอ ;)...

เรื่องของการทำความดีในสิ่งที่ดีงามนี่

มันทำให้เราปลาบปลื้มใจจริง ๆ ;)...

สวีสดีครับ คุณหมอ ผมอ่านบันทึกคุณหมอแล้ว ชักติดใจครับ ผมเป็นคนหนึ่งที่ใฝ่ฝันอยากเป็นครูบาอาจารย์ แต่ชีวิตผลิกผัน เลยเป็นได้แค่ครูทหาร เห็นทีต้องเป็นอาจารย์หมอ... เหมือนป้าบ้างแล้วครับ...

ผมชอบอ่านงานของ อ.อุดากร มากครับ โดยเฉพาะ "ตึกกรอส" อ่านแล้วรู้สึกสะเทือนใจมาก

เคยอ่านนานมาแล้ว บรรยากาศในเรื่องเหงาๆ ซึมๆ เศร้าๆ มีกลิ่นอับๆ ลึกลับๆ ยังไงๆชอบกล

ต้องไปหามาอ่านอีกรอบแล้วล่ะครับ

เพิ่งทราบว่า อ.อุดากร เป็นนามปากกา ของ อุดม อุดาการ (2467-2494) นานจริงๆคะ

อ.อุดากร ถูกต้องแล้วคะอาจารย์ (ตามที่เห็นในปกหนังสือ)
แต่เปิดใน internet บ้างก็ว่า อ.อุดาการ
ชีวิตจริงท่านนี้ยิ่งกว่านิยาย 

คะอาจารย์..วิธีการพูด เป็นเอกลักษณ์ชาวบ้านไทยๆ ที่น่ารัก ขณะเดียวกัน ก็ให้แง่ปรัชญา ที่สะท้อนสะเทือนใจทีเดียว

ชื่นชมคะ เพราะคนไทยเรามีน้ำใจเช่นนี้ ทำให้นักศึกษาแพทย์ยังมีอาจารย์ใหญ่ "จริงๆ" ให้ศึกษา  ในประเทศอเมริกา หาอาจารย์ใหญ่ยากขึ้น (คงเพราะต้องเก็บไว้ autopsy ในการ claim ประกัน) นักศึกษาเลยต้องเรียนจากคอมพิวเตอร์แทน ตามข่าวนี้คะ

 

แสดงว่าเป็นหนอนหนังสือตัวจริงเลยนะคะ เห็นในเวบคุยกันว่า หาอ่านยากแล้ว

อ.อุดากร เขียนเรื่องออกมามุมมอง ซึม เศร้า มืดมน
คงเพราะชีวิตท่าน ที่มีวัณโรคคุกคาม จนผิดหวังในชีวิต
..สมัยก่อน ไม่มียารักษาวัณโรคที่ดี
(เคยดูเรื่อง ข้างหลังภาพนางเอก ก็เสียชีวิตจากโรคนี้)
..เสียดาย ถ้าเป็นสมัยนี้ รักษาไม่ยาก -- ลองถาม คุณ"ทิมดาบ" ดูก็ได้คะ

 

  • ในแง่ของการบันทึกภาพสังคม ให้การเรียนรู้โลกกว้างจากประสบการณ์ของปัจเจก และการแปรประสบการณ์ชีวิตใกล้ๆตัวมาสู่การให้ทรรศนะวิพากษ์จากคนหนุ่มสาว(นักศึกษาที่เป็นนักคิดด้วย) ต่อสังคมนั้น ก็มองได้เหมือนกันครับว่า ตึกกรอสส์ ของ อ.อุดาการ เป็นงานวรรณกรรมเพื่อชีวิตและสังคม ใช้งานวรรณกรรมและประสบการณ์ใกล้ตัว มาสื่อสะท้อนถึงสังคมและการสร้างความเป็นผู้(ศึกษาเรียนรู้)มีอุดมคติต่อชีวิตของคนรุ่นใหม่(นักศึกษา)
  • อาจารย์ใหญ่ที่ใช้สร้างอนาคตให้กับคนอีกรุ่นหนึ่งในท้องเรื่องตึกกรอสส์ของ อ.อุดาการนั้น นอกจากผูกปมให้มีความผูกพันกับนักศึกษาที่จะต้องเรียนรู้จากร่างของอาจารย์ใหญ่ซึ่งเฉลยให้สะเทือนใจในตอนท้ายแล้ว ในเชิงสัญลักษณ์นั้น ก็เป็นภาพสะท้อนของสังคมไทยในยุคนั้น ที่การจะต้องริเริ่มและสร้างสรรค์สิ่งดีๆ สิ่งที่จำเป็นให้กับตนเองนั้น ก็จำเป็นที่จะต้องสละตนเองอย่างรุ่นต่อรุ่น เพราะฉะนั้น การได้รับสิ่งต่างๆของคนรุ่นใหม่ หากไม่มีความตระหนักเรื่องนี้ ก็จะทำให้การศึกษาเรียนรู้เป็นความอหังการณ์ของปัจเจก คิดว่าทุกอย่างได้มาจากตนเองอย่างเดียวเหมือนอย่างที่กระแสสังคมทั่วไปมักเป็นอย่างที่เราก็มักได้ทราบกัน
  • ในแง่ของความสร้างสรรค์และการใช้อำนาจทางวรรณกรรมนำเสนอเรื่องที่ลึกซึ้ง สูงส่งต่อสังคมการศึกษาอย่างนี้นั้น เมื่อนึกถึงบอกเล่าและถ่ายทอดโดยนักศึกษาคนหนึ่งของผู้เขียน คือ อ.อุดาการ นี่ ต้องถือว่าคือความงดงามอย่างยิ่งเลยนะครับ
  • ด้านอื่นๆก็น่าสนใจมากครับ ชีวิตของ อ.อุดาการนั้นยิ่งน่าสนใจ ประทับใจ และสะเทือนใจ
  • เลยทำให้ได้รำลึกถึงไปด้วยเลยละครับ แต่ได้อ่านนานมากแล้วเหลือเกินละครับ ที่ยกตัวอย่างและกล่าวถึงนั้น เป็นการคุยติดพันถึงเรื่องทักษะการเรียนรู้และทำสิ่งต่างๆด้วยสมองสองซีก และการถ่ายเทประสบการณ์ในการเรียนรู้แบบข้ามโหมดข้อมูล ซึ่งก็น่าสนใจมากเช่นกันครับ
  • เป็นบรรยากาศการเสวนาที่ได้อรรถรสดีจัง 

อะไรที่อยู่หน้ากระดานดำ หน้าห้องเรียน

แล้วนักดนตรีมาทำอะไรในห้องนี้

  • อ่านหนังสือเล่มนี้ตอนเป็นเด็ก
  • เป็นหนังสือสะสมของพ่อ
  • จำได้ว่าพระเอกต้องผ่าศพพ่อตัวเอง
  • ชอบการเขียนของคุณหมอมาบอกว่า
  • ผมได้บริจาคร่างกายและอวัยวะให้สภาการชาดไทยเช่นกันครับ
  • พบว่าคุณหมอเขียนคำว่าศีรษะพลาดครับ
  • ศรีษะแทบจะชนกัน
  • มาช่วยพิสูจน์อักษร
  • เย้ๆๆ

  • ทำอย่างไรถึงจะอ่านแล้ววิเคราะห์ได้ลึกซึ้งแบบอาจารย์คะ
  • "อหังการณ์ของปัจเจกชน-คิดว่าทุกอย่างได้มาจากตนเองอย่างเดียว" ชอบคำนี้จังคะ..เห็นภาพ ปัจเจกชนที่ยืนบนหลังชาวบ้าน..เขาทะนงว่าตัวเองอยู่สูงกว่า เห็นไกลกว่า แต่ลืมไปว่าเพราะคนที่เขากำลังเหยียบอยู่นั่นแหละ..ทำให้เขาสูง..
  • ท่าน อ.อุดากร นอกจากเป็นตัวอย่างผู้ใช้สมองสองซีกแล้ว ยังเป็นนักสู้ชีวิตที่น่านับถือ
  • ขอบคุณคะ ได้สิ่งดีๆ จาก comment อาจารย์เสมอ

ยากจัง..
เดาว่า มีใครสักคนอยู่ในล้อเข็นหรือเปล่าคะ
ส่วนนักดนตรี ก็กำลังเล่นดนตรีเป็นเกียรติให้เจ้าของร่าง 

อนุโมทนาคะ อาจารย์
ขอบคุณสำหรับพิสูจน์อักษรคะ แก้แล้วพร้อม highlight ครั้งหน้าจะได้ไม่ลืม :-) 

อายุ ๒๗ แต่สิ่งที่ฝากไว้บรรยายไม่ถูกเลยครับ....ขนลุก พลางนึกว่า เอ แล้วเราอายุเท่าไหร่แล้วเนี่ย???

  • ท่าน อ.อุดากร เสียชิวิตขณะอายุ 27 ปีเท่านั้น ชีวิตแสนสั้น กลับฝากผลงานอมตะ เป็นบุคคลที่โชคดีและโชคร้ายในเวลาเดียวกันคะ
  • คุณหมอสีอิฐคะ ถ้าให้เดาจากไฟในการทำงานของท่าน สัก 30 หรือเปล่าคะ ;-)

วงเสวนานี้เหมือนโต๊ะนั่งกินกาแฟกลิ่นหอมละมุน เลยต้องแอบแวะมานั่งฟังไปด้วยครับ การคุยของอาจารย์หมอ CMUpal นี่ทำให้บรรยากาศครึกครื้นดีนะครับ
ตรงของท่าน 'คนบ้านไกล' นี่ ขออนุญาตร่วมคุยด้วย คิดว่าไม่เป็นการเสียความเคารพนะครับ
นี่ถ้าหากยังอยู่ในอารมณ์เดียวกันของหนังสือและการอ่าน และการทำงานของสมองสองซีกแล้วละก็
มุขนี้เป็นมุขของเซียนนักอ่านเลยละครับ ทำให้ผมนึกถึงข้อเขียนของท่านอาจินต์ ปัญจพรรณ ซึ่งเคยได้อ่านนานมากแล้วเหมือนกัน แต่จำไม่ค่อยได้เสียแล้วว่าจากที่ไหน น่าจะจากมติชนสุดสัปดาห์ ท่านนำเอาเรื่องสั้นที่สั้นที่สุดที่ท่านลองเขียนเองและของนักเขียนฝรั่งที่เคยปรากฏ มาเล่าแบ่งปันกัน แต่ละเรื่องจะเป็นอย่างนี้เลย คือมีแค่สองสามประโยค บางทีแค่ไม่กี่วรรค ไม่ถึงบรรทัดเอาด้วย แต่ให้พลังความบันดาลใจได้เป็นอย่างยิ่งครับ

ในแนวของท่านคนบ้านไกลนี่ เป็นแนวเรื่องสั้นหักมุมที่สั้นที่สุดเลยกระมังครับ อีกทั้งเป็นแนวหักมุมที่เล่นกับอำนาจของวรรณกรรมต่อความมีชีวิตอยู่ในโลกความเป็นจริงที่เก๋ไก๋มากครับ คือวรรคแรกเปิดเรื่องเป็นฉากในบรรยากาศของการศึกษา กิจกรรมของการเรียนการสอน การเปิดตัวของตัวเอกหรือผู้เดินเรื่องต่อไป ย่อมทำให้คนคาดหวังว่าจะเป็นเรื่องอะไรสักอย่างที่เป็นเรื่องการค้นพบหรือเรื่องราวสนุกๆของนักศึกษา ครูอาจารย์

แต่เรื่องนี้กลับฉีกออกจากบริบทที่ใช้เปิดเรื่องแล้วไปเดินเรื่องด้วยนักดนตรี แล้วก็กลับทิ้งท้ายให้คนอ่านสร้างเรื่องราวในความคิดคำนึกต่อไปเองอีก ซึ่งย่อมทำให้เป็นเรื่องสั้นและตัวหนังสือที่แต่เดิมเหมือนสิ่งไม่มีชีวิต แยกส่วนเป็นวัตถุชิ้นหนึ่งที่วางอยู่ข้างนอก กลายเป็นเสียง echo ที่เข้าไปอยู่ในชีวิตจิตใจของผู้อ่าน เป็นลูกเล่นที่สนุกและท้าทายการหารูปแบบอย่างนี้ดีครับ

:-O  อ้าปากค้างเลยคะอาจารย์ :-D ยินดีที่มาร่วมวงกาแฟคะ
ภาพนี้สื่อถึง การดำเนินของเรื่องที่มีการหักมุม..

เดี๋ยวรอ คุณคนบ้านไกล เข้ามา G2K เมื่อไหร่จะเชิญมาร่วมวงสนทนา และเฉลยนะคะ

  • ขอโทษที่เข้ามาตอบช้าครับ  เพิ่งกลับจากการเข้าไปปฏิบัติกรรมฐานที่วัดเนื่องในวันแม่แห่งชาติ เข้าวันศุกร์ ลาสิกขาวันอาทิตย์ ไปกันทั้งครอบครัว พ่อแม่และลูกสาวสามคน
  • ท่านอาจารย์วิรัตน์ทำให้ผมอ้าปากค้างเหมือนกันครับ แต่ก่อนจะเฉลย ผมคิดว่าท่านอาจารย์กับผมคงเป็นคนสมัยเดียวกัน เคยอ่านตึกกรอสส์ ของ อ.อุดากรณ์ ตอนเป็นเด็กๆ เคยอ่านฟ้าเมืองไทย เดี่ยวเหมืองแร่  ของ ท่านอาจินต์ ปัญจพรรณ ตอนเป็นนักเรียนชั้นมัธยม 
  • รูปที่ถ่ายมานั้น อย่างที่อาจารย์พูดมานั้นถูกหมด เพราะเป็นบรรยากาศของการศึกษา คือว่ามหาวิทยาลัยแพทย์ที่ลูกสาวจะไปเข้าเรียน เขาอยากจะให้นักเรียนที่เขาตอบรับแล้ว  ตอบมาว่าจะเลือกมหาวิทยาลัยของเขา เพราะนักศึกษาที่เข้าเรียนแพทย์ได้ส่วนมาก ส่วนใหญ่จะได้รับคำเชิญชวนให้มาเรียนหลายมหาวิทยาลัย เลยต้องมีวันเชิญมาให้ดูชมบรรยากาศของจริงๆ ว่าที่นี้เขาเรียนกันอย่างไร  เห็นนักศึกษาตัวจริงเลย
  • พอนักศึกษารุ่นพี่พาพวกนักศึกษาที่ทางมหาวิทยาลัยตอบรับพร้อมทั้งผู้ปกครอง(คนจ่ายเงิน)มาดูห้องเรียน ผมมองเห็นเตียงสแตนเลส ก็ให้มีความสงสัยว่ามันคืออะไร  ลูกสาวตอบว่า Cadaver (อาจารย์ใหญ่) หนึ่ง Cadaver จะให้ใช้ในการศึกษาร่วมกันกับนักศึกษาสี่ห้าคน ศึกษากันก็ประมาณหนึ่งเทอม
  • พอดีมีนักศึกษารุ่นพี่กำลังใช้ห้องเรียนนั้นอยู่ กำลังดีดกีตาร์อยู่คนเดียว นักศึกษาคนที่พามาถามว่าขอมาดูได้มั้ย  เธอตอบว่าไม่ขัดข้อง ตอนนั้นก็เลยมีสองกิจกรรมพร้อมๆกัน  คนบรรยายก็บรรยายกิจกรรมการศึกษาว่าเรียนกันอย่างไร  คนเล่นดนตรี ก็เล่นไป ไม่ได้สนใจ  แต่ยังไม่ทันออกจากห้อง  มีนักศึกษาแพทย์อีกสองคน เป็นนักศึกษาหญิงชาวจีนคนหนึ่ง และนักศึกษาชายชาวอเมริกันคนหนึ่ง ถือไวโอลิน และ Cello มาสมทบกับนักกีตาร์  
  • พอมาพร้อมกันก็เล่นเพลง Classical Music เพราะมาก เพราะพวกนี้คงเคยเล่นดนตรีมาตั้งแต่เป็นเด็ก  แต่จำไม่ได้ว่าเป็นเพลงอะไร
  • คงเป็นเพราะ มหาวิทยาลัยนี้ไม่มีห้องให้เล่นดนตรีโดยเฉพาะหนึ่ง 
  • นักศึกษาเครียดมาก เรียนหนัก อยากจะทำกิจกรรมอื่น เช่นเล่นดนตรีเป็นการผ่อนคลายการเรียนหนึ่ง
  • เล่นดนตรีให้อาจารย์ใหญ่ฟังก็คงจะดีนะครับ  
  • เลยเป็นที่มาของรูปภาพนี้ ไม่รู้ว่าอาจารย์คิด  ภาพนี้สื่อถึง การดำเนินของเรื่องที่มีการหักมุม.. ได้อย่างไร
  • สมกับที่เป็นอาจารย์นักวิจัยจริงๆครับ
  • ผมเอารูปนี้มาถามที่ G2K ตั้งแต่เดือนเมษา  แต่ไม่มีใครเข้ามาตอบ 
  • ดีใจที่ความจริงถูกเปิดเผยเสียทีครับ 

เดาว่า มีใครสักคนอยู่ในล้อเข็นหรือเปล่าคะ
ส่วนนักดนตรี ก็กำลังเล่นดนตรีเป็นเกียรติให้เจ้าของร่าง 

คนที่เป็นหมอเท่านั้นจึงจะตอบคำถามนี้ได้ อาจารย์ตอบได้ถูกแล้ว

ยอดเยี่ยมเลยครับ

เฮ..เจ้าของปริศนาท้าทาย มาเฉลยแล้ว
น่าทึ่งว่า ภาพหนึ่งภาพ สามารถตีความได้หลากหลาย
ขึ้นกับ บริบท ที่ภาพมาประกอบ
ขอบคุณที่ทำให้ได้เรียนรู้ และครึกครื้นนะคะ

ยินดีกับลูกสาวคนเก่ง ว่าที่ คุณหมอ ด้วยคะ :-))

เป็นการสาธิตบรรยากาศการศึกษาให้เห็นเลยนะครับว่าเขาเน้นการศึกษาเรียนรู้อย่างมีความสุขและการพัฒนาออกมาจากด้านในของมนุษย์ เพื่อสร้างหมอที่ไม่ใช่เพียงสามารถรักษาโรคมิติเดียวได้แต่รักษาคนด้วย จัดว่าเป็นการพัฒนาทักษะสมองและกระบวนการเรียนรู้แบบผสมผสานกันทั้งด้าน Concrete concept และ Solf structure วิธีหนึ่งเหมือนกันเลยนะครับ

อันที่จริงผมคิดถึงได้อีกหลายอย่างเลยละครับ หากเป็นกลุ่มสนทนากันเรื่องหนังสือ อ่านมาคุยกัน ดูหนังมาคุยกัน นำประสบการณ์ชีวิตมาคุยต่อยอดความคิดให้กัน เมื่อนำสิ่งต่างๆมาแบ่งปันกันแบบกว้างๆอย่างนี้ ก็จะสามารถใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้น ด้านหนึ่งก็อาจจะเป็นการให้ข้อเท็จจริงว่ามันคืออะไร แต่ถ้าหากคุยกันต่อ ก็จะสามารถใช้เป็นตัวให้ความคิด ซึ่งสมาชิกในวงสนทนา ก็จะสามารถเข้าสู่เรื่องราวต่างๆเพื่อคุย แลกเปลี่ยนทรรศนะ สร้างความรู้ แบ่งปันประสบการณ์ชีวิตกันได้อย่างรอบด้าน ต่อยอดความคิด ดึงความรู้ที่เชื่อมโยงออกไปได้มาแบ่งปันกัน

ที่คิดถึงวิธีเดินเรื่องแบบหักมุม ก็เนื่องจากกำลังคิดค้างไปกับการคิดแบบกระโดดข้ามโหมดกลับไป-กลับมาของสมองสองซีกน่ะสิครับ ในงานศิลปะแบบจัดวางบริบทที่ความหมาย เรื่องราว และความงาม เหล่านี้ มนุษย์ต้องเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมสร้างขึ้นด้วยตนเอง, หรือวิธีให้เงื่อนไขเพื่อให้ปัจเจกเข้าสู่ภาวะบรรลุธรรมด้วยตนเองอย่างวิธีการของเซน, ศิลปะเรื่องสั้งแบบหักมุม ที่ให้บริบทที่เหมาะสมอย่างหนึ่ง สำหรับให้ผู้อ่านสามารถก้าวกระโดดด้วยตนเองเพื่อเข้าถึงภาวะอีกอย่างหนึ่ง ที่อธิบายและนำเสนอด้วยความคิดแบบเหตุผลแล้วมันจะไม่ใช่ หรือเข้าถึงได้ไม่ลึกซึ้ง, รวมทั้งวิธีจิตสิกขาอย่างในวิถีพุทธธรรมที่ต้องกอปรด้วยปรโตโฆษะ กับกระบวนการโยนิโสมนสิการ เหล่านี้ เป็นกระบวนการที่ไม่ต่อเนื่องกันตรงๆ แต่เป็นปัจจัยเกื้อหนุนกันให้เกิดภาวะต่างๆ แบบกระโดดข้ามโหมดได้ ก็เลยคิดว่ารูปภาพของคนบ้านไกล กำลังมาชวนให้สัมผัสดูอีกวิธีหนึ่งด้วยวิธีนำเสนอรูปถ่ายนี้ล่ะสิครับ แต่ก็สนุกและเป็นการทำให้เกิดการได้พูดคุยไปบนความเชื่อมโยงได้รอบด้านดีนะครับ 

หากเป็นกลุ่มสนทนากันเรื่องหนังสือ อ่านมาคุยกัน ดูหนังมาคุยกัน นำประสบการณ์ชีวิตมาคุยต่อยอดความคิดให้กัน เมื่อนำสิ่งต่างๆมาแบ่งปันกันแบบกว้างๆอย่างนี้ ก็จะสามารถใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้น ด้านหนึ่งก็อาจจะเป็นการให้ข้อเท็จจริงว่ามันคืออะไร แต่ถ้าหากคุยกันต่อ ก็จะสามารถใช้เป็นตัวให้ความคิด ซึ่งสมาชิกในวงสนทนา ก็จะสามารถเข้าสู่เรื่องราวต่างๆเพื่อคุย แลกเปลี่ยนทรรศนะ สร้างความรู้

เห็นด้วยคะ :-)

 

ก็เลยคิดว่ารูปภาพของคนบ้านไกล กำลังมาชวนให้สัมผัสดูอีกวิธีหนึ่งด้วยวิธีนำเสนอรูปถ่ายนี้ล่ะสิครับ แต่ก็สนุกและเป็นการทำให้เกิดการได้พูดคุยไปบนความเชื่อมโยงได้รอบด้านดีนะครับ 

คนอยู่เมืองไทยโชคดี มีคนที่ถูกใจ และไม่ถูกใจคุยดัวยมากมาย

ที่นี้หาคนที่ถูกใจคุยด้วยไม่ค่อยได้ เลยไม่มีอะไรจะต่อยอด จะเจอกันส่วนมากก็ที่วัด เพราะต้องไปทำบุญ มีเวลาไม่มากครับ

ไม่ทราบว่าคุณหมอคิดอย่างไร กับชีวิตของคนไทยในอเมริกา

คิดถึงเมืองไทยหรือยัง 

แม้จากไป ใจคงเหงา  สร้างขึ้นจากใจโดยปราศจากคำพูดครับ 

จำได้ว่าอ่านเรื่องนี้ในหนังสือรวมเรื่องสั้น ในเล่มนั้นมีเรื่อง "มอม" ของอาจารย์หม่อมคึกฤทธิ์ด้วย จนป่านนี้ยังไม่ลืมแสดงว่าเล่มนี้ "ฝังลึก" ในสมอง

ตอนเด็กๆชอบเรื่องสั้นมาก เพราะสมาธิน้อย แต่พอหลงใหลสมาธิก็ค่อยๆยาวขึ้นๆ จนกลายเป็นหนอน (หนังสือ) ไปเมื่อไรไม่ทราบ สถิติที่ทำไว้ก็คือ เคยนอนอ่านหนังสือกำลังภายในของพ่อ อ่านทั้งวันทั้งคืน (มีอยู่หนึ่งห้องสมุดเต็มๆ supplies ไม่เคย exhausted) จนเพื่อนพี่สาวที่ชอบมาค้างที่บ้านนึกว่าเป็นง่อย เพราะมาทีไรก็เห็นนอนงอก่องอขิงกอดหนังสืออยู่อย่างนั้นเป็นเดือนๆ ตลอดปิดเทอมใหญ่ จนวันดีคืนดี ผมเดินไปเข้าห้องนอน แกเห็นก็กรี๊ดเล็กๆออกมา ค่อยสารภาพว่าไม่คิดว่าจะเดินได้ และไม่กล้าถามว่าเป็นอะไร ผมก็ไม่ว่าอะไร เข้าห้องน้ำเสร็จก็ออกมานอนอ่านหนังสือต่อไป

การเขียนเป็นการเยียวยาที่ดี เหมาะมากในบรรยากาศที่หาคนฟังดีๆยากขึ้นๆ สมุด หนังสือ เป็นผู้ฟังที่ดี แถมยังสะท้อนออกมาเดี๋ยวนั้น จนบางทีเราก็แปลกใจในสิ่งที่สะท้อนออกมาราวกับเราไม่ได้เป็นผู้เขียน ไม่น่าเชื่อว่าพอเรา "เห็น" ความคิดออกมาเป็นตัวอักษร มันกลับไม่เหมือนตอนความคิดเรายังอยู่ในศีรษะเท่าไรนัก

อ้อ.. อ่านเรื่อง "ตึกกรอส" ครั้งแรกนั้น จัดเป็นเรื่อง "สยองขวัญ" เรื่อง "มอม" ก็ dark พอๆกัน แต่ชอบนิยายทุกชนิดอยู่แล้ว เรื่องผีก็ติด "ปิศาจของไทย" ของอาจารย์เหม เวชกร มาแต่ไหนแต่ไร ติดภาพลายเส้นของท่านด้วย

 

จนเพื่อนพี่สาวที่ชอบมาค้างที่บ้านนึกว่าเป็นง่อย เพราะมาทีไรก็เห็นนอนงอก่องอขิงกอดหนังสืออยู่อย่างนั้นเป็นเดือนๆ ตลอดปิดเทอมใหญ่ จนวันดีคืนดี ผมเดินไปเข้าห้องนอน แกเห็นก็กรี๊ดเล็กๆออกมา ค่อยสารภาพว่าไม่คิดว่าจะเดินได้

อาจารย์เล่าซะเห็นภาพ อย่างกับเรื่องบ้านทรายทอง

555 ได้เป็นชายเล็กด้วยเรา อิ อิ

แจ้งข้อมูลเพิ่มเติม

ผมอ่านงานเขียนของท่าน เมื่ิอประมาณ ปี พ.ศ.  2508 ื หนังสือชื่อว่า.   ชั่วชีวิตของ อ.อุดากร. รวมเรื่องสั้นทั้งหมด   ผมชอบเรื่อง 

ตึกกรอส.มาก.     และเมื่อได้อ่านเรื่อง สันชาติญาณมืด. ผมสะท้านไปทั้งกาย. ท่านแต่งได้ดีมาก ตอนนี้ผมอายุ. 65 ปีแล้ว. ยังชื่อท่านไม่ลืมเลย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท