ชิมลางศาสตร์พระราชา “เกษตรสมดุลและการพึ่งพาตัวเอง” ที่ สวนธงไชย-ไร่ทักสม กับอ. ธงไชย คงคาลัย


การนำเอาทฤษฎีใหม่มาใช้สู้กับทุนนิยม ที่ไม่ใช่แค่เพียงเศรษฐกิจพอเพียงเท่านั้น แต่เรากำลังจะทำสงครามกับทุนนิยม

 

ผมเพิ่งรู้จัก สวนธงไชย-ไร่ทักสม ของอ. ธงไชย คงคาลัย จาก Facebook ของรายการ “ปราชญ์เดินดิน” (http://www.facebook.com/#!/pratchduendin) เมื่อไม่นานมานี้เอง คือประมาณวันที่ 25 ม.ค. 55 ที่ผ่านมา Facebook ของรายการ “ปราชญ์เดินดิน” ได้ Post แนะนำโปรแกรมการฝึกอบรมของสวนธงไชย-ไร่ทักสม ไว้ว่า “ใครสนใจทำเกษตรทฤษฎีใหม่ แบบ4in 1 ติดต่อที่พี่ธงไชย คงคาลัยได้คร้าบดูรายละเอียด ตาม link นี้เลยนะคร้าบพี่น้อง http://www.raitaksomlearningcenter.com/site/ ผมลองเข้าไปศึกษาตาม Link นี้ดู ก็รู้สึกปิ๊งกับแนวคิดวิธีการ ดังกล่าว ก็เลยตัดสินใจว่าน่าจะลองเข้าไปอบรมอย่างจริงๆจังๆ ดู แต่ก็ยังไม่ผลีผลาม ด้วยสันดานความเป็นนักฝึกอบรม ก็เลยอยากจะลองไป Survey สถานที่ดูเสียก่อนว่าอยู่ไกลแค่ไหน สถานที่สำหรับการเรียนรู้มีลักษณะบรรยากาศเป็นอย่างไรบ้าง และเมื่อวานนี้ (29 ม.ค.55) ผมก็ลองขับรถไปตามแผนที่ ที่ระบุใน Website ของศูนย์ดู โดยไม่ได้นัดหมายเจ้าของสถานที่ก่อน ลองจับเลขไมค์ดูจากตลาดรังสิตก็ประมาณ 50 ก.ม. ใช้เวลาประมาณ 45 นาที

 

 

ผมไปถึงที่นั่นประมาณเที่ยงพอดี มีกลุ่มคนที่เข้าอบรมในรุ่นนี้กำลังรับประทานอาหารร่วมกับอ. ธงชัยอยู่พอดี ผมทักทายท่านเล็กน้อยก่อนขอตัวไปเดินสำรวมพื้นที่รอบๆ ท่านก็ได้ให้ความเมตตาต้อนรับผมเป็นอย่างดี โดยเรียกผมไปนั่งคุยด้วยเกือบครึ่งชั่วโมง ซึ่งเป็นครึ่งชั่วโมงแห่งการเรียนรู้จริงๆ (แอบเรียนรู้โดยยังไม่ลงทะเบียน จ่ายตังค์) อาจารย์ได้ให้ข้อมูลแนวคิดคร่าวๆ และยังได้เอกสารประกอบการอบรมไว้ด้วย สิ่งที่ผมศรัทธาและประทับใจคือ การนำเอาทฤษฎีใหม่มาใช้สู้กับทุนนิยม ที่ไม่ใช่แค่เพียงเศรษฐกิจพอเพียงเท่านั้น แต่เรากำลังจะทำสงครามกับทุนนิยม ทำให้ผมนึกถึงการใช้ลูกไม้มวยไทยของมวยไชยา ใช้ท่ารับเป็นท่ารุก โดยยิ่งศัตรูยิ่งรุกมากเท่าไหร่เขาก็ยิ่งเจ็บตัวกลับไปมากขึ้นเท่านั้น การบริหารจัดการตามศาสตร์ของพระราชานี้ จะเน้นการพึ่งพาตัวเองให้ได้ เมื่อพึ่งพาตัวเองได้ก็ไม่ต้องง้อแหล่งทุนจากภายนอก และยังสามารถทำตลาดแข่งกับเขาได้ด้วย (รายละเอียดองค์ความรู้ต่างๆ ลองเข้าไปศึกษาที่ Link ของศูนย์ดูครับ http://www.raitaksomlearningcenter.com/site/)

 

อ. ธงไชย  คงคาลัย

 

ก่อนกลับผมได้แวะดูคอกหมูสี่สายพันธุ์ ที่อาจารย์ได้ผสมและคัดพันธ์ขึ้นมาเอง จากหมูพันธ์ไทย 4 ภาค ออกมาเป็นสายพันธุ์ที่แข็งแรงเหมาะกับสภาพดินฟ้าอากาศบ้านเรา  ได้คุยกับคนเลี้ยงรู้สึกได้ความรู้มากมายเลยทีเดียว พี่เขาบอกว่าเขามีประสบการณ์เลี้ยงหมูมากว่า 17 ปี ถึงตอนนี้สามารถคุยได้เลยว่าจะเลี้ยงอย่างได้ให้ได้ผลอย่างยั่งยืน โดยไม่ต้องพึ่งพาแหล่งทุนภายนอก ผมคิดว่านี่คือความรู้มือหนึ่งที่พี่คนนี้ได้ตกผลึกไว้ เพราะจากที่ผมสังเกตการเป็นอยู่ของหมูในคอก ดูมันมีความสุขจริงๆ ไม่เฉพาะหมูเท่านั้น คนงานที่เลี้ยงซึ่งเป็นคนงานพม่าก็ดูมีความสุขเช่นกัน ผมสังเกตจากกลิ่นก็ไม่ได้กลิ่นขี้หมูเลย ได้แต่กลิ่นฟางที่ถูกน้ำหมักย่อยจนเป็นปุ๋ยชั้นดีแล้ว ที่นี่ใช้หลักการเลี้ยงหมูหลุมโดยใช้ฟางรองพื้น และทุกๆ  4-5 วันก็จะเก็บฟางไปทำปุ๋ย หมูที่นี่ดูสมบูรณ์แข็งแรงมากเพราะกินอาหารธรรมชาติทั้งหมด เช่น หยวกกล้วย เศษพืช ผักผลไม้ หอยเชอรี่ เป็นต้น จากการสอบถามพบว่าไม่ค่อยมีโรคเบียดเบียนเลย ภูมิคุ้มกันแข็งแรงมาก รายได้จากการขายก็ไม่เลว เลี้ยงเพียงแค่ 45 วัน ก็ขายได้ตัวละ 1,500 บาท เลยทีเดียว โดยเป็นการเพาะพันธ์ขายซึ่งเขาจะเลี้ยงแล้วส่งต่อไปขายให้เกษตรกรนำไปเลี้ยงต่อ เพื่อขยายพันธุ์ต่อไป

 

 

จากการที่ได้พูดคุยกับอาจารย์ธงไชย และท่านอื่นๆที่ทำงานในศูนย์นี้ ผมรู้สึกเหมือนเราได้ฟังเรื่องราวที่น่าภาคภูมิใจที่คนเหล่านี้ทำสำเร็จมาแล้ว จึงนำมาแบ่งปันต่อ ทำให้นึกถึงทฤษฎี SSS (Success Story Sharing) ที่เราได้ฟังเรื่องเล่าแล้ว มันมีองค์ความรู้มันเกิดขึ้นมา และเราก็เกิดการเรียนรู้ขึ้นโดยที่เราไม่รู้ตัว ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่กลมกลืนและแนบเนียนจริงๆ ผมคิดว่าหลักสูตรที่ท่านอ. ธงไชยวางไว้ 2 วัน 1 คืน นี้ น่าจะคุ้มค่าและนำไปใช้งานได้จริง เลยสรุปกับภรรยาว่าเราต้องมาเรียนรู้พร้อมกัน โดยรีบโอนเงินลงทะเบียนซะ ท่านใดสนใจจะเข้าเรียนรู้อบรมลองเข้าไปอ่านรายละเอียดที่ http://www.raitaksomlearningcenter.com/site/ ดูครับ ได้เรื่องอย่างไรก็มาเล่าสู่กันฟังครับ สำหรับตัวผมเองจะเข้าไปอบรมประมาณปลายเดือนก.พ. 55 นี้ ได้เรื่องอย่างไรก็จะมาเล่าสู่กันฟังต่อไปครับ (โปรดติดตามตอนต่อไป)

 

หมายเลขบันทึก: 476874เขียนเมื่อ 30 มกราคม 2012 16:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 17:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท