One Stop Crisis Center : OSCC โรงพยาบาลชุมพร (2)


ก่อนสิ้นปี 2554 ผู้เขียนได้รับการติดต่อจากจังหวัดชุมพร ให้ช่วยเขียนเรื่องของ OSCC ส่งประกวดในโครงการ UN Public Service Award 2012 โดยการตอบ 9 คำถามสำคัญ

2. What was the solution and what were the key benefits resulting from the initiative ? (the solution)

  • ผู้หญิงและเด็กที่ถูกกระทำรุนแรงต้องการ “ศูนย์พึ่งได้” แก้ปัญหาครบ-จบในที่เดียว

การป้องกันและช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กที่ถูกกระทำรุนแรง จึงต้องการหน่วยงานที่ดำเนินการทั้งเชิงรุกและเชิงรับ โดยสามารถให้บริการอย่างมีมาตรฐานครบวงจรภายในจุดเดียว ซึ่งก็คือแนวคิดการจัดตั้ง OSCC : One Stop Crisis Center ณ โรงพยาบาลชุมพร โดยมีภารกิจคือ จัดให้มีบริการสำหรับผู้หญิงและเด็กที่ถูกกระทำรุนแรงตลอด 24 ชั่วโมงในโรงพยาบาล ให้ผู้เดือดร้อนได้รับการดูแลทั้งสุขภาพกาย จิต สังคม และคุ้มครองตามกฎหมาย ให้การดูแลโดยแพทย์ พยาบาล นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา ก่อนส่งตัวไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือต่อไป จัดให้มีสถานที่ปลอดภัยแก่ผู้หญิงและเด็ก รวมทั้งมีกระบวนการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจในกรณีที่ไม่สามารถช่วยตนเองได้ จัดให้มีอาสาสมัครจิตอาสาในชุมชนเพื่อเฝ้าระวังภัยที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงและเด็ก

  

  • 12 ปีบนเส้นทางการทำงานของ OSCC โรงพยาบาลชุมพรกับการช่วยเหลือผู้หญิงและเด็ก

ผลการทำงานของ OSCC จากเริ่มต้นจนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลา 12 ปี มีผู้หญิงและเด็กที่ถูกกระทำรุนแรงเข้ารับความช่วยเหลือรวมทั้งสิ้น 11,964 ราย โดยเป็นผู้ที่โทรศัพท์เข้ามาปรึกษาและขอรับความช่วยเหลือ 7,130 ราย ผู้ที่เดินทางมาเข้ารับความช่วยเหลือ 4,834 ราย โดยมีสาเหตุมาจากการทำร้ายร่างกายให้ได้รับบาดเจ็บ 1,332 ราย การทำร้ายทางเพศ 3,081 ราย และการปล่อยปละละเลย 550 ราย (ในบางรายมีสาเหตุมากกว่า 1 อย่าง) ซึ่งผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงนี้เป็นเด็ก 3,823 ราย จำแนกเป็นเด็กหญิง 2,992 ราย เด็กชาย 831 ราย และเป็นผู้หญิง 1,140 ราย พวกเขาเหล่านี้ได้รับความช่วยเหลือให้ผ่านพ้นความทุกข์ยากจากเหตุการณ์ร้ายแรงในชีวิต และได้รับโอกาสให้เริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ดีกว่าเดิม ดังกรณีของ “เพ็ญ” (นามสมมุติ)

“เพ็ญ” ผู้หญิงวัย 40 ปีถูกพายุชีวิตครอบครัวโหมกระหน่ำจนเกือบเอาชีวิตไม่รอด แต่เมื่อได้รับความช่วยเหลือจาก OSCC เธอใช้ประสบการณ์และบทเรียนอันทุกข์ยากนั้นมาเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือผู้หญิงที่ถูกกระทำทารุณในครอบครัวแทนการเป็นฆาตกร

“เพ็ญ” มาปรึกษากับ OSCC ด้วยเรื่องที่บุตรสาวคนโต (ลูกติดจากสามีเก่า) ถูกละเมิดจากครอบครัวผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น จึงเตรียมการแจ้งความและช่วยเหลือบุตรสาว “เพ็ญ”ออกจากบ้านไปหลายวันโดยมิได้แจ้งให้สามีคนปัจจุบันทราบถึงเหตุการณ์ สามีเกิดความหึงหวง ทำร้ายร่างกายและขัง“เพ็ญ”ไว้ในบ้าน จนกระทั่งนักสังคมสงเคราะห์เข้าช่วยเหลือดำเนินคดีกับสามี “เพ็ญ”ยินดีเริ่มต้นชีวิตโสดใหม่อีกครั้งโดยมิได้มีทรัพย์สมบัติใด ๆ ติดตัวมา แต่ด้วยกระบวนการช่วยเหลือของ OSCC ทั้งการจัดหาที่พัก อาชีพ เยี่ยมบ้าน ให้คำปรึกษา จัดเข้าร่วมกลุ่มพึ่งพิง (Group Support) ของผู้หญิงที่ถูกกระทำทารุณจากคนในครอบครัว เป็นการเสริมพลังให้“เพ็ญ”มีความเข้มแข็งหาเลี้ยงตนเองได้ และต่อสู้กับการได้มีโอกาสเยี่ยมลูกสาวคนที่สองซึ่งอยู่กับอดีตสามีซึ่งใส่ร้ายว่า“เพ็ญ”หนีตามชายชู้ไป  “เพ็ญ”ยังต้องประสบปัญหาบุตรสาวคนโตพยายามฆ่าตัวตายจากการบีบคั้นของครอบครัวสามี  1 ปีผ่านไป“เพ็ญ”มีอาชีพการงาน มีรายได้ดีขึ้น เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้เธอเข้าใจบทเรียนที่เกี่ยวกับมายาคติชายเป็นใหญ่มากขึ้น เธอฝันที่จะเห็นผู้หญิงมีศักดิ์ศรี มีความเข้มแข็งเด็ดเดี่ยวและพึ่งตนเองได้ เธอจึงอุทิศตัวช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กที่ถูกกระทำทารุณ เธอเป็นคนต้นแบบ ทำงานร่วมกับทีมสหวิชาชีพและเครือข่ายอาสาสมัครจิตอาสาจนถึงปัจจุบัน

คำสำคัญ (Tags): #oscc
หมายเลขบันทึก: 472943เขียนเมื่อ 30 ธันวาคม 2011 07:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 20:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท