จำได้ไหมว่ากอดลูกครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ ?


ภาพชายคนนึงเดินหิ้วปีกเด็กชายอายุประมาณ 12 ปีมาที่ ER  เด็กคนนั้นเอาแต่ร้องไห้และมีอาการหายใจเร็ว  เกร็งมือจีบ ชายผู้เป็นพ่อบอกเพียงว่าเด็กออกไปเล่นกับเพื่อนคงทะเลาะกันหรือไม่ก็โดนใครขัดใจมันถึงเป็นอย่างนี้   นิสัยเอาแต่ใจตัวเอง ต้องโดนซะมั่ง......อีกหลายประโยคที่เขาระบายอารมณ์ออกมา    ฉันเลยต้องกันเขาออกไปโดยบอกว่าให้เขาไปยื่นบัตรตรวจที่เวชระเบียนส่วนลูกชายเขาฉันจะดูแลให้ เพราะถ้า ยิ่งโดนพ่อดุเด็กก็ยิ่งเป็นมากขึ้น   ฉันเอาผ้าชุบน้ำเช็ดหน้าตาที่มอมแมมของเขา  และสอนให้เขาหายใจเข้า-ออกช้าๆเพราะถ้าหายใจเร็วๆอย่างนี้เขาจะยิ่งเหนื่อย แต่เขาบอกว่าทำไม่ได้และเอาแต่ร้องไห้ หมอบอกเอาไงดีพี่ ฉันบอกว่าเดี๋ยวพี่ลอง Counseling ดูก่อนถ้าไม่ไหวจะออกมาตามหมอนะ ฉันพาเขาไปนอนพักในห้องเงียบๆ  ค่อยๆชวนคุยเรื่องอะไรง่ายๆเพื่อให้เขาตอบคำถามเพราะตอนตอบคำถามเขาจะหยุดอาการหายใจเร็วถี่ลงไปชั่วขณะ  ช่วงที่เขากลับมาหายใจเร็วฉันบอกเขาว่า

             “  ลองหายใจตามที่บอกนะ หายใจเข้า  หายใจออก ช้าๆ  ใช่อย่างนั้นแหละ  ”

            “  เก่งมากลูกเห็นไหมว่าหนูทำได้  ”        ก็เป็นวิธีการที่ใช้ได้ผลเพราะต่อมาไม่นานเขาก็เริ่มหายใจเป็นปกติ ส่วนอาการเกร็งมือจีบก็ค่อยๆบรรเทาลงภายหลัง  ฉันเคยช่วยเหลือภาวะวิกฤติทางจิตใจของเด็กๆมาหลายคนแต่ละคนต้องใช้เวลาในการพูดคุยและทำความเข้าใจ    หากเรามีเวลาเราจะรู้ว่าการใช้ถุงครอบเพื่อแก้ไขภาวะ Co2 คั่งไม่ใช่สิ่งจำเป็นเลย  เด็กๆต้องการเพียงคนพูดคุยและให้เขาได้ระบายความเครียดในใจ  อาจแนะนำวิธีหาทางออกของปัญหาซึ่งพบว่าส่วนมากไม่ใช่ปัญหาใหญ่ เราช่วยแก้ปัญหาได้ไม่ยากไม่เหมือนผู้ใหญ่ที่มีความเป็นส่วนตัวค่อนข้างสูง  หลังจากเด็กหายเป็นปกติฉันออกไปเจอแม่ของเด็กเลยได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกันถึงชีวิตความเป็นอยู่นิสัยใจคอของเด็กและไม่ลืมจะพูดกับพ่อเกี่ยวกับการดูแลเมื่อลูกมีอาการแบบนี้เพระการดุ ตี บ่น ตำหนิ  คงไม่ช่วยอะไรและลูกเองก็เข้าสู่วัยรุ่นตอนต้น อาจมีอารมณ์แปรปรวนพลุ่งพล่านการให้เวลาแก่ลูกโดยเป็นผู้รับฟังปรึกษาปัญหาต่างๆของเขากับเพื่อนๆก็สำคัญและการให้ความรักโอบกอดเหมือนตอนที่เขายังเด็กก็จำเป็นไม่น้อยไปกว่ากัน  พอฉันถามแม่เด็กว่า

              “  จำได้ไหมว่ากอดลูกครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่  ? ”  แม่ก็ร้องไห้สะอื้อใหญ่บอกว่าพี่รู้ไหมเมื่อวานลูกพูดกับหนูว่า

              “  แม่  อยากกอดแม่ ”  แต่เธอก็ไม่ได้กอดลูกที่สำคัญเธอเพิ่งแยกห้องนอนให้ลูกนอนคนเดียวเพราะเห็นว่าลูกเริ่มโตแล้ว  ฉันเลยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเธอว่าตอนเริ่มแยกห้องนอนอาจค่อยเริ่มทีละน้อยก่อนเช่นแยกเฉพาะจันทร์-พฤหัส ส่วนศุกร์-อาทิตย์นอนกับพ่อแม่  ต้องค่อยๆให้เขาคุ้นชินอย่าไปแยกทันทีเด็กอาจเกิดความขัดแย้งในใจว่าแม่ไม่รักเธอยกมือไหว้บอกว่าขอบคุณนะคะแล้วแม่ลูกก็เดินกอดและหอมแก้มกัน  หลังจากนั้นก็พากันกลับบ้านไป

              “  แล้วคุณล่ะกอดลูกครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่  ?  ”                                        

 โดย อรพรรณ มันตะรักษ์

คำสำคัญ (Tags): #sha#รพ.พิจิตร
หมายเลขบันทึก: 455632เขียนเมื่อ 23 สิงหาคม 2011 13:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 21:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะ

กอดแล้วเมื่อวานนี้

ตอนลูกขึ้นรถจะกลับไปเรียนต่อค่ะ

กอดลูกชายเมื่อคืนที่ผ่านมาตอนไปหาที่หอพักคะ ส่วนลูกสาวหอมแก้ม เมื่อวันก่อน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท