"วาทกรรม" คำนิยมร่วมสมัยของ Foucault


การศึกษาประวัติศาสตร์แนววงศาวิทยา (genealogy) ของฟูโกต์ ทำให้สามารถศึกษาปัญหาเรื่องอำนาจ ความสัมพันธ์ความรู้กับอำนาจได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ซึ่งเกิดจากการที่ฟูโกต์ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดของนิทเช่ต์ที่มองความรู้อย่างไม่สัมพันธ์กับความจริงของโลกภายนอก หากแต่เกิดจากการประดิษฐ์สร้างของมนุษย์ นอกจากนี้ ประวัติศาสตร์มนุษย์เป็นเรื่องของการละเล่น เป็นเวทีแห่งการต่อสู้ของพลังอำนาจต่าง ๆ เพื่อการครอบงำทุกยุคทุกสมัยของเรา ซึ่งก็คือช่วงผ่านจากการครอบงำหนึ่งไปสู่อีกการครอบงำหนึ่ง
 วาทกรรม (Discourse) ของฟูโกต์ : จาก “ปฏิบัติการวาทกรรม” สู่ “วาทกรรม อำนาจ/ความรู้”

 

ที่มาของภาพ
http://luisroca13.blogspot.com/2011/01/pierre-hadot-y-michel-focault-dos.html
  
นักวิชาการหลายคนพยายามทำความเข้าใจผลงานของมิเชล ฟูโกต์  (Michel Foucault) เพื่อศึกษาพัฒนาการทางความคิดของเขา โดยนำเสนอการแบ่งผลงานออกเป็นช่วงต่าง ๆ และในแต่ละช่วง อาจมีรายละเอียดผลงานแตกต่างกัน ซึ่งไม่ใช่สาระสำคัญ   ในที่นี้ ผู้เขียนขอมุ่งเน้นเฉพาะการศึกษา  แนวคิดวาทกรรมของฟูโกต์ที่ปรากฎออกมา  โดยขอยกตัวอย่างการแบ่งช่วงผลงานของฟูโกต์โดย Schrift, Alan D. มาเป็นกรอบการนำเสนอให้เห็นพัฒนาการของวาทกรรมจาก “ปฏิบัติการวาทกรรม” สู่       “วาทกรรม อำนาจ/ความรู้” ของฟูโกต์ว่าอยู่ในช่วงใด   
 
ผลงานของฟูโกต์สามารถแบ่งได้เป็น 3 ช่วง ดังนี้[1]                    
ช่วงที่ 1 ช่วงศึกษาแนวโบราณคดี (archaeological period) ได้แก่ เรื่อง Madness and Civilization, The Birth of the Clinic, The Order of Things, The Archaeology of Knowledge ที่มุ่งเน้นการศึกษาความสัมพันธ์ของความรู้ ภาษา ความจริง และการก่อรูปของวาทกรรมที่ทำให้ ความสัมพันธ์ของความรู้ ภาษา ความจริงเกิดขึ้นได้
  
ช่วงที่ 2  ช่วงศึกษาแนววงศาวิทยา (genealogical period) ได้แก่ เรื่อง Discipline and Punish, The History of Sexuality, Volume One ที่มุ่งเน้นการตั้งคำถามเกี่ยวกับอำนาจ                                 
 
ที่ช่วงที่ 3 ช่วงศึกษาด้านจริยศาสตร์ (ethical period) ได้แก่ The History of Sexuality, Volumes Two and Three ที่มุ่งเน้นการประกอบสร้างเกี่ยวกับจริยศาสตร์/ตัวกระทำการทางเพศหรือตัวตนทางเพศ (ethical/sexual subject or self)  
 
วาทกรรมช่วงแรกของฟูโกต์เป็นวาทกรรมในรูปแบบของปฏิบัติการวาทกรรม (discursive practice)  ได้แก่ Madness and Civilization  ซึ่งมุ่งเน้นการวิเคราะห์เกี่ยวกับระบบของสถาบันทางประวัติศาสตร์และการปฏิบัติการทางวาทกรรม โดยชี้ให้เห็นถึงประเด็นที่มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันของการมีเหตุผลกับการไม่มีเหตุผล แนวคิดเรื่องความบ้าที่เกิดขึ้นแต่ละช่วงเวลา เผยให้เห็นว่าวาทกรรมแต่ละชุดไม่ได้อยู่ในรูปของการศึกษาในลักษณะร่วมเวลา (synchronic) แต่เป็นการศึกษาแบบข้ามเวลา (diachronic) แยกเป็นยุคสมัย ซึ่งทำให้เห็นร่องรอยทางประวัติศาสตร์ที่นัยยะความบ้ามีความหมายไม่เหมือนกัน ทำให้แนวคิดเรื่องโครงสร้างไม่ได้เป็นสิ่งที่มีลักษณะร่วมเวลาเพียงอย่างเดียว    ส่วนใน The Archaeology of Knowledge  ฟูโกต์พยายามแสดงให้เห็นว่าศาสตร์แห่งมนุษย์สามารถถูกวิเคราะห์ได้ว่ามีความเป็นอิสระและมีกฎเกณฑ์ภายในของตนเอง  ผลงานชิ้นนี้เขาได้ศึกษาปฏิบัติการวาทกรรมโดยใช้วิธีวิทยาแบบโบราณคดี (archaeology) นั่นคือการหลีกเลี่ยงที่จะเกี่ยวข้องกับข้อถกเถียงในสิ่งที่พูดว่าจริงหรือไม่ หรือแม้กระทั่งข้อความที่พูดกันว่าสมเหตุผลหรือไม่  และแสดงให้เห็นถึงข้อจำกัดของความชอบธรรมของความรู้โดยการแสดงให้ปรากฏว่าระบบทั้งหมดของความรู้ในความเป็นจริงคือถ้อยแถลงหรือเหตุการณ์ทางวาทกรรม             
สำหรับ   The Order of Things (1970) ได้รับอิทธิพลจากการครอบงำทางความคิดของอัตถิภาวะนิยม (Existentialism) หรือแนวคิดเกี่ยวกับการดำรงอยู่ของมนุษย์  ปรากฏการณ์นิยม (Phenomenology) และมาร์กซิสม์ (Marxism)     โดยฟูโกต์เริ่มต้นบทนำ (Preface) ด้วยการยกข้อความจากสารานุกรมภาษาจีนเล่มหนึ่ง  ซึ่งแบ่งสัตว์เป็นประเภทต่าง ๆ โดยการรวบรวมสัตว์เหล่านี้   ฟูโกต์มองว่าเป็นเรื่องน่าขัน  เขาตั้งคำถามว่าอะไรคือเหตุผลที่เราจะสามารถสร้างความเที่ยงตรงของการจัดประเภทเช่นนี้ด้วยความแน่นอนสมบูรณ์ได้[2]   อะไรคือความเกี่ยวเนื่อง ซึ่งปรากฏให้เห็นทันที ไม่ได้ถูกตัดสินจากความรู้ที่มีมาก่อนประสบการณ์และการนำมาเชื่อมโยงเข้าหากัน  จากผลงานชิ้นนี้ เขาได้ใช้วิธีการศึกษาแบบขุดคุ้ยชั้นทางประวัติศาสตร์ของระบอบวัฒนธรรมที่แวดล้อมเขาอยู่ในขณะนั้น ดังคำกล่าวของเขาที่ว่า  “เพราะไม่ใช่คำถามเกี่ยวกับผลที่เชื่อมโยงกัน แต่เกี่ยวกับการจัดกลุ่ม และการแยกเป็นอิสระกัน เกี่ยวกับการวิเคราะห์ การจับคู่และเนื้อหาเป็นรูปธรรมที่จัดเข้าช่องเก็บ ไม่มีอะไรที่จะมีแนวโน้ม ไม่มีอะไรเชิงประจักษ์ (อย่างน้อยก็ผิวเผิน) มากไปกว่ากระบวนการสร้างระเบียบท่ามกลางสิ่งเหล่านี้”[3] โดยวิธีวิทยาแบบโบราณคดีของเขานี้เอง จะทำให้เผยตัวถึงความไม่ต่อเนื่อง (discontinuities) ในกรอบความรู้ (episteme) ของวัฒนธรรมตะวันตก และการเริ่มต้น (beginning) ของศตวรรษที่ 19 ซึ่งเขากล่าวว่าระเบียบบนหลักพื้นฐานของสิ่งที่เราคิดในวันนี้ไม่ใช่แบบแผนวิธีความเป็นอยู่ตามแบบของนักคิดสมัยโบราณอีกต่อไป[4]                                                               
 
 ผลงานช่วงต้นของฟูโกต์เป็นเรื่องเกี่ยวกับองค์ประธาน (subject) ถูกประกอบสร้างเป็นวัตถุแห่งความรู้ได้อย่างไร ซึ่งจะต้องทำให้สมบูรณ์ขึ้นด้วยการวิเคราะห์ว่าปัจเจกบุคคลเข้าใจว่าตัวเขาเองหรือตัวเธอเองเป็นองค์ประธานอย่างไร  วิธีการนี้คือสิ่งที่ฟูโกต์เรียกว่ากระบวนการที่ปัจเจกบุคคลบรรลุถึงความเข้าใจดังกล่าว  มีนักวิชาการหลายคนที่พยายามศึกษาค้นคว้าหาร่องรอยจุดเปลี่ยนในผลงานของฟูโกต์ จากภาษาสู่วาทกรรมและความรู้  ความสัมพันธ์ของวาทกรรม   และความรู้กับการตั้งคำถามเกี่ยวกับอำนาจ  จึงนำไปสู่การตั้งคำถามที่ว่า “องค์ประธาน (subject) อยู่ที่ไหน”  โดยสำหรับ      ฟูโกต์แล้วมองว่าไม่ใช่องค์ประธานที่ผลิตความรู้ แต่เป็นวาทกรรมซึ่งมีความเกี่ยวพันกับอำนาจ  จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องค้นหาองค์ประธาน เนื่องจากอำนาจ/ความรู้เป็นปฏิบัติการของวาทกรรม            องค์ประธานอาจจะผลิตบทใดขึ้นเป็นการเฉพาะ  แต่อย่างไรก็ตาม ก็เป็นการปฏิบัติการภายในข้อจำกัดของกรอบความรู้ (episteme) การก่อรูปทางวาทกรรม ระบอบความจริงของวัฒนธรรมและอยู่ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งโดยเฉพาะ  องค์ประธานจึงถูกผลิตภายในวาทกรรม โดยจะต้องอยู่ภายใต้วาทกรรมและจะต้องยอมรับต่อกฎ และธรรมเนียมปฏิบัติ รวมถึงลักษณะความโน้มเอียงของอำนาจ/ความรู้ด้วย[5]                    “episteme” ของฟูโกต์คือกระบวนการในการสร้างผลิต (constitute) เอกลักษณ์ (identity) และความหมาย (significance)ให้กับสรรพสิ่งต่างๆในสังคมที่ห่อหุ้มเราอยู่ ไม่ว่าจะเป็นความรู้ ความจริง อำนาจ หรือตัวตนของเราเอง นอกจากนี้ ยังเป็นสิ่งที่ตรึงสิ่งที่สร้างขึ้นให้ดำรงอยู่และเป็นที่ยอมรับในสังคมวงกว้าง(valorize) กระทั่งกลายเป็นสภาพที่เรียกว่า “วาทกรรมหลัก” นั่นเอง ดังนั้นจะสังเกตได้ว่า วิวัฒนาการความรู้ของมนุษย์อาศัยกรอบความคิดที่อิงอยู่กับบริบททางสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งฟูโกต์พยายามแสดงให้เห็นว่ามนุษย์ถูกกระทำเป็นเพียงวัตถุแห่งการศึกษา (object of knowledge) ประเภทหนึ่ง ที่มีปฏิสัมพันธ์กับสรรพสิ่งเท่านั้น มนุษย์ไม่ได้เป็นเหตุแห่งการเกิดความรู้บนโลก แต่มนุษย์เป็นเพียงประดิษฐกรรมของภาษาและสังคมเช่นเดียวกับสรรพสิ่งอื่นๆ และมนุษย์ก็ทำหน้าที่เพียงคอยสอดส่องการสร้างให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าความรู้ต่างหาก  ฟูโกต์แสดงให้เห็นว่าแท้จริงแล้วการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ สังคม และวัฒนธรรมต่างหากที่มีผลต่อความรู้ และระบบระเบียบของสรรพสิ่ง ดังนั้นมนุษย์เป็นเพียงผู้ถูกกระทำ เป็นสิ่งมีชีวิตที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาไม่นาน และเมื่อใดที่มนุษย์ไม่อยู่ในฐานะวัตถุทางการศึกษา เนื่องจากกรอบความเข้าใจโลกในการได้มาซึ่งความรู้เปลี่ยนแปลงไป มนุษย์ก็อาจจะจบสิ้นลงในไม่ช้าเช่นกัน
                                                                                                             
 จึงกล่าวได้ว่าสิ่งที่ฟูโกต์สนใจศึกษาไม่ใช่ภาษา แต่เป็นวาทกรรมอันเป็นเสมือนระบบการเป็นตัวแทน  (discourse as a system of representation) โดยปกติ นิยามคำว่า “วาทกรรม” ถูกใช้เป็นแนวคิดระบบภาษาศาสตร์  แต่ ฟูโกต์ให้ความหมายที่แตกต่างออกไป สิ่งที่ทำให้เขาสนใจคือกฎเกณฑ์และปฏิบัติการที่สร้างถ้อยแถลงที่มีความหมายและกำหนดให้เป็นวาทกรรมตามช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกันไป  ฟูโกต์ กล่าวว่าวาทกรรมประกอบสร้างประเด็น (topic) รวมทั้งกำหนดและก่อให้เกิดวัตถุแห่งความรู้ของเรา  ตามนัยนี้ วาทกรรมของ ฟูโกต์ จึงหมายถึง “กลุ่มของถ้อยแถลงชุดหนึ่งที่จัดให้มีภาษาสำหรับการกล่าวถึง – วิธีในการแสดงแทนความรู้เกี่ยวกับ - ประเด็นใดประเด็นหนึ่งโดยเฉพาะ ณ ช่วงเวลาเฉพาะเจาะจงทางประวัติศาสตร์...  วาทกรรมจึงเกี่ยวกับผลิตผลของความรู้ผ่านภาษา แต่เนื่องจากปฏิบัติการทั้งหมดทางสังคมรวมถึงความหมาย และความหมายก็สร้างรูปแบบและมีอิทธิพลต่อสิ่งที่เราทำ – พฤติกรรมของเรา- ปฏิบัติการทั้งหมดมีลักษณะทางวาทกรรม” มันจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะสังเกตว่าแนวคิดเกี่ยวกับวาทกรรมในวิธีวิทยานี้ไม่ใช่แนวคิดทางระบบภาษาศาสตร์ที่บริสุทธิ์ แต่เกี่ยวกับภาษาและการปฏิบัติ[6]                                                                                                   
มีข้อสังเกตว่าความหมายและปฏิบัติการที่เต็มไปด้วยความหมายถูกประกอบสร้างภายในวาทกรรม เช่นเดียวกับนักสัญญะวิทยา แต่ ฟูโกต์ เป็นนักประกอบสร้างนิยม (constructionist)  ซึ่งไม่เหมือนกับนักสัญญะวิทยา กล่าวคือเขาให้ความสำคัญกับการผลิตความรู้และความหมาย ไม่ได้ผ่านภาษาแต่ผ่านวาทกรรม   ความคิดที่ว่าวาทกรรมผลิตวัตถุแห่งความรู้หรือคือสิ่งที่กำหนดให้สรรพสิ่งมีความหมาย และไม่มีอะไรที่มีความหมายที่คงอยู่ภายนอกวาทกรรมนั้น  โดยนัยนี้ ฟูโกต์ไม่ได้ปฏิเสธสิ่งที่ดำรงอยู่จริงภายนอกในโลก แนวคิดวาทกรรมในที่นี้จึงไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับสิ่งนั้นดำรงอยู่หรือไม่ แต่เกี่ยวกับว่าความหมายนั้น ๆ มีที่มาจากไหน[7]
 
 ในการศึกษาวาทกรรมเกี่ยวกับความบ้า  การลงโทษ  และเพศวิถี  สามารถสรุปสาระสำคัญขององค์ประกอบปฏิบัติการวาทกรรม ได้ดังนี้[8]        
1. ถ้อยแถลงเกี่ยวกับความบ้า  การลงโทษ  และเพศวิถีที่ให้ความรู้เฉพาะเกี่ยวกับเรื่องนี้แก่เรา      
2. กฎเกณฑ์ที่กำหนดวิธีเฉพาะในการพูดเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้และไม่รวมวิธีอื่น – ซึ่งควบคุมอะไรที่ “สามารถพูดได้” หรือ “สามารถคิดได้” เกี่ยวกับความวิกลจริต การลงโทษ หรือเพศวิถี ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งโดยเฉพาะทางประวัติศาสตร์                                                                           
3. “องค์ประธาน” ในบางกรณีให้ลักษณะบุคลิกภาพของวาทกรรม คนบ้า หญิงที่มีอารมณ์รุนแรงผิดปกติ อาชญากร คนเบี่ยงเบนทางเพศ คนวิปริตทางเพศ ที่มีลักษณะที่มาที่เราคาดหวังว่าองค์ประธานจะมีวิธีที่ให้ความรู้เกี่ยวกับประเด็นที่ถูกประกอบสร้าง ณ เวลานั้น                                                  
4. ความรู้เกี่ยวกับประเด็นนี้ได้มาซึ่งอำนาจได้อย่างไร ความหมายในการทำให้ “ความจริง” เป็นรูปธรรม  ประกอบสร้าง “ความจริงเกี่ยวกับเรื่องราวนั้น ๆ” ณ ช่วงเวลาหนึ่งทางประวัติศาสตร์                
5. ปฏิบัติการภายในสถาบันที่จะจัดการกับองค์ประธาน  ได้แก่ การดูแลรักษาทางการแพทย์สำหรับคนเสียสติ ระบอบการลงโทษสำหรับผู้กระทำผิด ระเบียบวินัยทางศีลธรรมสำหรับผู้เบี่ยงเบนทางเพศ ซึ่งพฤติกรรมของพวกเขาถูกวางกฎเกณฑ์และจัดระเบียบตามความคิดเหล่านี้                                  
6. การรับรู้ว่าวาทกรรมที่แตกต่าง หรือกรอบความรู้ (episteme) จะเกิดขึ้นในช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ภายหลัง เข้ามาแทนที่สิ่งที่มีอยู่เดิม เปิดทางให้กับการก่อตัวทางวาทกรรมใหม่ ๆ และกำลังผลิตการสร้างมโนทัศน์เกี่ยวกับความบ้า  การลงโทษ  และเพศวิถี วาทกรรมใหม่ที่มีอำนาจและผู้มีอำนาจ เพื่อกำหนดปฏิบัติการทางสังคมในวิธีใหม่                                               
 
หลังจากผลงานช่วงแรกของเขาที่แสดงให้เห็นถึงปฏิบัติการวาทกรรม เมื่อเข้าสู่ผลงานช่วงที่สอง  เขาก็ได้เปลี่ยนวิธีการศึกษาโดยนำวิธีวงศาวิทยาในความหมายของนิทเช่ต์ (Nietzsche)  เพื่ออธิบายวิธีการเขียนประวัติศาสตร์ของปัจจุบัน (history of the present) ซึ่งเป็นการสร้างกระบวนการที่จะทำให้เกิดแก่นร่วมกันระหว่างความจริง ทฤษฎี  คุณค่าและสถาบันทางสังคมและแนวปฎิบัติในวิธีที่สิ่งเหล่านี้ปรากฎตัวออกมา นำเขาไปสู่การให้ความสนใจมากขึ้นต่ออำนาจและร่างกายในความสัมพันธ์กับศาสตร์แห่งมนุษย์ อย่างไรก็ตาม เขาก็ไม่ได้ปฏิเสธวิธีวิทยาทางโบราณคดี  ฟูโกต์เพียงแค่ละทิ้งความพยายามที่จะใช้ทฤษฎีเกี่ยวกับระบบที่ใช้กฎควบคุมของการปฏิบัติการทางวาทกรรม กล่าวคือในทางเทคนิค วิธีวิทยาแบบโบราณคดีก็ยังช่วยสนับสนุนวิธีวิทยาแบบวงศาวิทยา วิธีการนี้ทำให้  ฟูโกต์ตั้งคำถามวงศาวิทยาว่า “วาทกรรมเหล่านี้ถูกใช้อย่างไร” “วาทกรรมเล่นบทบาทอะไรในสังคม”[1]                                                  
 วิธีการศึกษาประวัติศาสตร์ตามแนววงศาวิทยา  วัตถุประสงค์ไม่ใช่ที่การค้นพบรากของอัตลักษณ์เรา แต่มุ่งไปที่ความกระจัดกระจาย[2]  วงศาวิทยาคือความคลุมเครือ มีความจุกจิกจู้จี้ในรายละเอียดและความมอดทนต่อการทำงานเอกสาร โดยเป็นการปฏิบัติการบนสนามของตัวหนังสือที่มีความเกี่ยวพันและยุ่งเหยิงทางเอกสารที่จะต้องถูกแก้ไขและคัดลอกซ้ำหลายครั้ง และวงศาวิทยายังเป็นการบันทึกความเป็นเอกเทศของเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่อยู่นอกเหนือบทสรุปที่ซ้ำซากจำเจ[3] นอกจากนี้ ยังต้องการความอดทนและรายละเอียดความรู้ รวมถึงขึ้นอยู่กับการสะสมจำนวนแหล่งข้อมูลมหาศาล[4]    โดยฟูโกต์มีความเห็นว่าความรู้ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อความเข้าใจ แต่ถูกสร้างเพื่อการตัดแบ่ง[5]  ตามข้อความนี้ มีนัยยะว่าความรู้ปิดบังความเข้าใจเรา โดยในการศึกษาประวัติศาสตร์ มีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมาย  แต่ทำไมเหตุการณ์นี้จึงถูกหยิบ/เลือกขึ้นมาสถาปนาเป็นประวัติศาสตร์ ทั้งที่ความเป็นจริงมีเรื่องอื่นอีกมากมาย มีความไม่ต่อเนื่อง และการกระจัดกระจายของเหตุการณ์ต่าง ๆ  ดังนั้น การตัดแบ่งหรือหั่นความรู้ออกมาเป็นชิ้น ๆ จะทำให้มองเห็นความหมายใหม่ของสรรพสิ่ง   
 เมื่อพูดถึง “เหตุการณ์” (events) ฟูโกต์ ได้กล่าวถึงคำสำคัญคือ “Effective” history  ซึ่งเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ในนิยามของลักษณะเฉพาะที่เป็นเอกลักษณ์มากที่สุด[6] ฟูโกต์อธิบาย “Effective” history  ว่าคือเหตุการณ์ ไม่ใช่ตัวบุคคล ไม่ใช่การกระทำอันเดียวที่เกิดขึ้น แต่มีหลายการกระทำ นอกจากนี้ “Effective” history ยังเป็นเรื่องใกล้ตัวเรามากที่สุด เช่น ร่างกายเรา ระบบประสาท โภชนาการ การย่อยอาหาร และพลังงาน และสุดท้ายเหตุการณ์ประวัติศาสตร์เป็นเพียงทรรศนะ ๆ หนึ่ง[7] จึงไม่ใช่ความจริงสูงสุด เพราะฉะนั้นเราจึงตั้งคำถามได้                                              
 
วงศาวิทยาให้ความสำคัญกับรายละเอียดปลีกย่อยซึ่งถูกมองข้าม เพราะนำไปสู่การเห็นร่องรอยการเปลี่ยนผ่าน และเป็นการศึกษาแบบมองหาการเริ่มต้น (beginning) ไม่ใช่จุดกำเนิด (origins) โดยสนใจการเผยตัว  พลังปัจจัยที่ทำให้สรรพสิ่งปรากฎตัวขึ้นในสังคม ซึ่งเน้นการแตกหักกับสิ่งที่ดำรงอยู่ กลายเป็นวาทกรรมชุดใหม่ปรากฎตัวขึ้นมา                                                 
 ตัวอย่างผลงานของฟูโกต์ที่นำวิธีวงศาวิทยามาใช้ ได้แก่ “What is an author?” ซึ่งพูดถึงหน้าที่ของผู้แต่ง โดยมีการอ้างถึงคำพูดของ Beckett ในงานเขียนดังกล่าวว่า  “'what does it matter who is speaking?” (สำคัญด้วยหรือว่าใครกำลังพูด) “What is an author?” กล่าวถึงหน้าที่ของผู้แต่ง โดยผู้แต่งทำหน้าที่เฉพาะในตัวบท ได้แก่ หน้าที่คัดกรอง จัดสรรว่าอะไรควรอยู่หรือไม่ควรอยู่ในตัวบท กล่าวคือหนังสือเล่มหนึ่งมีหลายบท แต่ละบทก็จะทำหน้าที่ต่างกัน ผู้แต่งจึงเหมือนไม่ใช่คนเดียวกัน  นอกจากนี้ สาระสำคัญของ “What is an author?”  คือการทำหน้าที่ตัดข้ามวาทกรรม (transdiscursive) ของผู้แต่ง ซึ่งเป็นการจุดประกายหรือริเริ่มให้เกิดวาทกรรมใหม่ ๆ รวมถึงกระตุ้นและเปิดประเด็นให้มีข้อโต้แย้งขยายผลต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด ตัวอย่างผู้แต่งที่เป็น founder of discursivity (ผู้ก่อกำนิด/ริเริ่มวาทกรรม) ได้แก่  มาร์กซ์ (Marx) และฟรอยด์ (Freud) ตามแนวคิดของ ฟูโกต์  การให้ความสำคัญกับหน้าที่ของผู้แต่งมากกว่าตัวผู้แต่งในฐานะองค์ประธาน เป็นการคิดแบบไม่มีศูนย์กลาง ดังนั้น เมื่อสังคม วัฒนธรรมเปลี่ยนไป หน้าที่ก็เปลี่ยนตามไปด้วย                                                                                   
 สาระสำคัญของการศึกษาด้วยวิธีวงศาวิทยาของฟูโกต์คือการนำมาใช้ตรวจสอบลักษณะความสัมพันธ์เชิงอำนาจสมัยใหม่ที่ปรากฎตามความเป็นจริงจากคำถามที่ว่าอำนาจถูกใช้อย่างไร และประเด็นที่เกี่ยวข้องของความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจกับความรู้[8]  สำหรับฟูโกต์แล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างความรู้และอำนาจมีความใกล้ชิดกัน โดยเขาใช้คำว่า “อำนาจ/ความรู้” (power/knowledge)  เพื่อเน้นย้ำถึงความสัมพันธ์ระหว่างกัน  การที่ฟูโกตใช้ “/”  power/knowledge  ทำให้อาจเข้าใจว่าสองอย่างนี้ทำงานร่วมกันราวกับเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่ในความจริง มันเริ่มต้นที่อำนาจซึ่งกำหนดความรู้      ในพื้นที่วาทกรรมที่อำนาจบอกว่าเรารู้อะไร แต่ไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น เมื่อเรารู้อะไร ความรู้จะทำให้เห็นปฏิบัติการของอำนาจหรือขยายพื้นที่วาทกรรม  กล่าวอีกนัยหนึ่งอำนาจผลิตความรู้ ส่วนความรู้ก็ทำให้เห็นปฏิบัติการของอำนาจหรือขยายพื้นที่วาทกรรมนั่นเอง  ในความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจกับความรู้  พบว่า “ไม่มีความสัมพันธ์เชิงอำนาจโดยปราศจากการประกอบสร้างของสนามแห่งความรู้ที่มีความสัมพันธ์ซึ่งกัน    และกัน ในขณะเดียวกัน ก็ไม่มีความรู้ใดที่ไม่ได้สันนิษฐานและประกอบสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจ”[9]   ซึ่งผลงานชิ้นสำคัญที่สะท้อนแนวคิด “วาทกรรมอำนาจ/ความรู้”  คือ Discipline and Punish  โดยไม่ได้มุ่งเน้นว่าองค์ประธาน (subject) ถูกประกอบสร้างอย่างไร แต่มุ่งเน้นความสัมพันธ์อำนาจ/ความรู้     ซึ่งทำให้การประกอบสร้างเกิดขึ้นมาได้                                         
ผลงานชิ้นนี้ แสดงให้เห็นถึงกรอบความคิดเกี่ยวกับร่างกายเป็นส่วนประกอบในการปฏิบัติการของความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ดำรงอยู่ในสถานที่ที่มีความโดดเด่น การวิเคราะห์วงศาวิทยาเปิดเผยถึงร่างกายเป็นวัตถุแห่งความรู้และเป็นเป้าหมายสำหรับการใช้อำนาจ[10] เขาใช้วิธีวงศาวิทยาเกี่ยวกับ     ปัจเจกบุคคลสมัยใหม่ในฐานะที่เป็นเรือนร่างใต้บงการและไร้เสียงโดยแสดงให้เห็นถึงการมีปฏิกริยาซึ่งกันและกันของเทคโนโลยีทางวินัยและสังคมศาสตร์เชิงปทัสฐาน (normative social science)   นอกจากนี้   เขายังได้เสนอให้เห็นว่าการลงโทษและคุกมีฐานะทางสังคมที่ซับซ้อน โดยไม่เพียงแค่เป็นชุดกลไกการกดขี่เท่านั้น  ดังนั้น สิ่งที่ศึกษาไม่ใช่เป็นเพียงแค่คุกแต่คือเทคโนโลยีทางวินัย วินัยจึงเป็นแก่นเดียว (single theme) ในการศึกษาครั้งนี้โดยนำวิธีวงศาวิทยามาใช้เพื่อทำให้เห็นความเป็นเครือญาติหรือการมีจุดร่วมเดียวกันระหว่างการลงโทษ การทรมาน และการจ้องมอง  กล่าวคือสิ่งที่ฟูโกต์ศึกษาคือการจัดการเรื่องวินัยของคนในอดีตเป็นอย่างไร การจัดการด้วยเครื่องทรมานให้คนอยู่ในระเบียบ เมื่อเข้าสู่สังคมสมัยใหม่ สิ่งที่ทำให้เกิดวินัยคือระบบการเฝ้ามอง ทำให้คนอยู่ในระเบียบวินัยในสังคมเช่นเดียวกับการทรมาน เพราะมันไม่เป็นระเบียบ ทั้งนี้ โรงงาน โรงเรียน สถาบันต่าง ๆ ล้วนอาศัยวินัยเป็นเครื่องมือจัดระเบียบเหมือนกัน วินัยในความหมายของฟูโกต์จึงเป็นเทคนิค ไม่ใช่สถาบัน มีหน้าที่ที่ควบคุม กักขัง ขณะเดียวกันก็มีหน้าที่ตรวจตรา สอดส่อง  ความเป็นเครือญาติกันจึงมองผ่านความเข้าใจเรื่องระเบียบวินัย เป็น “single theme”   โดยใช้กลไกที่เชื่อมต่อกันคือวงศาวิทยา ซึ่งทำให้เราสามารถเห็นร่องรอยที่ฟูโกต์เรียกว่า “ประวัติศาสตร์ของปัจจุบัน” โดยเราไม่สามารถหาจุดเริ่มต้น (origin) ได้ แต่เราศึกษาจากสิ่งที่ออกมาจากตัวมันครั้งแรก (first spring) แต่ไม่ใช่ตัวมันเองได้ และสิ่งที่ออกมาก็คือวาทกรรม (discourse) ที่วิ่งออกไปในทิศทางที่ต่างกัน               
 เมื่อกล่าวถึงสิ่งที่ทำงานในระดับวาทกรรม (discourse) พบว่ามันคือความรู้ที่เรียกว่า “savoir” เป็นชุดความรู้อะไรก็ได้ ข้อมูลดิบ สิ่งที่กล่าวอ้าง สิ่งที่เราข้าใจ   ฟูโกต์ไม่ได้อธิบายว่าการทำงานของ     วาทกรรมเริ่มต้นอย่างไร แต่อธิบายว่าอำนาจมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง อำนาจคืออะไร คือพลังที่ขับเคลื่อน สามารถแตกตัวได้ ไม่มีจุดกำเนิด เราจะเห็นปฏิบัติการก็ต่อเมื่อมีพื้นที่ของมัน  บนปฏิบัติการนี้คือ     วาทกรรมในสังคม                                                                                                
 ในกรณีวาทกรรมอำนาจ/ความรู้ใน Discipline and Punish    ความสำเร็จของอำนาจทางวินัยมีที่มาจากการใช้เครื่องมือธรรมดา เช่น การสังเกตตามลำดับชั้น (hierarchical observation) การตัดสินที่ทำให้เป็นปกติ (normalizing judgment) และการรวมเข้ากันไปในวิธีการหนึ่งซึ่งเฉพาะเจาะจง ได้แก่ การตรวจสอบ[11]  แนวคิดเกี่ยวกับการทำให้เป็นเรื่องปกติ (normalization) อ้างถึงรูปแบบกฎระเบียบซึ่งทำงานโดยกำหนดมาตรฐานหรือบรรทัดฐานสำหรับแนวปฏิบัติที่เหมาะสมและการแก้ไขส่วนที่เบี่ยงเบนจากบรรทัดฐาน ในทางบวก ทิศทางการแก้ไขค่อนข้างแตกต่างจากการห้ามธรรมดาและการลงโทษความประพฤติที่ไม่สมควร                                     
 
อำนาจตามแนวคิดของฟูโกต์เป็นเชิงบวก เนื่องจากทำให้วาทกรรมว่าด้วยเรื่องต่าง ๆ ผลิตขึ้นมา (productive) สู่ภาวะที่เรียกว่าทำให้เป็นปกติ (normalization) กระบวนการทำให้เป็นปกติก็คือ ผลิตผลของอำนาจ (productivity of power)  เพราะปฏิบัติการอำนาจที่เราทำให้เป็นปกติโดยเข้าไปอยู่ภายใต้ (subject to) วาทกรรมนั้น ยกตัวอย่างเช่น การฝึกสุนัขให้เชื่องและทำให้เชื่อฟังเจ้านาย พฤติกรรมที่มันทำตามคำสั่งดูเหมือนเป็นเรื่องปกติที่พบเห็นโดยทั่วไป แต่สิ่งที่เราสั่งให้มันทำตามไม่ใช่ความปกติ เพราะเป็นการผิดวิสัยไม่เป็นไปตามสัญชาตญาณของสัตว์  ความปกติที่เราเข้าใจเช่นนั้นเป็นผลมาจากการอยู่ภายใต้วาทกรรมชุดนั้น ๆ  กระบวนการทำให้เป็นปกติ (normalization) จึงเป็นปฎิบัติการแยบยลของอำนาจที่ทำให้รู้สึกว่าไม่ถูกกระทำเพราะเรายอมที่จะอยู่ภายใต้วาทกรรมนั้นนั่นเอง
 
                     
ที่มาของภาพ http://www.goodreads.com/book/show/80369.Discipline_and_Punish
 ใน Discipline and Punish  ฟูโกต์เลือกแผนงานสำหรับคุกแบบ “Panopticon”[12] (1791) เป็นตัวอย่างกระบวนทัศน์ของเทคโนโลยีแห่งอำนาจที่มีวินัย ซึ่งไม่ได้มุ่งเน้นสาระสำคัญแห่งอำนาจ แต่ให้เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าอำนาจปฏิบัติการอย่างๆไร[13]  สะท้อนถึงการลงโทษและคุกไม่เพียงแต่เป็นกลไกที่ปิดกั้นเท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่ทางสังคมที่ซับซ้อน การจ้องมองแบบคุกที่เรียกว่า “Panopticism” เป็นเทคนิคที่ชาญฉลาดและมีประสิทธิภาพสูงใช้สำหรับควบคุมปัจเจกบุคคลโดยแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างระหว่างร่างกาย พื้นที่ อำนาจและความรู้  ซึ่งการควบคุมร่างกายและพื้นที่นี้ถูกใช้เพื่อประโยชน์ของการเพิ่มอำนาจ  กล่าวโดยสรุปก็คือผลงานเรื่องนี้ของฟูโกต์ แสดงให้เห็นถึงกรอบความคิดเกี่ยวกับร่างกายเป็นส่วนประกอบในการปฏิบัติการของความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ดำรงอยู่ในสถานที่ที่มีความโดดเด่น การวิเคราะห์วงศาวิทยาเปิดเผยถึงร่างกายเป็นวัตถุแห่งความรู้และเป็นเป้าหมายสำหรับการใช้อำนาจ[14] 
 
กล่าวโดยสรุปก็คือการศึกษาประวัติศาสตร์แนววงศาวิทยา (genealogy) ของฟูโกต์ ทำให้สามารถศึกษาปัญหาเรื่องอำนาจ ความสัมพันธ์ความรู้กับอำนาจได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ซึ่งเกิดจากการที่ฟูโกต์ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดของนิทเช่ต์ที่มองความรู้อย่างไม่สัมพันธ์กับความจริงของโลกภายนอก หากแต่เกิดจากการประดิษฐ์สร้างของมนุษย์ นอกจากนี้ ประวัติศาสตร์มนุษย์เป็นเรื่องของการละเล่น เป็นเวทีแห่งการต่อสู้ของพลังอำนาจต่าง ๆ เพื่อการครอบงำทุกยุคทุกสมัยของเรา ซึ่งก็คือช่วงผ่านจากการครอบงำหนึ่งไปสู่อีกการครอบงำหนึ่ง[15]   วาทกรรมของฟูโกต์จากปฏิบัติการวาทกรรมสู่วาทกรรมอำนาจ/ความรู้ จึงเป็นการเปลี่ยนจาก “discursive practices” เพื่อหันมาศึกษาความสัมพันธ์เชิงอำนาจซึ่งควบคุมการปฏิบัติการที่ไม่ใช่วาทกรรม “nondiscursive practices” ที่มีความน่าสนใจอย่างมากและเป็นแนวคิดที่ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายในวงวิชาการปัจจุบัน
                                       

บรรณานุกรม

Dreyfus, Hubert L. and Rabinow, Paul. Michel Foucault Beyond Structuralism  and Hermeneutics,         Second edition.          Chicago: The University of Chicago Press, 1983.

Foucault, Michel. Discipline and Punish. Translated by Alan Sheridan. New York: Vintage, 1995.

Foucault , Michel.  “Nietzsche, genealogy, history,”  The Foucault Reader, edited with             Introduction by  Paul Rabinow. NewYork: Pantheon Books, 1984.

Foucault , Michel. The Order of Things: An Archeology of the Human Sciences. London:                     Tavistock Publications Limited, 1970.    

Hall, Stuart. “Foucault: Power, Knowledge and Discourse,”  Discourse Theory and Practice.      edited by Margaret Wethrell, Stephanie Taylor and Simeon J. Yates Great                         Britain: The Cromwell Press Ltd,  2001.

Schrift, Alan D. Nietzsche’s French Legacy. USA: Routledge, 1995.

Smart, Barry. Foucault. Revised edition. London: Routledge, 2002.

 

 

 

&

คำสำคัญ (Tags): #วาทกรรม
หมายเลขบันทึก: 469291เขียนเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2011 08:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 สิงหาคม 2012 11:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

...

วาทกรรมร่วมสมัยอะไรหนอ
สมองต่อไม่ติดไส้บิดเล่น
สงสัยว่าจะต้องอ่านแบบใจเย็น
หรือว่าเป็นนัยยะมานะเรียน

...

ยากนะอาจารย์นพลักษณ์ ๙

ยากที่จะเข้าใจสำหรับคนทั่วไปอย่างผ้ม ;)...

มาเยี่ยมเป็นอาชีพดีกว่า อิ อิ

พี่หญิงศิลา สบายดีนะคะ

วาทกรรม ยากค่ะพี่หญิง

หวังว่าบ้านพี่หญิงน้ำลดแล้วนะคะ

อ่านแล้วรู้สึกว่ายาก

แต่ก็ save ไว้อ่านเวลาว่างๆอีก

ขอบคุณนะคะ

มาทำอะไรที่เจียงใหม่

บ่หันบอกปี๋บอกเชื้อ

ใคร่ปะ  ใคร่อู้โตย บ่ได้

ยิ๋นดีจั๊ดนักเจ้า

มาส่งความสุขด้วยปฏิทินชุด "รอยยิ้มของพ่อ" ค่ะ

http://www.gotoknow.org/blogs/posts/471969

กำลังทบทวนงานของท่าน Foucault...ค้นไปค้นมาเจออาจารย์ของผมนี้เอง...มีประโยชน์มากครับ ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท