แนวคิดของรัฐไทยกับกฎหมายด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ที่มีผลต่อการจัดการเครือข่ายสังคมออนไลน์


บทความชิ้นนี้จึงถูกเขียนขึ้นเพื่ออธิบายภาพรวมของกฎหมายไทย และ แนวคิดของกฎหมายต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการจัดการปัญหาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยเน้นที่การจัดการเครือข่ายสังคมออนไลน์เพื่อตรวจสอบว่า รัฐไทยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเครือข่ายสังคมออนไลน์ในกี่ลักษณะ เพื่อนำไปสู่การพัฒนากฎหมายที่ควรจะเป็นในอนาคต

           นับแต่ประเทศไทยมีกฎหมายที่มีผลต่อการจัดการเรื่องสื่อฉบับแรกตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๗๓ เป็นต้นมา จนกระทั่งสังคมปัจจุบันก้าวเข้าสู่ยุคเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งในทางข้อเท็จจริงแล้ว สังคมไทยเริ่มคุ้นชินกับคำว่าอินเทอร์เน็ตตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๖ และประเทศไทยได้บังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารฉบับแรกในปี พ.ศ.๒๕๔๔ กล่าวคือ พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.๒๕๔๔ ต่อมาเมื่ออินเทอร์เน็ตก้าวเข้าสู่ยุค เว็บ ๒.๐ เป็นยุคของเครือข่ายสังคมออนไลน์ จึงมีคำถามเกิดขึ้นว่า กฎหมายไทยที่มีอยู่เพียงพอต่อการจัดการปัญหาเครือข่ายสังคมออนไลน์หรือไม่

          บทความชิ้นนี้จึงถูกเขียนขึ้นเพื่ออธิบายภาพรวมของกฎหมายไทย และ แนวคิดของกฎหมายต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการจัดการปัญหาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยเน้นที่การจัดการเครือข่ายสังคมออนไลน์เพื่อตรวจสอบว่า รัฐไทยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเครือข่ายสังคมออนไลน์ในกี่ลักษณะ เพื่อนำไปสู่การพัฒนากฎหมายที่ควรจะเป็นในอนาคต

          หลังจากการศึกษากฎหมายไทยที่เกี่ยวข้องกับการจัดการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับ การจัดการเครือข่ายสังคมออนไลน์ พบว่า มีกฎหมายใน ๓ กลุ่ม กล่าวคือ

          กลุ่มที่ ๑                   กลุ่มกฎหมายว่าด้วยการกำกับดูแลการจัดสรรทรัพยากรคลื่นความถี่ กล่าวคือ มาตรา ๔๗ [1]แห่งกฎหมายรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้คลื่นความถี่เป็นทรัพยากรสื่อสารของสาธารณะ อีกทั้งยังมี การจัดตั้งองค์กรในการจัดสรรคลื่นความถี่โดยอาศัยพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคม พ.ศ.๒๕๔๓ และ พระราชบัญญัติประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ พ.ศ.๒๕๕๑ รวมถึง พระราชบัญญัติประกอบกิจการโทรคมนาคม ทั้งหมด ล้วนเป็นกลุ่มกฎหมายมหาชนที่ใช้ในการกำหนดรูปแบบการจัดการเพื่อจัดสรรทรัพยากรคลื่นความถี่เพื่อความเป็นธรรมและกระจายความทั่วถึงไปยังประชาชน ปรากฏเป็นรายละเอียดใน แผนแม่บท กทช ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อความเท่าเทียม และ ลดช่องว่างในการเข้าถึง

ดังนั้น ในแง่ของแนวคิดพื้นฐานของรัฐในกฎหมายกลุ่มนี้ ถือเป็น ภาระหน้าที่ของรัฐในการดำเนินการเพื่อสร้างความเป็นธรรมและความเท่าเทียมในการเข้าถึงและใช้ทรัพยากรคลื่นความถี่ และโดยกฎหมายรัฐธรรมนูญถือว่า คลื่นความถี่ทั้งหมดเป็นของสาธารณะ หรือ ของประชาชนนั่นเอง ดังนั้นแนวคิดในกลุ่มกฎหมายกลุ่มนี้ จึงเป็นกฎหมายมหาชนที่อาศัยอำนาจอธิปไตยของรัฐในการจัดสรรทรัพยากรคลื่นความถี่แทนประชาชนโดยมอบอำนาจในการจัดการผ่านองค์กรอิสระของรัฐให้ใช้อำนาจแทน และองค์กรของรัฐนั้นได้ทำสัญญาสัมปทานกับองค์กรเอกชนในการบริหารจัดการทรัพยากรคลื่นความถี่เพื่อประโยชน์ของรัฐและประชาชน

 

กลุ่มที่ ๒         กลุ่มกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นกลุ่มกฎหมายที่ถูกจัดทำขึ้นเพื่อใช้ในการคุ้มครองบุคคลผู้ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งสามารถจำแนกได้เป็น ๓ ลักษณะใหญ่ๆ กล่าวคือ

          ลักษณะที่ ๑      กฎหมายที่มีผลต่อการจัดสรรแอกชน การจัดการประชากร หรือบุคคลในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร อันที่จริงแล้ว แนวคิดของกลุ่มกฎหมายในลักษณะนี้เกิดขึ้นเพื่อรับรองความเป็นมนุษย์โดยรัฐเจ้าของดินแดน (State Recognition) กล่าวคือ เป็นการจัดระบบบุคคลในดินแดนของรัฐและนำมาซึ่งการบังคับใช้สิทธิของบุคคลรวมถึงการคุ้มครองตามสิทธิที่บุคคลพึงมีตามหลักสิทธิมนุษยชน โดยหลักแล้วเป็นกลุ่มกฎหมายมหาชน พบว่าในยุคดั้งเดิม กลุ่มกฎหมายจะประกอบด้วยกฎหมายหลักๆ กล่าวคือ กฎหมายสัญชาติ กฎหมายคนเข้าเมือง กฎหมายทะเบียนราษฎร

          แต่ในยุคเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร พบว่า กฎหมายที่มีผลต่อการจัดสรรเอกชนคือ พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.๒๕๔๔ ซึ่งเป็นกฎหมายในกลุ่มกฎหมายมหาชนที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับเอกชน แต่ก็มีส่วนของกฎหมายเอกชนในการกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบระหว่างเอกชนด้วยกันเอง โดยผลของกฎหมายฉบับนี้ ทำให้มีการกำหนดการจัดสรรเอกชนโดยใช้ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยอาศัย ผู้ประกอบการรับรองในการรับรองความถูกต้องแท้จริงของลายมือชื่อกับเจ้าของลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์[2]

          ในขณะที่กฎหมายไทยยังไม่ได้มีการพัฒนาเพื่อรองรับระบบการพิสูจน์ยืนยันตัวบุคคลที่เข้ามาอยู่ในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในทางเทคนิคได้มีการพัฒนาระบบทางเทคนิคเพื่อเชื่อมโยงระหว่างบุคคลในโลกจริงกับบุคคลในโลกเสมือนซึ่งพบว่ามีการดำเนินการใน ๓ ลักษณะ กล่าวคือ

(๑)     การใช้ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ และ ลายมือชื่อดิจิตอล คือ หรือสัญลักษณ์ที่สร้างขึ้นโดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่คนทั่วไปไม่สามารถเข้าใจความหมายได้ แต่ในการใช้งานจะมีกลไกในการสร้างและการตรวจสอบลายมือชื่อดังกล่าว อันสามารถเชื่อมโยงถึงตัวบุคคลผู้สร้างหรือเจ้าของลายมือชื่อ โดยเทคโนโลยีที่ใช้คือ เทคโนโลยีการเข้ารหัสลับควบคู่กับการจัดการรหัสต่างๆ

(๒)    การใช้หมายเลข Internet Protocal หรือ IP Address คือหมายเลขประจำเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งประกอบด้วยตัวเลข ๔ ชุด มีเครื่องหมายจุดขั้นระหว่างชุด  เช่น 192.168.100.1 หรือ 172.16.10.1  เป็นต้น เพื่อทำให้เกิดความเข้าใจอย่างง่าย เลข IP Address เปรียบเสมือนเลขที่บ้านของเครื่องคอมพิวเตอร์นั่นเอง โดยเครื่องคอมพิวเตอร์แต่ละเครื่องที่เชื่อมต่ออยู่ในอินเตอร์เน็ตต้องมีแอดเดรส (address) ซึ่งเหมือนกับบ้านต้องมีเลขที่บ้านเพื่อที่จะบอกได้ว่าเป็นบ้านไหน แอดเดรสของเครื่องคอมพิวเตอร์แต่ละเครื่องต้องไม่ซ้ำกัน ทั้งนี้จะได้แยกออกว่าเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องไหน แอดเดรสที่ใช้ในอินเตอร์เน็ตคือ IP address

(๓)    การจัดสรรเอกชนโดยใช้หมายเลขบัตร ๑๓ หลัก การใช้หมายเลขบัตรประชาชน ๑๓ หลักเป็นตัวกำหนดยืนยันความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในโลกจริงกับบุคคลในโลกเสมือนในเครือข่ายสังคมออนไลน์ นั้น เป็นวิธีการที่ยังไม่ได้รับความนิยมแพร่หลายมากนัก เพราะมีผลต่อการยืนยัน พิสูจน์ตัวบุคคล โดยจะมีในส่วนของ www.pantip.com กับ กรณีของการลงทะเบียนการเล่นเกมคอมพิวเตอร์แบบออนไลน์ ตัวอย่างกรณีศึกษาของ เว็บไซต์ panip.com ซึ่งต้องมีการดำเนินการใช้หมายเลขบัตร ๑๓ หลักเข้ามาช่วยในการพิสูจน์ยืนยันตัวบุคคลนั้น เพราะเว็บไซต์นี้เป็นการให้บริการแบบกระดานข่าว มีผู้เข้ามาใช้บริการในกระดานข่าวเป็นจำนวนมาก ดังนั้น โอกาสในการเสี่ยงต่อการละเมิดต่อ พรบ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐ จึงมีมาก ดังนั้น เจ้าของเว็บไซต์จึงมีการกำหนดวิธีการให้ผู้เข้ามาใช้บริการแสดงตัวตนที่สามารถยืนยันความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในโลกจริง กับ บุคคลในโลกเสมือนได้

          ลักษณะที่ ๒      กฎหมายที่มีผลต่อการจัดการนิติสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในโลกเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กฎหมายในลักษณะนี้ สามารถจำแนกได้เป็น ๒ ส่วน คือ ส่วนกฎหมายเอกชนซึ่งปรากฏในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และ พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.๒๕๔๔ ซึ่งเป็นการจัดการความสัมพันธ์ในทางแพ่ง ระหว่างเอกชนกับเอกชน ในเรื่องเฉพาะเกี่ยวกับ หนี้ (สัญญา และ ละเมิด) กับ กฎหมายมหาชน ซึ่งปรากฏในรูปของประมวลกฎหมายอาญา และ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๑ ซึ่งเป็นการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในทางอาญา

ผลของความไม่สามารถพิสูจน์ยืนยันตัวบุคคลในส่วนของกฎหมายด้านการจัดสรรเอกชน มีผลต่อเนื่องมายังปัญหาเรื่องการบังคับใช้กฎหมายโดยเฉพาะในเรื่องทางอาญา เช่น การหมิ่นประมาทบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ การละเมิดสิทธิส่วนบุคคลในเครือข่ายสังคมออนไลน์ ทำให้เกิดปัญหาเรื่องการนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ รวมทั้ง ปัญหาการบังคับใช้กฎหมายในระหว่างเครือข่ายสมาชิกในเครือข่ายสังคมออนไลน์ ทำให้เกิดประเด็นการจัดการสมาชิกในเครือข่ายสังคมออนไลน์โดยอาศัยกฎเกณฑ์ กติกาภายในระหว่างกันเองระหว่างเจ้าของพื้นที่เครือข่ายกับเครือข่ายสมาชิก ยกตัวอย่างเช่น

www.digg.com เป็นเว็บไซต์ในกลุ่มข่าว ซึ่งให้สมาชิกในเครือข่ายสังคมออนไลน์สามารถช่วยกันโหวตให้คะแนนว่าข่าวใดควรได้อยู่ในหน้าแรกของเว็บไซต์

www.wikipedia.org          เป็นเครือข่ายสารานุกรมออนไลน์ที่เครือข่ายสมาชิกสามารถแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาของผู้อื่นได้อย่างเสรี แต่มีกติกาพื้นฐาน ๓ ข้อ คือ (๑) เนื้อหาที่เพิ่มเข้ามาในเว็บวิกิจะต้องเข้ากันได้กับสัญญา GNU Free Documentation License (๒) อย่าว่าร้ายผู้อื่น และ (๓) การเพิ่มเติมเนื้อหาสามารถอธิบายได้อย่างชัดเจน

www.pantip.com ใช้ระบบคณะลูกขุนเข้ามาช่วยจัดการความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในเครือข่ายสังคมออนไลน์ ซึ่งจำแนกได้เป็น ๔ ระบบ ย่อยๆ

  • Ø ระบบปกติ : กระทู้ได้รับการดูแลโดยทีมงานร่วมกับอาสาสมัครที่มีคุณวุฒิโดยทีมงานเป็นผู้เชิญ
  • Ø ระบบเลือกตั้งตัวแทน : ในระบบนี้ ตัวแทนที่จะมาดูแลกระทู้ของแต่ละห้อง มาจากการเลือกตั้งโดยสมาชิก ซึ่งตัวแทนจะเป็นผู้พิจารณาลบกระทู้
  • Ø ระบบลูกขุน : ในระบบนี้ ให้สมาชิกที่สนใจสมัครเป็นลูกขุน จำนวนมากเท่าไรก็ได้ไม่จำกัด และเมื่อมีผู้แจ้งลบกระทู้ ระบบจะสุ่มชื่อลูกขุนที่ออนไลน์ในขณะนั้นขึ้นมา 50 ชื่อและส่งข้อความไปแจ้งให้เข้ามาดูกระทู้ที่เป็นปัญหา จากนั้นลูกขุนที่กลับเข้ามาเร็วที่สุด 5 คนแรกจะเป็นผู้ลงคะแนนตัดสินประเด็นนั้นๆ
  • Ø ระบบโหวต คือใช้วิธีนับการคลิกโหวตให้ลบจากสมาชิก เพื่อลบกระทู้หรือข้อความโดยอัตโนมัติ ซึ่งจำนวนเสียงที่โหวตจะไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของประเด็น เช่น กระทู้หมิ่นฯ ให้ถูกลบได้โดยอัตโนมัติ เมื่อมีสมาชิกคลิกครบ x คน, กระทู้หยาบคาย จำนวน y คน, กระทู้ขายของ จำนวน z คน ฯลฯ โดยสมาชิกทุกคนมีสิทธิ์เท่าเทียมกัน รวมไปถึงหากมีสมาชิกที่คิดว่าประเด็นดั้งกล่าวไม่ควรถูกลบก็สามารถมาให้ คะแนนคัดค้านการลบเพื่อช่วยกระทู้ได้โดยมีการคืนคะแนนให้ในอัตราส่วนเดียว กับการสั่งลบ

ในกรณีของเกมออนไลน์ เช่น บริษัท อินนีทรี จำกัด มีมาตรการในการจัดการใน ๓ ลักษณะใหญ่ๆ กล่าวคือ การระงับการใช้งานหมายเลขบัตรประชาชนที่ใช้ในการสมัคร การระงับการให้บริการชั่วคราว และ การตักเตือนรวมถึงการให้คำแนะนำในการเล่นเกมที่ถูกต้องเหมาะสม

โดยสรุปแล้วพบว่า

รูปแบบของความสัมพันธ์ในเครือข่ายสังคมออนไลน์ส่วนใหญ่ มักเป็นเรื่องของการแบ่งปันข้อมูล การแสดงความคิดเห็น การนำเสนอข้อมูล

ในขณะที่ รูปแบบของการจัดการความสัมพันธ์จะมีด้วยกัน ๓ ระดับ คือ ระหว่างเจ้าของเครือข่ายกับสมาชิกในเครือข่าย ระหว่างสมาชิกด้วยกันเองโดยเจ้าของเครือข่ายสนับสนุน และ ระหว่างเครือข่ายกับรัฐ

กติกาที่ใช้อยู่ภายใต้หลักกฎหมาย แต่มักมีปัญหาในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะเรื่องของการบังคับใช้กฎหมายต่อบุคคลในเครือข่าย และ จำนวนที่มีมากอาจเป็นปัญหาในทางปฏิบัติ  ดังนั้น แนวคิดในการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในเครือข่ายโดยอาศัยกติกาภายในระหว่างกันเอง และ โดนอาศัยระบบเทคนิคในเครือข่ายสังคมออนไลน์จึงเริ่มปรากฏตัวชัดเจนมากขึ้น

นอกจากนั้น ยังมีแนวคิดของรัฐในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อการคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของบุคคลที่ให้ข้อมูล หรือ ถูกจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลโดยองค์กรหรือบุคคลอื่น ปรากฏใน

  • Ø ร่างประกาศ แนวนโยบายในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่ถูกจัดเก็บโดยภาครัฐ ภายใต้ พรฎ.ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
  • Ø ประกาศ กทช. เรื่องมาตรการคุ้มครองสิทธิของผู้ใช้บริการโทรคมนาคมเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคล สิทธิในความเป็นส่วนตัวและเสรีภาพในการสื่อสารถึงกันโดยทางโทรคมนาคม ๒๕๔๙
  • Ø ประกาศ กทช. เรื่องแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม ฉบับที่ ๒ (๒๕๕๑-๒๕๕๓) เกี่ยวกับนโยบายในการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม
  • Ø ประกาศ กทช. เรื่องมาตรการคุ้มครองสิทธิของผู้ใช้บริการโทรคมนาคมเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคล สิทธิในความเป็นส่วนตัวและเสรีภาพในการสื่อสารถึงกันโดยทางโทรคมนาคม ๒๕๔๙
  • Ø ร่างประกาศ แนวนโยบายในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่ถูกจัดเก็บโดยภาครัฐ ภายใต้ พรฎ.ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.๒๕๔๔

          ลักษณะที่ ๒      กฎหมายที่มีผลต่อการจัดการทรัพย์สินในโลกเครือข่ายสังคมออนไลน์ หากย้อนกลับไปพิจารณาในระบบกฎหมายเดิมที่มีผลใช้บังคับกับทรัพย์สินในโลกแห่งความเป็นจริง พบว่า มีแนวคิดพื้นฐานในการจัดการทรัพย์สินใน ๒ ส่วนใหญ่ๆ กล่าวคือ

          ส่วนที่ ๑          แนวคิดเกี่ยวกับการจำแนกทรัพย์ แนวคิดในการบัญญัติกฎหมายเรื่องทรัพย์โดยหลักเป็นส่วนของกฎหมายเอกชนซึ่งใช้ในการกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนกับเอกชน ในขณะที่มีกฎหมายมหาชนในการรับรองทางทะเบียนในการพิจารณาถึงการใช้สิทธิภายใต้ความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ เช่น  

แนวคิดเกี่ยวกับการจำแนกทรัพย์นั้น มีทั้งการจำแนกโดยอาศัยรูปร่างเป็น ทรัพย์[3] กับ ทรัพย์สิน[4] และ มีการจำแนกตามความสามารถในการถือครอง คือ ทรัพย์ในพาณิชย์ และ ทรัพย์นอกพาณิชย์[5] รวมถึง การจำแนกตามการแบ่ง เป็น ทรัพย์แบ่งได้[6] ทรัพย์แบ่งไม่ได้[7]

          ส่วนที่ ๒         การใช้สิทธิเหนือทรัพย์สินของเจ้าของทรัพย์และทรัพย์สิน ในกรณีของทรัพย์สินมีประเด็นของการใช้สิทธิเหนือทรัพย์สินที่แตกต่างจากกรณีของทรัพย์ เพราะมีแนวคิดเรื่องของการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เป็นสิทธิทางกฎหมายที่มีอยู่เหนือสิ่งที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ทางปัญญาของมนุษย์ ซึ่งหมายถึง การคุ้มครองสิทธิในการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินที่เกิดขึ้นจากการคิดค้น ประดิษฐ์ โดยอาศัยความรู้ความสามารถของเจ้าของผลงาน ในโลกแห่งความเป็นจริง การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาโดยผลของกฎหมายอาจแบ่งทรัพย์สินทางปัญญาออกได้หลายประเภท คือ ทรัพย์สินทางอุตสาหกรรม ลิขสิทธิ์ ภายใต้ พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537สิทธิบัตร ภายใต้ พระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 ความลับทางการค้า เครื่องหมายการค้า ภายใต้ พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 รวมถึง พระราชบัญญัติคุ้มครองแบบผังภูมิของวงจรรวม พ.ศ. 2543

          นอกจากกฎหมายภายในของไทยแล้ว ยังมีกฎหมายระหว่างประเทศ กล่าวคือ ส่วนที่ 2 ของความตกลง TIRPs ในส่วน"มาตรฐานเกี่ยวกับการมี ขอบเขต และการใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา" ซึ่งรวมถึง ลิขสิทธิ์ และสิทธิเกี่ยวเนื่อง เครื่องหมายการค้า สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ การออกแบบอุตสาหกรรม สิทธิบัตร การออกแบบผังภูมิ (ภูมิสภาพ) ของวงจรรวม การคุ้มครองข้อสนเทศที่ไม่เปิดเผย

          ในประเด็นเรื่องการจัดการทรัพย์สินในโลกเครือข่ายสังคมออนไลน์ยังมีปัญหาด้านแนวคิดพื้นฐานทางกฎหมายพื้นฐานว่า ใครคือเจ้าของทรัพย์สินในเครือข่ายสังคมออนไลน์ และ การบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาบนเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ปัญหาดังกล่าวได้ถูกหยิบยกขึ้นมาในพิจารณาผ่านประเด็นเรื่องของเจ้าของข้อมูล

  • Ø ร่าง พรบ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล “เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล[8]” ให้หมายความรวมถึง
    • (๑) ทายาทหรือคู่สมรสของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลในกรณีที่เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลนั้นถึงแก่ความตาย
    • (๒) ผู้ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลส่วนบุคคลของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
    • Ø ในกรณีของ ไอเทมในเกมคอมพิวเตอร์ ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ยังคงเป็นปัญหาว่าใครเป็นเจ้าของทรัพย์สิน แต่ปัญหาดังกล่าวในประเทศจีนได้ตอบคำถามเบื้องต้น โดยถือว่าไอเทมเกมเป็นทรัพย์สินของคนเล่นเกม มีคำพิพากษาศาลชั้นต้นตัดสินให้ผู้ให้บริการเกมต้องชดใช้ค่าเสียหายที่ไอเทมเกมโดนเจาะระบบไปให้กับผู้เล่นเกม

ในกรณีของการบังคับใช้กฎหมายด้านทรัพย์สินทางปัญญา พบว่า มาตรการในการบังคับตามกฎหมายไม่สามารถเกิดประสิทธิภาพในความเป็นจริงได้ ทั้ง การตอบสนองต่อการคุ้มครองเจ้าของสิทธิ และ การนำตัวผู้ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญามาลงโทษ ทำให้เครือข่ายสังคมออนไลน์ในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เริ่มสร้างแนวคิดวัฒนธรรมการแบ่งปันบนสิทธิของเจ้าของผลงาน ที่เรียกว่า creative common หรือ CC เป็นแนวคิดวัฒนธรรมเสรี หรือ Free Culture โดยหลักการแล้ว เรื่อง CC เป็นแนวคิดที่อยู่ระหว่างเรื่องของการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา กับ แนวคิดเรื่อง Public Domain ซึ่งเป็นแนวคิดเกี่ยวกับทรัพย์สินในสาธารณะที่ไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา หมายความว่า ทรัพย์สินทางปัญญาที่ได้รับการคุ้มครองตามสัญญาอนุญาต (ซึ่งถูกแบ่งออกเป็น ๔ กลุ่ม) จะได้รับการคุ้มครองตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญาอนุญาต และเมื่อประกอบกับการช่วยเหลือทางเทคนิค คือ การใช้มาตรการทางเทคนิคในการกำหนดความสามารถของการนำเนื้อหาจากเว็บไซต์ต้นทางของเจ้าของสิทธิ กับ เว็บไซต์ปลายทางที่จะนำเนื้อหามาไว้ ที่สามารถพิสูจน์สิทธิโดยใช้มาตรการทางเทคนิค ทำให้ปัญหาเรื่องการบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพมากขึ้น ภายใต้ แนวคิดเรื่องการคุ้มครองสิทธิของเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา

แนวคิดเรื่องสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ หรือ CC สามารถจำแนกได้เป็น ๔ กลุ่ม กล่าวคือ

  • Ø แสดงที่มา (Attribution - by) : อนุญาตให้ผู้อื่นทำซ้ำ แจกจ่าย หรือแสดงและนำเสนอชิ้นงานดังกล่าว และสร้างงานดัดแปลงจากชิ้นงานดังกล่าว ได้เฉพาะกรณีที่ผู้นั้นได้แสดงเครดิตของผู้เขียนหรือผู้ให้อนุญาตตามที่ระบุไว้
  • Ø ไม่ใช้เพื่อการค้า (Noncommercial - nc) : อนุญาตให้ผู้อื่นทำซ้ำ แจกจ่าย หรือแสดงและนำเสนอชิ้นงานดังกล่าว และสร้างงานดัดแปลงจากชิ้นงานดังกล่าว ได้เฉพาะกรณีที่ไม่นำไปใช้ในทางการค้า
  • Ø ไม่ดัดแปลง (No Derivative Works - nd) : อนุญาตให้ผู้อื่นทำซ้ำ แจกจ่าย หรือแสดงและนำเสนอชิ้นงานดังกล่าวในรูปแบบที่ไม่ถูกดัดแปลงเท่านั้น
  • Ø อนุญาตแบบเดียวกัน (Share Alike - sa) : อนุญาตให้ผู้อื่นแจกจ่ายงานดัดแปลง ได้เฉพาะกรณีที่ชิ้นงานดัดแปลงนั้นเผยแพร่ด้วยสัญญาอนุญาตที่เหมือนกันทุกประการกับงานต้นฉบับ (ดู copyleft)

อย่างไรก็ตาม แนวคิดในเรื่องนี้ยังคงไม่ได้แพร่กระจายในฐานะปทัสถานทางสังคมของเครือข่ายสังคมออนไลน์ เพราะในความเป็นจริงแล้ว สังคมเครือข่ายสังคมออนไลน์บางเครือข่ายที่นำมาตรการทางเทคนิคเข้ามาใช้เพื่อการบังคับให้เป็นไปตามแนวคิดพื้นฐานเรื่องวัฒนธรรมเสรีภายใต้การเคารพสิทธิของเจ้าของทรัพย์สิน

กลุ่มที่ ๓         กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการใช้ไอซีทีเพื่อการพัฒนา

          หากพิจารณาจากกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ทั้ง (๑) มาตรา ๔๗ แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ (๒) พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคม พ.ศ.๒๕๔๓ (๓) พระราชบัญญัติประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.๒๕๔๔ (๔) พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.๒๕๔๔ (๔) พระราชบัญญัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐ (๕) ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (๖) แผนแม่บท กทช ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (๗) ร่างประกาศ แนวนโยบายในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่ถูกจัดเก็บโดยภาครัฐ ภายใต้ พรฎ.ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.๒๕๔๔ พบข้อสังเกตว่า ระบบกฎหมายไทยที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารไม่ได้มีการบัญญัติถึงการสร้างความเข้มแข็งในการใช้ไอซีทีเพื่อการพัฒนาตนเอง ชุมชนและสังคม แต่ปรากฏแนวคิดในเรื่องดังกล่าวภายใต้ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ ซึ่งมีบทบัญญัติว่าด้วยเทคโนโลยีทางการศึกษา ที่เน้นการพัฒนาด้านเทคโนโลยีทางการศึกษาเป็นหลัก แต่ก็ยังไม่ได้มีการบัญญัติกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมให้เกิดการใช้ไอซีทีเพื่อการพัฒนาตนเอง ชุมชนและสังคม

          อย่างไรก็ตาม แนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการพัฒนาตนเอง ชุมชนและสังคม รวมถึง การพัฒนาเครือข่ายสังคมออนไลน์ ปรากฏในรูปของนโยบายของรัฐ กล่าวคือ แผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จัดทำโดย กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และ เนคเทค กระทรวงวิทยาศาสตร์

  • Ø แผนแม่บท เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ICT 2020 (สำหรับใช้ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๕๒ –๒๕๕๖) ซึ่งเป็นการต่อยอดจากแผนแม่บท เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ICT 2010 (สำหรับใช้ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๔๕ –๒๕๔๙ )
  • Ø ในแง่ของกรอบแนวคิดพื้นฐานในการจัดทำ (ร่าง) แผนแม่บทไอซีที ๒๐๒๐ นี้ได้ยึดแนวทางการพัฒนาตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๐ (พ.ศ.๒๕๕๐ – ๒๕๕๔) ซึ่งเป็นแผนหลักในการชี้ทิศทางการพัฒนาสังคม และ เศรษฐกิจของประเทศไทย โดยปรัชญาในการจัดทำแผนฉบับนี้ก็คือ การนำเอาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และ แนวคิดเรื่องคนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนา มาประยุกต์กับการจัดทำแผน

ประเด็นทิ้งท้าย

          จะเห็นได้ว่า กฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันในการจัดการกรณีของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เน้นหนักไปที่ระบบการคุ้มครองเป็นหลัก ในขณะเดียวกัน ระบบการส่งเสริมให้เกิดการใช้ไอซีทีเพื่อการพัฒนาสังคม รวมไปถึงการบังคับใช้กฎหมายในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพจำเป็นที่จะต้องมีการพัฒนากฎหมายให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง

ในขณะเดียวกัน การสร้างแนวปฏิบัติในการจัดการความเรียบร้อยในสังคมเครือข่ายสังคมออนไลน์ ซึ่งหากมีการปฏิบัติและยอมรับกันอย่างแพรหลายในเครือข่ายสังคมออนไลน์ จนถึงขนาดเป็น จารีตประเพณีของเครือข่ายสังคมออนไลน์ แนวปฏิบัติดังกล่าวจะถือเป็นส่วนหนึ่งของบ่อเกิดของกฎหมายที่จะจัดทำขึ้นในอนาคตหรือไม่

 



[1] มาตรา ๔๗ คลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคมเป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ

ให้มีองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระองค์กรหนึ่งทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ตามวรรคหนึ่ง และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ

การดำเนินการตามวรรคสองต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ทั้งในด้านการศึกษา วัฒนธรรม ความมั่นคงของรัฐ ประโยชน์สาธารณะอื่น และการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม รวมทั้งต้องจัดให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการสื่อมวลชนสาธารณะ

การกำกับการประกอบกิจการตามวรรคสองต้องมีมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการควบรวมการครองสิทธิข้ามสื่อ หรือการครอบงำ ระหว่างสื่อมวลชนด้วยกันเองหรือโดยบุคคลอื่นใด ซึ่งจะมีผลเป็นการขัดขวางเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารหรือปิดกั้นการได้รับข้อมูลข่าวสารที่หลากหลายของประชาชน

[2] มาตรา ๔ แห่ง พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.๒๕๔๔  ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์  (Electronic Signature) หมายถึง อักษร อักขระ ตัวเลข เสียงหรือสัญลักษณ์อื่นใดที่สร้างขึ้นให้อยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งนำมาใช้ประกอบกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เพื่อแสดงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระบุตัวบุคคล ผู้เป็นเจ้าของลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้น และเพื่อแสดงว่าบุคคล ดังกล่าวยอมรับข้อความในข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้น”

[3] มาตรา ๑๓๗ ทรัพย์ หมายความว่า วัตถุมีรูปร่าง

[4] มาตรา ๑๓๘ ทรัพย์สิน หมายความรวมทั้งทรัพย์และวัตถุไม่มีรูปร่าง ซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้

มาตรา ๑๔๓ ทรัพย์นอกพาณิชย์ หมายความว่า ทรัพย์ที่ไม่สามารถถือเอาได้และทรัพย์ที่โอนแก่กันมิได้โดยชอบด้วยกฎหมาย

[5] มาตรา ๑๔๓ ทรัพย์นอกพาณิชย์ หมายความว่า ทรัพย์ที่ไม่สามารถถือเอาได้และทรัพย์ที่โอนแก่กันมิได้โดยชอบด้วยกฎหมาย

[6] มาตรา ๑๔๑ ทรัพย์แบ่งได้ หมายความว่า ทรัพย์อันอาจแยกออกจากกันเป็นส่วนๆ ได้จริงถนัดชัดแจ้ง แต่ละส่วนได้รูปบริบูรณ์ลำพังตัว

[7] มาตรา ๑๔๒ ทรัพย์แบ่งไม่ได้ หมายความว่า ทรัพย์อันจะแยกออกจากกันไม่ได้นอกจากเปลี่ยนแปลงภาวะของทรัพย์ และหมายความรวมถึงทรัพย์ที่มีกฎหมายบัญญัติว่าแบ่งไม่ได้ด้วย

[8] ร่าง พรบ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล “ข้อมูลส่วนบุคคล” หมายความว่า ข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งเฉพาะตัวของบุคคล เช่น การศึกษา ฐานะการเงิน ประวัติสุขภาพ ประวัติอาชญากรรม ประวัติการทำงาน หรือประวัติกิจกรรม บรรดาที่มีชื่อของบุคคลนั้นหรือมีเลขหมาย รหัส หรือสิ่งบอกลักษณะอื่นที่ทำให้รู้ตัวบุคคลนั้นได้ เช่น ลายพิมพ์นิ้วมือ แผ่นบันทึกลักษณะเสียงของคน หรือรูปถ่าย และให้หมายความรวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งเฉพาะตัวของผู้ที่ถึงแก่กรรมแล้วด้วย

 

หมายเลขบันทึก: 473420เขียนเมื่อ 4 มกราคม 2012 10:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 02:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท