ตำนานเดือนสิบเอ็ดล้านนาตอน " ใส่บาตรเป็งปุ๊ดในวันออกวสา ปี 2554"


เืดือนสิบเอ็ดเหนือปีนี้(พ.ศ.2554)ตรงกับวันออกวสาชาวล้านนาร่วมกันใส่บาตรเป็งปุ๊ด

ตำนานใส่บาตรวันเป็งปุ๊ด(เพ็ญวันพุธ)ของผู้คนล้านนาที่มีความเชื่อและนับถือพระอุปคุตมหาเถระเจ้านั้นมีมาช้านาน   จนเป็นตำนานเล่าขานให้ลูกหลานเหลนหลี้หลีบรับมรดกทางวัฒนธรรมอันดีงามนี้  และเป็นวิถีงดงามที่ถือปฏิบัติสืบต่อๆกันมา  หากสนใจลองเข้าอ่านเรื่องพระอุปคุตก็จะพบกับความมหัศจรรย์ของพระมหาเถระทรงฤทธิ์รูปนี้....

เอาละมาปีนี้ วันที่สิบสองเดือนตุลาคมปี พุทธศักราช ๒๕๕๔ ตรงกับจุลศักราช  ๑๓๗๓ ปีร้วงเหม้า(กระต่าย)เป็นวันออกพรรษา ประกอบกับเป็นวันเป็ง(เพ็ญ)วันปุ๊ด(พุธ)ซึ่งเป็นวันที่นิยมใส่บาตรพระอุปคุต ในเวลาราวตีหนึ่งของวันเป็งปุ๊ดนั่นเอง...

พิธีการใส่บาตรเป็งปุ๊ดจะเริ่มตั้งแต่ราวเวลาสองทุ่มของคืนวันอังคารที่ สิบเอ็ดเดือนสิบสองเหนือ ศรัทธาสาธุชนต่างร่วมกันเตรียมดาเครื่องของสักการะสิ่งที่เป็นอาหารมังสะวิรัสเช่น ผลไม้ กล้วยอ้อย   ข้าวสารอาหารแห้ง  ที่จะตักบาตรพระอุปคุตมาร่วมกันที่สถานที่นัดหมายจนถึงเวลาล่วงเลยผ่านยี่สิบสี่นาฬิกาเข้าสู่เวลาเริ่มตีหนึ่งวันพุธที่สิบสองตุลาคม จึงทำการตักบาตรพระอุปคุต..

ปีร้วงเหม้านี้ เกิดเหตุการณ์พิเศษ คือวันพุธที่สิบสองนั้นเป็นวันออกพรรษาพอดิบพอดี จึงเกิดการทำบุญร่วมกันสองอย่างสืบต่อกัน...กล่าวคือเวลาตีหนึ่งทำพิธีตักบาตรพระอุปคุต  พอเวลาตีห้ากว่าๆก็ตักบาตรพระอันออกพรรษา....

ความเชื่อเรื่องการใส่บาตรพระอุปคุตมีตำนานกล่าวกันมาว่า"เมื่อราว พ.ศ.  218  พระเจ้าอโศกมหาราชได้สร้างพระมหาเจดีย์ถึง ๘๔๐๐๐ วัด แล้วอัญเชิญหรือนิมนต์พระมหาอุปคุตเถระจากสะดือทะเลขึ้นมาคุ้มครองพิธีการฉลองงานจนครบ ๗ ปี ๗เดือน ๗ วัน  โดยไม่มีเหตุร้ายในงาน...ด้วยเหตุนี้ผู้คนต่อๆมาจึงทำพิธีอัญเชิญพระอุปคุตมาคุ้มครองงานจนปัจจุบันโดยการทำพิธีเก็บก้อนหินแทนองค์พระอุปคุตจากแม่น้ำ ลำห้วยต่างๆ.. มีครั้งหนึ่งยาจกยากจน ได้เดินไปตามถนนเวลาค่อนคืนในวันเป็งปุ๊ด(เพ็ญพุธ)ได้ใส่บาตรเณรเล็กๆองค์หนึ่งที่กำลังเดินบิณฑบาตร..ต่อมายาจกผู้นั้นมีโชคลาภเป็นมหาเศรษฐี..ผู้คนจึงเล่ากันมาว่า เณรเล็กผู้นั้นคือพระมหาอุปคุตเถระได้จำแลงกายจากสะดือทะเลขึ้นมาโปรดสัตว์เวลากลางคืนนั้นเอง..ผู้คนจึงนิยมใส่บาตรพระอุปคุตตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา..."

ชาวล้านนาได้สืบต่อความเชื่อนี้มาช้านานจนเป็นเอกลักษณ์ของวิถีของชาวล้านนาแม้ผู้คนในถิ่นอื่นอาจมีความคิดเห็นแตกต่างไปบ้างแต่พวกเราชาวล้านนาก็มิหวั่นต่อคำพูดที่ติติงในความเชื่อของพวกเรา...นั้นคือการใส่บาตรวันเป็งปุ๊ด...

 

หมายเลขบันทึก: 461969เขียนเมื่อ 21 กันยายน 2011 21:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 15:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท