แม่น้ำเพชรบุรีกับเส้นทางการเรียนรู้โดยใช้แหล่งวิทยาการในชุมชน กรณีละหานใหญ่ จังหวัดเพชรบุรี


            แหล่งวิทยาการในชุมชน (Community Resource) นักวิชาการไทยอาจใช้คำอื่นที่แตกต่างกันออกไปเช่น  แหล่งเรียนรู้ในชุมชน แหล่งความรู้ชุมชน แหล่งวิชาในชุมชน แหล่งทรัพยากรในชุมชน  แหล่งการศึกษานอกโรงเรียน เป็นต้น แต่ในความหมายแล้วหมายถึง ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ในชุมชนที่ครูและนักเรียน นำมาใช้ในกิจกรรมการเรียนการสอน ที่ให้ประสบการณ์โดยตรง ผู้เรียนได้ปฏิบัติจริง ค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง สอดคล้องกับการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ  และสามารถนำความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวันได้

          แม่น้ำเพชรบุรีเป็นแม่น้ำสายหลักของจังหวัดเพชรบุรี มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาสูงด้านตะวันตกอันเป็นเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศสหภาพพม่า มีความยาวลำน้ำประมาณ 227 กิโลเมตร และมีแม่น้ำสาขาที่สำคัญอีก 3-4 สาขาที่ไหลลงมารวมกับแม่น้ำเพชรบุรี เช่น ห้วยแม่ประจันต์ ห้วยผาก และห้วยประโดน เป็นต้น  และเมื่อพิจารณาถึงเครือข่ายของเส้นทางคลองที่ไหลผ่านและความสัมพันธ์ในระบบนิเวศทางธรรมชาติและชุมชนแล้ว ลุ่มน้ำเพชรบุรีมีขนาดพื้นที่ทั้งหมดถึงประมาณ 5,600 ตารางกิโลเมตรครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดเพชรบุรี 

           ลักษณะภูมิประเทศของจังหวัดเพชรบุรี แบ่งออกเป็น 3 เขต คือเขตภูเขาและที่ราบสูงทางตะวันตก เขตที่ราบลุ่มแม่น้ำ และเขตที่ราบชายทะเล มีความสัมพันธ์กับวิถีชุมชนแม่น้ำก่อให้เกิดแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติและวัฒนธรรมเป็นจำนวนมาก สามารถจัดกิจกรรมโครงงานการศึกษาแหล่งวิทยาการในชุมชนจากแม่น้ำเพชรบุรี  มีหัวข้อที่น่าสนใจต่อการศึกษาเรียนรู้เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ และการสืบค้นเรื่องราวเพื่อประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนได้หลายกรณี  ดังตัวอย่างเช่น กรณีแหล่งเรียนรู้ละหานใหญ่ อำเภอบ้านลาดจังหวัดเพชรบุรี

              คำว่าละหาน  เป็นคำที่พจนานุกรมบัญญัติไว้ว่า คือห้วงน้ำ อันหมายถึงทะเลหรือแม่น้ำตอนที่ว้างนั่นเอง  จังหวัดเพชรบุรีมีละหานอยู่เช่นกันที่ตำบลตำหรุ อำเภอบ้านลาด เรียกว่าละหานใหญ่ ซึ่งลักษณะเป็นบึงขนาดใหญ่มีลำคลองไหลผ่านมายังบ้านละหารน้อย

              จากข้อมูลที่ปรากฏในแผนที่ภูมิศาสตร์ของจังหวัดเพชรบุรี  จะเห็นถึงลักษณะของบึงน้ำและร่องลอยของเส้นทางน้ำขาดเป็นช่วงๆ อยู่หลายแห่งทำให้แน่ใจว่า ละหานใหญ่แท้จริงแล้วก็คือบึงโค้ง เช่นเดียวกับบึงฉวาก จังหวัดสุพรรณบุรี หรือกุด หนองน้ำในภาษาของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

             ละหานใหญ่ที่กล่าวถึง จึงน่าจะเป็นทะเลสาบที่เกิดจากแม่น้ำ ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดจากการโค้งตวัดทำให้น้ำเปลี่ยนเส้นทางไปจากเดิมตัดตรงลำน้ำสายเก่าที่คดโค้งเดิมให้กลายสภาพมาเป็นทะเลสาบรูปแอกวัว (Oxbow Lake) ซึ่งมักพบกันโดยทั่วไปในพื้นที่ที่ราบภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อำเภอบ้านลาดเป็นพื้นที่ราบ แม่น้ำเพชรบุรีช่วงที่ไหลผ่านบ้านลาดในปัจจุบันก็มีลักษณะของโค้งตวัดอยู่ด้วยกันหลายแห่ง และยังมีบึงน้ำที่เป็นร่องรอยของลำน้ำสายเดิม เช่น ห้วยน้ำที่บ้านถ้ำรงค์ ห้วยกาหลง และห้วยโพธิ์กรุ อีกด้วย

              การศึกษาดังกล่าวจะทำให้ทราบถึงเส้นทางแม่น้ำเพชรบุรีในอดีตซึ่งมีความเชื่อมโยงกับความอุดมสมบูรณ์ของดินตะกอนที่ราบลุ่มชุ่มน้ำ กับความสัมพันธ์ทางด้านเอกลักษณ์ของอำเภอบ้านลาดที่ได้ชื่อว่า เป็นถิ่นละมุดหวาน น้ำตาลรสเด็ด ชมพูเพชรเลิศล้ำ และรวมถึงความสัมพันธ์ของวิถีชุมชนกับแหล่งน้ำละหาน สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นหัวเรื่องใหม่ๆ ที่ก่อให้เกิดความสนใจในการสร้างหลักสูตรท้องถิ่นผ่านการเรียนรู้ด้วยกระบวนการศึกษาชุมชนได้อีกเช่นกัน

            แม้ว่าในปัจจุบันการศึกษาของประเทศไทยจะให้ความสำคัญของสาระสากล เพื่อต้องการยกระดับคุณภาพการศึกษาประเทศไทยให้ทัดเทียมกับนานาประเทศ จนอาจลดความสำคัญการจัดการเรียนการสอนที่ให้ความสำคัญกับชุมชนที่เป็นบริบทท้องถิ่นของผู้เรียน บทความนี้ต้องการที่จะสะท้อนความคิดของครูผู้สอนคนหนึ่งที่มีประสบการณ์การใช้แหล่งวิทยาการในชุมชน  เห็นถึงความสำคัญของแหล่งวิทยาการในชุมชนเป็นแบบจำลองในการเรียนรู้ใกล้ผู้เรียน สามารถเชื่อมโยงไปสู่ความรู้สากลต่อไปได้ เป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ทั้งปวง ดังเช่นกรณีของละหานใหญ่ที่ได้เสนอมาในบทความนี้

 

หมายเลขบันทึก: 470963เขียนเมื่อ 11 ธันวาคม 2011 10:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 09:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท