ยีซา : ชีวิตที่ต้องไร้สัญชาติ เพราะย้ายถิ่นฐานจากแม่สอด สู่ ระนอง ไปถึง ปัตตานี


ในสถานการณ์ความไม่สงบใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้เช่นนี้ การอยู่โดยไม่มีเอกสารพิสูจน์ตนใดๆ เลยในพื้นที่ นอกจากต้องประสบปัญหาด้านสิทธิพื้นฐานเช่นกรณีทั่วไปแล้ว ยังมีความเสี่ยงภัยต่อชีวิตของเธอมากกว่าในพื้นที่ทั่วไปอย่างมาก

๒๕ ปี ของชีวิตยีซา ที่ต้องไร้สัญชาติ เพราะชีวิตต้องเดินทางพร้อมครอบครัว บัดนี้เธอเริ่มสร้างครอบครัวของเธอเอง ที่ปัตตานี ชีวิตที่ไร้สัญชาติจึงยากยิ่งกว่า!!!

                       เด็กหญิงยีซา ลืมตามาดูโลกครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๒๔ ที่ โรงพยาบาลแม่สอด จังหวัดตาก เช่นเดียวกับพี่น้องทั้ง ๕ คน เนื่องจากนางนาระ (นามสมมติ) มารดาของยีซา ซึ่งมีเชื้อสายกะเหรี่ยง ได้เดินทางจากบ้านเกิด ด้านฝั่งตรงข้ามอำเภอแม่ต้าน จังหวัดตาก เข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ประมาณปี ๒๕๑๗ เนื่องจากทนการกดขี่ของทหารพม่าไม่ไหว จากนั้นได้มาพบกับนายลี (นามสมมติ) บิดาของยีซา ซึ่งเดินทางเข้ามาในประเทศไทยก่อนหน้า โดยทั้งสองได้ใช้ชีวิตมีที่ดินทำมาหากินอยู่ที่อำเภอแม่สอด จนกระทั่งในปี พ.ศ.๒๕๑๙ ทางกรมการปกครองจึงได้จัดทำทะเบียนประวัติและบัตรประจำตัวผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่าให้ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่นางนาระและนายลี พ่อแม่ของยีซา ได้มีเอกสารที่ทางราชการไทยจัดทำให้

 

                ต่อมาประมาณปี ๒๕๒๖ นางนาระและนายลี ได้ย้ายมาทำการค้าขายอยู่ที่จังหวัดระนอง พร้อมๆ กับช่วยงานด้านการข่าวแก่ทหารไทย ซึ่งเป็นภารกิจที่ทำสืบเนื่องมาตั้งแต่ครั้งอยู่ที่อำเภอแม่สอด หลังจากย้ายมาตั้งหลักได้แล้วหลายปี จึงได้กลับไปรับลูกๆ ทั้ง ๕ คนที่ฝากไว้กับญาติที่อำเภอแม่สอดมาอยู่ที่ระนองด้วย โดยในช่วงนั้นได้ทราบข่าวว่าทางอำเภอจะทำบัตรให้คนไม่มีบัตร ผู้ใหญ่บ้านจึงพาไปติดต่อที่อำเภอ แต่ครั้งนั้นทางอำเภอให้ข้อมูลว่าบัตรประจำตัวผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่าที่ทำมาจากอำเภอแม่สอดนั้นใช้ที่นี่ไม่ได้ ต้องทำบัตรใหม่ ทั้งหมดจึงได้ทิ้งบัตรเดิมและทำบัตรใหม่ แต่เมื่อทำแล้วปรากฎว่าพอไปตรวจสอบชื่อที่อำเภอ ไม่มีชื่อ จึงรู้ว่าทำโดยไม่ถูกต้อง เมื่อใช้บัตรใหม่ไม่ได้จึงได้ทิ้งหายไปอีก และได้ใช้ชีวิตตามปกติแบบคนไม่มีเอกสารพิสูจน์ตนใดๆ

 

การอยู่อย่างไร้เอกสารราชการทำให้มีปัญหาการถูกตำรวจจับ ถูกรีดไถถึงร้านค้าเป็นระยะ นอกจากนี้นางนาระยังไม่อาจไปรักษาอาการเส้นเลือดในสมองตีบได้ทัน ปัจจุบันจึงต้องใช้ชีวิตอยู่โดยเป็นอัมพาตครึ่งตัว ยังโชคดีที่มีความช่วยเหลือยามจำเป็นจากนายทหารที่เคยช่วยงานอยู่ไม่ขาด

 

แต่ความทุกข์ของตัวเองคงไม่สำคัญเท่าความเดือดร้อนของลูก ที่ต้องการเรียนต่อแต่เรียนไม่ได้ ดังนั้น เมื่อประมาณ ๔-๕ ปีที่ผ่านมา นางนาระจึงได้กลับไปติดต่อเรื่องเอกสารต่างๆ ที่ภูมิลำเนาเดิม คือที่อำเภอแม่สอด และที่กรมการปกครอง กรุงเทพฯ ทำให้ได้ทราบว่าชื่อของตนเองที่เคยอยู่ในทะเบียนประวัติฯ ได้ถูกคนอื่นถ่ายทำบัตรไปแทนแล้ว จึงยังไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรต่อ โดยเมื่อ ๒ ปีก่อนนางนาระได้เคยไปขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว เพื่อให้มีสิทธิอยู่ในประเทศไทยได้

 

นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมานางนาระยังได้ไปติดตามเอกสารการเกิดให้ลูก โดยกลับไปติดต่อกับหมอที่โรงพยาบาลแม่สอด ที่ทำคลอดให้ลูกทั้ง ๕ คน เพื่อให้ช่วยค้นเอกสารการเกิดของลูกๆ ที่ทางโรงพยาบาลมีอยู่ ปรากฎว่าได้พบเอกสารรับรองการเกิดของยีซา เพียงคนเดียว แต่ในเอกสารนั้นไม่ระบุชื่อของเด็ก ระบุเพียงชื่อของพ่อแม่ จึงได้แต่นำมาเก็บไว้

 

ปัจจุบันยีซา ได้แต่งงานมีลูก ๑ คน หลังจากที่ได้ย้ายจากโรงเรียนที่จังหวัดระนอง เมื่อจบชั้นประถมปีที่ ๒ เพื่อไปเรียนศาสนาอิสลามต่อที่จังหวัดปัตตานี เป็นเวลา ๑๐ ปี และได้แต่งงานอยู่กับสามีที่นั่น  ด้วยความอยากที่จะมีชีวิตอยู่อย่างปกติสุขกับครอบครัว โดยเฉพาะในช่วงที่มีความไม่สงบใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้เช่นนี้ ทำให้การอยู่โดยไม่มีเอกสารใดๆ ในพื้นที่เป็นไปได้ยากและเสี่ยง เพราะจะไม่สามารถยืนยันความเป็นตัวตนของตนเองได้ เธอจึงต้องพาลูกกลับมาอยู่กับมารดาที่จังหวัดระนอง และพยายามดิ้นรนให้มีเอกสารประจำตัว และเนื่องจากเธอพอรู้จักกับผู้ใหญ่บ้าน จึงได้ขอทำบัตรประจำตัวคนไทยพลัดถิ่น ซึ่งทำให้เธอได้รับการสำรวจรายชื่อบุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนไปเมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๔๙ ที่ผ่านมา

              สำหรับยีซา ดูเหมือนวิธีนี้จะเป็นความหวังเดียวในปัจจุบัน ที่จะทำให้เธอสามารถอยู่อย่างถูกกฎหมายบนแผ่นดินเกิดพร้อมหน้าครอบครัวอย่างสงบสุขได้ในไม่ช้า 

หมายเลขบันทึก: 46748เขียนเมื่อ 27 สิงหาคม 2006 15:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2012 15:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เพื่อแก้ไขปัญหาในกรณีเช่นนี้ น่าจะเสนอให้มีการย้ายทะเบียนประวัติของชนกลุ่มน้อยที่สำรวจไว้แล้วได้ เพราะแม้การสำรวจบุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนล่าสุด ยังให้มีการแจ้งย้ายทะเบียนได้เลย

เป็นกรณีที่ต้องตี๋แก้ไขเป็นอยู่แล้ว จึงเสนอให้ตี๋เร่งสรุปความเห็นลงในแต่ละกรณีที่ต้องสรุปข้อเท็จจริงแล้ว จะได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนมุมมองและความรอบครอบในการแก้ไขปัญหา

สรุปลงมาเป็นข้อๆ เลยว่า แต่ละกรณีจะเอาอย่างไร อยากเห็นความคิดเห็นของตี๋ ซึ่งตอนนี้ สมควรจะมาให้ความเห็นในแต่ละกรณีได้แล้ว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท