One Stop Crisis Center : OSCC โรงพยาบาลชุมพร (6)


ก่อนสิ้นปี 2554 ผู้เขียนได้รับการติดต่อจากจังหวัดชุมพร ให้ช่วยเขียนเรื่องของ OSCC ส่งประกวดในโครงการ UN Public Service Award 2012 โดยการตอบ 9 คำถามสำคัญ

6. What were the main obstacles encountered ? How were they overcome ?

จากประสบการณ์ของ OSCC พบปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงาน ดังนี้

1) ผู้หญิงและเด็กที่ถูกกระทำรุนแรงขาดการรับรู้ และไม่สามารถเข้าถึงบริการความช่วยเหลือ แนวทางที่ OSCC นำมาใช้คือ การรณรงค์ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อมวลชนทั้งวิทยุ หนังสือพิมพ์ และบูรณาการ Hotline 1567 สายตรงร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร มีกรณีที่น่าสนใจคือ ท่านผู้ว่าฯ ได้พูดออกอากาศทางวิทยุเกี่ยวกับ OSCC และเน้นย้ำว่าถ้ามีปัญหาการกระทำรุนแรงให้โทรศัพท์มาที่เบอร์ของท่านก็ได้ ตอนดึกคืนหนึ่งในปี 2553 มีผู้โทรศัพท์แจ้งเหตุการกระทำรุนแรงมาถึงท่าน และท่านได้ประสานต่อมายัง OSCC เพื่อขอเบอร์โทร.ของอาสาสมัครจิตอาสาในพื้นที่เกิดเหตุ หลังจากนั้นท่านก็โทร.ประสานงานไปยังอาสาสมัครคนดังกล่าวด้วยตนเอง เพื่อให้เข้าไปตรวจสอบ ดูแล ให้ความช่วยเหลือ โดยให้รายงานกับมายังท่านโดยตรง เป็นการสร้างขวัญและกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติงานอย่างดียิ่ง

2) ผู้หญิงและเด็กที่ถูกกระทำรุนแรงหลังจากได้รับความช่วยเหลือ เมื่อต้องกลับไปอยู่ในสภาพเดิม ต้องเจอการบีบคั้นซ้ำเติมในสภาพที่ปิดกั้นกว่าเดิม มีกรณีหนึ่งซึ่ง OSCC นำมาสรุปใช้เป็นแนวทางการแก้ปัญหาคือ ครอบครัวน้องโจ (นามสมมุติ) พ่อและแม่ถูกฆ่าตายทั้งคู่โดยแรงงานพม่าที่เข้ามารับจ้างกรีดยาง น้องโจอายุ 5 ขวบมีสิทธิ์จะได้รับมรดกบ้านและที่ดินถูกนำไปเลี้ยงอยู่กับป้าแท้ ๆ ของตนเอง แต่แล้วป้ากับลุงก็มีเหตุทะเลาะตบตีกัน ป้าได้หนีไปอยู่จังหวัดอื่นโดยทิ้งน้องโจไว้กับลุงเลี้ยง เมื่อลุงกินเหล้าเมามายก็บันดาลโทสะทำร้ายร่างกาย ตบตีน้องโจ และข่มขู่ว่าไม่ให้บอกใคร ไม่เช่นนั้นจะฆ่าให้ตาย น้องโจต้องหยุดเรียนที่ศูนย์เด็กเล็กของ อบต.หลายวัน จนเป็นที่ผิดสังเกตของคุณครูพี่เลี้ยงเด็ก เมื่อน้องโจกลับมาเรียนโดยมีรอยฟกช้ำดำเขียว คุณครูถามก็ไม่ยอมตอบ ก้มหน้านิ่งเงียบ ทำท่าจะร้องไห้ คุณครูจึงนำเรื่องนี้ไปปรึกษานายก อบต. ซึ่งเคยรู้เรื่องการทำงานของ OSCC นายก อบต.จึงโทรศัพท์ปรึกษาและนำมาซึ่งกระบวนการช่วยเหลือน้องโจให้ได้รับการฟื้นฟู และส่งตัวไปอยู่กับบ้านของน้าสาวที่ได้รับการประเมินว่ามีความเหมาะสมมากกว่า แต่บ้านของลุงคนดังกล่าวอยู่ใกล้ ๆ กัน ทำให้น้องโจยังต้องเผชิญกับอิทธิพลการข่มขู่ของลุง เมื่อ OSCC ออกติดตามกรณีนี้และจัดการพูดคุยที่ อบต. มีสมาชิก อบต.ท่านหนึ่งรู้จักครอบครัวนี้เป็นอย่างดี และเสนอตัวว่าเขาจะเป็นผู้ดูแลเรื่องนี้เอง เขารู้จักลุงของน้องโจดี ปกติแล้วเป็นคนขี้ขลาดไม่ค่อยกล้าทำอะไร พอเมาแล้วนิสัยไม่ดีชอบตีเมีย ตีหลาน เขาจะไปพูดคุยด้วยและรับปากว่าจะไม่ยอมให้เกิดเรื่องเช่นนี้อีก กรณีนี้จึงชัดเจนว่า เรื่องของความรุนแรงในครอบครัวเมื่อได้รับการเปิดเผยให้สังคมได้รับรู้ (Social Exposure) ด้วยกระบวนการที่ถูกต้อง จะนำมาซึ่งความช่วยเหลือที่เหมาะสม

3) อุปสรรคในการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเมื่อเกิดเหตุการณ์ในพื้นที่ซึ่งไม่มีเครือข่ายอาสาสมัครจิตอาสาทำงานอยู่ มักจะเกิดปัญหาไม่เข้าใจกัน โดยเฉพาะในกรณีที่เป็นปัญหาเร่งด่วนแต่ยังไม่รีบเร่งดำเนินการทำให้ความช่วยเหลือล่าช้าไม่ทันเหตุการณ์ หน่วยงานที่ถือได้ว่าเป็นปัญหามากที่สุดคือ ตำรวจ เพราะยังมีทัศนะว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัวเป็นเรื่องผัวเมีย ทะเลาะกันเดี๋ยวก็ดีกัน ปล่อยไว้ไม่ต้องไปทำอะไรมากเรื่องก็จะจบไปเอง การแก้ไขเรื่องนี้ OSCC ได้นำความสำคัญของ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 มาทำความเข้าใจเน้นย้ำกันทุกครั้งที่มีโอกาส

กรณีดังกล่าวนี้เป็นปัญหาอุปสรรคสำคัญซึ่งได้รับการแก้ไขจากประสบการณ์การทำงานของ OSCC

คำสำคัญ (Tags): #oscc
หมายเลขบันทึก: 472950เขียนเมื่อ 30 ธันวาคม 2011 08:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 10:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท