One Stop Crisis Center : OSCC โรงพยาบาลชุมพร (3)


ก่อนสิ้นปี 2554 ผู้เขียนได้รับการติดต่อจากจังหวัดชุมพร ให้ช่วยเขียนเรื่องของ OSCC ส่งประกวดในโครงการ UN Public Service Award 2012 โดยการตอบ 9 คำถามสำคัญ

3. Who proposed the solution, who implemented it and who were the stakeholders ?

  • จุดเริ่มต้นจากมติ ครม.เมื่อ 12 ปีที่แล้วกับการทำงานของ “คนเก่ง-หัวใจแกร่ง” จึงมีวันนี้

จากมติ ครม. เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2542 ความว่า เห็นชอบกับนโยบายและแผนขจัดความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก โดยให้โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขจัดให้มีศูนย์บริการช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กในภาวะวิกฤตจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาลทุกแห่ง โดยมีคณะทำงานเป็นทีมสำหรับงานบริหารให้ความช่วยเหลือผู้ถูกกระทำรุนแรงได้ภายใน 24 ชม.” นำมาซึ่งกระบวนการจัดตั้ง ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้หญิงและเด็กโรงพยาบาลชุมพร เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2542 โดยออกแบบการทำงานให้เป็น One Stop Service Crisis Center หรือ OSCC พร้อมบริการให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์ Hotline สายตรงตลอด 24 ชั่วโมง พัฒนาระบบการให้ความช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กที่ได้รับความรุนแรง มีคณะกรรมการดำเนินงานประกอบด้วยบุคลากรจากส่วนงานต่าง ๆ ทำงานร่วมกันในลักษณะของ ทีมสหวิชาชีพ ประกอบด้วย แพทย์ พยาบาล นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา ตำรวจ ทนายความอาสา ฯลฯ

เคยมีการศึกษาวิจัยผลสัมฤทธิ์ของมติ ครม.ซึ่งมีออกมาทุกสัปดาห์ในการประชุมคณะรัฐมนตรีพบว่า การใช้อำนาจบริหารของรัฐบาลผ่านการออกมติ ครม.กว่าร้อยละ 80 มักจะไม่ประสบความสำเร็จในช่วง 1 ปีแรก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยที่เป็นอุปสรรคและข้อขัดข้อง กรณีการจัดตั้ง OSCC ในโรงพยาบาลทั่วประเทศก็เช่นเดียวกัน ในปี 2542 นอกจาก OSCC ในโรงพยาบาลศูนย์ขนาดใหญ่ที่เป็นโครงการนำร่อง มีเพียง OSCC ของโรงพยาบาลชุมพร เท่านั้นที่สามารถจัดตั้ง ฝ่าฟันอุปสรรคให้ดำเนินการมาได้อย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้เป็นเพราะความเข้าใจในการบริหารและการสนับสนุนของ พญ.กอบกุล พูลปัญญาวงศ์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมพร และการอุทิศตนในการทำงานเพื่อผู้หญิงและเด็กของ นางประทุมพร ทองภูเบศร์ นักสังคมสงเคราะห์ในฐานะหัวหน้าหน่วย OSCC ร่วมกับทีมสหวิชาชีพและเครือข่ายอาสาสมัครในชุมชน

  • ผลงานเริ่มเป็นที่กล่าวขวัญ สร้างสรรค์กัลยาณมิตร

ด้วยท่าทีการทำงานที่จริงจังในการแก้ปัญหาเพื่อผู้หญิงและเด็กของประทุมพร ก่อให้เกิดผลงานที่ชัดเจนมากขึ้น จนเป็นที่กล่าวขวัญของบุคคลในแวดวงสังคมสงเคราะห์ทั้งหน่วยงานราชการ และองค์กรพัฒนาเอกชน ในช่วงปีแรกมูลนิธิเพื่อนหญิงจึงได้ส่ง น.ส.สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง เข้ามาติดต่อประสานงาน สุเพ็ญศรีได้นำประสบการณ์ของเธอมาถ่ายทอด ให้การสนับสนุน ช่วยเหลือโดยให้ความสำคัญกับการทำงานในรูปแบบของทีมสหวิชาชีพ และการขยายเครือข่ายอาสาสมัครจิตอาสาในชุมชน สุเพ็ญศรียังช่วยประสานงานกับองค์กรผู้ให้การสนับสนุนทุน ได้แก่ สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) และสถาบันการศึกษาร่วมติดตามประเมินผลโครงการ ทำให้ OSCC มีศักยภาพสูงขึ้นในทุกด้าน

   

  • ทีมสหวิชาชีพและเครือข่ายอาสาสมัครจิตอาสา คือก้าวย่างสำคัญของความสำเร็จ

ภายหลังจากการจัดตั้งทีมสหวิชาชีพ ให้เริ่มต้นทำงานอย่างมีทิศทางชัดเจนแล้ว OSCC ได้ริเริ่มสร้างเครือข่ายอาสาสมัครจิตอาสาในชุมชน โดยสรรหา อสม.ที่มีความพร้อมส่วนหนึ่งมาทำหน้าที่คัดกรองผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงในชุมชน เพื่อหาวิธีป้องกันและแก้ไขอย่างทันท่วงที ปัจจุบันมีอาสาสมัครจิตอาสาทำงานในรูปแบบเครือข่ายทางสังคมครอบคลุมพื้นที่ 6 ชุมชน ทำการรณรงค์ให้ชุมชนที่ตนอยู่ตระหนักถึงปัญหาการกระทำรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก รณรงค์ลด-ละ-เลิกเหล้าซึ่งพบว่าเป็นปัจจัยร่วมถึง 75% ทำให้ผู้ชายที่เมาเหล้าแล้วขาดสติลงมือตีลูก ตีเมีย ก่อเหตุละเมิดทางร่างกายและจิตใจ ทำให้เกิดการป้องกันและแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการ ทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่องทั้งในหน่วยบริการ OSCC และในชุมชน

ด้วยเหตุนี้ ทีมสหวิชาชีพและเครือข่ายอาสาสมัครจิตอาสาในชุมชนจึงเป็น พันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Partner) ที่สำคัญของ OSCC

  

 

คำสำคัญ (Tags): #oscc
หมายเลขบันทึก: 472946เขียนเมื่อ 30 ธันวาคม 2011 07:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 13:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท