ยังอยู่รอดเพราะคันกั้นน้ำโครงการพระราชดำริ


เมื่อระลึกถึงว่าเรายังมีวันนี้อีกวัน ใช้ชีวิตปกติต่อไปได้ เนื่องมาจากคันกันน้ำโครงการพระราชดำริ และความพยายามปกป้องพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นในไว้อย่างเต็มกำลังของทุกภาคส่วน ก็รู้สึกซาบซึ้งใจยิ่งนัก

ในฐานะผู้อยู่ในเขตเสี่ยงภัยที่อาศัยอยู่ระหว่างเขตคลองสามวาและเขตสายไหม ผู้เขียนได้เฝ้าระวังสถานการณ์มาหลายเพลาแล้ว โดยได้ยินได้ฟังผู้อยู่ในสถานะเดียวกันกับผู้เขียนบอกว่า "เมื่อไหร่จะท่วมสักที จะได้จัดการกับชีวิตถูก"  หรือไม่ก็ "ผ่านไปอีกวัน อย่างโล่งใจ ขอให้รอเก้อเถอะนะ"   แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ช่วงนี้ รับข้อมูลข่าวสารเต็มพิกัด และก็กลั่นกรองก่อนส่งต่อให้พี่ ๆ เพื่อน ๆ น้อง ๆ ได้รับทราบผ่าน facebook

 

เนื่องจากผู้เขียนมีจิตวิญญาณนักสื่อสารมวลชนพอสมควร จึงมีการ add เพื่อนใน facebook เป็นนักข่าว สื่อต่าง ๆ นักประชาสัมพันธ์ องค์การไม่แสวงหากำไร และผู้สนใจในการแลกเปลี่ยนข่าวสารแบบรวดเร็วทันใจ จึงมักเห็นข้อมูลข่าวสารนานากระแส และก็ชั่งใจก่อนทุกครั้งที่จะเผยแพร่ ด้วยความห่วงใย แต่ไม่ปรารถนาให้แบ่งพรรคแบ่งพวก เลือกข้าง เลือกข่าวที่จะเชื่อ แม้ความจริงบางอย่างจะอยากบอก แต่ถ้าบอกอย่างไม่ครบถ้วน ประมวลยังไม่ลึกพอ ก็ขอไม่บอกดีกว่า

 

ขอนำภาพที่ประมวลมาได้มาแลกเปลี่ยนให้รับชมกันค่ะ ที่มาคือใน facebook

น้ำท่วมบริเวณถนนพระราม 5 บริเวณบางกรวย น้ำท่วมถนนเกือบหมด เหลือเพียงหนึ่งเลนให้รถวิ่งเท่านั้น  ข่าว/ภาพ : นันทิดา พวงทอง...สำนักข่าวเนชั่น twitter @nuntida_nna

 

ภาพ ระดับน้ำที่ท่วม ถ.วิภาวดีรังสิต ขาเข้า ซึ่งเอ่อสูงขึ้นเมื่อ 19.00 น. ที่ผ่านมา ยังทรงตัวซึ่งท่วมมาถึงบริเวณหน้าอาคารผู้โดยสารในประเทศ ( อาคารต่างประเทศ 2 เก่า) Photographer กอบภัค พรหมเรขา ( Korbphuk Phromrekha)

โดยน้ำขึ้นให้รีบบอก หลักคิดน้ำดันน้ำ นำมาใช้โดยนายกวิชัย บรรดาศักดิ์ เครดิตจากเทศบาลนครปากเกร็ด
รายละเอียด โมเดลน้ำดันน้ำ แวะอ่านและชมได้ที่

http://news.mthai.com/news-clips/136285.html

ทหารผู้ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยหลบมาทานอาหารกลางน้ำ (ท่วม) โดย คุณ Roy Keane Love King

 

 

 

หมู่บ้านที่ผู้เขียนอาศัยอยู่สูงกว่าตลิ่งคลองพระยาสุเรนทร์ซึ่งจะต้องรับน้ำต่อจากคลองหกวาตามที่เป็นข่าวมาประมาณสัปดาห์กว่าแล้ว แต่ ณ วันนี้ ไม่ใช่ว่าชุนชนเขตคลองสามวาและเขตสายไหมไม่ท่วม  "ท่วมแล้ว" ในบางพื้นที่ ที่อยู่นอกคันกั้นน้ำฝั่งตะวันออก ส่วนประชาชนผู้ที่อาศัยหลังคันกันน้ำดังกล่าว "ปลอดภัยอยู่ในขณะนี้" คันกันน้ำที่ว่านี้คือคันกันนั้ำในโครงการพระราชดำริ ซึ่งมีพระราชดำรัส เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๘               ว่า

  "...การจัดการควบคุมระดับน้ำในคลองสายต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจัดระบบระบายน้ำในกรุงเทพมหานครนั้น สมควรวางระบบให้ถูกต้องตามสภาพการณ์และลักษณะภูมิประเทศซึ่งควรแบ่งออกเป็น ๒ แผนด้วยกันคือ แผนสำหรับ ใช้กับในฤดูฝนหรือในฤดูน้ำมากนี้ก็เพื่อประโยชน์ในการป้องกันน้ำท่วมและเพื่อบรรเทาอุทกภัยเป็นสำคัญ แต่แผนการระบายน้ำ ในฤดูแล้งนั้น ก็ต้องจัดอีกแบบหนึ่งต่างกันออกไป เพื่อการกำจัดหรือไล่น้ำเน่าเสียออกจากคลองดังกล่าวเป็นหลัก..."

 โดยพระราชดำรัสดังกล่าวสืบเนื่องมาจากภาวะน้ำท่วมอย่างรุนแรงในพื้นที่กรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๓

 

      

กรมทางหลวงได้ทำการก่อสร้างคันกั้นน้ำ ตั้งแต่ถนนสุขุมวิท (ทางหลวงหมายเลข ๓) เลียบทางหลวงสายบางพลี-ลาดกระบัง สาย ๓๑๑๙ ร่มเกล้า ถนนนิมิตรใหม่ ถนนหทัยราษฎร์ และถนนสุขาภิบาล ๕ (สายไหม) สิ้นสุดบริเวณจุดบรรจบคลองสองสายใต้กับคลองหกวา ในส่วนของกรมชลประทาน ได้มีการศึกษาแนวทางเร่งการระบายน้ำ โดยการขุดอุโมงค์จากบริเวณชายทะเลอ่าวไทยลอดไปออกคลองสำโรง เพื่อดึงน้ำจากพื้นที่ตะวันออกให้ไหลลงสู่ทะเลด้านใต้ได้เร็วขึ้น

รายละเอียดข้อมูลโปรดอ่าน http://www.watermis.com/wemis/th/node/511

และทฤษฎีการแก้ไขน้ำท่วมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

http://www.chaipat.or.th/chaipat/index.php/th/concept-and-theory-development/theory-of-flooding-problems

 

เมื่อระลึกถึงว่าเรายังมีวันนี้อีกวัน ใช้ชีวิตปกติต่อไปได้ เนื่องมาจากคันกันน้ำโครงการพระราชดำริ และความพยายามปกป้องพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นในไว้อย่างเต็มกำลังของทุกภาคส่วน ก็รู้สึกซาบซึ้งใจยิ่งนัก และปรารถนาที่จะบอกว่าหากความเป็นอยู่ในขณะนี้สามารถที่จะแปรสภาพเป็นรับความทุกข์ลำบากของผู้ประสบภัยไปได้ไม่มากก็น้อย ก็ยินดีจะร่วมรับน้ำนั้น ซึ่งก็คงกำลังเดินทางมาอย่างต่อเนื่อง และคงในไม่ช้า...แต่ ณ วันนี้

 

ท้องฟ้ายามเช้า ยังคงเริ่มวันรุ่งอรุณอย่างสวยงามดุจเดิม

 

 

                

ร้านโจ๊ก  ร้านขนมครก และร้านส้มตำ ที่ผู้เขียนเป็นขาประจำในตลาดวงศกรยังคงดำเนินวิถีชีวิตไปตามปกติ 

ผู้เขียนแวะไปทำบุญที่วัดหนองใหญ่ ไม่ไกลจากหมู่บ้าน ผู้คนค่อนข้างบางตา

 

ข้างวัด จะเป็นคลองพระยาสุเรนทร์ และเหนือวัดขึ้นไปคือประตูระบายน้ำพระยาสุเรนทร์

สภาพน้ำเหมือนมีแรงดันใต้น้ำ พร้อมที่จะปะทุขึ้นมา หรือที่เรียกว่าทะลัก ได้ทุกเมื่อ

ผู้คนในย่านใกล้เคียงแห่มาคอยตรวจเช็คกระแสน้ำที่ประตูระบายน้ำคลองพระยาสุเรนทร์

 

 

บริเวณพื้นที่บางส่วนนอกคันกั้นน้ำโครงการพระราชดำริ (ชุมชนที่บุกรุกไปใช้ชีวิตริมคลองเป็นเวลายาวนาน)  น้ำท่วมถึงหน้าแข็งแล้ว

 

รถสำนักเขตงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยขับผ่านไปในแต่ละพื้นที่เสี่ยง แจ้งข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนในพื้นที่ระวังภัย และอพยพทันทีที่น้ำท่วมสูง

 

จากการติดตามข่าวสารจากผู้ประสบภัยชาวกรุงโดยตรงพบว่าการใช้ชีวิตชั้นสองของบ้าน เป็นเหมือนนิทานชวนฝัน หากถูกตัดน้ำ ตัดไฟ การใช้ชีวิตเช่นนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย อาหารที่ตุนไว้ไม่ได้รับประทานอย่างที่ตั้งใจ มีน้ำดันมาจากทุกทิศทาง กระสอบทรายกั้นไม่อยู่ ปูน อิฐที่ก่อบล๊อกไว้แค่ชะลอน้ำ ส่วนที่ดันจากใต้ดิน ตามท่อต่าง ๆ ไม่สามารถยับยั้งได้ ในที่สุด ก็ต้องอพยพ

 

คำถามที่อยู่ในใจของผู้คนที่ยังอยู่ในเขตเสี่ยงก็คือ "จะอยู่ดูน้ำก่อนดีไหม" "ถ้าจะอพยพ จะอพยพตอนไหนดี"

 

วันนี้ช่วงเช้าพี่สองคน คนหนึ่งอยู่ในเขตสายไหม-ออเงิน โทรศัพท์มาแจ้งข่าวว่ากำลังเดินทางไปสุรินทร์ถิ่นกำเนิด ไปกบดานทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกต่อ พลิกวิกฤติเป็นโอกาส  ส่วนพี่อีกคนหนึ่งโทรศัพท์มาในเวลาไล่เลี่ยกัน อยู่คลองสอง-สายไหม โทรศัพท์มาบอกว่าแถวบ้านขาดน้ำ ขาดอาหาร ตนเองก็แบ่งปันไปจนจะไม่ไหว เห็นบางคนเดินร้องไห้ ไม่อยากทิ้งบ้านไป แต่ดูแล้วจะป้องกันไว้ไม่อยู่ พี่เขาก็เลยบอกว่าจะรอดูสถานการณ์อีกวันและพรุ่งนี้จะออกเดินทางไปอยู่กับญาติที่พิษณุโลก

 

 

เพื่อนฝูงที่ผู้เขียนรู้จักโทรศัพท์มาโบกมือลาทีละคนสองคน แม้กระทั่งน้องชายสุดที่รักของผู้เขียนก็โทรศัพท์มาจากพัทยา (เปลี่ยนที่อพยพจากชะอำมาเป็นพัทยา จริง ๆ ไม่อยากเรียกว่าอพยพ เขาสร้างโอกาสให้ช่วงนี้เป็นเวลาพักผ่อนของครอบครัวหลังจากที่ทำงานหนักมานานและเป็นการหนีน้ำไปในตัว)

 

เขาสงสัยว่าทำไมผู้เขียนยังอยู่ดีมีสุขที่บ้าน ทั้งที่ข่าวก็เตือนภัยนาทีต่อนาทีทุก ๆ วัน ช่างไม่สะทกสะท้านสะเทือนเลยหรืออย่างไร  ผู้เขียนก็ต้องบอกว่าผู้นำครอบครัวบอกให้เชื่อมั่นในตัวเขา หากออกไป แล้วต้องห่วงใยกัน ก็คงต้องอยู่แบ่งปันทุกข์สุขไป

                       ผู้เขียนจึงเข้าใจจิตใจของผู้ประสบภัยทุกคนดี  

                              

คำสำคัญ (Tags): #น้ำท่วม
หมายเลขบันทึก: 465830เขียนเมื่อ 24 ตุลาคม 2011 11:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 08:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ชีวิตยามนี้เป็นดังคำกล่าว " ขอเพียงแต่อยู่รอดไปวันๆ". ..แค่นั้นหรือ ? ..

..เบื้องต้นป้องกันระวังระไวด้วยสัญชาติญาณและสติปัญญาด้วยความไม่ประมาท

..เบื้องกลางประเมินสถานการณ์และเรียนรู้จากบทเรียนรอบข้าง เพื่อใช้ชีวิตอยู่รอดอย่างเหมาะสม

..เบื้องปลายสำรวจข้อผิดพลาดและพัฒนากระบวนการร่วมกัน เพื่อการมีชีวิตปลอดภัยอย่างสมดุลและยั่งยืน

  • จริงอย่างที่พี่นงนาท Ico48 กล่าวมาค่ะ ใช้ชีวิตอย่างอยู่รอดไปวัน ๆ อ่านความเห็นแล้วอึ้ง (ฉุกคิด) และก็ซึ้งใจ
  • ผ่านไปวันหนึ่ง ก็โล่งอก แต่ก็มีอึดอัดบ้าง ที่อยากแบ่งเบาภาระผู้อื่น หากน้ำกระจายมาบ้าง ก็ยินดี หรือถ้าจะไม่มา ก็จะได้เอาเวลาไปช่วยเหลือญาติมิตรที่ประสบภัย
  • สุดท้ายนี้ เราขอเอาใจช่วยผู้อยู่ชะตากรรมเดียวกันค่ะ ขอให้ประชาชนและประเทศชาติพ้นภัยในเร็ววัน

อาจารย์นพลักษณ์ ๙ Sila Phu-Chaya เขียนบันทึกนี้ได้ราวกับผู้สื่อข่าวตัวจริงที่มีกระบวนการกลั่นกรอง กร่อน และวิเคราะห์สิ่งที่อยู่รอบ ๆ ตัวออกมาสู่โลกภายนอกได้อย่างชัดเจน

Social Networking ยังคงทรงพลัง หากเราสามารถใช้งานได้อย่างมีประโยชน์สูงสุด แต่คงต้องใช้วิจารณญาณให้มากพอ อินทรีย์คงต้องแกร่งอย่างอาจารย์ว่า ;)...

ผมเห็นคนตุนอาหารแห้ง ก็นึกเหมือนกันว่า หากมีการตัดน้ำ ตัดไฟ แล้วจะทำกันยังไง อ่ะ เขาลืมคิด หรือว่าเขาคิดจะทานแบบแห้ง ๆ มั้ง !

 

หากไม่ได้โครงการพระราชดำริของในหลวง อาจารย์คงลำบากขึ้นมากเลย

ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน พระพุทธเจ้าข้า

 

ขอให้อาจารย์และครอบครัวปลอดภัยครับ

ขอบคุณมากครับ ;)...

สวัสดีค่ะ

  • แวะมาส่งกำลังใจ
  • เชื่อว่าสติและพลังใจที่ดี จะทำให้ผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปได้
  • คอยติดตามและเอาใจช่วยนะคะ

ในความเลวร้าย...เรายังโชคดี

ในวิกฤต ทำให้เรามีโอกาสได้เห็นสถานะภาพของมิตรภาพ...

...คิดถึงนะครับ...รักษาสุขภาพให้มากๆ...นะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท