การถ่ายทอดองค์ความรู้แบบฮักเมืองน่าน


การสืบค้น-พัฒนาต่อยอด องค์ความรู้ เป็นกระบวนการสำคัญในการเรียนรู้เพื่อการดำรงชีพ เป็นภูมิความรู้ที่สั่งสมและถ่ายทอดกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตาทวดสืบทอดมาเรื่อยๆ ภูมิความรู้บางอย่างเลือนหายไปไม่มีการสืบต่อ บางเรื่องก็มีการสืบค้นนำมาปรับใช้ใหม่ หรือนำเอาเทคนิควิชาการใหม่ๆ มาผสมผสานกับภูมิปัญญาดั้งเดิม การสืบต่อองค์ความรู้นั้นสามารถทำทั้งแบบปัจเจกและแบบกลุ่ม แต่การรวมกลุ่มในการเรียนรู้และช่วยกันและกันสามารถทำได้อย่างมีพลังและทำให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันได้เร็ว สามารถเรียนรู้ทางลัดได้ ที่สำคัญการเรียนรู้มีหลากหลายประเด็นมากขึ้น ดังนั้นกระบวนการเรียนรู้ของชาวบ้านที่จะช่วยกันสืบต่อองค์ความรู้ที่ได้สั่งสมและพัฒนาต่อยอด จึงได้มีการรวมกลุ่มกันและจัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้และแบ่งปันความรู้กันในรูปแบบต่างๆ เช่น ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน, โรงเรียนชาวนา, โรงเรียนเกษตรกร เป็นต้น ศูนย์ต่างๆ เหล่านี้จึงเป็นเสมือนห้องเรียนของชาวบ้าน ที่จะมาพบปะแลกเปลี่ยน เรียนรู้เทคนิคต่างๆ และฝึกปฏิบัติ และเป็นห้องเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนอีกด้วย

กระบวนการถ่ายทอดองค์ความรู้จากรุ่นสู่รุ่น จากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่ง เป็นกระบวนการหนึ่งที่สำคัญของการจัดการความรู้ ที่ทำให้ความรู้ได้ขยายตัวและต่อยอดออกไป ในศูนย์การเรียนรู้ต่างๆ ของเครือข่ายฮักเมืองน่าน ได้ยึดหลักการถ่ายทอดองค์ความรู้ คือ “พารู้ พาดู พาทำ”

          พารู้ คือ ศึกษาให้รู้ถึงหลักคิด หลักทำของเขาให้ชัด ว่าเขามีหลักอย่างไร มีอะไรเป็นแรงบันดาลใจ ทำไมจึงทำแบบนั้น และเรียนรู้วิธีการ ขั้นตอน เทคนิค วิธีการทำงานอย่างละเอียด จนเข้าใจอย่างถ่องแท้

          พาดู คือ พาไปดูให้เห็นตัวอย่างรูปธรรมของงานที่เกิดขึ้นจริง เพื่อให้เห็นผลประจักษ์ว่าทำแบบนี้แล้วจะได้เกิดผลตามที่เห็นเป็นรูปธรรม เน้นให้เห็นรูปธรรมที่ยั่งยืน 

          พาทำ คือ พาลงมือปฏิบัติจนสามารถทำได้ด้วยตนเอง และลงไปติดตามช่วยเหลือในพื้นที่จนได้ผล และเน้นกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ขยายผลต่อยอดในการดำเนินงาน 

  

 

 

         หลักการจัดการเรียนรู้แบบชาวบ้าน เป็นการเรียนรู้ผ่านของจริง สนุกในการเรียนรู้ ห้องเรียนไม่มีรั้ว เป็นความรู้ที่ไม่มีกำแพงกั้น มีหลายหลักสูตร มีวิธีการหลากหลาย เป็นการเรียนรู้ที่ให้คุณค่าของครูชาวบ้าน ปราชญ์ท้องถิ่น และสามารถนำไปใช้ได้จริงในชีวิต

         นอกจากนี้ยังมีการถ่ายทอดองค์ความรู้ไปยังกลุ่มเยาวชนรุ่นใหม่ด้วย เพื่อให้เยาวชนได้สืบทอดองค์ความรู้และนำไปพัฒนาปรับใช้ตามบริบทและความคิดอ่านของเยาวชน ที่มีภูมิความรู้เชิงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมัยใหม่

 

ในหลายๆ พื้นที่มีการเชื่อมต่อระหว่างการศึกษาในระบบเข้ามาสู่การเรียนรู้นอกห้องเรียน ตัวอย่างเช่น โรงเรียนศรีนครน่าน ที่นำนักเรียนมาเรียนรู้กับศูนย์การเรียนรู้โจ้โก้และเครือข่ายโรงเรียนชาวนา, โรงเรียนศรัทธาศิลาเพชร ที่นำครูนักเรียนมาเรียนรู้กับโรงเรียนชาวนาบ้านทุ่งฆ้อง และเริ่มปลูกข้าวในพื้นที่ของโรงเรียน เป็นต้น นับเป็นการบูรณาการเรียนการสอนของโรงเรียนเข้ากับวิถีชีวิตและภูมิปัญญาท้องถิ่น นำการเรียนรู้จากแปลงนาไปสู่การเรียนรู้ในห้องเรียน และนำการเรียนรู้ในห้องเรียนไปสู่แปลงนา “ชาวนา” จึงมีคุณค่าและความหมายต่อเด็ก เยาวชน และนักเรียน ชาวนาจึงมิเพียงเป็นคนปลูกข้าว หากแต่เป็น “ครู” ของเด็กๆ “ครู” ที่มิเพียงแต่สอนปลูกข้าว หากแต่สอนการปลูกชีวิตไปด้วย

 

 

หมายเลขบันทึก: 465333เขียนเมื่อ 19 ตุลาคม 2011 11:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 22:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • ชอบกระบวนการของชาวน่าน
  • ที่เข้มแข็งมาก
  • ผมคิดถึงทีมงานเช่นคุณหมอชาตรี
  • ดีใจที่ได้เรียนรู้จากปฏิบัติจริงของพ่อน้องซอมพอครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท