๒.เรียนรู้แนวราบ...พัฒนาการศึกษาวิจัยบัณฑิตศึกษา เทคโน ม.นเรศวร


.......การเรียนรู้แบบข้ามสาขา ข้ามสถาบัน อีกทั้งแนะนำเครื่องมือและระเบียบวิธีที่เชื่อมโยงกันของการทำงานความรู้ กระบวนการทางปัญญา กับการศึกษา และการวิจัยของบัณฑิตศึกษาในเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษา ในลักษณะนี้ ทำให้ผมได้เรียนรู้และเห็นความหวังชัดขึ้นเรื่อยๆว่า การปฏิบัติเพื่อเรียนรู้เล็กๆ อย่างครอบคลุม (Holistic and Integration Learning) แล้วจัดการขยายผลไปตามโอกาสที่เอื้อให้บนการปฏิบัติทีละเล็ก-ทีละน้อย ตามกำลังสติปัญญาที่มีของปัจเจก สามารถร่วมส่งผ่านพลังเพื่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมได้ เล็กน้อย...แต่งดงาม. .......

               เมื่อวันเสาร์ที่ 26 สิงหาคม 2549 ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสไปบรรยายพิเศษและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคณาจารย์และกลุ่มนักศึกษาปริญญาเอก สาขาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา ของคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร พิษณุโลก เรื่อง การพัฒนากระบวนการคิด กับการประยุกต์ใช้ Mind Mapping มีกลุ่มนักศึกษาปริญญาเอก และปริญญาโท ทั้งสาขาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา และสาขาอื่นเข้าร่วมมาฟังด้วยคือ สาขาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ 

              เวทีนี้จัดว่าเป็นผลสืบเนื่องจาก เวทีเสวนาการจัดการความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัย ครั้งที่ 3 หรือ UKM 3/2549 ที่มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นเจ้าภาพให้กับเครือข่าย 8 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เมื่อครั้งที่ผ่านมาที่ อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม  เมื่อ14-15 กรกฎาคม 2549 ที่ผ่านมา เนื่องจากช่วงหนึ่ง ผมได้รับมอบหมายจากทีมมหิดล ให้ทำหน้าที่จับประเด็นการประชุม แล้วเขียนเป็นแผนภาพการระดมความคิด คือ Mind Mapping ขนาดใหญ่ หน้าห้องประชุม พอเสร็จสิ้นการประชุม ก็ได้เพื่อนหลายคน หนึ่งในจำนวนนั้นคือ ดร.รุจโรจน์ แก้วอุไร รองผู้อำนวยการสำนักหอสมุด ม.นเรศวร และเป็นอาจารย์สอนปริญญาเอก สาขาเทคโน.ด้วย 

               อาจารย์รุจโรจน์ เข้ามาพูดคุย พอรู้ว่าผมเองนั้นก็เรียน ป.โท มาทางเทคโนด้วยเหมือนกัน ก็เลยคุยกันประสาเพื่อนร่วมวิชาชีพไปด้วย แล้วท่านก็ใช้ปฏิบัติการแบบที่คนทำงานแนวประชาคมเรียกว่า ขับเคลื่อนด้วยสปิริตของปัจเจก ทันที คือ บอกว่าอยากชวนไปคุยและแนะนำกระบวนการคิดใน Mind Mapping ให้นักศึกษาของท่านที่มหาวิทยาลัยนเรศวรบ้าง หลังจากกลับไปแล้ว ก็ประสานงานและปรับเปลี่ยนเวลากันหลายรอบ กระทั่งต้องเจอกันครึ่งทาง คือผมเสียสละวันหยุดเพราะวันปรกติผมไปไม่ได้ และนักศึกษาต้องงดเรียนวันธรรมดา ย้ายมาเป็นวันหยุด

               เวทีนี้จึงจัดว่าเป็นเวทีแบบคนกันเอง มีคณาจารย์ ซึ่งก็ใช่ใครอื่น คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุภาณี เส็งศรี หัวหน้าภาควิชา.รุ่นน้องจากมศว.ประสานมิตร และเป็นเพื่อนของ ดร.อุดมสิทธิ์ จิตต์วิจารณ์ จากมหาวิทยาลัยมหิดล รองคณบดี คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เพื่อนและศิษย์ร่วม Advisor กับผม จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ที่ดีใจมาก คือ มีท่านรองศาสตราจารย์ ดร. ประหยัด จิระวรพงศ์ อาจารย์อาวุโส มาร่วมเวทีด้วยตลอดทั้งวัน

              อาจารย์ถือว่าเป็นผู้มีบทบาทท่านหนึ่งของวงการเทคโน ผมเป็นลูกศิษย์ผ่านการศึกษาค้นคว้าจากตำราของท่านเมื่อเป็นนักศึกษาเทคโน จึงทั้งดีใจที่ได้แสดงความเคารพท่านโดยตรง และมีความอิ่มใจ ที่ได้ไปสอนนักศึกษาของท่าน เพราะเป็นโอกาสได้ใช้ประสบการณ์มาตอบแทนคุณบุรพาจารย์และร่วมทำหน้าที่เผยแผ่ความงอกงามต่างๆ ที่ท่านมีส่วนวางรากฐานไว้ในวงวิชาการ

            ท่านอื่นๆที่เป็นนักศึกษาก็ล้วนเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในที่ทางที่ตนเองเกี่ยวข้อง หลายท่านเป็นผู้อำนวยการและผู้บริหารสถานศึกษา บางท่าน เช่น อาจารย์สมุทร ศรีอุ่น ระหว่างเรียนก็ทำหน้าที่เป็น Documentary Man ไปด้วย โดยถือกล้องบันทึกกิจกรรมเป็นระยะ สลับกับนั่งแลกเปลี่ยนความคิดกับเขา ท่านเป็นหัวหน้าภาควิชาเทคโน.ของมหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์ บางท่านเป็นคนทำงาน ICT และคุณลิขิตของทีมจัดการความรู้ ม.นเรศวร นั่นเอง บางท่านเป็นรุ่นน้อง ป.โท จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รหัส 33 คุณยุพา สุวรรณมณี นักวิชาการศึกษา ของ ม.นเรศวร รุ่นน้องเคยไปฝึกงานอยู่ที่ทำงานของผม ซึ่งเป็นมือประสานงานให้ ดร.รุจโรจน์ ทั้งหมดเลยใช่คนอื่นไกล ผมจึงทั้งตั้งใจและมีความสุข  เตรียมกระบวนการและทำสื่อถึงตีห้า อย่างสวยงามและสะท้อนพลังใจลงไปอย่างเต็มที่...อยากนำสิ่งที่คิดว่าดีมาฝากเพื่อนร่วมวิชาชีพ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีเครื่องมือการจัดการความรู้ที่ดี

            ผมจัดกระบวนการเวทีให้นักศึกษา 2-3 องค์ประกอบ เริ่มจากพูดคุยให้เห็นประเด็นเชิงสังคมและประเด็นอนาคต ที่สะท้อนอยู่ในเรื่องกระบวนการคิดและ Mind Mapping  ซึ่งเป็น Horizontal Interactive Learning Tool เพื่อเรียนรู้ทางสังคมและเห็นสถานะของสิ่งที่จะแนะนำกัน เพื่อให้ได้หลักคิดและเงื่อนไขการปฏิบัติ ก่อนเข้าสู่เรื่องทางเทคนิค จากนั้น ก็ให้แนวคิดและพาทำทีละขั้น 

  • ประเด็นทางสังคมและประเด็นอนาคต  ภายใต้การพัฒนาการเรียนรู้แบบทวีคูณศักยภาพของปัจเจก และกลุ่มประชาคม
  • การคิดเชิงระบบ การพัฒนาพลังทวีคูณ และการพัฒนาศักยภาพปัจเจก กับกระบวนการ Mind Mapping
  • การทำและการประยุกต์ใช้ Mind Mapping ในสถานการณ์ต่างๆ คือ การผุดประเด็นจากชุมชนและกลุ่มเรียนรู้  การถอดบทเรียนและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกันของปัจเจก การระดมความคิดและวางแผน ทุกคนได้ทดลองทำจากการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ตรงของตนเองจริงๆ...เสียดายที่เวลาเราไม่พอ การลงมือปฏิบัติเลยทดลองกันได้แค่นี้
  • การแนะนำวิธีคิดแบบต่างๆ เพื่อใช้เป็นหลักตั้งประเด็นคำถามและออกแบบเวทีระดมความคิดด้วย  Mind Mapping เช่น วิธีคิด 10 แบบโดยกระบวนการโยนิโสมนสิการ
  • แนะนำการใช้เพื่อปฏิบัติการวิชาการเชิงสังคม คือทำงานทางปัญญาและสร้างพลังเรียนรู้เพื่อเปลี่ยนแปลงของสังคมให้เกิดขึ้นอย่างงอกงามไปด้วย เช่น Mind Mapping กับพูดคุยค้นหาโจทย์วิจัยจากชุมชน  การเรียนรู้และสร้างความรู้จากการปฏิบัติ การวิเคราะห์และอภิปรายโดยกระบวนการมีส่วนร่วม  การจัดการความรู้แนวประชาคมเพื่อพัฒนาการศึกษา  การมีส่วนร่วมทางสุขภาพ การพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม การถ่ายทอดและนำเสนออย่างเป็นระบบ ของชาวบ้านและคนทำงานภาคปฏิบัติ
  • ปิดท้ายด้วย เติมทฤษฎีและเชื่อมโยงการปฏิบัติกับหลักทฤษฎีต่างๆ

          หลังเลิกการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างเป็นทางการแล้ว ก็ไปนั่งกินข้าวด้วยกัน  กลายเป็นว่าวงใหญ่พอๆกับนั่งเรียนกันอยู่ในห้อง หลายคนไปไอเดียแตก  ผุดหัวข้อหารือการวิจัยเพื่อทำ Disertation ที่นอกกรอบจากที่เคยๆทำกันมา

           การเรียนรู้แบบข้ามสาขา  ข้ามสถาบัน อีกทั้งแนะนำเครื่องมือและระเบียบวิธีที่เชื่อมโยงกันของการทำงานความรู้ กระบวนการทางปัญญา กับการศึกษา และการวิจัยของบัณฑิตศึกษาในเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษา ในลักษณะนี้ ทำให้ผมได้เรียนรู้และเห็นความหวังชัดขึ้นเรื่อยๆว่า การปฏิบัติเพื่อเรียนรู้เล็กๆ อย่างครอบคลุม (Holistic and Integration Learning) แล้วจัดการขยายผลไปตามโอกาสที่เอื้อให้บนการปฏิบัติทีละเล็ก-ทีละน้อย ตามกำลังสติปัญญาที่มีของปัจเจก สามารถร่วมส่งผ่านพลังเพื่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมได้  เล็กน้อย...แต่งดงาม. 

หมายเลขบันทึก: 47185เขียนเมื่อ 30 สิงหาคม 2006 09:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 00:05 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ขอบคุณอาจารย์ค่ะ ที่เสียสละเวลามาให้ความรู้กับพวกเรา ชาวเทคโนฯ ม.นเรศวร ทั้งๆที่รู้ว่าอาจารย์ไม่ค่อยว่างเท่าไหร่ ไม่ใช่สิ ต้องพูดว่า "ทั้งๆ ที่รู้ว่าอาจารย์ไม่มีเวลาว่างเลย"   แต่ก็อาศัยเทคนิคที่อาจารย์ว่า การขับเคลื่อนด้วยสปิริตของปัจเจก จนทำให้อาจารย์ต้องมาจนได้ เกรงใจนะคะ แต่อยากได้ความรู้มากกว่า วันนั้นเพื่อนๆ หลายคน ได้จุดประกายความคิด ทั้งเรื่องที่ไม่เคยรู้มาก่อน เรื่องที่รู้เลือนๆ ลางๆ และเรื่องที่นึกว่าตัวเองรู้ดีแล้ว แต่พอมาฟังอาจารย์บรรยาย กลายเป็นโห...เราเหมือนคนไม่รู้อะไรเลยนะ  พวกเราประทับใจกับ Mind Mapping ของอาจารย์ โดยเฉพาะวิธีการนำเสนอด้วยการ์ตูน โตจนเรียนป.เอก ก็ยังชอบการวาดเส้นและการ์ตูนค่ะ ทำให้เรื่องยากกลายเป็นเรื่องง่ายไปได้ หลายคนบอกว่า "อ่านโยนิโสมนสิการ มาก็หลายตำรา หลายผู้เขียน ไม่เข้าใจเหมือนฟังอาจารย์อธิบายให้ฟังวันนี้" ขนาดฟังแค่ไม่ถึง 5 นาทีนะคะ  หลายคนได้ประเด็นสำหรับทำ  Disertation  อ.สมุทร บอกว่า "ทำแน่ครับ เครือข่ายฯ"  ฝ่าย ผอ.อนงค์ ก็คิดว่าเรื่อง KM ในโรงเรียนประถมฯ ก็น่าสนใจนะ  แล้วคงจะติดต่ออาจารย์มาอีก เหนื่อยหน่อยนะคะ  มาเจอลูกศิษย์งกวิชาอย่างพวกเรา  ขนาดเย็นวันที่บรรยายเสร็จแล้ว พาอาจารย์ไปรับประทานอาหารกัน ก็คุย ๆ ๆ ๆ ๆ  จนทำให้เกือบตกเครื่องบิน  เกรงใจอาจารย์จังค่ะ แต่... "คราวหน้า เรียนเชิญอาจารย์มาให้ความรู้พวกเราอีกนะคะ"

  • เลยได้ร่วมเป็นกรรมการสอบหัวข้อของ ผอ.อนงค์ อย่างที่คุณยุพาและ ผอ.อนงค์แสดงความสนใจไว้จริงๆ
  • แล้วของยุยังคงคืบหน้าและต่อเนื่องอยู่เสมอใช่ไหม ฝากคารวะท่านอาจารย์ ดร.ประหยัดด้วยนะครับ อาจารย์ ดร. สุภาณีและ ดร.รุจโรจน์ ด้วยนะครับ
  • ว่าที่ ดร.แก๊สด้วย กล้วยทอดที่ให้หิ้วกลับไปทานนั้น อร่อยมากจริงๆ มิน่าอาจารย์แก๊สเขาถึงเดินหิ้วตะรอนๆไปฝาก เป็นขนมที่แปลกดี
ศิวะศิษย์ สิงห์อาจ

แอบมาฟัง ก็พลอยได้ความรู้ไปด้วยครับ ขอขอบคุณอาจารย์วิรัตน์ เป็นอย่างสูงครับ คือ พอดี หาข้อมูลของพี่ยุพา เลยมาเจอในเว็บนี่ครับ เป็นุร่นน้อง ป.โท เทคโนฯของพี่ยุพาครับ ห่างหายมานาน ได้วกเข้ามาเรื่องเทคโนฯอีกครั้ง ก็เลยต้องติดตามครับ

สวัสดีครับคุณศิวะศิษย์ สิงห์อาจครับ

  • เป็นหมู่เฮาชาวเทคโนเองนะครับ ด้วยความยินดีครับ
  • ตอนนี้คุณยุพาแว่วว่าตั้งหลักทุ่มเทให้กับการทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกสาขาเทคโน ของ ม.นเรศวรอยู่นะครับ
  • แวะเอาความเคลื่อนไหวต่างๆทางเทคโนมาแบ่งปันกันบ้างนะครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท