เพื่อนเยี่ยมเพื่อน


ความสุขเล็กๆของคนที่ถูกเรียกว่า "ชาวนา"

เบิกบานสราญใจ กันถ้วนหน้า สำหรับกิจกรรมของชาวนาในวันนี้ 3 เดือนครั้ง กับการที่ชาวนาของข้าวขวัญ จะได้พักผ่อนหย่อนใจ พบปะสังสรรค์ในสไตล์ของชาวนา ในเวทีที่เราใช้ชื่อว่า "เพื่อนเยี่ยมเพื่อน" ครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 8 แล้ว ที่ชาวนาทั้ง 4 พื้นที่ของข้าวขวัญ ( อ.เมือง/ อ.อู่ทอง/ อ.บางปลาม้า / อ.ดอนเจดีย์ ) รวม 200 กว่าชีวิต จะได้มาเจอกันแบบหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพ ครั้งนี้ ผู้ทำหน้าที่ต้อนรับขับสู้เพื่อน คือ พี่น้องไทยทรงดำ อู่ทอง และแน่นอน ว่าเราจะไม่พลาดกับการได้ชื่นชมวัฒนธรรมของไทยทรงดำ อย่างแน่นอน

วันนี้ ฉันตั้งใจจะวางมือ และทำหน้าที่ชื่นชมกิจกรรมของชาวบ้านแบบล้วนๆ โดยไม่เข้าไปร่วมสักกระบวนการ แต่มันก็เป็นไปไม่ได้ เพราะเมื่อเริ่มมีความครึกครื้นหรือสีสันของการให้จังหวะ ฉันก็มักจะโดนพี่น้องชาวนา โน้มตัวโค้งออกมาเชื้อเชิญแทบทุกครั้งไป ปฏิเสธเป็นไม่ได้ ก็ตั้งใจไว้มั่นเหมาะ ว่าต่อไปนี้ บทบาทการเป็นวิทยากรบนเวที จะให้ "คุณกิจ" ได้มีโอกาสฝึกฝนบ้าง แต่พอโดนลูกอ้อนเข้าหน่อย มันก็อดเข้าไปแจมไม่ได้ทุกครั้งไปสิน่า....

ทีมงานข้าวขวัญมากันทุกคนค่ะ ไม่เว้นแม้แต่เจ้าหน้าที่จากส่วนภาครัฐ ที่ชาวบ้านเชื้อเชิญมาให้เป็นแขกพิเศษ เช่น ท่านรองเกษตรจังหวัด วันนี้ ท่านก็เปิดตัวซะเต็มที่ ว่ายินดีจะร่วมกิจกรรมกับทางกลุ่มชาวนา เพื่อลดการใช้สารเคมีกันอย่างจริงจัง ท่านยังว่า แม้ต้องการความร่วมมือเรื่องการถ่ายทอดวิทยายุทธ ไม่ว่าบุ๋น(เอาเรื่องแนวคิด) หรือ บู๊ (การปฏิบัติจริงแบบถึงลูกถึงคน ) ทางหน่วยงานราชการก็พร้อมเสมอ เอาล่ะ เมื่อ NGOs ผนึกกำลังกับ GOs ได้ คนที่จะได้รับความสุขทางใจคงหนีไม่พ้นชาวบ้าน ฉันว่า ถ้าหน่วยงานรัฐหันมาปฎิรูป รูปแบบการทำงานได้อย่างจริงจัง ทำงานกับชาวบ้านโดยไม่ได้คิดถึงผลประโยชน์ของตนเอง ร่วมมือกันหมดทุกฝ่าย ไม่กั๊กกัน ผลที่ได้ มันน่าจะคุ้ม ยิ่งกว่าคุ้ม เพราะบอกตามตรงว่าฉันเองก็ไม่อยากถูกมองว่าเป็น NGOs ที่ไม่สนใจฟ้าดินหรอก คนดินๆ อย่างฉัน จะได้รู้สึกว่า แผ่นดินนี้ มันน่าอยู่ขึ้นอีกเยอะ

สิ่งที่เวที เพื่อนเยี่ยมเพื่อน เน้นกันมากที่สุด ก็คือเวทีเสวนาของชาวนา และผลที่เกิดขึ้นจากการได้เข้าสู่โรงเรียนชาวนา ตัวแทนชาวนาทั้งสี่พื้นที่ ได้ช่วยกันถอดบทเรียนของตนเอง และสิ่งดีๆที่ได้เกิดจากการเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน คือ

1.โรงเรียนชาวนา สอนให้ชาวนามีความมั่นใจในแนวคิดของการเปลี่ยนวิถีการผลิตที่พึ่งตนเอง  และทำให้ชาวนากล้าที่จะนำวิทยาการทดแทนสารเคมีไปใช้ในการปฎิบัติจริงได้

2.การได้รับองค์ความรู้ใหม่ๆที่ล้วนน่าสนใจ และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้อย่างแท้จริง เช่น การรู้จักแมลงในแปลงนา การจัดการแมลงโดยสมุนไพร การทำปุ๋ยหมักชีวภาพเพื่อการบำรุงดิน การเก็บและขยายจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ การทำน้ำฮอร์โมนบำรุงต้นพืช ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่าง ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่มาเอื้อเพื่อการทดแทนสารเคมีได้อย่างมีประสิทธิภาพ

3.ฝึกการสังเกต และการพัฒนาแนวคิดของตน จากการตั้งข้อสงสัย จนเกิดการหล่อหลอมเป็นภูมิปัญญา เช่น กลุ่มวัดดาว หลังจากที่ได้ไปเดินหาจุลินทรีย์ที่น้ำตกไซเบอร์ ได้สังเกตบริเวณสองข้างทางที่เดิน ว่ามีไม้ขอนขนาดใหญ่ล้มอยู่ แต่ภายในเนื้อไม้ กลับผุกร่อนลงได้ นั่นก็เกิดจากประสิทธิภาพของจุลินทรีย์ ที่สามารถย่อยสลายไม้ใหญ่ได้ ชาวนาจึงคิดว่า ขนาดไม้ใหญ่ในป่า จุลินทรีย์ยังทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แล้วแค่เพียงกองฟางในนา ทำไมจุลินทรีย์จะมาจัดการไม่ได้ เป็นการจุดประกายความคิดของชาวบ้าน ในการที่จะเลิกการเผาฟางในนา และหันมาใช้จุลินทรีย์เพื่อการย่อยสลายฟางแทน ด้วยการรู้และเห็นคุณค่า ว่า ฟาง คือปุ๋ยบำรุงดินชั้นยอด นั่นเอง ต้องยกความดีให้ชาวนากันแล้ว เพราะผลจากการพิสูจน์ด้วยมือและความเชื่อของตนเอง จึงทำให้วันนี้ ไม่มีการเผาฟางในนาอีกเลย

4.สอนให้ชาวนา กล้าแสดงความคิดเห็นและอยากเรียนรู้ตลอดเวลา ยิ่งแต่ละพื้นที่ได้มีประสบการณ์เก็บเล็กผสมน้อยจากองค์ความรู้ และได้มีเวทีให้แลกเปลี่ยนกันเสมอมา ยิ่งทำให้ชาวนา รู้ว่า ถ้าพวกเค้าเชื่อมั่นในเส้นทางที่เดินแล้ว ไม่มีวันที่เค้าจะโดดเดี่ยวอย่างแน่นอน

5.ความรัก ความเอื้ออาทรต่อสรรพสิ่ง รู้ว่าทุกสิ่งในโลกใบนี้ เพื่อนมนุษย์ สัตว์ แมลง ดิน น้ำ ป่า อากาศ ล้วนเป็นกัลยาณมิตร ต้องดูแลต้องรักษา ต้องไม่ทำลาย

จากนั้นในภาคบ่าย เป็นช่วงไม่เครียดค่ะ แต่ละพื้นที่นำวัฒนธรรมการละเล่นของตนเองมาโชว์แบบไม่ยั้ง ยกตัวอย่าง อู่ทอง เจ้าภาพ แสดงละครสั้น เรื่อง ชะตากรรมชาวนาสองยุค ชี้ให้เห็นชัดๆว่า ความแตกต่างของการทำนาในอดีตจนถึงปัจจุบัน มันสะท้อนถึงภาพความจริงในความเป็นชาวนาได้อย่างไร ( เสียงฮา ไม่ใช่น้อย ก็นานๆทีจะได้เห็นชาวบ้านเค้าแสดงบทบาทสมมติ ) อ.เมือง มาแบบวาไรตี้ ทั้งลิเก ทั้งขับเสภา ว่าด้วยเรื่อง ประโยชน์ของผ้าขาวม้ากับวิถีชีวิตชาวนา พอถึงเรื่องบทเพลงเมื่อไหร่ ฉันก็มักจะหยุดนิ่งเฉยไม่ได้ ต้องเข้าไปร่วมผสมโรงทุกครั้งไป อ.บางปลาม้า ก็นำเสนอ เพลงลำตัด เพลงฉ่อย เพลงเกี่ยวข้าว กันเป็นที่สนุกสนาน ปิดท้ายที่ดอนเจดีย์ เป็นการรำวงย้อนยุค ปิดท้ายด้วยการแข่งขันปิดตากันตำส้มตำ (ใครคิดเนี่ย) แต่เป็นอันว่า กิจกรรมนี้ทำให้ชาวบ้านสมัครสมานสามัคคีกันยกใหญ่ เพราะกลัวส้มตำจะกินกันไม่ได้

รื่นเริง บันเทิงใจกันขนาดหนักเชียวล่ะ เพราะวันนี้ เป็นวันของพวกเค้าเอง ใครว่าชาวนามีแต่ทุกข์ มาดูกิจกรรมเพื่อนเยี่ยมเพื่อนแล้วจะรู้ว่า เค้าโยนความทุกข์ออกจากอกได้อย่างไร รู้มั๊ย ว่าทำไมฉันถึงมีความสุขทุกครั้งที่ได้เจอชาวบ้าน ยิ่งคนเยอะๆฉันยิ่งชอบ ยิ่งเค้าร่วมกิจกรรมที่ฉันพาทำ ฉันยิ่งประทับใจ เคยเห็นมั๊ย รอยยิ้มที่บริสุทธิ์ใจของคนที่ใจเค้าอิ่ม มันเป็นยิ้มที่ยิ้มทั้งใบหน้า ถึงปากไม่ยิ้ม ตาก็ยิ้มได้ มันสื่อความหมายได้เยี่ยมยอดนัก แล้วรู้มั๊ย เวลาชาวบ้านเค้าให้รางวัลกันด้วยการปรบมือชุดใหญ่ เสียงปรบมือที่สะท้านก้องกังวาลนั้น มันทำให้หัวใจคุณอำนวยอย่างฉัน ชุ่มฉ่ำแค่ไหน....

วันนี้ ฝนไม่ตก แต่หัวใจฉันก็ชุ่มฉ่ำเหลือเกิน.....

พบกันกับเวทีเพื่อนเยี่ยมเพื่อน ครั้งที่ 9 อีก 3 เดือนถัดไป ที่หนองแจง ต.ไร่รถ อ.ดอนเจดีย์ ตามไปดูกันสิว่า หนองแจงเค้าจะเตรียมของดีอะไรมาอวดเพื่อน

 

 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 466เขียนเมื่อ 24 มิถุนายน 2005 11:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 13:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
ฟังแล้วน่าสนุก และเสียดายไปพร้อมๆ อยากเห็นภาพอ่ะจ๊ะ ชมภู่ ทำเหมือนโหลดภาพตัวเองนั่นแหละ แต่เวลาใส่ในบันทึกก็กด รูดต้นไม้นั้นแล้วใส่coadลงไปจ้า

เพื่อนเยี่ยมเพื่อน ครั้งที่จะถึงนี้วันอาทิตย์ที่ ๕ มี.ค.นี้ใช่ไหมครับ

เริ่มตั้งแต่กี่โมงครับ ผมอยากจะขอไปร่วมวงด้วยนะครับ

อยากไปดูวัฒนธรรมของโรงเรียนชาวนามาก ๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท