นิทรรศการ 7 ทศวรรษราชภัฏอุตรดิตถ์ :ประสบการณ์นอกห้องเรียนที่มากกว่าคะแนน


เป็นสิ่งที่ได้เรียนรู้ต่อไปว่า ความรู้ และประสบการณ์นอกห้องเรียนเป็นสิ่งที่คนในฐานะที่เป็นอาจารย์ต้องใส่ใจ จริงใจ ที่จะสร้างประสบการณ์ให้นักศึกษา เพราะจากกิจกรรมดังกล่าวได้พิสูจน์ให้เห็นในระดับหนึ่งแล้วว่าความรู้เชิงทฤษฎีในห้องเรียนไม่ได้เป็นคำตอบสุดท้ายของ

เกริ่นนำ         

หลังจากเสร็จการประชุมของโปรแกรมนิเทศศาสตร์ในวันนั้น..

ผศ.สัมพันธ์ พูนนารถ ได้มอบหมายให้สมาชิกโปรแกรมแต่ละท่าน รับผิดชอบโครงการเพื่อสร้างสรรค์ให้นิเทศศาสตร์เป็นโปรแกรมโดดเด่นตามงบประมาณในปี 2549 โครงการหนึ่งซึ่งอาจารย์ปัญณิตา เป็นผู้ประสานงานได้แก่ งานนิทรรศการ “นิเทศ นิทรรศน์ 7 ทศวรรษ ราชภัฏอุตรดิตถ์”

ซึ่งเราจะต้องจัดระหว่างวันที่ 1-3 สิงหาคม 49 เนื่องในโอกาสครบรอบ 70 ปีของมหาวิทยาลัยอันเป็นที่รักของเรา..... 

คลำทาง…..         

อาจารย์ปัญณิตา ขอปรึกษากลุ่มย่อยกับอาจารย์อุษณีย์และข้าพเจ้า (อาจารย์รดี) เราสามคนสรุปกันในวันนั้นว่า จะทำให้นิทรรศการของนิเทศในครั้งนี้เป็นนิทรรศการมีชีวิต โดยจะจัดให้มีเวทีการแสดง(ตอนแรกเราใช้ชื่อว่า “วิกนิเทศ”…เชยๆนิดๆ) และมีส่วนการแสดงบอร์ดกิจกรรมของนักศึกษา

ความรับผิดชอบในแต่ละฝ่ายเราสามคนต้องใช้ความสามารถอย่างหนักในการพิจารณากลุ่มนักศึกษานิเทศศาสตร์ที่เหมาะสมกับหน้าที่ต่างๆ จนในที่สุด สรุปได้ว่า ปี 4 จะทำหน้าที่สร้างสรรค์บอร์ดนิทรรศการเพื่อโชว์ผลงานเด่น  

 หน้าที่ในการแสดงหลัก เรานำเสนอการแสดงสื่อพื้นบ้านซึ่งนักศึกษาปีที่ 3 กำลังเรียนอยู่โดยอาจารย์ศิริกาญจน์เป็นผู้ดูแล

นอกจากนี้เรายังมีความอยากให้น้องปี 1 ได้โชว์ความสามารถในการแสดงอีก งานนี้ถือเป็นงานแรกก็ว่าได้ที่จะเป็นบททดสอบของพวกเค้า ซึ่งทั้งสองสาขา (BC &ADPR)ได้รับมอบหมายจากอาจารย์อุษณีย์ให้จัดการแสดงขึ้นกลุ่มละ 1 ชุด เด็กปี 2 เอก ADPR ได้รับมอบหมายในการแสดงความสามารถในสิ่งที่ควรจะฝึกฝนคือ การเป็นนักประชาสัมพันธ์นำเสนอสินค้าแต่ละเต็นท์ที่เข้ามาร่วมงานกับเรา

เอาล่ะ...เรื่องของเวที..เรานึกถึงเด็กปี 2 สาขาBC ขึ้นมาทันที เพราะห้องนี้เคยมีประสบการณ์ทางด้านการแสดง พวกเค้ามีความสามารถหลากหลายด้าน และที่สำคัญบางกลุ่มเคยผ่านประสบการณ์การช่วยเราทำเวทีงานขันโตกวิชาการของคณะที่ผ่านมาแล้ว....จึงไม่มีเหตุผลอะไรที่เราจะให้นักศึกษาห้องนี้ไปทำงานอย่างอื่น................. สร้างสรรค์         

ข้าพเจ้าได้รับหน้าที่ให้เป็นผู้มอบหมายงาน การสร้างนิทรรศการมีชีวิตในส่วนของเวทีให้กับเด็กๆปี 2 เอก BC ที่สอนอยู่ในเทอมนี้ เราเรียนวิชาเขียนบทวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ด้วยกันสิ่งที่ข้าพเจ้าบอกนักศึกษาในวันนั้นมีเพียงแค่ให้พวกเค้าเป็นผู้สร้างสรรค์เวทีแห่งการแสดงออกของเราขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการ

โดยเปิดโอกาสให้พวกเค้า ได้เป็นผู้สร้างฉาก เป็นผู้กำกับเวที เป็นพิธีกร ซึ่งแต่ละส่วนเป็นสิ่งที่แต่ละคนที่เรียนเอกทีวีต้องเรียนรู้ในอนาคตอยู่แล้ว...

แต่ในวันนั้นพวกเค้าคงไม่รู้หรอกว่างานที่ได้รับมอบหมายเกี่ยวกับสาขาที่เค้าเรียนอย่างไร…….

ในวันที่มอบหมายงานทุกคนในห้องดูตื่นเต้น กับการได้ทำกิจกรรมในครั้งนี้...แต่ตัวข้าพเจ้าเองกลับไม่ได้คิดอะไร…เพราะมีงานและกิจกรรมมากมายเหลือเกินที่ต้องรับผิดชอบ..อีกทั้งเวที ในความหมายของข้าพเจ้าเป็นเพียงเวทีเล็กๆที่เป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการในมุมของนิเทศเท่านั้น จาก “วิกนิเทศฯเล็กๆ….กลายเป็นโครงเหล็กเฉียด 3 เมตร”         

ในระหว่างการเตรียมงานข้าพเจ้าในฐานะผู้สังเกตการณ์ เห็นเด็กๆกลุ่มนี้เริ่มเตรียมงานล่วงหน้าเป็นอาทิตย์ เท่าที่จำได้ตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม พวกเค้าเริ่มควานหาองค์ประกอบของเวทีแล้ว ในระหว่างนั้น ต้องขอบคุณอาจารย์ธัญญา เป็นอย่างมากที่คอยเบิกอุปกรณ์ต่างๆให้เด็กๆ เรื่องนี้สำคัญมากที่เราถือเป็นวัฒนธรมมองค์กรของเรา...”ผลสำเร็จคือที่ตั้ง”...เพราะฉะนั้นงบประมาณซึ่งดูเหมือนจะบานปลายอย่างแน่นอน..เราคงต้องยอมและแก้ปัญหากันไป.. เฮ้อ..ก็ขาดทุนมันคือกำไรทางด้านจิตใจของเราน่ะสิ         

ประมาณวันศุกร์ที่ 28 กรกฎาคม เด็กๆมารายงานว่า ตอนบ่ายจะขนเวทีมาลง...ตอนแรกไม่คิดอะไรแต่เริ่มสงสัย เพราะเจ้าดวงกมล หัวหน้าในการทำงานครั้งนี้ทำราวกับว่าจะเป็นงานใหญ่เหลือเกิน เอาแบบเวทีมาให้ดู...อยากเบิกโน่นเบิกนี่...เยอะแยะมากมายไปหมด...คำตอบทุกอย่างถูกเฉลยเมื่อเวทีขนาดใหญ่ (ราวกับเวทีคอนเสิร์ต...สูงประมาณ 3 เมตรไม่นับฉากหลัง) ถูกตั้งไว้หน้าคณะ เด่นเป็นสง่าพร้อมเสียงรายงานจากเด็กๆ.ว่าได้รับความอนุเคราะห์มาจากพ่อโบว์นายก อบต.ที่ตรอน....ช่างทุ่มเทอะไรขนาดนั้น (ขอขอบคุณท่านมา ณ โอกาสนี้ด้วย)           

ในสายตาของข้าพเจ้าเด็กๆดูทุ่มเทกับการทำงานครั้งนี้มาก.ถึงแม้ว่าคนช่วยงานจะมีน้อย มีบ้างไม่มีบ้าง สิ่งที่ครูอย่างข้าพเจ้าจะสนับสนุนได้ในตอนนั้นคือ เลี้ยงข้าว ให้คำปรึกษา และกำลังใจ...งานนี้เป็นไงเป็นกัน……
 
       
 


    
It’s time to Show and the Show must go on…         

ในวันงาน  เวทีของเรา เรียกได้ว่าเป็นสีสันของงานเฉลิมฉลองได้เลยทีเดียว การแสดงทุกอย่างที่เตรียมไว้ผ่านไปด้วยดี พร้อมๆกับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของนักศึกษาและอาจารย์...รอยยิ้มบนสีหน้าแห่งความเหน็ดเหนื่อยของผู้ทำงาน สะท้อนให้ข้าพเจ้าได้เห็นในวันนั้นว่า...ความหวังของนิเทศฯที่จะมีกลุ่มเด็กที่มีความสามารถ ความสร้างสรรค์ เริ่มชัดเจนขึ้นมาอีกครั้ง...
 


        
ผลงาน......การเรียนรู้ร่วมกัน : เสียงสะท้อนจากคนทำงาน (จริงๆ).........          ที่ผ่านมา...เมื่องานผ่านไป...การเล่าขานประสบการณ์ที่จะก่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างอาจารย์กับนักศึกษามีน้อยมาก...แต่ประสบการณ์ในครั้งนี้พวกเรามิได้ปล่อยมันผ่านไป..         

 จากการเสวนาหลังจากเสร็จกิจกรรม ทุกคนซึ่งเป็นสมาชิกการสร้างสรรค์เวทีมารวมตัวกันในวิชาที่เรียนกับข้าพเจ้า รอยยิ้มและเสียงหัวเราะของสมาชิกในห้องเริ่มปรากฏขึ้นเมื่อภาพเก็บตกจากผลงานของพวกเค้าได้ปรากฏอย่างต่อเนื่องบนผนัง พร้อมกับเสียงพูดคุยถึงประสบการณ์ต่างๆที่เริ่มดังขึ้น

“งานนี้เหนื่อยมากๆแต่ก็ภูมิใจมากๆครับ"

 “ไม่ค่อยมีคนช่วยเลยอะจารย์...มีแต่คนสร้างภาพ”

“ได้รู้เลยว่า เพื่อนในห้องแต่ละคนเป็นไง”

ก่อนที่การสนทนาจะเริ่มออกนอกกรอบ ข้าพเจ้าชิงตั้งคำถามขึ้นว่า “ปัญหาที่ผ่านมา คือ อะไร” 

จากคำถามแต่ละคนแย่งกันตอบสรุปได้  2 ประเด็นคือ ปัญหาระหว่างการเตรียมงาน กับปัญหาช่วงการจัดงาน ถ้าจะเปรียบกับวิชาการผลิตรายการโทรทัศน์ก็คือ ปัญหาช่วง Pre-Production คือ ก่อนการถ่ายทำกับ Production เป็นระหว่างการถ่ายทำนั่นเอง (ข้าพเจ้าแอบแทรกทฤษฎีเข้าไปเล็กน้อยโดยไม่หวังว่าพวกเค้าจะจำได้)         

ปัญหาและอุปสรรคช่วงการเตรียมงาน...นักศึกษาช่วยกันคิดสรุปได้ดังนี้

  • การประสานงานระหว่างเพื่อน ในกลุ่มเกิดความไม่เข้าใจกัน
  • แรงงานและความร่วมมือของเพื่อนมีน้อย
  • สภาพอากาศเป็นปัญหา ฝนตก สีเหม็น ชื้น
  • การตั้งเวทีมีปัญหา เนื่องจาก เวทีมีขนาดใหญ่ หนัก
  • ความไม่เข้าใจของอาจารย์บางท่านที่ตกใจเมื่อเห็นเวทีของเรา
  • เลือกแบบเวทีไม่ได้ ความต้องการของนักแสดงแต่ละกลุ่มต่างกันปัญหาอุปสรรคช่วงจัดงานก็มีอีกไม่น้อย สรุปได้ว่า
  • ฝนตก สภาพอากาศไม่เป็นใจ
  • รายการแสดงไม่พอทำให้คนทำเวทีต้องแสดงเองเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
  • รายการแสดงไม่แน่นอนเพราะนักแสดงมีการเปลี่ยนแปลงตลอด
  • ผู้แสดง เช่น การนำเสนอสินค้า ยังไม่น่าสนใจ
  • เครื่องเสียงและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์มีปัญหาบ่อยมาก
  • ขาดความรับผิดชอบเรื่องการเก็บเครื่องเสียงในวันแรก

จากปัญหาอุปสรรคต่างๆที่นักศึกษาช่วยกันแสดงความคิดเห็นนำมาสู่ คำถามต่อไปที่สำคัญอย่างยิ่ง นั่นคือ การแก้ไขปัญหาในครั้งต่อไป...ข้าพเจ้าพูดเกริ่นนำว่า ในฐานะที่ห้องนี้ถือเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านการทำเวที และการจัดการแสดง อีกสองปีกว่าที่เหลือ งานนี้คงจะต้องอยู่ในความรับผิดชอบของเราเพราะเราคือ คนที่ยอดเยี่ยมที่สุด (คำนี้จากสีหน้าเหนื่อยหน่ายของนักศึกษาเริ่มมีชีวิตชีวามากขึ้น)

 “เราจะแก้ไขและทำให้มันดีขึ้นอย่างไร”         

การเสนอความคิดเห็นเริ่มพร่างพรูออกมา ดูเหมือนจะมากกว่าคำถามที่แล้วซึ่งเราสามารถสรุปเป็นแนวทางในการวางแผนในครั้งต่อไป ทุกคนมีความเห็นในทางเดียวกันว่า “เราต้องวางแผนและแบ่งหน้าที่ให้ชัดเจนกว่านี้” ซึ่งจากประสบการณ์การทำงานร่วมกันในครั้งนี้ พวกเราได้สรุปหน้าที่และความสามารถของแต่ละคนที่เหมาะสมได้เป็นฝ่ายต่างๆคือ

  1. หน้าที่สำคัญในการ ขนย้าย ติดตั้ง แบกหามอุปกรณ์ทำเวที (ต้องเป็นสมาชิกกลุ่มผู้ชาย มีแกนนำ คือ เมศ อาร์ท กอล์ฟ บัง แน๊ต นุ เอฟ เด่น แชมป์ เดียว อาร์ม แต๋ม กอล์ฟสัจจะ ป๊อบ)
  2. ฝ่ายออกแบบและจัดหาอุปกรณ์ (พวกสร้างสรรค์มีเครือข่ายรอบด้าน ได้แก่ มล จิ๋ว บอย โบว์  ต้น เมย์ อั้ม จิ๊บ อาร์ท ทราย)
  3. ฝ่ายแสดง (ชอบแสดงออกได้ทุกบทบาท นั่นคือ กัณฑ์ ต้น เจ๋ง เมย์ เปีย เมศ บุ้ง จิ๊บ)
  4. ฝ่ายประสานงาน (คอยประสานงานกับอาจารย์และเพื่อนๆ ควรเป็น ปู บอย จิ๋ว มล นก)
  5. ฝ่ายเทคนิค (เรียนรู้และชื่นชอบอุปกรณ์ราคาแพงที่สำคัญมีความรับผิดชอบ ได้แก่ อาร์ท เมศ แน็ต เด่น)
  6. ฝ่ายกองหนุนหรือสวัสดิการ (เป็นผู้ให้การสนับสนุนโดยนำทรัพยากรทางบ้านมาช่วยเหลือ ได้แก่ แซน นก ปู บอย กัณฑ์ เมย์ เมศ เอมอร นุ้ย ออย อ้อม)
  7. ฝ่ายเด็บผ้า (กลุ่มนี้ค้นพบดาวรุ่งใหม่ที่มีฝีมือ ใช้ได้ทุกงาน คือ จิ๋ว เปรี้ยว เอมอร กัณฑ์ อั้ม นุ้ย)          

จากการสรุปการแบ่งหน้าที่ในครั้งต่อไป ข้าพเจ้าสังเกตสีหน้าของเด็กๆบางคนที่ออกจะภูมิใจเมื่อได้ถูกเพื่อนๆเสนอชื่อขึ้นมา ข้าพเจ้ามั่นใจว่าในสถานการณ์เรียนรู้ร่วมกันในครั้งนี้ สร้างความรู้สึกอยากมีส่วนร่วมได้มากขึ้นกับสมาชิกที่รู้สึกเหนื่อยหน่ายกับการทำกิจกรรม และสร้างความรู้สึกภาคภูมิใจให้กับบางคนว่าในวันนั้นว่าความสามารถของเขาได้เป็นที่ยอมรับในสายตาของเพื่อนๆ..

ถือเป็นนิมิตรหมายที่ดีในการทำงานร่วมกันครั้งต่อไป         

คำถามสุดท้าย...คำตอบกินใจ คือ “สิ่งที่ได้.จากการทำงาน”

แทบไม่น่าเชื่อ คำตอบของสมาชิกทั้งหมดไม่มีใครบอกถึงคะแนนที่ได้รับเลย คำตอบที่ได้มีความหลากหลายที่แฝงไปด้วยความรู้สึกภาคภูมิใจ และประสบการณ์ ดังนี้ กลุ่มได้ประสบการณ์…..

  •  รู้วิธีการทำเวที
  • ทำงานหลายอย่างในเวลาเดียวกัน
  • ทำสิ่งที่ไม่เคยทำ
  • รู้วิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
  • เรียนรู้การทำงานเป็นทีม
  • รู้จักเพื่อนมากขึ้น
  • รู้จักแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า
  • นำทฤษฎีมาปรับใช้จริง
  • รู้ความสามารถของเพื่อน
  • เรียนรู้ปัญหาว่าเกิดได้ตลอด

 

กลุ่มได้ความรู้สึก..........

ได้ใจ    ความเหนื่อยคือความภูมิใจของคนส่วนใหญ่

น้ำตา    ความหมายของ “ความจริงใจ”

ความผูกพันระหว่างเพื่อน

สามัคคี คือพลัง   ความร่วมมือและการมีส่วนร่วม

นิสัย จริงใจ งานหนัก มาด้วยกัน

มีความสุขบนความเหนื่อย คำว่า “เหนื่อย”เป็นอย่างไร
 
                                         
 


               
บทสรุป.....ของประสบการณ์ที่มากกว่าคะแนน...          

จากการทำกิจกรรมครั้งนี้ ถ้าข้าพเจ้าเอาเกณฑ์การประเมินผลในวิชาการเขียนบทวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์มาพิจารณาเพื่อให้คะแนน คงไม่มีใครผ่านเกณฑ์การประเมินเพราะกิจกรรมไม่ได้เกี่ยวข้องกับวิชาที่เรียนโดยตรง          

หากประเมินในด้านของความรู้ความสามารถ นักศึกษากลุ่มนี้ไม่ได้ใช้ความรู้ในการสร้างสรรค์ เวที กิจกรรมการแสดงต่างๆ การควบคุมเครื่องเสียง หรือแม้แต่การบริหารจัดการเวทีการแสดง ที่ได้รับการร่ำเรียน สั่งสอน ถ่ายทอดจากอาจารย์ผู้สอนในห้องเรียนแต่อย่างใด อาจจะเรียกได้ว่าความรู้ในการทำงานครั้งนี้ไม่ใช่ความรู้เชิงทฤษฎี (Explicit Knowledge) เพราะอาจารย์ยังไม่เคยสอนวิธีการต่างๆดังที่ได้กล่าวมาถึงแม้จะมีบรรจุอยู่ในรายวิชาทางด้านนิเทศศาสตร์ก็ตาม           

ดังนั้นการทำงานในครั้งนี้จึงเกิดขึ้นจากการนำประสบการณ์ที่ได้จากการเรียนรู้ในกิจกรรมต่างๆตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม จนกระทั่งมาสู่ชั้นปีที่ 1 เป็นความรู้ที่สะสมได้จากการปฏิบัติ นำมาลองผิดลองถูก กลายเป็นผลงานในครั้งนี้  จนอาจกล่าวได้ว่า หากเราต้องการสาระแห่งความรู้ที่ได้จากการทำกิจกรรม  กระบวนการ ขั้นตอนการปฏิบัติ ปัญหาอุปสรรคและสิ่งที่ได้รับ ล้วนแล้วแต่เป็น...ความรู้ฝังลึก (Tacit Knowledge) ผ่านการเล่าเรื่องราวร่วมกัน (Story Telling) ของนักศึกษาและอาจารย์ทีมีประสบการณ์การปฏิบัติร่วมกันแทบทั้งสิ้น ทำให้มองเห็นว่า ความสำเร็จของการทำงานไม่ได้อาศัยแต่ความรู้เชิงทฤษฎีที่ได้รับจากการเรียนการสอนในห้องเรียนเสมอไป อาจารย์และนักศึกษาต้องเรียนรู้ประสบการณ์ร่วมกันนอกห้องเรียนเพื่อค้นหาแนวทางที่สามารถนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพในชีวิตจริง          

“ความอิ่มใจ” “ภูมิใจ” ส่งผลให้เกิด “กำลังใจ” น่าจะเป็นคำตอบของข้าพเจ้าในคำถามที่ว่า “เราได้อะไร..จากงานนี้” และเป็นสิ่งที่ได้เรียนรู้ต่อไปว่า  ความรู้ และประสบการณ์นอกห้องเรียนเป็นสิ่งที่คนในฐานะที่เป็นอาจารย์ต้องใส่ใจ จริงใจ  ที่จะสร้างประสบการณ์ให้นักศึกษา เพราะจากกิจกรรมดังกล่าวได้พิสูจน์ให้เห็นในระดับหนึ่งแล้วว่าความรู้เชิงทฤษฎีในห้องเรียนไม่ได้เป็นคำตอบสุดท้ายของ “คุณภาพบัณฑิตที่สมบูรณ์” ขอบคุณผู้ร่วมเล่าเรื่องและกลั่นกรองความรู้ : นักศึกษาวิชาเอกนิเทศศาสตร์ สาขา วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ชั้นปีที่ 2 รหัส 48 *หมายเหตุ- นักศึกษา BC ได้แก่ นักศึกษาวิชาเอกนิเทศศาสตร์ สาขา วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ (Broadcasting Program :BC)- นักศึกษา ADPR ได้แก่ นักศึกษาวิชาเอกนิเทศศาสตร์ สาขา การโฆษณาและการประชาสัมพันธ์ (Advertising and Public Relation Program :ADPR)

หมายเลขบันทึก: 46590เขียนเมื่อ 27 สิงหาคม 2006 01:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)
  • ยินดีต้อนรับครับ อ.รดี (พี่เฟิร์น)
  • บันทึกแรกเปิดฉากเต็มที่เลยนะครับ
  • ถ้าอย่างไรเขียนบันทึกดี ๆ มาลงบ่อย ๆ นะครับ
  • หรือนำรูปกิจกรรมต่าง ๆ ของคณะฯ ของมหาวิทยาลัยฯ หรืองานวิจัยดี ๆ ของ อ.ประพนธ์กับอ.ธิดา มาลงด้วยก็ได้นะครับ
  • ถ้ามีข้อสงสัยเกี่ยวกับการตกแต่งหรือเกี่ยวกับบล็อกต่าง ๆ สามารถสอบถามได้เลยนะครับ
  • สอบถามได้ทุก ๆ คนเลยครับ เพื่อน ๆ พี่ ๆ ที่นี่ทุกคนเป็นกัลยาณมิตรกันหมดครับ
  • ยินดีต้อนรับครับ อาจารย์น้องเฟิร์น  
  • เยี่ยมครับสำหรับบันทึกแรก
  • คุณอาประพนธ์...สบายดีนะครับ
ขอบคุณค่ะถ้ามีความรู้เรื่องนิเทศศาสตร์ เชิญร่วมแชร์ความคิด ได้เลยนะคะ มีอะไรแนะนำได้เสมอเลยค่ะ
  • เจ๊ครับ
  • ถ้าอย่างไรรบกวนเจ๊เข้าไปเยี่ยมเยียนบล็อกท่านอื่น ๆ ด้วยนะครับ เจ๊จะได้มีเครือข่ายมากขึ้นครับ
  • แล้วถ้ามีบันทึกอะไรก็มาลงบ่อย ๆ นะครับ อย่าหายเงียบไปแบบนาน น๊านๆ ๆ ๆ ๆ มาลงทีนะครับ เดี๋ยวจะเสียชื่อคนสมัครให้หมดนะครับ (อิอิ ขำ ๆ )
  • พี่เฟิร์นถ้ามีอะไรเกี่ยวกับคณะฯ ไปทำกิจกรรมอะไรก็เอามาลงเรื่อย ๆ นะครับ แล้วก็ไปเยี่ยมชมเวปท่านอื่นด้วย จะได้มีคนมาเข้าเยี่ยมชมบล็อกพี่นะครับ
  • ขอพลังความรู้จงสถิตกับท่านตลอดไป

อ่านแล้ว..ก็อ่านอีก เจ๊เฟินเป็นคนที่ใช้ภาษาแล้วทำให้คนอ่านได้เพลิดเพลินใจมากเลยจ๊ะ น้องชอบ...

เห็นด้วยกับ Tacit Knowledge ที่อยู่ในตัวของนักศึกษาของเรา..เค้าเก่งมากในเรื่องที่เราไม่เคยรู้จากความสามารถที่เค้าแสดงออกมา จากงานที่เรามอบหมายให้ทำ...เราต้องดึงความสามารถที่เค้ามีอยู่ในตัวซึ่งบางทีตัวเค้าเองอาจจะไม่รู้ก็ได้ ให้ออกมาให้เยอะ ๆ ค่ะ  ซึ่งสุดท้ายก็จะเป็นประโยชน์สำหรับตัวนักศึกษาเอง จริงมั๊ยคะ

เป็นหนึ่งในงานเขียนบันทึกเพียงไม่กี่ชิ้นที่ผมอ่านแล้วเห็นภาพและมีความสุขในทุกบรรทัด  ขอให้ความมุ่งหวังของครูนิเทศฯที่มีต่อนักศึกษา เป็นจริงทุกประการ

ผมและพี่ๆที่จบมาแล้วอาจช่วยเบาแรงครูได้ไม่มากแต่ถ้าเมื่อไหร่ที่ครูเห็นว่าพวกเราพอจะช่วยได้ขอให้ครูบอกมานะครับ ผมและพี่ๆที่จบมาแล้วจะมีความสุขมากหากได้มีโอกาสรับใช้ครูและรับใช้นิเทศศาสตร์

ขอบคุณน้องปุ้ยค่ะ...พี่ก็รอน้องอยู่นะคะว่าเมื่อไหร่เราจะเข้ามาสร้างสรรค์สังคมแห่งการเรียนรู้ด้วยกัน เพราะน้องเองก็เปี่ยมไปด้วยจิตวิญญาญเช่นกันค่ะ
ขอบคุณโดมมากนะคะ ครูปลื้มใจมากที่โดมได้เข้ามาเจอบล๊อกนี้เราต่างมีแรงบันดาลใจด้วยกันทั้งนั้นค่ะ...แล้วพวกหนูก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดแรงบันดาลใจต่างๆขึ้นมามากมาย โดมคะถ้ามีเวลาอยากเขียนอะไรถึงน้อง ก็เข้ามาได้นะคะ..ขอให้โดมและเพื่อนๆเป็น ความหวัง และศรัทธาของนิเทศศาสตร์ต่อไป
  • เจ๊เฟิน....น้องเข้ามาสมัครสมาชิกเรียบร้อยแล้วค่ะ เจ๊เข้าไปดูได้เลย
  • แต่ยังมีบันทึกไม่มากนัก...แต่จะพยายามบันทึกต่อไปให้ได้...และให้ดีค่ะ
  • ตอนนี้ก็เรียนรู้เรื่องการใช้ blog อยู่ทุก  ๆ วันเลยค่ะ ลองผิด ลองถูก ไปเรื่อย ๆ :D 555

ผมเพิ่งได้เข้ามาดูครับ รู้สึกประทับใจมาก วันเวลา ความรู้สึกเก่า ๆ เริ่มมีกลิ่นโชยมา ทำให้เรารีบซึมซับช่วงเวลานั้นไว้ มีความสุขมากครับที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของงาน

หลงทางผ่านมาครับ ดร.เฟิร์น เขียนเลื่อนไหลดีมากครับ

เขียนบ่อยๆนะครับ....เรือนธรรมรัฐ กาญจนบุรี รายงานตัวครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท