๙๖.กั้นขอบถนนให้เป็นคลองส่งต่อน้ำไปทะเล


เมื่อตอนอยู่บ้านนอก ชาวบ้านต่างจะรอคอยน้ำหลาก บ้านผมซึ่งอยู่อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ ด้านเหนือติดกับอำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร ชาวบ้านจะสื่อสารเรื่องน้ำแบบปากต่อปาก เมื่อน้ำถึงพิษณุโลกและเข้าสู่พิจิตร ก็จะเริ่มประมาณช่วงเวลาที่น้ำจะไหลถึงบ้านหนองบัวได้ ซึ่งโดยทั่วไปก็จะกินเวลา ๑-๒ วันพระ ชาวบ้านก็จะเริ่มเก็บข้าวของขึ้นร้านยกสูง เอาวัวควายไปผูกไว้บนเนินดิน กองฟางก็กองไว้บนเนินดิน เรือจะเตรียมยาชันและคว่ำให้แห้งพร้อมใช้ได้ตั้งแต่เมื่อช่วงหน้าแล้ง

แต่หากน้ำมาถึงช้ามากกว่าปรกติ ชาวบ้านก็จะเริ่มรวมกลุ่มกันเดินทางวขึ้นไปดูที่บางมูลนาก และขอไขน้ำแบ่งปันกันกับคนที่อยู่พื้นที่ทางเหนือ ให้น้ำได้ไหลลงสู่ทางใต้ก่อนที่กล้าข้าวในนาจะแห้งและตายแล้ง

เมื่อน้ำเริ่มไหลเข้าสู่ผืนนา ซึ่งจะยังห่างจากย่านอาศัย ชาวบ้านต่างก็จะพากันแบกจอบแบกเสียมและมีดพร้า ออกไปเฝ้าเปิดทางให้น้ำไหล  การเปิดทางน้ำให้ไหลผ่านหมู่บ้านกับการไขน้ำเข้าสู่ที่นา จึงเกิดจากการไหลซึมนำไปก่อนของน้ำ เมื่อมีแนวโน้มไปทางไหน ชาวบ้านก็จะใช้จอบเซาะดินและเปิดทางให้ค่อยๆไหลไปทางที่นาและสู่แหล่งที่ต้องการให้น้ำไหลล่องไป จะไม่มีการกั้นน้ำเพื่อบังคับให้น้ำไหลไปในทางที่เราต้องการอย่างเดียว เพราะจะทำให้น้ำหลากไม่ทั่วผืนนาก่อนที่จะไขส่งต่อให้เจ้าอื่นต่อไป อีกทั้งการบังคับทิศทางน้ำ ที่ไม่ใช่การรอเปิดทางน้ำตามการซึมนำหน้าของน้ำนั้น เมื่อน้ำหลากมารวมกันแล้ว ก็จะแรงและเชี่ยวกราก กุมทิศทางไม่ได้ ผมและชาวบ้านเมื่อตอนทำนากันก็ต้องทำอย่างนี้เช่นกัน

ทำนองเดียวกัน เมื่อสภาพบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว แต่เมื่อเกิดน้ำท่วมขังและมีแบบแผนในการไหลหลากอยู่บ้างเหมือนกันนั้น เป็นไปได้หรือไม่ว่า ตามถนนและอาณาบริเวณที่น้ำหลากไปนั้น จะสามราถบอกเราได้ ๒ ประการคือ เหตุปัจจัยต่างมีธรรมชาติที่บอกว่าเขาต้องการไปทางนั้นมากที่สุด เหมือนกับที่ในอดีตก็จะเป็นการซึมตามดินบอกให้ชาวนาช่วยกันใช้จอบเปิดดินไขน้ำเข้านาและส่งต่อกันไปตามลำดับ แต่ ณ เวลานี้ ผู้คนต่างทำในทางตรงกันข้าม คือ ไม่ยอมเปิดทางน้ำ แต่ยิ่งกลับปิดทางน้ำ ซึ่งย่อมหมายถึงช่วยกันสะสมทั้งปริมาณและความแรง ที่พร้อมจะระเบิดพุ่งเข้าทำลายทุกอย่างที่ขวางหน้า

ดังนั้น ในกรณีที่จำเป็น ที่ต้องการหลีกเลี่ยงความเสียหายให้น้อยที่สุดในย่านที่น้ำบ่าเข้าท่วมและต้องปล่อยถนนทิ้งให้เสียหาย ใช้สัญจรก็ไม่ได้ อีกทั้งละแวกชุมชนโดยรอบก็ต้องปล่อยให้เสียหายไปด้วยนั้น ในย่านที่ใกล้ทะเลดังเช่นกรุงเทพฯและเขตปริมณฑล กับย่านที่ใกล้คลอง เราจะมีทางไหนที่คิดและทำขึ้นมาได้อีก....ถือว่าเป็นการรวบรวมความคิดช่วยกันนะครับ ระดับปัญหามันใหญ่มากเกินไป 

กั้นขอบถนนให้เป็นคลองและทางน้ำ
ส่งน้ำออกสู่ทะเลและแม่น้ำ

ลักษณะถนน

  • ต้องช่วยกันดูว่าน้ำจะหลากไปทางไหน มากกว่าช่วยกันกั้นและเรียกร้องให้หน่วยราชการมาสนองตอบการปิดกั้นน้ำโดยมองแต่จำเพาะหน้าตามจุดย่อยๆ แต่ไม่คำนึงภาพรวม ซึ่งจะยิ่งทำให้มวลน้ำสะสมมากมหาศาลยิ่งกว่าเดิมทั้งปริมาณและความรุนแรง
  • ถนนที่ต้องปล่อยให้ถูกน้ำท่วมอย่างแน่นอน ซึ่งบางส่วนจะต้องเสียหายอยู่แล้ว ดังนั้น นอกจากปล่อยให้เสียไปอย่างเปล่าประโยชน์ จะสามารถดัดแปลงเป็นทางส่งน้ำเพื่อจัดการการไหลของน้ำได้หรือไม่
  • ถนนที่มุ่งไปทางทะเล ผ่านย่านชุมชนลงสู่ทะเล หรือเข้าใกล้ทะเล เข้าใกล้แม่น้ำลำคลอง
  • ถนนที่เชื่อมต่อกันหลายช่วง และสามารถออกแบบการปิดกั้นและเปิดทางน้ำหลาก ให้ไหลส่งต่อเข้าใกล้ทะเล
  • สามารถกันพื้นที่ชุมชนจำนวนหนึ่งไม่ให้ถูกน้ำท่วม หรือลดการท่วมสร้างความเสียหายได้น้อยลง 

 

วิธีกั้นและสร้างระบบจัดการเฉพาะหน้า

  • กั้นขอบถนนสองข้างให้สูงขึ้นเป็นคลองและทางส่งน้ำชั่วคราว เท่ากับขนาดของถนน
  • ถนนทั้งเส้นกลายเป็นลำคลองและทางส่งน้ำ ทอดผ่านย่านชุมชนและแหล่งเรือกสวนไร่นาที่ต้องการลดความเสียหายให้มากที่สุด
  • กรณีถนนขนาดใหญ่ กั้น ๑ เลนและเหลือให้ใช้สัญจร ๑ เลน
  • ติดตั้งเครื่องสูบและเดินน้ำไปบนคอลงและทางส่งน้ำที่สร้างขึ้นชั่วคราวนี้ ส่งต่อกันไปให้ผ่านชุมชนและเข้าใกล้ทะเลกับแม่น้ำให้มากที่สุด
  • ในบางแห่งสามารถส่งเชื่อมต่อออกสู่ทะเลได้เลย
  • ชุมชน บ้าน ย่านเพาะปลูก และย่านธุรกิจสองข้างทาง สามารถสูบน้ำออกจากโดยรอบเข้ามาในทางส่งน้ำนี้ได้มากขึ้น ดีกว่าสูบทิ้งให้ไปท่วมที่อื่นที่ยิ่งจัดการได้ยากขึ้น
หมายเลขบันทึก: 466467เขียนเมื่อ 28 ตุลาคม 2011 16:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 02:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ความคิดของอานารยื์ผมอยากให้นายกอ่านจัง ครับ

เพรา:-นี่คือทางออกที่มีความเป็นไปได้ ก ะ ฟ ยย

ชื่นชมข้อเสนอที่สร้างสรรค์ เห็นเป็นรูปธรรม ของอาจารย์คะ

แก้ปัญหาที่ตรงจุด คือสร้างทางระบายน้ำ

ในระดับชุมชน น่าจะนำไปลองปฎิบัติได้ทันที

ส่วนกลาง และนักวิศวกรรม น่าจะเปิดใจรับวิธีใหม่ๆ ไม่ต้องตามอย่างใครอย่างนี้ไปพิจารณาคะ

สวัสดีครับคุณแสงแห่งความดีครับ

ในบางพื้นที่ที่ต้องปล่อยให้น้ำท่วมขังบ้านเรือน และรถราก็ออกมาวิ่งไม่ได้ แทนนั่งรอให้น้ำลด
หรือรอให้น้ำจากแหล่งอื่นมาสบทบอีก ก็น่าลองทำวิธีนี้ดูนะครับ
อันที่จริงชาวนาเมื่อทำร่องจัดการระบบให้น้ำไหลเข้าและออกพื้นที่นาก็ใช้หลักอย่างนี้เหมือนกันนะครับ
แถวภาคกลาง ทุ่งรังสิต และรอบๆกรุงเทพฯที่ทำนาน้ำตม เมื่อต้องการหว่านและไขน้ำเข้าออกนา
ผมก็เห็นเขาทำร่องให้น้ำไหลเข้าไหลออกตามแนวที่น้ำจะไหลไปอย่างนี้เหมือนกัน

ผมลองทำปากและเสียง ก ะ ฟ ยย
ได้คล้ายๆเสียงว่ากาฟิววว แน่ะ

สวัสดีครับอาจารย์หมอปัทมาครับ

เป็นสิ่งที่ก็กำลังทำในสถานการณ์ที่นำกำลังท่วมอยู่แล้วเลยนะครับ
เพียงแต่การกั้นน้ำส่วนใหญ่ในเวลานี้ เป็นการกั้นไม่ให้น้ำท่วมบ้านและธุรกิจของตนเอง
แต่หลากไปท่วมไหนต่อนั้นไม่มีแนวคิดจัดการต่อให้กัน หากที่กำลังทำอยู่นี้ เชื่อว่าการกั้นกระสอบทรายและสิ่งกีดขวางต่างๆ สามารถกันน้ำและปิดกั้นน้ำผลักดันไปที่อื่นได้ ก็ย่อมนำมากั้นบนขอบถนนเพื่อทำถนนให้เป็นคลองให้น้ำไหลผ่านเมือง ชุมชน และแหล่งทำกินของชาวบ้าน ที่เราสามารถจัดการร่วมไปกับแนวการต้องการไหลไปของอน้ำได้ดีกว่าเดิมได้

ขณะเดียวกัน การกั้นกระสอบทรายในเวลานี้ส่วนใหญ่ เป็นแนวคิดการกั้นเพื่อป้องกันจำเพาะส่วนของตนเอง แต่ต่างปล่อยให้ไปท่วมแหล่งอื่น รวมทั้งถนน ดังนั้น ก็เปลี่ยนแนวคิดเพื่อป้องกันตัวเองเหมือนกันแต่ทำผ่านการออกมาสร้างระบบส่วนรวมคือคลองบนถนน เสร็จแล้วก็ยังสามารถรองรับการสูบน้ำออกจากแต่ละบ้าน ส่งให้ไหลไปตามทางระบายน้ำที่สร้างขึ้นนี้ ได้ดีกว่าสูบออกจากที่ของตนแต่ไปสะสมท่วมแหล่งอื่นให้มากกว่าเดิม เลยก็พากันท่วมไปทั้งหมด แถมอีกหลายที่ก็ทะเลาะกันอีก ชุมชนและย่านธุรกิจที่อยู่พื้นที่ตอนล่างลงไป ก็ทำอย่างนี้อีก คือทำทางน้ำให้ไหลผ่านเมืองและใช้ระบบการสูบระบายเข้าไปเร่งอัตราการไหลให้คล่องขึ้น ทำต่อๆกันไปให้เข้าใกล้แม่น้ำและทะเลให้มากที่สุด

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท