KM ชุมชน.......กับ KM องค์กร


ผมตั้งหัวข้อเป็นภาษาอังกฤษปนภาษาไทยเรา โดยจั่วหัวข้อเขียนวันนี้ว่า “KM ชุมชน.......กับ KM องค์กร”

ผมตั้งหัวข้อเป็นภาษาอังกฤษปนภาษาไทยเรา โดยจั่วหัวข้อเขียนวันนี้ว่า “KM ชุมชน.......กับ KM องค์กร” มูลเหตุจูงใจที่หยิบประเด็นนี้มาเขียนเป็นเพราะจากประสบการณ์ในการเป็นวิทยากรด้านการจัดการความรู้ที่ผ่านมา หลายกลุ่มเป้าหมายยังแยกแยะเรื่องดังกล่าวไม่ชัดเจนนัก...แต่อย่างไรก็ตาม ผมเองใช่ว่าจะพหูสูตรรู้เรื่องนี้ไปเสียหมดหรือกระจ่างแจ้งกว่าคนอื่นๆนะครับ เพียงขอแลกเปลี่ยนแนวคิดซึ่งอาจเป็นประเด็นให้ท่านอื่นๆช่วยกันขยายความหรือหาแก่นแท้ซึ่งความหมาย (Meaning) ของคำสองคำนี้ได้กระจ่างขึ้น จะเป็นการสร้างเวทีเรียนรู้ต่อยอดทางวิชาการได้อย่างดีครับ

          ในมุมของผมนั้นคำว่า KM ชุมชน.......กับ KM องค์กร มีความเหมือนในความแตกต่างครับ ผมขยายคำว่า KM องค์กร ก่อนนะครับคำนี้ในวงราชการเริ่มรู้จักมักคุ้นอย่างจริงจังในปี 2549(ก่อนหน้านี้ก็มีให้เห็นบ้างแล้วครับ) เนื่องจากเป็นช่วงการเปลี่ยนผ่านระบบราชการไทยให้จิ๋วแต่แจ๋ว...ภายใต้พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์ และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี เพื่อการปฏิรูประบบราชการที่ผ่านมา ทุกท่านคงจำได้อยู่นะครับ ในนิยามนี้หมายถึง กระบวนการในการนำความรู้ที่มีอยู่หรือเรียนรู้มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อองค์กร โดยผ่านกระบวนการต่าง ๆ เช่นการสร้าง รวบรวม แลกเปลี่ยนและใช้ความรู้(บุญดี  บุญญากิจ และคณะ ,2549 : 23) และมุ่งเน้นในการรวบรวมความรู้ของบุคลากรในองค์กรมาจัดระบบให้ง่ายต่อการเรียนรู้และนำไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในการแก้ไขปัญหาในการทำงานภายในองค์กร ทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชน เรื่องของเรื่อง KM องค์กรเป็นเครื่องมือในการพัฒนาทักษะการทำงานของตัวบุคลากรในองค์กรโดยตรง ต้องค้นหาทักษะการทำงาน วิธีปฎิบัติที่เป็นเลิศของทุกอนูงานเพื่อสร้างเป็นองค์ความรู้ขององค์กร(Knowledge of the organization) หรือสินทรัพย์ความรู้องค์กร(knowledge assets)ให้ทุกคนในองค์กรเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเอง พัฒนางานและตัวองค์กรครับ KM ลักษณะนี้ตัวความรู้มักอยู่ในตัวบุคลากรทุกๆคนที่สั่งสมเป็นประสบการณ์ ความชำนิชำนาญ หรือภาษาทางวิชาการเรียกว่าความรู้ฝังลึก (Tacit Knowledge)นั่นเอง งานนี้ต้องสกัดครับจับภาพวิธีการทำงานหรือเทคนิคดีๆออกมาเรียนรู้ครับ หากหันมามอง KM ชุมชน บ้างครับ คำๆนี้มีความหมายกว้างขวางยิ่งกว่าสนามกีฬาราชมังคลาฯอีกครับ ในมิติที่ผมมอง KM ในลักษณะนี้หมายถึง องค์ความรู้ที่อยู่ภายในชุมชน อยู่ในตัวบุคคลทั้งที่ถูกบันทึกแล้วและยังฝังลึกเป็นภูมิปัญญาของปัจเจกบุคคลในชุมชน มุมของผมมองลักษณะความรู้หรือ KM ชุมชนในสองลักษณะคือ ตัวความรู้ที่เป็นข้อมูลหรือสารสนเทศที่ได้รับการจัดเก็บ บันทึกแล้ว เป็นชุดความรู้ที่เป็นรากฐานของชุมชนเอง เช่น ความเป็นมาชุมชน  ข้อมูลชุมชนด้านต่างๆ  บริบทชุมชน กลุ่มองค์กร เครือข่าย สภาพสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ประเพณี ศาสนา ภูมิปัญญา การเปลี่ยนแปลงและการพัฒนา ปัญหา อุปสรรค จุดเด่น จุดด้อยฯลฯ  ส่วนความรู้อีกลักษณะหนึ่งและผมมองว่าสำคัญมากๆครับ คือ ชุดความรู้ ที่เป็นประสบการณ์เทคนิคการทำงานและทักษะการดำรงชีวิตหรือ เป็นเทคนิคการปฏิบัติในการทำงานกระบวนการ/วิธีการ/ขั้นตอน/กลเม็ดเคล็ดลับ ข้อพึงระวังและข้อเสนอแนะต่างที่คนในชุมชน กลุ่มองค์กรต่างๆได้ผ่านการปฎิบัติและพิสูจน์แล้ว องค์ความรู้ชุดนี้ชุมชนต้องเร่งกันแสวงหา บันทึกและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อช่วยเหลือเกื้อกูนกันนะครับ โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพชีวิตเป็นสำคัญ

         ผมและทีมงานกลุ่มงานส่งเสริมการจัดการความรู้จะพยายามในการสืบค้นประเด็นหลายๆประเด็นที่ยังเป็นที่คลางแคลงใจในนิยามความหมายมาตั้งเป็นประเด็นตั้งต้นให้ทุกๆท่านได้ต่อยอดนะครับ วันนี้มีประเด็นตั้งต้นแค่นี้ก่อนนะครับ.......

หมายเลขบันทึก: 472255เขียนเมื่อ 24 ธันวาคม 2011 08:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 21:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ขอบคุณเพื่อนอาจารย์มากๆค่ะ...ที่ไปเป็นวิทยากรให้นะคะ..น้องๆเริ่มจัดการกับความรู้ตัวเองเป็นขั้นตอนแล้วค่ะ..

ขอบพระคุณที่แบ่งปันสาระดีๆ ที่มีประโยชน์ต่อการทำงานค่ะ

ฝากการพัฒนาชุมชนให้ออกมาเป็นรูปธรรม

เพื่อแต่ละชุมชนจะได้ภาคภูมิใจใน.."ของดี"

ฝากการพัฒนาชุมชนให้ออกมาเป็นรูปธรรม

เพื่อแต่ละชุมชนจะได้ภาคภูมิใจใน.."ของดี"

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท