หน่วยแพทย์ ช่วยผู้ประสบภัย น้ำท่วม


        สายๆของวันที่ 18 ตุลา เสียงโทรศัพท์จากท่านผู้อำนวยการและหัวหน้าพยาบาล บอกให้ไปออกหน่วยแพทย์ช่วยน้ำท่วมที่ธัญบุรี ผู้เขียนยังไม่ทันตั้งตัวตั้งหลักไม่คิดมาก่อนว่า สถานการณ์น้ำท่วมจะรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็วอย่างนี้ อิดออดไปว่า งานเหลือค้างเยอะมากจะทำไม่ทัน

"คงต้องไปก่อนแล้วละ เรื่องอื่นเอาไว้ก่อน พี่น้องเดือดร้อนมาก" ผู้อำนวยการกำชับ

 

        พวกเราประชุมและแบ่งงานเตรียมการณ์กันอย่างรวดเร็ว  หลังจากที่ส่ง อ.น้องกะปุ๋ม ที่วันนี้มาเชียร์ R2R ให้ที่ทำงานแล้ว ผู้เขียนก็ตรวจเชคความเรียบร้อยของเครื่องมือและเวชภัณฑ์ที่ต้องใช้ในการออกหน่วยแพทย์

ศูนย์ผู้พักพิงประสบภัยน้ำท่วม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ปทุมธานี คือจุดหมายที่เราต้องไปตั้งหน่วยแพทย์เพื่อดูแลผู้ประสบภัยน้ำท่วม ผู้เขียนไปโพสต์สอบถาม เส้นทางการเดินทางใน facebook ซึ่งได้คำแนะนำจากพี่น้องเป็นจำนวนมาก 

        เรามีความจำเป็นต้องเดินทางกลางคืน เส้นทาง หนองคาย-โคราช-แก่งคอย-บ้านนา-องครักษ์-ธัญบุรี เส้นทางค่อนข้างอันตรายจากการที่มีรถเป็นจำนวนมากใช้เส้นทางนี้ ไม่ว่าจะเป็นรถพ่วงรถทัวร์ ถนนบางช่วงไม่ค่อยจะดีเท่าไรนัก รถติดเป็นระยะๆ เมื่อเลี้ยวผ่านแก่งคอยสู่บ้านนา แต่สิ่งหนึ่งที่น่าอุ่นใจ ก็คือป้ายบอกทางที่ชัดเจนเป็นระยะๆ

 

         เราถึง ราชมงคลธัญบุรี เกือบตีห้าของอีกวัน เราถูกจัดให้พักในโรงแรมของมหาวิทยาลัย ชื่อ "ราชบงกช" ของีบซักชั่วโมงก่อนที่จะไปเริ่มงาน ซึ่งทราบว่า ตอนนี้มีทีมแพทย์จากจังหวัดยโสธรดูแลอยู่

 

          ในวันที่เรามาถึง ผู้พักพิงสี่ร้อยกว่าคนมีเด็กเล็กที่ต้องดูแล 15 คน ผู้สูงอายุ 7 คน ผู้ประสานงานของมหาวิทยาลัย อาจารย์ผ่องศรีและน้องจอยให้การต้อนรับดีมาก ทุกส่วนจัดแบ่งอย่างเป็นระบบ ผู้พักพิงถูกจัด โซนนิ่งและมีนักศึกษาจิตอาสาดูแล ทีมรับลงทะเบียน ทีมสื่อสารจากทรูมูพ ทีมทำอาหาร ทุกอย่างดูลงตัวไปเีสียหมด ผู้ประสานงานและนักศึกษา ไม่ได้นอนกันมาหลายวันหลายคืน น้องจอยเสียงเริ่มแหบแห้ง 

          "เมื่อคืนคนไข้ชักไม่มีคนดูแล จอยต้องโทรหาพี่แขก" พี่แขกที่น้องจอยพูดถึงเป็นผู้ประสานงานจาก สสจ.ยโสธร ซึ่งเป็นคนคล่องแคล้วมาก "เราไม่ได้จัดเวรกลางคืน" น้องแขกพูดต่อ

 

           พวกเราจึงตกลงกันว่าจะแบ่งเวรกันเป็นช่วงกลางวันและกลางคืน ซึ่ง ณ ปัจจุบันมีเพียงเราสองทีม 

 

              ทีมพวกเราถูกนำไปทานข้าวและพักผ่อน ข้าวราดแกงและมันเทศต้มน้ำขิงอร่อยดี คุณป้าที่มานั่งทานกับเรา เล่าให้ฟังว่า "น้ำมาเร็วมาก เกือบหนีออกมาไม่ทัน หลานให้มาอยู่ที่นี่ หลานๆจะเฝ้าบ้านให้ แต่ก็ไม่แน่ใจว่า น้ำจะมิดหลังคาเมื่อไร" 

 

            ราชมงคลธัญบุรี เป็นที่สูงอยู่คลองหก น้ำล้อมรอบทุกอย่าง เนื่องจากคลองหนึ่งถึงคลองห้าน้ำเริ่มทะลัก เขื่อนคลองระพีพัฒน์พังขยายแนวกว้างขึ้นเรื่อยๆ

 

               เรากลับไปนอนพัีกเอาแรงเพราะเมื่อคืนเ้ดินทางหลับๆตื่นๆกันมาทั้งคืน ทั้งห่วงน้องคนขับรถและกลัวอันตราย แต่นอนไม่หลับ รีบกลับไปรับเวรตอนสี่โมงเย็น คนไข้เริ่มทะยอยมาขอยาแก้ปวดหัว ยาคลายเครียด น้องนักศึกษาอาสาสมัคร คนหนึ่งท้องเสีย เหนื่อยเพลียมาก เพื่อนต้องกล่อมเสียนานจึงยอมมานอนให้น้ำเกลือและฉีดยาแก้ปวดท้อง 

              คืนนี้เลยต้องดูแลน้องนักศึกษาคนนี้และคุณตาอีกคนที่ไม่มีญาติติดตามมาอยู่ด้วย และยังมีคนไข้ที่มาขอยาอีก 50 คน เราเจอคนไข้ชักสองสามราย เพราะขาดยา โรงพยาบาลธัญบุรีและโรงพยาบาลคลองหลวง ก็ช่างน่ารัก คอยเป็นศูนย์รับส่งต่อให้ตลอด 24 ชม. รถพยาบาลของมหาวิทยาลัยถูกนำมาให้บริการตลอด 24 ชั่วโมงเช่นกัน 

 

              น้องหนุ่ม นักศึกษาวิศวะกรรม อาสาสมัคร เป็นผู้ชายพวกเรา กลางวันไปช่วยสูบน้ำ กลางคืนมาเฝ้าคนแก่และทีมแพทย์ น่ารักมากไม่ยอมหลับทั้งคืน หากได้กลับไปอีก สัญญากับน้องว่าจะเอาแหนมเนืองไปฝาก 

 

              ผู้เขียนชัดเจนแล้วว่า"คนไทยรักกัน คนไทยไม่ทิ้งเป็นเรื่องจริง" คืนที่สองของการเข้าเวรกลางคืน อาสาสมัคร อบต. ยังทะยอยนำคนมาส่งให้เป็นระยะ ผู้พักพิงที่มีโรคประจำตัวจะถูกส่งมาพักใกล้ๆกับหน่วยแพทย์ของเรา หลายคนขาดยาเพราะไปตามแพทย์นัดไม่ได้ ศูนย์ผู้พักพิงที่นี่จึงจำเป็นที่ต้องขยายการรองรับผู้ประสบภัย เพิ่มจากสถานที่หอประชุมไปที่ใช้สถานที่โรงยิมอีกแห่งหนึ่ง

 

                 สองวันที่ผู้เขียนอยู่ที่นี่ ผู้ประสบภัยเพิ่มจำนวนมากขึ้น น้ำในแต่ละคลองสูงขึ้นทุกวัน วันแรกที่มา ผู้ลงทะเบียน 422 คน เมื่อจากมาผู้ลงทะเบียน 1080 คน ของบริจาคไม่ว่าจะเป็น ยา อาหาร เสื้อผ้า ที่นอน หมอน มุ้ง ทะยอยมาบริจาคไม่ขาดสาย รมต.รมช. อธิการบดี ตรวจเยี่ยมและนำอาหารมาแจกเกือบตลอดวัน ผู้พักพิงบางคนติดขำบอกว่า "ดีจัง มาอยู่ที่นี่ เงินก็ไม่ได้ใช้ กินแล้วก็นอน นอนแล้วก็กิน" 

 

                 น้องพยาบาลจิตอาสาจากโรงพยาบาลอยุธยา ถูกเรียกตัวกลับเพราะตอนนี้เริ่มเปิดรับคนไข้ได้แล้ว  

 

ทีมเราส่งต่องานให้อีกทีมที่มารับช่วง และรอทีมจากโรงพยาบาลเพชรบุรีและสสจ.ยโสธร รวมถึงโรงพยาบาลเอกชนใกล้เคียงที่จะมาร่วมด้วยช่วยกัน แล้ว...เราก็จากมาด้วยร่างกายที่อิดโรยแต่จิตใจมีพลังอย่างมหาศาลจากความอิ่มเอมใจ เดือนพฤศจิกายน เราจะกลับไปเปลี่ยนช่วงรับงานกันต่ออีกครั้ง 

 

                    ขณะเดินทางกลับ  ธัญบุรียังมีน้ำไหลเข้าเกือบทุกบ้าน ร้านค้า บ้านเรือน ถูกวางกระสอบทรายและก่อกำแพงกันน้ำ แวะซื้อ 7-11 ก็ต้องปีนกันเข้าไป 

        ธรรมชาติดูเหมือนจะลงโทษพวกเราอย่างหนักหนา แต่..กัลยาณมิตรเราไม่ทิ้งกัน เมื่อผ่าน โรงพยาบาลแก่งคอย น้องจ๊ะ น้องชูศรี และน้องโภชนากรก็ฝากเสบียงติดรถให้เรามาด้วย

 

          "กะหรีปั๊บ หมูแผ่น กระยาสารท" อร่อยมาก

 

ทำให้เราอิ่มท้องหลับสบายจนถึงลำตะคอง เพื่อแวะทานอาหารเที่ยงและไม่ได้รู้สึกหิวอีกเลย จนถึงบ้า่นประมาณ สองทุ่มกว่าๆ 

หมายเลขบันทึก: 465602เขียนเมื่อ 22 ตุลาคม 2011 09:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 22:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

มาให้กำลังใจทีมป้าแดงครับ

ขออนุโมทนาบุญด้วยครับ

อนุโมทนาค่ะพี่แดง....คนไม้คนละมือ ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ตามกำลังความสามารถนะคะ

มาเป็นกำลังใจค่ะ...เดี๋ยวดาวไปออกหน่วยเหมือนกัน

อ่านบทความของท่าน ว.วชิรเมธี มีประโยคหนึ่งที่ดาวชอบมาก

ท่านบอกว่า "หัวใจที่เต้นเพื่อผู้อื่น คือหัวใจของพระโพธิสัตว์..."

ช่วงนี้เราเลยมีโอกาสได้เห็นพระโพธิสัตว์บนดินมากมายเลยนะคะ ^_^

ป้าแดง.....สุดยอดเลยค่ะ รักกันๆ คนไทยรักกัน...

  • เยี่ยมค่ะป้าแดง..ขออนุโมทนาบุญด้วยนะคะ
  • มีโอกาสก็อยากไปช่วยค่ะ..
  • คงรอน้ำลดอีกสักหน่อย..
  • ร่วมใจกันสู้ ๆ ค่ะ..^_^

ร่วมด้วยช่วยกันนะคะ ป้าแดง

ส่งกำลังใจไปให้พี่น้องทุกคนนคะ

ตอนนี้ ศูนย์นี้ น้ำท่วมหมดแล้ว ทุกคนลำบากมาก ต้องย้ายไปนครนายก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท