เป้าหมายสูงสุดของการศึกษา มิใช่แค่ความรู้


เป้าหมายสูงสุดของการศึกษาไม่ใช่แค่ความรู้แต่คือการลงมือปฏิบัติจริง
ตั้งแต่กลางเดือนธันวาคม ๒๕๕๔ ที่ผ่านมา จนถึงสิ้นปี ผู้เขียนใช้เวลาหลังเลิกงานไปกับการติวนักเรียนหญิงคนหนึ่งเพื่อเตรียมสอบนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  วิชาที่ติวเป็นวิชาเรียงความและย่อความเกี่ยวกับเนื้อหาด้านกฎหมาย ปกติผู้เขียนจะไม่รับติวให้ใครโดยเฉพาะ แต่เป็นเพราะรู้จักกันเป็นการส่วนตัวกับคุณแม่ของน้องคนนี้ เธอชื่อ "น้องใหม่"

      

 

น้องใหม่เป็นเด็กสาวร่างเล็ก ใส่แว่นตาเหมือนเด็กเรียน ครั้งแรกที่ผู้เขียนเจอก็นึกถึงตัวเองสมัยก่อนที่ใส่แว่นตากรอบหนาเหมือนเด็กคงแก่เรียน และก็ตระเวนไปเรียนพิเศษตามสถาบันต่าง ๆ โดยวิชาที่เน้น มีไม่กี่วิชา สมัยกว่า ๒๐ ปีที่แล้ว จะมีวิชาอังกฤษ และคณิตศาสตร์ แต่สมัยนี้ "พระเจ้าช่วย" วิชาที่น้องใหม่เรียน หลากหลายมาก และผู้เขียนก็เพิ่งทราบว่ามีวิชาสำหรับเตรียมสอบตรงนิติศาสตร์ หลักสูตรเข้มข้น เห็นตำราที่น้องถือมาแล้วตกใจ เนื้อหามีตัวบทกฎหมายทั้งแพ่งและอาญา เสมือนว่าน้องเขาเป็นนักศึกษาปริญญาตรีนิติศาสตร์แล้วก็ไม่ปาน

                      

ผู้เขียนตกยุคไปแล้วหรือนี่ ต้องขออภัยหากว่าบันทึกนี้ "เอามะพร้าวห้าวมาขายสวน" เนื่องจากเวลานอกเหนือจากทำงาน ผู้เขียนจะมีบทบาทเป็นวิทยากร/กระบวนกรที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการพัฒนาจิตด้วยศาสตร์ Enneagram และกลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่ก็คือผู้ใหญ่วัยห่างกันบวกลบ ๑๐ ถึง ๒๐ ปี แต่รุ่น "น้องใหม่" ห่างกัน ๓๐ ปี ชีวิตของเด็กวัยเรียนมัธยมและมหาวิทยาลัย ผู้เขียนตามไม่ทันเสียแล้ว
                                 
 
 
น้องใหม่คร่ำเคร่งมาก เราเจอกันประมาณ ๘ ครั้ง ๆ ละประมาณ ชั่วโมงกว่าถึงสองชั่วโมงครึ่ง ทุกครั้งที่เจอ น้องเขาจะเหมือนคนกำลังจะหลับสะลึมสะลือ และมีไอเป็นระยะ ๆ เพราะพักผ่อนน้อย โดยเฉพาะอาการไอนี่เอง ที่ในที่สุดผู้เขียนก็ติดงอมแงมมาจนขณะนี้ก็ยังไม่หาย  เล่าเกี่ยวกับน้องใหม่มามากมายเพื่อสะท้อนให้เห็นว่าชีวิตเรียนในช่วงเตรียมตัวเข้ามหาวิทยาลัยของเด็กสมัยนี้หฤโหดมาก น้องใหม่แทบไม่ได้พัก สอบเกือบทุกสัปดาห์ ในความเป็นจริง คะแนนของเธอติดมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญแล้ว แต่คุณแม่เธอบอกว่า "น้องใหม่อยากสอบเข้านิติศาสตร์ มธ. เหมือนคุณพ่อ และวิชาที่เธออ่อนก็คือการเขียนเรียงความและย่อความ"
                        
                                        
 
ผู้เขียนทดสอบหลักกฎหมายและคำที่ใช้ในแวดวงกฎหมาย ส่วนใหญ่ น้องใหม่ตอบได้หมด อาจจะใช้คำอธิบายตะกุกตะกักบ้าง แต่โดยภาพรวม ถือว่าเธอเข้าใจ "ท่องจำใช้ได้" และก็จริงอย่างที่คุณแม่เธอให้ข้อมูลมา น้องใหม่เขียนเรียงความ และย่อความไม่ได้เรื่อง ผู้เขียนให้เธอลองเขียนให้ดู โดยจับเวลาหัวข้อละประมาณ ๓๐ นาที เธอเขียนแบบไม่ปะติดประต่อ เหมือนว่าท่องจำอะไรไว้ในหัวและก็เขียนออกมาตามที่มีอะไรติดอยู่ในหัว ก็ใส่ลงไปในกระดาษ ไม่เรียบเรียง และไม่เกี่ยวข้องกับโจทย์ ผู้เขียนก็วิจารณ์ตรง ๆ ว่าเขียนแบบไม่สนใจโจทย์ คิดอะไรได้ก็เขียน ไม่ได้สะสมเนื้อหาความรู้รอบตัว นอกจากตำราเรียน การเขียนเรียงความก็จะลำบาก

             

 

ผู้เขียนอธิบายแบบง่าย ๆ ว่าเรียงความคือการจัดระบบความคิดในเรื่องที่จะเขียนและเรียบเรียงถ่ายทอดออกมาเป็นภาษาเพื่อสื่อสารให้ผู้อ่านเข้าใจถึงความคิดของเราซึ่งมีการจัดวางอย่างมีระบบเชื่อมโยงกัน คนที่เขียนเรียงความได้ดี จะต้องอ่านหนังสือหลากหลาย ไม่เพียงแต่ตำราเรียน ติดตามข่าวสารต่าง ๆ เป็นประจำ มีจินตนาการ มีถ้อยคำใน stock ความทรงจำเยอะ ๆ ฯลฯ  ส่วนย่อความก็คือการจับประเด็นบทความหรือความเรียงทั้งหมดออกมาโดยสรุปด้วยสำนวนภาษาของเราที่เข้าใจง่าย กระทัดรัด ได้ใจความ ไม่ว่าจะเป็นเรียงความหรือย่อความ ล้วนอาศัยการฝึกฝน ทักษะ ศิลปะการใช้ภาษาที่จะต้องพากเพียรทำเป็นประจำ

               

เนื่องจากเวลากระชั้นชิดมาก ถ้าไม่ใช่ "งานเร่งร้อน" ผู้เขียนคงไม่ถูกร้องขอให้มาสอนแบบนี้  ภายใน ๘ ครั้ง ที่เราใช้เวลาติวกัน เหลือเชื่อว่าน้องใหม่มีพัฒนาการอย่างรวดเร็ว ไม่อยากบอกว่าได้ "ครูดี" ส่วนสำคัญคือมาจากน้องใหม่เองด้วย  น้องใหม่ขยัน ท่องจำเก่ง แต่ขาดผู้ชี้แนะที่มุ่งเน้นการปฏิบัติที่ให้เห็นผล  ผู้เขียนสอนน้องใหม่แบบสอดแทรกเรื่องการใช้สมาธิ  อันดับแรก ผู้เขียนให้การบ้านน้องใหม่ทุกครั้งที่สอนเสร็จ บอกให้อ่านนิยาย      อ่านบทความ วารสาร ฯลฯ  จดจำถ้อยคำ สำนวนภาษาต่าง ๆ ไว้ให้ดี สำหรับ ประเด็นทางกฎหมาย ก็ให้เจาะในเรื่องสำคัญ ๆ อะไรบ้าง และรู้จักดึงออกมาใช้ตอนไหน  และที่สำคัญ อย่าลนลาน เขียนคำสะกดผิดก็ไม่ได้ อ่านโจทย์และแตกประเด็นโจทย์ออกมาอย่างไร  มีสมาธิและใช้เวลาให้มีประสิทธิภาพ

            

การสอนของผู้เขียน ใช้ประสบการณ์ที่มาจากการฝึกฝนการเขียนเชิงกฎหมายบ่อย ๆ ไม่ได้มาจากตำรา จึงแทบไม่ได้เตรียมการสอนอะไรมาก่อน เมื่ออ่านเรียงความ ย่อความของน้องใหม่ ตรงไหนที่ไม่รู้เรื่อง ก็แก้ไขเดี๋ยวนั้นและเปลี่ยนถ้อยคำใหม่ ที่สำคัญ กระตุ้นให้น้องใหม่คิดอย่างมีระบบ และเขียนเชิงสร้างสรรค์ 

           

ไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะสอนนักเรียนให้ปฏิบัติด้วยตนเองได้ ครูมักจะให้คะแนนตามผลการเรียนที่ปรากฎออกมา แต่การย้อนรอยกลับไปแก้ไขรายบุคคลในส่วนที่เขาขาดหรือบกพร่องคงทำได้ยาก การติว หรือการเรียนรู้นอกห้องเรียนในโรงเรียนจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างมาก นักเรียนยังคงต้องการครูทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน  ครูผู้สอนเขามิเพียงในตำรา แต่คือการฝึกฝน ปฏิบัติและประยุกต์ใช้   เพราะเป้าหมายสูงสุดของการศึกษาไม่ใช่แค่ความรู้แต่คือการลงมือปฏิบัติจริงด้วยนั่นเอง  ดังคำคมของ Herbert Spencer (1820-1903) ที่ว่า

The great aim of education is not knowledge but action.

 

                

 

                จากแหล่งข้อมูล http://www.quotationspage.com/subjects/education/
 
หมายเลขบันทึก: 474839เขียนเมื่อ 16 มกราคม 2012 19:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 01:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สวัสดีปีใหม่ค่ะพี่หญิงศิลา

หายเงียบไป งานเข้าหลายๆ นี่เอง ส่งกำลังใจนะคะ

ได้ข้อคิด นำไปใช้ กับเป้าหมายใหม่ รับปีใหม่เลย ขอบคุณค่ะ

สวัสดีวันครูค่ะ...คุณครูศิลา

ฝึก ฝึก ฝึก และลงมือทำ....ทักษะมา ปัญญาจึงเกิด...ไม่ว่าเรื่องใด

บทความชัดเจน เห็นภาพ ตัวอย่างเยี่ยม

ขอบคุณนะคะ

ผมให้ดอกไม้ทิ้งไว้ ผมไปทานข้่าว ผมไปวิ่งผ่านน้ำอุ่นมา และผมก็มาอ่านบันทึกของอาจารย์นพลักษณ์ ๙ แบบตัวใหญ่ ๆ อีกครั้ง ...

หากการเขียน "เรียงความ" ควรมีการจัดระบบความคิดออกมาก่อนแล้วจึงเขียนให้เข้าใจและชัดเจนนั้น แสดงว่า "เรียงความ" ที่อาจารย์กล่าวถึงนั้น ไม่ตรงกับสิ่งที่ลูกศิษย์ผมได้เขียนหลังจากการกระตุ้นด้วยสื่อวีดิทัศน์

"เนื้อหาวิชาการ" ผมไม่ได้สนใจมากเท่ากับ "วิธีคิด" ที่เขากำลังเปลี่ยนแปลง ณ ตอนนี้ และ ณ อนาคตอันใกล้

ดังนั้น งานที่ผมได้อ่านแบบฉับพลัน จึงละความสนใจการเรียบเรียงความคิด หรือไม่ได้นำเรื่องการเรียบเรียงมาใช้เลยในให้คะแนนความเปลี่ยนแปลงเลย

โชคดีที่ไม่เจาะไปที่ "เนื้อหา" มิฉะนั้น ลูกศิษย์ผมคงตกกันระนาว เพราะว่าเรียบเรียงแล้ววนไปวนมา หาทางจบไม่ลง เป็นสิ่งที่ผมจะแซวตอนท้าย ๆ การเขียนอยู่ตลอดเวลา พาลเห็นรอยยิ้มหลาย ๆ คนว่า "เออ ทำไมเราจึงยังเขียนจบไม่ลงเนี่ย" 555

แลกเปลี่ยนนะครับ มิได้คัดค้าน

อ่านแล้วก็คิดตาม เห็นสิ่งใกล้ตัว ก็เลยจับมาคุยด้วยครับ ;)...

  • สวัสดีค่ะ น้อง Poo Ico48 แวะมาทักทายวันครูพอดี  ขอบคุณมากค่ะ
  • พี่คงโผล่ ๆ ผลุบ ๆ เช่นนี้ไปเรื่อย ๆ ดูแล้วว่างานเข้าไม่เท่าไหร่ แต่สุขภาพที่อยู่หน้าจอคอมฯ นาน ๆ ชักมีปัญหาบ้างแล้วค่ะ ใช้สายตาตรวจงานเยอะ และยังมาอยู่กับแสงหน้าจอคอมฯ ประกอบกับที่ทำงานเป็นนิ้วล็อคกันหลายราย พี่ก็เกือบ ๆ จะเข้าข่ายแต่ก็เลิกทัน ยังไงก้อ น้อง Poo ก็ระมัดระวังรักษาสุขภาพด้วยนะคะ อย่างว่าแหล่ะ  คุยกับคน สว. ส่วนใหญ่จะเน้นสุขภาพเป็นสำคัญ
  • บุญรักษาค่ะ
  • สวัสดีค่ะ คุณหมอธิรัมภา Ico48 อ่านหลาย ๆ บันทึก ประกอบกับประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้เข้าใจว่าทุกอาชีพก็สามารถเป็นครูได้ ครูที่ไม่ใช่ครูโดยอาชีพคือผู้เป็นแบบอย่างทางวิชาชีพให้กับอนุชนรุ่นหลัง การฝึกฝนปฏิบัติตนตามอย่างตัวแบบที่ดี ตัวแบบนั้น ก็คือครูเช่นกัน จึงเชื่อว่าคุณหมอธิรัมภา ก็เปรียบเหมือนคุณครูของรุ่นน้องด้วยนะคะ สังเกตจากหลายบันทึกที่ริเริ่มสร้างสรรค์นำสิ่งใหม่ ๆ มาปฏิบัติในหน่วยงานอยู่เป็นประจำ
  • ขอบคุณมากค่ะสำหรับกำลังใจ ประทับใจมากค่ะ

    ฝึก ฝึก ฝึก และลงมือทำ....ทักษะมา ปัญญาจึงเกิด...ไม่ว่าเรื่องใด

  • สวัสดีค่ะ ท่านอาจารย์นพลักษณ์ ๑๐ Ico48 คิดไว้ล่วงหน้าว่าน่าจะได้ comment ดี ๆ โดนใจ ชวนให้ขบคิดจากท่านอาจารย์นพลักษณ์ ๑๐ ในบันทึกนี้ เพราะมีเนื้อหาที่เกี่ยวกับการเรียน การสอน คุณครูตัวจริง เสียงจริง ย่อมอดไม่ได้ที่จะมาแลกเปลี่ยน ซึ่งก็ยินดีอย่างยิ่ง และต้องขอขอบคุณมากค่ะ
  • แหม ต้องบอกว่าดีใจที่ในบันทึกบอกแล้วว่าเป็นการเขียนเรียงความ ย่อความในเนื้อหา/ประเด็นทางกฎหมายเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการสอบเข้านิติศาสตร์ มธ. จึงค่อนข้างตีกรอบไว้แล้วว่าลักษณะการเขียนเรียงความทางกฎหมายเท่าที่อ่านจากแนวการสอบเข้า และจากประสบการณ์การเขียนตอบโจทย์ข้อสอบในวิชากฎหมาย จะมุ่งเน้นเรื่อง "logical reasoning" และแสดงให้เห็นถึง "legal mind" ของเด็กนักเรียน
  • การเรียบเรียง จัดระบบความคิด การให้เหตุผลเชิงตรรกะ ความเชื่อมโยงสัมพันธ์ระหว่างเหตุและผลจึงเป็นสิ่งสำคัญมากทีเดียว และเมื่อให้เหตุผลซึ่งอาจมีลักษณะการโต้แย้งกันไปมาให้เห็นถึงวิธีคิดที่มองรอบด้านแล้ว  ควรจะสรุปตอนท้ายแบบฟันธงให้ได้ว่าผู้เขียนเชื่อว่าอย่างไร ซึ่งเป็นการฝึกฝนการตัดสินใจบนพื้นฐานข้อมูลที่เรามีอยู่ให้เด็ดขาด
  • ส่วนการย่อความ ก็เน้นเรื่องการจับประเด็นออกมาเรียบเรียงใหม่อย่างที่กล่าวโดยสรุปแล้วในบันทึก ซึ่งคงไม่มีความซับซ้อนอะไร สำคัญที่การฝึกฝนบ่อย ๆ
  • สำหรับแนวการเขียนเรียงความของท่านอาจารย์ ก็ยอมรับด้วยเช่นกันและชอบมากค่ะ โดยเข้าใจว่าน่าจะมุ่งตอบโจทย์หลักซึ่งแตกต่างกันบ้างเล็กน้อย ทั้งนี้ สุดท้ายแล้วก็เชื่อว่าคุณครูทุกท่านล้วนมีเจตนารมณ์ที่ดีที่จะพัฒนาให้เด็กเป็นไปในแบบที่ตนตั้งเป้าหมายเอาไว้
  • หากว่าการเขียนใด ๆ มุ่งเปลี่ยนแปลงตนเองได้ นั่นก็คือการมุ่งเน้นผล ซึ่งก็เป็นวิธีการฝึกฝนอีกแบบหนึ่งที่น่าสนใจอย่างมากค่ะ แบบที่ท่านอาจารย์กำลังทำอยู่ค่ะ
  • อย่างไรก็ตาม  แต่ละวิชาก็จะมีหลักการของมันอยู่เอง หลักการหรือกระบวนการควรชัดเจนมีมาตรฐาน และหากได้ผลที่ยิ่งใหญ่คือการเปลี่ยนแปลงบางสิ่งบางอย่างในตัวเด็กได้ นับว่าเป็นสิ่งมีค่าที่สุดอยู่แล้วในตัวมันเองค่ะ
  • ตอนนี้ สิ่งที่ดีใจมากคือทราบจากคุณแม่ของน้องใหม่ว่าน้องใหม่ทำข้อสอบการเขียนเรียงความกับย่อความได้ ก็กำลังลุ้นผลคะแนนรวมอยู่ค่ะ มันไม่ง่ายเลย ผู้เข้าแข่งขัน ๕,๐๐๐ กว่าคน รับแค่ ๓๐๐ คนเองค่ะ น้องเขาก็กังวลอยู่ บอกว่าหมอดูทายว่าน้องเหมาะที่จะเรียนสายอักษรศาสตร์/ภาษาศาสตร์  นี่ถ้าเกิดว่าน้องสอบติดจริง ๆ น้องคงเลิกดูหมอไปด้วยเลยนะคะ
  • ขอบคุณค่ะที่แวะมาเยี่ยมชม ทำให้นิยมอยู่ในใจอยู่เสมอ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท