14.รำลึกมหาวาตภัยแหลมตะลุมพุก


          

ภาพผู้คนที่แหลมตะลุมพุกในอดีต

 

ภาพแหลมตะลุมพุก

          สำหรับประเทศไทยไม่ค่อยจะได้รับความกระทบกระเทือนจากพายุหมุนที่มีกำลังแรง ขนาดพายุไต้ฝุ่น เพราะมีเทือกเขาในประเทศเวียดนามและลาวเป็นกำแพงกั้นไว้ ทำให้กำลังของพายุอ่อนลงเสียก่อนที่จะเข้ามาถึงประเทศไทย ซึ่งส่วนมากมีกำลังลดน้อยลงเป็นพายุโซนร้อนหรือพายุดีเปรสชั่น จำนวนพายุหมุนในโซนร้อนที่เข้าสู่ประเทศไทยในปีหนึ่งๆ เฉลี่ยประมาณ ๓ ลูก(แต่ปีนี้มากกว่า) และจะเริ่มมีโอกาสเข้าสู่ประเทศไทยได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมจนกระทั่งถึงเดือน ธันวาคม ช่วงที่พายุหมุนในโซนร้อนมีโอกาสเข้าสู่ประเทศไทยได้มากที่สุดนั้นจะตก ประมาณระหว่างเดือนกันยายนและตุลาคม โดยจะมีโอกาสถึงร้อยละ ๒๙ในเดือนกันยายน และร้อยละ ๓๔ ในเดือนตุลาคม ส่วนในเดือนอื่นๆ นั้นมีโอกาสที่จะเข้าสู่ประเทศไทยได้น้อยกว่า ในระยะเดือนสิงหาคมและกันยายน พายุหมุนในโซนร้อนมักจะเข้าสู่ประเทศไทยตอนบนเป็นส่วนมาก สำหรับในระยะเดือนตุลาคมและพฤศจิกายนพายุหมุนในโซนร้อนจะมีแนวทางเข้าสู่ บริเวณอ่าวไทยและภาคใต้ของประเทศไทย ซึ่งในระยะนี้พายุหมุนจะมีกำลังค่อนข้างแรงอยู่ในเกณฑ์พายุโซนร้อน เนื่องจากพายุเหล่านี้ยังมีกำลังพร้อมมูลไม่ได้เสียกำลังในการปะทะขอบฝั่ง และเทือกเขา ดังนั้น เมื่อเข้าอ่าวไทยจึงเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เพราะอาจทำลายเรือต่างๆ หรืออาคารบ้านเรือนที่อยู่ตามชายฝั่งรวมทั้งการทำให้เกิดน้ำท่วมโดยฉับพลัน ได้อีกด้วย

          จากสถิติพายุหมุนในโซนร้อนที่เข้าสู่ ประเทศไทย ได้มีพายุหมุนลูกสำคัญๆ ที่ก่อความเสียหายให้แก่ประเทศไทยเป็นอย่างมากนั้น พอสรุปได้ดังต่อไปนี้
- ในเดือนกันยายน ๒๔๘๕ พายุหมุนในโซนร้อนเข้าสู่ประเทศโดยผ่านภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นจำนวน ๒ ลูกติดต่อกัน ยังผลให้มีฝนตกหนักหลายแห่งในบริเวณตั้งแต่ภาคกลางขึ้นไป ทำให้เกิดอุทกภัยทั่วไป โดยเฉพาะภาคกลางมีระดับน้ำสูงมากและน้ำได้ท่วมเป็นระยะเวลานานร่วมเดือน
- ในเดือนตุลาคม ๒๔๙๕ ปรากฏว่ามีพายุหมุนในโซนร้อน ๒ ลูกเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย ได้ทำความเสียหายโดยมีน้ำท่วมและพายุลมแรง แต่ความเสียหายมีน้อยกว่าในปี ๒๔๘๕
-ในเดือนตุลาคม ๒๕๐๕ ได้มีพายุหมุนในโซนร้อนซึ่งมีกำลังขนาดพายุโซนร้อนชื่อ "แฮเรียต" ได้ก่อตัวขึ้นในแถบปลายแหลมญวนบริเวณหมู่เกาะปูลูกองดอร์ เมื่อวันที่๒๔ ต่อมาในวันที่ ๒๕ พายุหมุนในโซนร้อนลูกนี้ได้เคลื่อนตัวเข้ามาอยู่ในอ่าวไทย ในวันที่ ๒๖ พายุหมุนลูกนี้ได้เคลื่อนขึ้นฝั่งภาคใต้ของประเทศไทยบริเวณแหลมตะลุมพุก จังหวัดนครศรีธรรมราช และในวันที่ ๒๗ ได้ผ่านภาคใต้ลงสู่อ่าวมะตะบันแล้วเคลื่อนตัวต่อไปทางทิศตะวันตกลงสู่อ่าว เบงกอล พายุหมุนในโซนร้อนลูกนี้ร้ายแรงมาก ได้ทำความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก

   

สรุปเหตุการณ์ "มหาวาตภัยถล่มภาคใต้" ปี พ.ศ. 2505

          เมื่อวันที่ 25-26 ตุลาคม พ.ศ.2505 ได้เกิดมหาวาตภัยขึ้น ในภาคใต้ของประเทศไทย โดยที่แหลมตะลุมพุก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช มีการสูญเสียอย่างหนักกว่าที่ใด คลื่นใหญ่มหึมาม้วนตัวจากทะเลขึ้นบนบก กวาดสรรพสิ่งที่กีดขวาง ไม่ว่าจะเป็นเรือแพที่จอดอยู่ หรือบ้านเรือนริมทะเล ต้นไม้ ชีวิตคน สัตว์เลี้ยง ล้วนถูกคลื่นยักษ์ม้วนหายลงไปในทะเล โดยไม่มีโอกาสได้รู้ตัวล่วงหน้า ที่อยู่ห่างชายฝั่งลึกเข้าไปในแผ่นดิน ก็ถูกพายุโถมกระหน่ำโครมเดียว ปลิวว่อนบาดเจ็บล้มตายนับไม่ถ้วน คลื่นยักษ์กวาดบ้านเรือนและราษฎร ลงไปในทะเลเกือบทั้งตำบล เรียกว่าวาตภัยในครั้งนี้ มีความร้ายแรงที่สุด ในรอบศตวรรษเลยทีเดียว ชาวจังหวัดนครศรีธรรมราชที่มีอายุ 70-80 ปี บอกว่า เกิดมาก็เพิ่งเคยเห็น ความร้ายแรงของธรรมชาติ และเคยเห็นความเสียหายอย่างมากครั้งนี้เอง จังหวัดนครศรีธรรมราช อยู่ในสภาพเหมือนถูกปล่อยเกาะ เส้นทางที่จะติดต่อกับจังหวัดอื่น ถูกทำลายพินาศหมด ทั่วทุกหัวระแหงในจังหวัด อยู่ในสภาพขาดแคลนทั้งเสื้อผ้า ที่อยู่อาศัย อาหาร ยารักษาโรค ไฟฟ้าในจังหวัดก็ดับหมด

  

ลักษณะของพายุ

          9 จังหวัดในภาคใต้ ได้รับความเสียหายอย่างมาก สถานที่ราชการ อาคารบ้านเรือน โรงเรียน วัด ถูกพายุพัดพังระเนระนาด การไฟฟ้าและสถานีวิทยุตำรวจเสียหายหนัก ไม่สามารถติดต่อกันได้ เรือที่ออกทะเลเสียหายมากมาย ต้นยาง ต้นมะพร้าว และต้นไม้อื่นๆ ล้มพินาศมหาศาล สวนยางนับแสนๆ ต้นโค่นล้มขวางเป็นสิบๆ กิโลเมตร หลายร้อยคนหาทางออกไม่ได้ คนภายนอกจะเข้าไปช่วยเหลือก็ไม่ได้ การช่วยเหลือต้องส่งเครื่องบินไปทิ้งอาหารให้

ภาพจริงของความเสียหาย

          กองทัพเรือออกปฏิบัติการ ช่วยเหลือค้นหาเรือประมง ในหลายจังหวัดทางภาคใต้ ที่สูญหายไปเป็นจำนวนมาก และได้ค้นพบศพเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในทะเลและบนบก

          รองอธิบดีกรมตำรวจสั่งการไปยังหน่วยบิน และหน่วยปฏิบัติการใต้น้ำ แห่งกองบังคับการตำรวจน้ำ ออกค้นหา แต่ต้องเผชิญกับอุปสรรคคลื่นลมพายุ จนหมดความสามารถ ที่จะค้นหาผู้รอดชีวิตในทะเลได้

          การรถไฟแห่งประเทศไทย ประกาศงดเดินขบวนรถด่วนสายใต้ เพราะภูเขาดินพังทลาย ทับรางระหว่างสถานีช่องเขา กับสถานีร่อนพิบูลย์ ในทะเลศพเริ่มลอยเกลื่อน ไม่เหลือผู้รอดชีวิตให้ช่วยเหลือ จากเครื่องบินหรือเรือรบเลย และผู้ที่เหลือรอด เผชิญกับปัญหาความอดอยาก และพบซากเรือแตกทั่วท้องทะเล จังหวัดนครศรีธรรมราชเวลากลางคืน มืดทึบไปหมดทั้งเมือง เพราะไฟฟ้าใช้การไม่ได้

          จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ปราศรัยถึงผู้ประสบวาตภัยว่า รู้สึกเสียใจอย่างสุดซึ้ง คนไทยทั้งชาติ รวมทั้งต่างชาติ อาทิ อังกฤษ, อิตาลี, เวียดนาม, สวีเดน, สหรัฐ ฯลฯ ตกตะลึงต่อข่าวมหาวิปโยค ต่างก็เข้ามาช่วยเหลือ และบริจาคให้กับผู้ประสบภัย ที่รอดชีวิตในครั้งนั้น

พระผู้เป็นกำลังใจ

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ด้วยความโทมนัสพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้วิทยุ อ.ส.พระราชวังดุสิต กระจายข่าวอย่างละเอียด เชิญชวนให้ประชาชน ร่วมบริจาคกับในหลวง รวบรวมสิ่งของ เครื่องใช้ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม และเงินตามศรัทธา เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบวาตภัยดังกล่าว เพียงเวลาไม่นานนัก ประชาชนที่รับฟังข่าวจากวิทยุ อ.ส.พระราชวังดุสิต ต่างก็หอบหิ้วสิ่งของ ตามที่มีอยู่และซื้อหามาได้ ทั้งถุงข้าว เสื้อผ้า จอบ เสียม หม้อ กระทะ เข้าสู่พระราชตำหนักจิตรลดารโหฐานเป็นทิวแถว ได้ข้าวของมากมายกองเต็มไปหมด

 

เสียหายยับเยิน

          ทรงพระราชกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ร.ส.พ. รถไฟ เครื่องบินของกองทัพอากาศ เรือของกองทัพเรือ รถยนต์ของหน่วยราชการ ทั้งหมดที่มีที่ช่วยได้ ก็ระดมกันมาช่วยเหลือผู้เคราะห์ร้ายเป็นการด่วน และเหตุการณ์ในครั้งนั้น ทำให้เกิด มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชฯ ได้พระราชทานเงินบริจาค ให้นำไปบรรเทาทุกข์อย่างทั่วถึง แล้วยังมีเงินเหลืออยู่ จึงทรงพระกรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้อธิบดีกรมประชาสงเคราะห์ ขอจดทะเบียนตั้งมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ.2506 โดยได้พระราชทานเงินจำนวน 3 ล้านบาท ให้เป็นทุนประเดิม ของมูลนิธิฯ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันท่วงที

          มีการบริจาคเงิน ช่วยเหลือผู้ประสบวาตภัยอย่างคึกคัก ทั้งทางสถานีวิทยุ และสภากาชาดไทย

สรุปยอดความเสียหาย ในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคใต้ จากเหตุการณ์แหลมตะลุมพุก พ.ศ. 2505

เสียชีวิต 911 คน(บ้างก็ว่า1,500 คน) สูญหาย 142 คน บาดเจ็บสาหัส 252 คน ไม่มีที่อยู่อาศัย 10,314 คน บ้านเสียหาย 42,409 หลังคาเรือน โรงเรียน 435 หลัง

รวมมูลค่าความเสียหาย 100-377 ล้านบาท

เกร็ดจากเหตุการณ์ "ตะลุมพุก"

          ตำบลตะลุมพุก ห่างจากที่ว่าการอำเภอประมาณ 18 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมด 29.14 ตารางกิโลเมตร หรือ 10,212.50 ไร่ ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไป เป็นที่ราบชายฝั่งทะเล สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ประมาณ 1-5 เมตร สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่ ใช้ประโยชน์ในการปลูกมะพร้าว และเลี้ยงกุ้งกุลาดำ ตำบลแหลมตะลุมพุก อันเป็นแหลม ที่ยื่นออกไปในทะเลอย่างโดดเดี่ยว ปราศจากภูเขาบัง และเป็นเส้นทางที่พายุโซนร้อน พาดผ่านไปพอดี มหาวาตภัยครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ซึ่งเกิดจากพายุโซนร้อนที่ชื่อ แฮเรียต พัดผ่านเข้ามาทางตอนใต้ของไทย นำความเสียหายให้แก่ จ.นครศรีธรรมราชมากที่สุด รวมทั้งจังหวัดอื่นๆ ที่ใกล้เคียงอีก เครื่องมือสื่อสารถูกทำลายหมด ทางรถไฟขาด น้ำท่วมทาง เพราะพายุพัดแรงจัด ข่าวต่างๆ กว่าจะเข้าถึงกรุงเทพฯ ได้ ต้องใช้เวลาถึง 2 วัน 24 ตุลาคม 2505 วิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ออกประกาศว่า ได้เกิดพายุโซนร้อน อยู่ห่างจากฝั่งประมาณ 200 กิโลเมตร มีความเร็วลม 180-200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อยู่นอกฝั่งของจังหวัดสงขลา ประกาศเตือนให้ประชาชนระวัง เพราะพายุนี้จะขึ้นฝั่ง ประมาณวันที่ 25 ตุลาคม 2505 นายแจ้ง ฤทธิเดช นายอำเภอปากพนังในเวลานั้น พูดถึงความไม่รู้จักคำว่า "พายุโซนร้อน" ของประชาชนว่า "ประชาชน ฟังประกาศ ของกรมอุตุนิยมไม่รู้เรื่อง การที่ราษฎรชาว จ.นครฯ ต้องสูญเสียอย่างมากมายครั้งนั้น เพราะเป็นเส้นทางของพายุ ผ่านตลอดทั้งจังหวัด วิทยุประกาศพวกเขาก็รู้แต่ฟังไม่เข้าใจ ถ้าใช้คำชาวบ้านเตือนกันก็จะเข้าใจมากกว่า พวกเขาจะได้รู้ว่า พายุเหล่านั้นมีความร้ายแรงแค่ไหน..." คำสารภาพของทางราชการ "ทางราชการไม่รู้ว่า จะบอกให้ราษฎรรู้ตัวก่อน เพื่อป้องกันพายุได้อย่างไร เพราะไม่รู้แน่ว่า พายุจะมาหรือไม่ ถ้าพายุไม่มาจริง ราษฎรก็จะสวดเอา ถ้ามาจริง ก็ไม่รู้ว่าจะให้อพยพไปอยู่ที่ไหน เรื่องนี้เป็นเรื่องของเคราะห์กรรม ทางราชการก็ไม่รู้ว่า จะช่วยให้ความเสียหาย เบาบางลงได้อย่างไร" สภาพแหลมตะลุมพุกหลังพายุนั้น ไม่มีบ้านเรือนราษฎรเหลืออยู่เลย ศพลอยเกลื่อนน้ำมากมาย แทบจะหาผืนดินฝังศพไม่ได้ หลุมศพ 1 หลุ่มต้องฝังศพประมาณ 6-7 ศพ โดยมีการฝังรวมกัน ที่ปลายแหลมชั่วระยะหนึ่ง ก่อนจะขุดศพเหล่านั้น ขึ้นมาทำพิธีทางศาสนาอีกครั้งในภายหลัง ชาวบ้านเล่าถึงสภาพหมู่บ้านหมู่ที่ 4 ของแหลมตะลุมพุก ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่อยู่ปลายแหลมสุดว่า ที่หมู่บ้านนี้ถูกคลื่นกวาดลงทะเลทางด้านอ่าวไทย เรียบไม่มีเหลือ ที่บ้านนี้มีบ้านประมาณ 40 หลังคาเรือน ส่วนใหญ่เป็นบ้านที่ไม่ค่อยจะแข็งแรงเท่าใดนัก ดังนั้นผู้คนส่วนมาก จึงมารวมกันที่บ้านผู้ใหญ่บ้าน สง่า วงศ์เจียสัจ ซึ่งเป็นบ้านที่แข็งแรง กว่าทุกบ้านในหมู่บ้านนี้ แต่แล้วพอคลื่นมาระลอกแรก ก็ซัดเอาบ้านทั้งหลัง และชาวบ้านที่มารวมตัวกันกว่า 200 คน หายไปในพริบตา สุดท้ายหมู่บ้านแห่งนี้ ก็เหลือผู้รอดชีวิตเพียงแค่ 2 คนเท่านั้น เรือ "บ้านดอน" ที่มีระวางขับน้ำ 245 ตัน ราคา 3 ล้านบาท ของบริษัทเดินเรือไทย ซึ่งอับปางลง โดยมีลูกเรือคือ นายปาน สมรรถ กับ นายโมห์ วาฮับ ลอยคอเกาะเศษไม้อยู่ในทะเลถึง 4 วัน จนได้รับความช่วยเหลือ จากชาวประมงมลายูที่กัวลาลัมเปอร์ นายแพทย์สง่า รามณรงค์ กลายเป็นนายแพทย์ตัวอย่าง ที่ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ในเหตุการณ์ครั้งนี้ ด้วยการรับรักษาผู้บาดเจ็บ ในสถานพยาบาลส่วนตัวของตนเอง โดยไม่คิดค่ารักษาแต่อย่างใด ซึ่งคนไข้โดยส่วนใหญ่ เป็นคนจากตะลุมพุก จนได้รับคำยกย่องว่าเป็น "หมอใจพระ"

 

เส้นทางของพายุ

          เหตุการณ์มหาวาตภัยครั้งนั้นระหว่างวันที่ 24 - 25 ตุลาคม พ.ศ.2505 ซึ่งเกิดลมพายุโซนร้อนเป็นพายุหมุนพัดเข้าเต็มพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีความเร็วประมาณ 90 กม.ต่อชั่วโมง ทั้งแรงลมที่พัดใส่อาคารบ้านเรือนโยกคลอน หลังคาหลุดปลิวและลอยทั่วไปทั้งจังหวัด แล้ว แรงคลื่นยักษ์ซึ่งสูงกว่า 2 - 3 เมตร ยังโถมพัดเข้าใส่แหลมตะลุมพุกจนหมู่บ้านขนาดประชากร 4,000 คนราบเรียบเหลืออยู่เพียง 5 หลังเท่านั้น พายุโซนร้อนแฮเรียต เริ่มพัดเข้าใส่จังหวัดนครศรีธรรมราชตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2505 ตั้งแต่ยังเป็นดีเปรสชั่นจนทวีความรุนแรงขึ้นบ่อย ๆ ซึ่งในบ่ายวันที่ 25 ตุลาคมนั้น ประมาณ 16.00 น. ทางขอบฟ้าตะวันออกและทิศใต้ก็พลันมืดคลุ้มเหมือนอย่างผืนม่านกั้นแล้วเกิด เป็นสาย ๆ หลายสายแบบลมงวงช้างหรือลมป่องหรือลมหางหนู แต่ครั้งนี้มีเกิดหลายสายอย่างไม่เคยมีมาก่อน จากนั้นฝนคงตกหนักต่อไปจนค่ำเวลาประมาณ 19.00 น. ก็เกิดมีลมพัดอู้แรงจากทางทิศเหนือ บ้านหลายหลังเริ่มพังในขณะที่ทางทิศเหนือนั้นปรากฏเป็นเสียงดังลั่น เห็นแสงสว่างจ้าและน้ำก็ไหลเชี่ยวกรากเป็นฟองแตกพุ่งเข้าใส่แหลมตะลุมพุก แม้ที่ปากพนังน้ำในแม่น้ำก็ล้นท่วมเมืองเช่นกัน ลม ฝนและน้ำคลื่อนยักษ์จากทางทิศเหนือนี้พัดกระหน่ำอยู่ประมาณ 1 ชั่วโมง แล้วสงบลงโดยผู้คนเกิดสับสนอลหม่าน บ้านพังบ้างแล้ว ที่เจ็บตายก็ช่วยเหลือกันไป บางหลังอยู่กันเป็นร้อยคนเฉพาะที่โรงพระจีนนั้นอยู่กันถึง 300 คน แต่ลมพายุสงบเพียง 5 นาทีเท่านั้น น้ำที่ท่วมอยู่ประมาณ 2 - 3 เมตร ลดลงเพียง 1 คืบ ก็บังเกิดลมจากทางทิศใต้พัดหวีดหวือเข้ามาใหม่ คราวนี้ทั้งแรงกว่าและระดับคลื่นก็สูงกว่ามาก บ้านที่ถูกทิ้งโยกไว้นั้นพังในพริบตาขณะที่บ้านหลังมั่นคง จุดอพยพของคนนับร้อย ๆ ค่อย ๆ ถูกน้ำท่วมท้นจนมิด หรือไม่ก็หลุดลอยย้ายตำแหน่ง แตกรานกระทั่งไปกระทบกับต้นไม้ หลายหลังถูกคลื่นซัดพาลงไปกลางทะเล โดยทุกหลังล้วนแต่มีผู้คนแออัดยัดเยียดติดไปด้วย จากคำบอกเล่าของผู้รอดชีวิตจากบางหลัง ๆ ละเพียง 2 - 3 ชีวิต เล่าว่าต่างกระเสื่อกระสนดิ้นรนไม่ผิดกับแมวที่ถูกจับใส่กล่องโยนน้ำ ระลอกหลังนี้พายุพัดอยู่อีก 1 ชั่วโมง จึงสงบพร้อมกับระดับน้ำที่ลดลงทิ้งซากผู้คนสิ่งของที่ลอยไว้ตามยอดมะพร้าว และป่าแสม รวมทั้งผู้ที่รอดชีวิตทั้งหลายด้วยส่วนบนพื้นนั้น ซากศพ อาคารบ้านเรือน สิ่งของต่าง ๆ ระเกะระกะไปทั่ว

           เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ผมได้มีโอกาสเดินทางไปต้อนรับ นายรัตนาวุธ  วัชโรทัย ที่ปรึกษาฝ่ายกิจกรรมพิเศษสำนักพระราชวัง จึงได้มีโอกาสไปเยี่ยมบ้านพ่อ แล้วเลยไปที่แหลมตะลุมพุก เพื่อระลึกถึงอดีตเมื่อ 48 ปีที่ผ่านมา ผมได้นำเรื่อง-ภาพในอดีตมานำเสนอต่อท่าน ต้องขอขอบคุณเรื่องและภาพจากอินเตอร์เน็ทในบางส่วนด้วย

          ส่วนภาพปัจจุบันที่ผมได้บุกไปถึงบ้านปลายทรายอันเป็นบ้านสุดท้ายแล้ว ไปอีก 6 กิโลเมตรก็ถึงปลายแหลมสุด เมื่ออดีตเสียหายอย่างยับเยิน เราต้องไปให้ถึง

ป้ายนี้ผมไม่ทันถ่าย ขอบคุณเจ้าของภาพมาก

................................................................................................

ต่อจากนี้ไปเป็นภาพที่ถ่ายมาครับ

ชาวเลครับ

 

 

 

จะต้องไปปลายแหลมสุดให้ได้

 

ที่จริงตรงนี้สุดแล้วครับ

แต่ขอข้ามไปอีกนิด แต่ก็เสียวๆนะครับ

ประกาศชัยชนะแบบหน้าแห้งๆ

หันกลับไปดูที่ข้ามมา

มีหอคอยด้วย

 

ขากลับมาพบท่านสัมพันธ์  ทองสมัคร

 

และ ส.ส.เขตนี้คนปัจจุบัน

คุยกันพอหอมปากหอมคอ

และก็แวะดูตลาด

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 465892เขียนเมื่อ 24 ตุลาคม 2011 17:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 14:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)

สวัสดีค่ะพี่

  • เก่งมากค่ะ เห็นแล้ว...ข้ามไปได้ไง ไม่หวาดเสียวคะ?

Ico48 มนัสดา นั้นซิครับ ถามได้เสี่ยวมากด้วย เลยประกาศชัยชนะแบบหน้าแห้งๆ

  • ชาวนครฯต้องมาอ่านบันทึกที่หน้านี้  เพราะไม่ทราบรายละเอียดเลย
  • ปี 2505 เป็นวาตภัยที่ก่อความเสียหายให้คนนครฯและจังหวัดใกล้เคียงมากมาย
  • แม่เล่าว่าเมื่อก่อนคนลานสกา เช่น ตายายของเราเป็นคนร่ำรวย เพราะมีสวนพลูและสวนผลๆไม้มากมายเมื่อเจอวาตภัย ครอบครัวของเราก็หมดตัว  ยากจนมาจนทุกวันนี้(ข้อความนี้เขียนเองอิๆๆ)
  • ขอบคุณที่แบ่งปันค่ะ

 

แวะมารำลึกด้วยคนครับ เคยดูไหนหนังไทยที่อาร์เอสสร้าง น่ากลัวมากๆ

ได้เคยไปเที่ยวชมเมื่อห้าปีก่อน ยังมีทรากต้นไม้ล้มเกลื่อนๆอยู่ค่ะ

สลามท่านเบ....

ค้นประวัติศาสตร์ แหลมหลุมพุก มาให้รำลึก เหตุการณ์ โหมบ้านเราว่า"บาลาลงที่แหลมหลุมพุก"

ปีนั้น ผมอายุไม่ถึง สิบขวบ แต่จำเหตุการร์ เรื่องราวที่เล่ากันได้ พังงาไม่โดนตรงๆ แต่ก็ วินาศด้วยกัน

สวัสดีค่ะท่านเบดูอิน

น่ากลัวค่ะภัยธรรมชาติในวันวาน ขอบคุณที่แบ่งปันเรื่องราวค่ะ

ชื่นชมค่ะเดินทางไกลเหมือนกัน วิวสวยมากค่ะ

จะว่าไปแล้ว เดือนตุลาคมของเรานั้น ดูจะมีเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ชวนคิดเสมอ ทั้งการเมือง และภัยพิบัติทางธรรมชาติ หรือแม้แต่การสูญเสียคนสำคัญในระดับชาติก็เกิดขึ้นในเดือนตุลาคม เช่นกัน...

Ico48 krusorn

บันทึกไว้ด้วยซิครับ จะได้นำไปให้คนรุ่นหลังได้รู้

Ico48 Peter p
ฟังคนผู้ใหญ่เล่าก็น่ากลัวไม่แพ้กัน

Ico48 ถาวร

บังเอิญไปที่นั้นมาพอดีครับ

Ico48 แผ่นดิน

ครับท่านเดือนนี้มีเหตุการณ์หลายอย่าง

หนูเคยฟังจากคุณตา ที่รู้จักกะพ่อ เล่าให้ฟังว่า ตอนที่เกิดพายุ ชาวบ้านได้ไปอยู่รวมกันที่บ้านหลังหนึ่ง ตอนนั้นมีลมแรงมาก ทำให้กระเบื่องหล่นลงมา และคนที่อยู่ด้านในเกรงว่า เด็กและชาวบ้านจะได้รับอันตราย จึงได้นำอวนไปขึงกั้นไว้ กันกระเบื้องตกลงมาใส่ แต่พอความแรงของลมลดลง กลับมีน้ำท้วม ปริมาณน้ำเพิ่มเร็วมาก ทำให้ชาวบ้านที่อยู่ในบ้าน หนีไปไหนไม่ได้ เพราะด้านบนก็ได้ขึงอวนไว้ จนทำให้ชาวบ้านที่อยู่ด้านในเสียชีวิต (นี่เป็นส่วนหนึ่งที่คุณตาเล่าให้หนูฟัง)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท