ตอน 2 : ประสบการณ์อบรมการใช้งาน Share.psu.ac.th - เริ่มต้นจากการฝึกเล่าเรื่อง


เริ่มต้นจากการฝึกเล่าเรื่อง (บันทีกต่อจากตอน 1 : ประสบการณ์อบรมการใช้งาน Share.psu.ac.th ให้แก่บุคลากรของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์)

เริ่มต้นด้วยการตั้งคำถาม เห็นอะไร สังเกตอะไร คิดอะไร

คำถามนี้ก็ได้แนวคิดมาจากการอ่านหนังสือมหัศจรรย์การเขียนที่ได้พูดถึงข้อดี และประโยชน์ของการเขียน รวมทั้งเทคนิคในการฝึกฝนการเขียนอีกด้วยนะค่ะ ดังนั้นดิฉันก็หยิบเทคนิคและแนวคิดจากหนังสือเล่มนี้มาผสมผสานกับประสบการณ์ ของตนเอง ที่เคยใช้งานและปัญหาที่พบเจอจากการอบรมการใช้งานมาก่อนหน้านี้


ลองนึกภาพว่าในแต่ละวันที่เราดำเนินชีวิตในแต่ละวัน มีอะไรผ่านตาเราบ้าง นั่นคือสิ่งที่เราเห็น ซึ่งมันจะเป็นสิ่งที่เราเห็นและปรากฏอยู่จริง ซึ่งในบริบทตรงนั้น คงปฏิเสธไม่ได้ว่าคุณคงจะเห็นอะไรมากมาย แต่........เรา focus ไปที่จุดไหน นี่คือ กำลังเชื่อมไปต่อว่า เราสังเกตอะไร เราลองจำลองภาพดูนะค่ะว่า ระหว่างที่เรากำลังขับรถมาทำงาน ตาของเรามองเห็นอะไรบ้าง สัมผัสอะไรบ้าง ซึ่งมันเยอะแยะมากมาย แต่ในขณะนั้น เราอาจจะสังเกตอะไรเพียงจุดใดจุดหนึ่งอยู่ก็ได้ นั่นคือ เราสังเกตเห็นอะไร แล้วทำไมเราจดจำเรื่องนั้นได้

ในระหว่างที่เราสังเกตอะไรบ้างอย่าง คุณอาจกำลังจะคิดอะไรอยู่ก็ได้ และความคิดนั้นเป็นอย่างไร หากไม่ได้จด ไม่ได้บรรยาย หรือเล่าออกมา มันก็อาจจะสูญหายไปได้ จริงไหมคะ

ดังนั้น เรื่องที่เราจะเล่า ส่วนใหญ่มันก็เป็นเรื่องที่ผ่านประสาทสัมผัสของเราทั้งนั้น ดิฉันก็เพียงยกประเด็นออกมาให้เห็นชัด เพราะอยากจะสื่อให้ผู้เข้าร่วมอบรมเข้าใจว่า เรื่องเล่ามันเกิดขึ้นรอบๆ ตัวเรานี่เองค่ะ เพียงแค่ลองหยุดดู ใช้เวลานั่งคิดว่าเราเห็นอะไรบ้าง

ดิฉันเลยตั้งโจทย์ให้ผู้ร่วมอบรมได้ลองนึกดูว่า ก่อนที่จะเข้ามาทำงานในมหาวิทยาลัย แต่ละท่านได้พบ ได้เจอ ได้เห็น อะไรบ้าง

คน สัตว์ สิ่งของ การเคลื่อนไหว หรือบรรยากาศ

ให้เขียนบรรยายในสิ่งที่เห็น สิ่งที่สังเกต และสิ่งที่เราคิด

แล้วเราจะหยิบยกสิ่งเหล่านี้มาถ่ายทอดเป็นเรื่องเล่าอย่างไร งานนี้ดิฉันไม่เน้นการวางโครงสร้างเรื่องเล่า ว่าจะต้องมีบทนำ เนื้อหา บทสรุปนะค่ะ เพราะอยากจะให้การอบรมครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นง่ายๆ ที่ให้ทดลองเขียน เขียนง่ายๆ สบายๆ แล้วผู้อบรมก็จะได้รับประสบการณ์เองว่า การเริ่มต้นการเขียนเรื่องเล่าไม่ได้ยากเลย เพียงแค่เริ่มจากสิ่งที่เรามองเห็น สิ่งที่เราสังเกต และสิ่งที่เราคิด

จากนั้น ก็มีโจทย์ต่อมา เชื่อมโยงไปสู่การเขียนอย่างสร้างสรรค์กันสักหน่อย นั่นคือ การเข้าสู่การเขียนเรื่องเล่าถึง "ความสุข" เมื่อพูดถึงคำว่าความสุข มันเป็นสิ่งที่ชุ่มชื่นหัวใจเหลือเกินนะค่ะ ดังนั้นเรื่องเล่านี้ก็หยิบยกเทคนิคมาจากหนังสือมหัศจรรย์แห่งการเขียน ที่ให้เขียนหัวข้อความสุขเป็นขั้นบันได ในการอบรมครั้งนี้ หยิบมา 5 ความสุขค่ะ โดยตั้งโจทย์ในกรอบของงาน สุขจากงาน มีอะไรบ้าง เขียนหัวข้อกันไว้ก่อนเลย และจากนั้นก็ให้หยิบความสุขสัก 1 หัวข้อ มาเขียนเล่าต่อค่ะ

โดยมีคำถามนำ เพื่อให้เห็นถึงองค์ประกอบของเรื่องเล่า เพื่อเป็นแนวทางในการเขียน ดังนี้ค่ะ

คำถามนำชุดที่ 1 : ความเป็นมาของความสุข

  • สุขเมื่อไร
  • ทำไมถึงเกิดความสุข
  • ใครคือผู้ที่เกี่ยวข้อง/เกี่ยวข้องอย่างไร

คำถามนำชุดที่ 2: ความสุขให้อะไรกับเรา

  • รู้สึก/คิดอย่างไร
  • เรียนรู้อะไร

เรื่องราวทั้งหมดของเรื่องเล่า : ก็เกิดจากการตอบคำถามทั้ง 2 ส่วนข้างต้น นั่นคือ เรากำลังจะเล่าว่าสุขอย่างไรนั่นเองค่ะ

สำหรับการเขียนในครั้งนี้ จะสั้นจะยาวยังไงไม่ว่ากัน จะเขียนลงในกระดาษก่อน หรือพิมพ์ลงในคอมพิวเตอร์เลย ก็แล้วแต่ผู้เข้าอบรมจะสะดวก เพราะการเริ่มต้นการฝึกเขียนถ่ายทอดเรื่องเล่า เริ่มต้นง่าย ๆ สบายๆ และให้ผู้เข้าร่วมอบรมเกิดความสุข เพื่อเป็นประสบการณ์ตรงให้แก่ผู้อบรม ซึ่งดิฉันเชื่อว่าประสบการณ์ตรงที่ได้ทดลอง โดยมีกระบวนการให้แนวทางในการเขียน ผู้อบรมก็จะเรียนรู้กระบวนการถ่ายทอดเรื่องเล่าไปในตัว ซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่ยากจนเกินไป และจะทำให้ผู้อบรมได้เห็นคุณค่าจากการเขียนจากการอบรมในครั้งนี้ไม่มากก็น้อย (อันนี้เป็นความหวังของดิฉันเองค่ะ ^^)

สำหรับกระบวนการฝึกเขียนเรื่องเล่านั้น เนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องเวลา จึงกำหนดกรอบเวลาไว้ให้เขียนกันพอหอมปากหอมคอ ก็ชวนผู้เข้าร่วมอบรมสัก 2-3 ท่านแลกเปลี่ยนประสบการณ์จาก workshop แรกกันเล็กน้อย ก็พอเห็นผลผลิตจากการอบรมให้ได้ชื่นใจค่ะ

จากกระบวนการฝึกการถ่ายทอดเรื่องเล่าด้วยการเขียน ก็ได้ตอบโจทย์กรอบแนวคิดในการอบรมได้ 2 กรอบแล้ว นั่นคือ

เรื่องเล่า : เกิดจากสิ่งที่เรา มองเห็น สังเกต หรือคิด

สื่อสารความคิด : นำเสนอด้วยการเขียนผ่านตัวหนังสือ หรือภาพ

ซึ่งต่อจากนี้ก็จะเป็นการเชื่อมโยงไปสู่การนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ นั่นคือจะเข้าสู่การใช้งาน share.psu.ac.th แล้วค่ะ

ติดตามต่อในบันทึกหน้านะค่ะ

หมายเลขบันทึก: 466667เขียนเมื่อ 30 ตุลาคม 2011 22:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 เมษายน 2014 20:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

"หัวใจ" ของผู้เป็นวิทยากร คงจะ "เบิกบาน" และ "พองโต" น่าดูเลยนะเนี่ย ;)...

เป็นการให้ความรู้นั้นคือ "ความสุข" ;)...

มันมีความสุขจริงๆ ค่ะ

ยิ่งพอเห็นการประเมินจากผู้เข้าร่วมอบรม ที่รู้สึกสนุกและไม่เครียดกับการอบรมก็ยิ่งรู้สึกมีความสุขไปใหญ่

แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องเวลา เลยทำให้พูดเร็วไปหน่อยค่ะ ^_^

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท