จากใจถึงเชียงใหม่


ผมมาเชียงใหม่ครั้งแรกตอนประมาณ ๕ ขวบ มาเที่ยวสงกรานต์กับแม่ ได้มานอนบ้านพักแถวถนนช้างคลาน ยังจำชื่อได้แม่น เพราะชื่อน่ารักแปลกดี และจำได้ว่าคนเชียงใหม่พูดเพราะ เสียงเย็นๆ แล้วก็ใจดี

ผมมาเชียงใหม่อีกหลายครั้ง แต่ครั้งที่อยู่นานที่สุด คือ ๑ เดือน ตอนจะจบแพทย์เฉพาะทาง ผมเลือกมาเรียนกับอาจารย์ที่เชียงใหม่ก่อนจะจบ ตอนนั้น ผมชอบตื่นแต่เช้าไปเที่ยววัดก่อนทัวร์ลง เพราะสงบดี เห็นวิถีชีวิตคนเมืองที่ไม่ถูกนักท่องเที่ยวปะปน ยังจำได้ว่า เดินเข้าไปในวิหารพระสิงห์โดยไม่รู้มาก่อน เพราะสมัยนั้นไม่มีป้ายท่องเที่ยวติด แล้วถึงกับตะลึงในความงดงามของทั้งสถานที่และองค์พระ ได้กราบพระและนั่งเงียบๆดูภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ยังชัดเจนกว่าตอนนี้มาก มีโอกาสได้ฟังธรรมจากพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติชอบและมีเมตตาสูงมาก

เป็นประสบการณ์ครั้งนั้น ที่ทำให้ผมชอบเที่ยววัดหรือโบราณสถาน

มาถึงวันนี้ เชียงใหม่โตขึ้นมาก ถนนช้างคลานวันนั้น ตอนนี้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวพลุกพล่าน จนไม่เหลือเค้าให้เห็น วัดพระสิงห์ได้รับการบูรณะจนงดงามไปอีกแบบ

ผมสังเกตว่า เชียงใหม่มีความเป็นนานาชาติขึ้นมาก ไม่ใช่เพราะนักท่องเที่ยว แต่เห็นชาวต่างชาติที่มาพักอาศัยอยู่นานๆเต็มไปหมด

รู้สึกเป็นห่วงว่าวัฒนธรรมคนเมืองจะเจือจางไปกับกระแสโลก

แต่พอมาเห็นอาคารโรงเรียนนักธรรม ที่วัดเกตการาม ที่ถ่ายรูปมาฝาก ก็โล่งใจขึ้น

ผมเห็นอาคารไม้งดงามหลังนี้ในร่มไม้แต่ไกล รู้สึกแปลกตา จึงเดินเข้าไปดูใกล้ๆ

วัดไทย จีนสร้าง ลายฝรั่ง อยากจะบอกอย่างนั้น

ได้เห็นตุ๊กตากามเทพฝรั่งในวัดไทยเป็นครั้งที่สอง หลังจากเพิ่งเห็นที่วัดพระแก้วดอนเต้าที่ลำปางมาหยกๆ คราวนี้้มาเห็นแบบลอยตัว อยู่กับลวดลายเครือเถาพรรณบุปผาประดับกรอบประตูแบบลายไทยสีทอง

ความกลมกลืนของศิลปะ ทั้งจีน ไทย ฝรั่งในวัดนี้ บ่งบอกถึงภูมิปัญญาของช่างศิลป์ในอดีต ที่คนยุคปัจจุบันอย่างเราคงต้องเรียนรู้

คิดถึงกลุ่มคำ หัวมงกุฎท้ายมังกร ฝรั่งสวมชฏา หัวฝรั่งตัวถังไทย (อันสุดท้ายนี่ ประโยคเด็ดของพี่บังวอญ่า)

เชียงใหม่เป็นนานาชาติมาตั้งนานแล้ว

หมายเลขบันทึก: 476271เขียนเมื่อ 25 มกราคม 2012 21:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 เมษายน 2012 08:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (16)

อาจารย์หมอเต็มครับ ... บางจุดของการบูรณะที่วัดพระสิงห์นั้น "ขี้เหร่" ที่สุดครับ แทบไม่เหลือร่องรอยของงานเดิมเลย เรียกว่า เปลี่ยนไปหมดก็มี พอเห็นแล้วก็รู้สึกหดหู่ในการทำลายเหมือนตั้งใจอย่างนี้เหมือนกันครับ แถมหน่วยงานที่บูรณะก็เป็นหน่วยงานที่เรารู้จักกันดีอีกต่างหาก ขาด "จิตวิญญาณ" เหลือเกินครับ

เชียงใหม่กำลังถูกทำลายด้วยความเป็นเมืองใหญ่อันดับสองของประเทศครับ จากนักการเมืองที่เอาเงินมาลง แต่เอามาลงเพื่อคนเชียงใหม่เอง หรือเพื่อใครก็ไม่ทราบ ???

Ico48

  • ผมกำลังงงๆกับ G2K ว่าบันทึกนึ้ผมซ่อนหรือไม่ซ่อนกันแน่ แต่เห็นอาจารย์ Was เข้ามาให้ความเห็นแล้ว ก็เลยตามเลย
  • ผมเป็น"แขก" (แขกแก้วหรือเปล่าไม่รู้) จะแสดงความเห็นอะไรเลยต้องสำรวมหน่อย
  • เรื่องการบูรณะ ผมมองแบบเป็นกลางแล้ว เชื่อว่า การบูรณะแต่ละครั้ง ไม่มีทางทำได้เหมือนเดิม และมักจะมีการ"เติม"สิ่งที่เป็นปัจจุบัน"ปน"เข้าไปเสมอ
  • แต่จะเติมหรือปนแล้วออกมาดูดี หรือไร้รสนิยม ไร้ราก อันนี้คนในยุคนั้นและยุคต่อๆไปจะเป็นผู้ตัดสิน เหมือนอย่างมีคนเอาชฏาแหลมปรี๊ดไปครอบพระบรมธาตุไชยาจนอินเทรนด์กลายเป็นเจดีย์ยุคปัจจุบัน ผมว่า ก็มีคนมองได้ทั้งสองทาง บ้างก็ว่าสวยเหลือเกิน บ้างก็ว่าใช้อวัยวะส่วนไหนคิด..วะ
  • สิ่งสำคัญก็ต้องบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ว่าใครทำ ทีหลังจะได้ชมและด่าได้ถูกตัว
  • ผมว่าชาวเมืองในเชียงใหม่ยังมีรากและเข้มแข็งกว่าอีกหลายเมือง น่าจะจัดการเรื่องนี้ได้ดีและเป็นต้นแบบของการพัฒนาเมืองให้อีกหลายๆเมืองได้
  • ส่วนเรื่องนักการเมือง มีคนให้คำจำกัดความคนบางคนว่า ขาดสองธรรม คือ ไร้วัฒนธรรม ไร้คุณธรรม ผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง 

เป็นคนเชียงใหม่แท้ๆ แต่ยังไม่เคยทราบว่ามีวัดที่น่าสนใจแห่งนี้เลยคะ

เรื่องคนต่างชาติเข้ามาพักอาศัยในเชียงใหม่ระยะยาว มีประจักษ์พยานคือ คอนโดฯ ที่เกิดใหม่จำนวนมาก

ประมาณการณ์ว่า 40-60% จับจองด้วยชาวญี่ปุ่น เกาหลี ยุโรป คะ

สำหรับตัวเอง ไม่ค่อยห่วงว่าวัฒนธรรมท้องถิ่นจะถูกของชาติอื่นกลืนด้วยเหตุนี้

เพราะที่ผ่านมา ผู้เข้ามาอยู่มักเป็นฝ่ายโดน "กลืน" เสียมากกว่า

..อย่าง ตัวเอง ก็เป็นหลานจีน ที่ตอนนี้พูดภาษาจีนไม่ได้แม้แต่คำเดียว

..อย่าง คนญีปุ่น บ้านข้างๆ ก็อู้กำเมือง หัดเลี้ยงไก่เมือง แล้ว :)

Ico48

  • วันนี้จะกลับบ้านแล้ว มาอยู่เชียงใหม่เป็นอาทิตย์
  • ผมว่า วัฒนธรรม คือ การเปลี่ยนแปลง นะครับ แต่เราก็หวังว่า จะเป็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี ดีขึ้น ให้สมกับเป็นวัฒนะ
  • ต่างชาติอยากมาอยู่เชียงใหม่ เพราะความเป็นเชียงใหม่ แต่คนเมืองเองอยากให้เชียงใหม่เป็นอย่างไรในอนาคต ก็คงต้องช่วยกันใช่มั้ยครับ อย่างที่อาจารย์ปัทมาเขียนในบันทึก

ไปเชียงใหม่หนล่าสุดไม่ได้เข้าชมวัด อดชมศิลปบูรณาการ (วัดไทย จีนสร้าง ลายฝรั่ง พระลาว)เอาความหนาวมาฝาก

อรุณสวัสดิ์ค่ะอาจารย์หมอเต็ม

ว้าว มุมภาพแรกบอกได้คำเดียวว่า สุดยอดค่ะ สะดุดและชอบกับประโยคเด็ด ชอบไปวัดก่อนที่ทัวร์จะลง

นึกถึงสมัยอยู่เชิงดอย ชอบไปสิงที่วัดอุโมงค์ เป็นประจำด่ะ วัดพระสิงห์เมื่อทศวรรษก่อนสวยงามมากเจ้า พอบูรณะแล้ว ก็ ...

เดินทางหลบบ้านปลอดภัย จะรออ่านและชมภาพผ่านมุมมองท่านไกด์กิติมศักดิ์ นะคะ ขอบคุณค่ะ

Ico48

  • แบบรู้ว่าพี่บังก็ หนีน้ำ มาแอ่วเหนือ เหมือนกัน
  • ผมไม่ค่อยได้ไปหนาวเท่าไหร่ เพราะมีผู้สูงอายุมาด้วยสามคน แต่ก็พาไปสัมผัสความเย็นที่ยอดดอยอินนทนนท์มาพอหอมปากหอมคอ

Ico48

  • เคลีด"เที่ยววัดก่อนทัวร์ลง" อันนี้เป็นสุดยอดวิชาการท่องเที่ยวนะครับน้องปู
  • คนแถบนั้นเขาก็ใช้วิธีเดียวกัน

 

  • ผมก็เพิ่งได้ไป วัดอุโมงค์ ครั้งนี้เป็นครั้งแรก หลังจากได้ยินมานาน
  • เป็นบุญที่มีหลวงพี่เดินผ่านมาจังหวะที่กลุ่มของผมเข้าไปในอุโมงค์ ท่านเลยยืนเทศน์ให้ฟังแบบจุใจ เป็นประสบการณ์ที่ดีมีสุดของทริปนี้เลย
  • คำสอนทันสมัย ร่วมสมัย ตรงเป้า ตรงกลุ่ม สายตาของท่านเจาะได้ลึกจริงๆ

เป็นการได้เที่ยวท่องผ่านประสบการณ์และมุมมองของคุณหมอ ที่ให้ข้อสังเกต ได้ปัญญาและความรอบรู้ ที่ให้ความหมายทั้งต่อการภูมิใจต่อสิ่งที่มีอยู่ในสังคม และได้คิดใคร่ครวญให้ยิ่งซาบซึ้งถึงความงามของศิลปะความสร้างสรรค์ในสังคมวัฒนธรรมอื่นๆ งานอย่างนี้กว่าจะริเริ่ม สร้าง และสืบทอด ส่งต่อมาจนถึงปัจจุบันได้ ก็คงเลือกสรรอย่างประนีตบรรจงอย่างที่สุด แต่หากไม่ได้สายตาและมุมมองอันลึกซึ้งพาชื่นชมและเห็นภาพสะท้อนสาระสำคัญของความงามที่บันทึกไว้ในนั้น ก็คงเป็นความเงียบงันและโดดเดี่ยว อยู่ท่ามกลางสังคมที่ไหลผ่านเลยไปลวกๆนะครับ สัมผัสได้ถึงตัวหนังสือของความสุขและความเอิบอิ่มที่นำมาบันทึกแบ่งปันได้เป็นอย่างดีครับ

ที่พระวิหาร หลังอุโบสถของวัดพระสิงห์นั้น ก็มีงานพุทธศิลป์และการจัดแสดงภาพประวัติศาสตร์ ทั้งของเชียงใหม่และในด้านที่เกี่ยวกับการสร้างวัด รวมทั้งการบูรณปฏิสังขรณ์ในช่วงต่างๆอยู่ด้วยครับ วิธีจัดแสดงและการทำข้อมูลเพื่อนำเสนอเรื่องราวต่างๆให้ผู้คนได้การเรียนรู้ไปด้วยนั้น ทำได้ไม่ดีนัก แต่ก็เป็นไปตามสภาพและปัจจัยแวดล้อมของยุคสมัย เมื่อดูและใช้เวลาทบทวนข้อมูลต่างๆช่วยด้วย ก็เป็นส่วนที่น่าชมมากด้วยเช่นกันนะครับ

สวัสดีค่ะคุณหมอ

วัฒนธรรม ความเป็นอยู่ของคนเชียงใหม่เท่าที่ทราบมาเปลียนแปลงไปมากตั้งแต่ปี ๒๔๑๖ เป็นต้นมา จากที่เคยมีเพียงกลุ่มคนลื้อ ยอง ขึน ยวน ไทใหญ่อพยพ พม่า ต่องซู่ แล้ว ล้านนาก็เริ่มได้รับการปกครองจากสยาม ฝรั่งเข้ามาดูแลด้านป่าไม้ ชาวจีนได้เข้ามาทำการค้าขาย ทำหน้าที่เก็บภาษีให้กับส่วนกลาง เชียงใหม่ก็เป็นนานาชาติไปโดยปริยายตั้งแต่นั้น

แถบวัดเกตการามแต่เดิมเป็นที่อยู่อาศัยชุมชนของคนจีน วัดก็คงได้รับอิทธิพลมาจากศรัทธาญาติโยมที่อุปถัมภ์วัดวาโดยรอบ หากอาคารใดสร้างหลังจาก พ ศ ๒๔๑๖ ก็คงมีรูปร่างอย่างที่คุณหมอเล่าค่ะ แม้แต่อาคารพิพิฒภัณฑ์ที่พึ่งสร้างไม่นานมานี้ก็เป็นอาคารทรงจีน...

สถาปัตยกรรม อาคารบ้านเรือนในเชียงใหม่ คงจะสะท้อนให้เห็นถึงอดีตอันซับซ้อน หลากหลาย เหมือนดังผู้คนที่แม้จะเรียกตัวเองว่าคนเมือง แต่ก็มีความแตกต่างในที่มา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เมื่อวิถีชีวิตที่แตกต่างมารวมอยู่ในที่เดียวกัน หล่อหลอมรวมกัน จึงเป็นวัฒนธรรมของเชียงใหม่ที่งดงามดั่งที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้

แต่ในเบื้องหลัง การพยายามที่จะรักษาอัตลักษณ์ของท้องถิ่นก็ยังคงมีอยู่ค่ะ

สำหรับมุมมองและความเข้าใจถึงวัฒนธรรมของคนเชียงใหม่ ต้องบอกว่า "ยิ๊นดีนักๆ แตนคนเจียงใหม่เจ้า"

ที่จริงเชียงใหม่นี่ บ้านเดิมของคุณแม่ผม เดี๋ยวนี้บ้านญาติๆก็ยังอยู่กลางเมืองแต่ต้องหาดูดีๆ เพราะถูกกลมกลืน

เดิมเป็นเช่นไรจำไม่ค่อยได้เพราะเกิดไม่ทัน (คือไม่ทันได้เกิด คุณแม่ก็ย้ายออกจากเชียงใหม่ซะก่อน กลายเป็น "เด็กฝั่งธนฯ" แทน) ชะตากรรมผูกพันกับเชียงใหม่ดึงดูดให้ตอนโตๆนี่ ได้ไปบ่อยมาก ไปทุกปี บางปีไปเกือบทุกเดือน จะว่าไปได้วัฒนธรรมเหนือมาด้วย คือตอนนี้ผมไปไหนมาไหนใส่สะดอตลอด (กลับไปเพ่งอีกทีว่าสะกดสะดอถูกต้อง) นัยว่าสบายดี ไม่มีปัญหาเลือกเข็มขัด ไม่มีการต้อง "ขยับรู" ให้ขวยเขินหลังอาหาร (หรือระหว่างอาหาร) ไม่มีการคับ กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็มีสะดอเกือบยี่สิบตัว ทั้งแบบลำลอง แบบใส่นอน ใส่นั่ง ใส่เดินในบ้าน ใส่เดินนอกบ้าน ใส่ในห้าง ใส่ไปงาน ใส่ไปบรรยาย ใส่ไป workshop ใส่ไปต่างประเทศ

เชียงใหม่ก็ยังมีเสน่ห์อยู่ร่ำไป ตลาดอนุสารก็ยังมีอะไรให้ซื้อทุกเที่ยวไป

 

Ico48

  • เรียนอาจารย์วิรัตน์ด้วยความเคารพ
  • ความเห็นของอาจารย์ ทำให้ผมตัดสินใจโพสต์บันทึกที่ผมแอบซ่อนไม่กล้าโพสต์อยู่เดิม บันทึกนี้นะครับ
  • ผมได้เข้าไปดูนิทรรศการย่อยๆในพระอุโบสถอย่างตื่นตาแต่ไม่ค่อยสบายใจ เพราะต้องไปยืนดูรูปค้ำหัวคนที่นั่งกับพื้นเพื่อกราบพระประธาน ทางวัดน่าจะขยับขยายนิทรรศการอันมีค่านี้ออกมาจากที่ตรงนั้นนะครับ

Ico48

  • คุณแสงเข้ามาอมยิ้มแล้วก็จากไป ทำเอาผมชักเขิน

Ico48

  • ต้องรบกวนคนเชียงใหม่ไปให้ความเห็นในบันทึกนี้ด้วยครับ

Ico48

  • รู้นะว่าทำไมสกลชอบใส่สะตอ
  • ไปเชียงใหม่คราวนี้ ผมก็ไส่สะตออยู่หลายวัน มันโล่ง ไม่อึดอัด ไม่ต้องกังวลเรื่องรอบเอวที่มากขึ้น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท