การจัดการสถานะและสิทธิของบุคคล


กรณีศึกษา เด็กหญิงปิยนุช อากาเป

กรณีศึกษา ผู้มีปัญหาสถานะบุคคลในสถานศึกษา น้องนุช: เด็กกำพร้าที่ไร้เอกสารพิสูจน์ตน

ข้อมูลชีวิตของเด็กหญิงปิยนุช อากาเป (ตามคำบอกเล่าของคุณมุก บุตรสาวของผู้อุปการะน้องนุช) คุณมุกเล่าให้ฟังว่า มารดาซึ่งเป็นคนกรุงเทพฯ แต่ไปทำธุรกิจอยู่ที่จังหวัดระนอง ได้รับน้องนุชมาอุปการะตั้งแต่น้องนุชอายุได้ 3 ขวบ โดยในครั้งแรกที่มารดารู้จักพ่อแม่ของน้องนุชเพราะทั้งสองซึ่งเป็นชาวพม่า ได้มาขอเช่าบ้านพักอาศัยอยู่กับลูก ต่อมาพ่อของน้องนุชซึ่งได้ติดเชื้อเอดส์และเป็นวัณโรคได้เสียชีวิตลง แม่ของน้องนุชได้ขอให้มารดาของคุณมุกช่วยรับเลี้ยงนุชด้วย ต่อมาแม่ของน้องนุชก็เสียชีวิต เมื่อ 2 ปีก่อน มารดาของคุณมุก ซึ่งอุปการะน้องนุชได้เสียชีวิตลง คุณมุกจึงพาน้องนุชมาอยู่ที่ศูนย์ช่วยเหลือเด็กกำพร้าของเอกชน ที่จังหวัดนนทบุรี ส่วนน้องนุชเอกก็มีสุขภาพไม่ค่อยดี โดยหมดทั้งที่โรงพยาบาลที่จังหวัดระนอง และโรงพยาบาลที่กรุงเทพฯ ต่างไม่สามารถระบุได้ว่าน้องนุชเป็นโรคอะไร ติดเชื้อวัณโรคเช่นเดียวกับพ่อหรือไม่ ปัจจุบันน้องนุชอายุ 11 ปี กำลังเรียนหนังสือชั้น ป.4 โรงเรียนวัดโพธิ์ทองบนไทยรัฐ ต.บ้านใหม่ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรีและยังไม่ได้รับการสำรวจและบันทึกข้อมูลบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน ทางโรงเรียนจังหวัดระนองไม่รับเข้าเรียนเพราะไม่มีเอกสาร แต่คุณครูที่โรงเรียนวัดโพธิ์ทองบนไทยรัฐต่างบอกว่าน้องนุชเป็นเด็กฉลาด เรียนหนังสือเก่งมาก ได้รับรางวัลทั้งวิชาภาษาอังกฤษและภาษาไทย

ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากข้อมูลดังกล่าวข้างต้นแล้ว แม้ว่าน้องนุชจะเกิดในประเทศไทยหรือไม่ก็ตาม สถานะบุคคลตามกฎหมายไทยของเด็กหญิงปิยนุช อากาเป หรือน้องนุช ย่อมถือได้ว่าน้องนุชไม่ได้สัญชาติไทย เพราะพ่อแม่ของน้องนุชเป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ตามบทบัญญัติมาตรา 7ทวิวรรค1 ของพ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ.2508 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ. 2535 อันเป็นข้อยกเว้นหลักการได้สัญชาติโดยดินแดน อีกทั้งมาตรา 7ทวิ วรรค 3 ส่งผลให้น้องนุชอาจถูกลงโทษทางอาญาเพราะมีสถานะเป็นผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองและอาจถูกส่งตัวกลับออกไปจากประเทศไทย

แต่ก็จะมีปัญหาที่เกิดขึ้นต่อมาก็คือ รัฐไทยไม่อาจส่งกลับได้เพราะไม่มีรัฐใดที่มีหน้าที่รับตัวเด็กดังกล่าว น้องนุชจึงตกเป็นเด็กไร้รัฐไร้สัญชาติโดยสิ้นเชิง

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศ รัฐไทยซึ่งเป็นรัฐที่น้องนุชอาศัยอยู่ในความเป็นจริงย่อมมีหน้าที่ ที่จะรับรองความเป็นบุคคลตามกฎหมายและจะต้องพยายามทำให้น้องนุชมีสิทธิในสัญชาติสักสัญชาติหนึ่ง หรือหากยังไม่เห็นควรที่จะให้สัญชาติ เพราะการผลักดันให้รัฐต้องให้สัญชาติของตนแก่เด็กอาจจะเป็นสิ่งที่ทำได้ยากและใช้เวลา

แต่หากลดระดับลงมาก็ควรจะเริ่มต้นจากการให้รัฐไทยให้สิทธิบางประการแก่เด็กและเยาวชนที่ไร้สัญชาติก่อน กล่าวคือ การให้เอกสารรับรองสถานะบุคคลและการให้สิทธิอาศัยชั่วคราวก็น่าจะเป็นหนทางเยียวยาปัญหาได้ในระดับหนึ่ง

โดยคำนึงถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 4 และมาตรา 30 ในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และความเสมอภาค

การแก้ไขปัญหาควรเริ่มต้นจากการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยใช้อำนาจตามมาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ. คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 นำเรื่องสู่คณะรัฐมนตรีเพื่อขอนโยบายให้เด็กหญิงปิยนุช อากาเปเข้าเมืองอย่างถูกกฎหมาย อันจะทำให้น้องนุชพ้นโทษทางอาญาที่เกิดขึ้นโดยผลของมาตรา 7 ทวิ วรรค 3แห่งพ.ร.บ. สัญชาติ ดังที่กล่าวไว้แล้วข้างต้น การให้สิทธิอาศัยและการรับรองสถานะบุคคลแก่เด็กและเยาวชนไร้สัญชาติ ดังปรากฎในมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2548 ในกรอบยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิบุคคล มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ.2548 ให้สถานศึกษาดำเนินการสำรวจเพื่อจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนและ ระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการสำรวจและจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน พ.ศ. 2548 ข้อ 4 ให้นายทะเบียนอำเภอ และนายทะเบียนท้องถิ่นจัดให้มีการสำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติของบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนที่มีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ขณะสำรวจอยู่ในเขตของสำนักทะเบียนนั้น ๆ

เมื่อพิจารณาจากเอกสารดังกล่าวแล้วจะเห็นได้ว่า น้องนุชเป็นเป้าหมายของการสำรวจและจัดทำทะเบียน เพราะเป็นบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรไทย แต่ไม่มีรายการในทะเบียนบ้าน เพราะไม่ปรากฎหลักฐานยืนยันถิ่นกำเนิดหรือประวัติของบุคคลเพียงพอที่นายทะเบียนจะพิจารณารับแจ้งการเกิดหรือเพิ่มชื่อในทะเบียนได้ เนื่องด้วยเหตุเป็นเด็กกำพร้าที่ไร้รัฐไร้สัญชาติ

และถึงแม้ว่าน้องนุชจะเป็นคนต่างด้าวที่เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายแต่ก็เป็นบุคคลที่รัฐมีนโยบายผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษเพราะเป็นบุคคลกลุ่มที่ 6 อันเป็นเป้าหมายของ ยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิบุคคล กล่าวคือ เป็นคนต่างด้าวที่ไม่สามารถเดินทางกลับประเทศต้นทางได้โดยไม่มีพฤติกรรมที่เป็นภัยต่อความมั่นคง

(ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตุซึ่งแตกต่างจากคณะวิจัยที่ถือว่าน้องนุชเป็นบุคคลตามเป้าหมายกลุ่มที่ 2และ 5 ดังนี้

  • 1. ถ้าจะปรับกรณีข้อเท็จจริงของน้องนุชให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมายกลุ่มที่ 2 คือกรณีเด็กและบุคคลที่เรียนอยู่ในสถานศึกษาของประเทศไทยแต่ไม่มีสถานะที่ถูกต้องตามกฎหมาย(2) สำหรับเด็กที่ยังไม่จบการศึกษาในระดับอุดมศึกษาให้นำเข้าสู่กระบวนการพิจารณากำหนดสถานะตามกลุ่มที่ 1 ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วก็ไม่สามารถปรับเข้าข้อใดได้เลย
  • 2.ถ้าจะปรับกรณีข้อเท็จจริงของน้องนุชให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมายที่ 3 คือกรณีบุคคลที่ไร้รากเหง้า ก็ไม่สามารถปรับข้อเท็จจริงได้เพราะน้องนุชไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนของทางราชการ และไม่ได้อาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลาอย่างน้อย 10 ปี จนกลมกลืนกับสังคมไทย และน้องนุชก็ไม่ได้เป็นบุตรบุญธรรมตามคำสั่งศาลของผู้รับบุตรบุญธรรมสัญชาติไทย
  • 3.ถ้าจะปรับกรณีตามกลุ่มเป้าหมายที่ 5 โดยอิงตามบุพการีของน้องนุชซึ่งเป็นแรงงานต่างด้าวชาวพม่าก็ไม่ชัดเจนเพราะพ่อแม่น้องนุชได้เสียชีวิตไปแล้ว ผู้เขียนจึงปรับกรณีน้องนุชเข้ากลุ่มเป้าหมายที่ 6) จากนโยบายของรัฐบาลดังที่กล่าวไว้ข้างต้นผู้เขียนคิดว่าเป็นนโยบายที่ดี ถ้าสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง ๆ

ซึ่งต้องติดตามต่อไปว่า กรณีของน้องนุชจะเป็นอย่างไร และถ้าเป็นไปได้ก็อยากจะให้กระบวนการทำงานต่าง ๆ เป็นไปอย่างรวดเร็วเพื่อที่จะเข้าสู่สิทธิในการเข้าถึงประโยชน์ต่าง ๆ ได้เพราะน้องนุชเองก็มีร่างกายที่ไม่แข็งแรงควรได้รับวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้องและเหมาะสม

หมายเลขบันทึก: 45619เขียนเมื่อ 21 สิงหาคม 2006 15:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท