การพัฒนาการวิจัยทางเทคโนโลยีและสื่อสารทางการศึกษา


ผมได้ไปเป็นประธานกรรมการสอบปากเปล่าการทำวิทยานิพนธ์ปริญญาโทของนักศึกษาให้กับบัณฑิตวิทยาลัยมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่มา ๑ คน เป็นการทำวิทยานิพนธ์ในสาขาเทคโนโลยีและสื่อสารทางการศึกษา หัวข้อการวิจัยและการออกแบบการวิจัยมีความน่าสนใจ อีกทั้งเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการศึกษาในเงื่อนไขแวดล้อมใหม่ๆของสังคมไทยและสังคมโลกพอสมควร โดยเป็นเรื่องการใช้ระบบการประชุมทางไกลเพื่อจัดการเรียนรู้แบบผสมผสานให้กับนักศึกษาภาษาอาราบิคในระดับปริญญาตรีของประเทศไทยซึ่งเป็นนักศึกษาที่ได้รับทุนด้วยกลุ่มเล็กๆจำนวน ๑๐ คนกลุ่มหนึ่ง เพื่อสร้างครูและพัฒนาคนสำหรับทำงานซึ่งมีความสัมพันธ์กับกลุ่มสังคมวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเพิ่มมากขึ้น

นักศึกษาเป็นบุคลากรที่ต้องดูแลงานวิทยบริการและระบบสารสนเทศเพื่อการศึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ด้วย จึงได้ใช้การทำงานจริงร่วมกับทีมอาจารย์และผู้บริหารมาเป็นหัวข้อการวิจัยและพัฒนาระบบงานเพื่อสนองตอบต่อแนวโน้มความจำเป็นที่ต้องการไปด้วย ใช้การวิจัยแบบกึ่งทดลอง pre-test / post-test design และดำเนินการกับสถานการณ์การเรียนการสอนจริงบนโครงการความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ประเทศไทย กับมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในประเทศอียิปต์ และดำเนินการสอนจริงโดยอาจารย์ชาวต่างประเทศที่ประเทศอียิปต์ผ่านระบบการประชุมทางไกล

นักวิจัยและทีมจัดวางระบบและพัฒนากระบวนการต่างๆ จนแน่ใจว่าได้ทำงานบนหลายขั้นตอนกระทั่งปรากฏผลสัมฤทธิ์ทางด้านต่างๆ บรรลุเกณฑ์อย่างดีดังที่กำหนดไว้อย่างเป็นระบบแล้ว จึงทำการสรุปและเขียนรายงานผลการวิจัย ซึ่งในแวดวงวิชาการทางเทคโนโลยีการศึกษาและในการวิจัยทางการศึกษาหลายสาขาจะทราบกันดีว่าเป็นการวิจัยแบบ Effectiveness Assessment Research ซึ่งแม้จะมีข้อจำกัดอยู่มาก แต่ก็จัดว่าเป็นระเบียบวิธีที่สามารถเชื่อถือได้ดีที่สุดวิธีหนึ่งแม้ในปัจจุบัน

นักศึกษาเขียนรายงาน สรุปและอภิปรายผล รวมทั้งพัฒนาข้อเสนอแนะทางด้านต่างๆ ที่ยังสามารถปรับปรุงและพัฒนาให้ดีกว่าเดิมได้อีกมาก ด้วยการเห็นความสำคัญของการที่วิทยาการและเทคโนโลยีทางด้านคอมพิวเตอร์ที่ไหลบ่าสู่สังคมไทยและสู่โลกทางการศึกษาอย่างท่วมท้นและรวดเร็ว ในขณะที่สถาบันการศึกษาและสังคมจะสามารถสร้างผู้นำในขั้นสูงที่มีความรู้ ความสามารถอย่างบูรณาการทั้งทางด้านวิชาการ การปฏิบัติ และมีภาวะผู้นำที่ดีในการบริหารจัดการเครือข่ายความร่วมมือ สามารถเลือกสรรความเปลี่ยนแปลงที่ดีให้กับสังคมอย่างเท่าทันกับความเร็วทางด้านวิทยาการและเทคโนโลยี ได้อย่างจำกัด เมื่อมีนักศึกษากล้าริเริ่ม อีกทั้งเป็นคนทำงานที่มีการนำความรู้ความสามารถไปใช้ทำงานให้กับสังคมอยู่แล้ว มีความกล้าหาญที่จะนำเอาเรื่องที่สำคัญและจำเป็นอย่างนี้มาทำเป็นวิจัยวิทยานิพนธ์ของตน ก็ต้องนับว่าเป็นต้นทุนที่ดีอยู่ในตนเองสำหรับการสร้างคนให้กับสังคม

ด้วยเหตุนี้ ผมจึงคำนึงถึงการต้องช่วยกันสร้างคนขึ้นมาทำงานและให้น้ำหนักกับความรู้ที่ก่อเกิดอยู่ในการลงมือปฏิบัติที่ได้ทำสำเร็จไปแล้ว รวมทั้งให้ความสำคัญกับความมีจิตวิญญาณของคนที่ทุ่มเทให้กับการแก้ปัญหาและค้นพบการทำงานได้จริง ซึ่งมีอยู่สิ่งที่นักศึกษาได้ลงมือทำให้สำเร็จและอยู่ในชีวิตการทำงานของเขาอยู่แล้ว จึงต้องหาวิธีให้เขาได้แสดงองค์ความรู้และความลึกซึ้งในตนเองอีกเป็นจำนวนมากที่รูปแบบการวิจัยไม่เอื้อให้บันทึกถ่ายทอดออกมาได้อย่างสอดคล้องกับความเป็นจริงทางการปฏิบัติ

วิธีของผมก็คือหาวิธีตั้งคำถามให้เขาได้แสดงภูมิรู้ของการปฏิบัติกับกรรมการสอบให้โดดเด่นออกมามากขึ้นไปอีกยิ่งกว่าการเขียนในรายงานที่เขาใช้สอบ ซึ่งก็สังเกตได้ว่านักศึกษาดูจะมีความมั่นใจและและสามารถแสดงความรอบรู้ได้ดีกว่าสิ่งที่เขียนไว้ในรายงานการวิจัย โดยผลงานแล้ว นักศึกษาสามารถทำงานได้ในเกณฑ์ดีตามข้อกำหนดของมหาวิทยาลัย แต่ผมก็เห็นข้อจำกัดอย่างยิ่งของรูปแบบการเขียนรายงานและนำเสนอผลการวิจัยแบบมาตรฐานทั่วไปเมื่อนำมาใช้กับงานวิจัยบางด้านในสาขาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา โดยเฉพาะการวิจัยที่มุ่งแก้ปัญหาและหาคำตอบจากการปฏิบัติที่ใช้งานได้จริง เพื่อปฏิรูปการเรียนรู้และพัฒนาพลังการเรียนรู้ของผู้คน ซึ่งตัวปัญญาปฏิบัติและองค์ความรู้จำนวนมากจะผสมผสานอยู่ในกระบวนการประดิษฐ์คิดค้น แก้ปัญหา และเป็นผู้สังเกตที่กลมกลืนตนเองอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของผู้ปฏิบัติที่สะท้อนออกมาจากความเป็นชีวิตจิตใจ แต่อาจจะต้องมีวิธีเขียนและนำเสนอผลการวิจัยให้สอดคล้องกับธรรมชาติของศาสตร์และองค์ความรู้ปฏิบัติในแบบเฉพาะของสาขาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา(หรือไม่)

ผมเคยช่วยกันกับท่านรองศาสตราจารย์ศิริพงษ์ พยอมแย้ม รองศาสตราจารย์สมหญิง เจริญจิตรกรรม และทีมคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยศิลปากร ท่านรองศาสตราจารย์ ดร.โยธิน แสวงดี แห่งสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ท่าน ดร.นายแพทย์ถวัลย์ พบลาภ ในขณะอยู่ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครปฐม พานักศึกษาค่อยๆบุกเบิกการวิจัยเชิงปฏิบัติการและการผสมผสานการวิจัยเชิงคุณภาพเข้าไปสู่สาขาการวิจัยทางเทคโนโลยีทางการศึกษา*  ในสาขาอื่นๆนั้น ได้มีการประยุกต์ใช้ระเบียบวิธีการวิจัยอย่างนี้อย่างแพร่หลายและได้ผลกว้างขวางต่อการพัฒนาสิ่งต่างๆที่เป็นผลดียิ่งๆขึ้นมากพอสมควร แต่ทางด้านเทคโนโลยีและสื่อสารศึกษาในประเทศไทยนั้นยังมีอยู่อย่างจำกัด เชื่อว่าสามารถที่จะริเริ่มและช่วยกันพัฒนาได้อีกมาก

ทั้งนี้ ก็ด้วยเล็งเห็นว่าเทคโนโลยีและการสื่อสารทางการศึกษา จะเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังอย่างหนึ่งสำหรับพัฒนาการศึกษาเรียนรู้ของประชาชน ให้สามารถมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สิ่งดีๆทั้งทางด้านสุขภาพและในทุกด้าน ให้เกิดขึ้นในสังคมได้มากยิ่งๆขึ้น ซึ่งทำได้ยากเพราะหานักศึกษาที่มีจิตใจมุ่งมั่นทำงานให้ยากๆเพิ่มขึ้นกว่าที่เคยทำไม่ค่อยได้ ขณะเดียวกันก็หาคณะกรรมการที่จะทำงานแบบทีมสหวิทยาการมาช่วยกันคุมสอบให้นักศึกษาในแนวทางที่หลากหลายไปจากเดิมได้ยาก

กระนั้นก็ตาม จำเพาะที่ช่วยกันริเริ่มและทำได้บ้างในจำนวนไม่มากนักนั้น ก็พอเห็นแนวทางสำหรับการพัฒนาการวิจัยและทำวิทยานิพนธ์ในสาขานี้ในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี เมื่อได้คุมสอบให้นักศึกษาครั้งที่นำมาเล่านี้อีก จึงเกิดข้อสังเกตในใจว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏที่มีจุดแข็งต่อการเชื่อมโยงใกล้ชิดกับความเป็นท้องถิ่นและมีบทบาทต่อการสร้างคนในสาขานี้ให้แก่สังคมมากอยู่ไม่น้อย น่าจะค่อยๆพัฒนาความเป็นผู้นำในการพัฒนาดังกล่าวนี้ได้เป็นอย่างดี.

.........................................................................

* ตัวอย่าง วิจัยขับเคลื่อนเครือข่ายสื่อและกระบวนการเรียนรู้สร้างสุขภาพในชุมชนและโรงเรียน ในบันทึกโดย วิรัตน์ คำศรีจันทร์ ที่ http://www.gotoknow.org/blogs/posts/28596

หมายเลขบันทึก: 477089เขียนเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2012 18:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กันยายน 2013 08:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เข้ามาอ่านบันทึกนี้เพราะ ...

๑. เห็นรูปประจำตัวของท่านพี่ ... ลอยอยู่

๒. เห็นชื่อบันทึกเป็นชื่อของวิชาชีพที่ึุ้คุ้นตา

หลังจากอ่านไปแ้ล้ว ...

๑. คุ้นหนัก

๒. ทำให้อยากทราบว่า นักศึกษาคนนี้คือใครหนอ

พออ่านจบ ...

๑. จุดแข็งที่มีนั้น ... หนักแน่น แต่จำนวนคนน้อยที่คิดถึง "ท้องถิ่น" ก่อน "ตัวเอง"

๒. ขอบคุณท่านพี่ที่ให้เกียรติ ครับ ;)...

สวัสดีครับอาจารย์ Wasawat Deemarn ครับ

มหาวิทยาลัยที่เป็นสำนักของอาจารย์นี่โอ่อ่าใหญ่โตและดูขรึมขลังมากเลยนะครับ
พอสอบให้นักศึกษาเสร็จ ผมเลยถือโอกาสเดินเลียบเลาะไปตามถนน จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ผ่านสถานีรถโดยสารประดูช้างเผือก ผ่านย่านคูเมือง เลียบคลองคูเมือง กระทั่งเข้าประตูด้านข้างของคณะแพทย์สวนดอก แล้วก็แวะไปซื้อกาแฟเย็นหอมๆกินตบท้ายทริปเดินเรียนรู้สังคมด้วยปลายเท้าและโสตสัมผัส ม่วนหลายครับ

หากมุ่งพัฒนาระเบียบวิธีเชื่อมโยงพลังทางการศึกษาและการสร้างคนเข้ากับท้องถิ่นแล้วละก็ มหาวิทยาลัยราชภัฏคงจะเป็นผู้นำปฏิรูปสังคมขึ้นจากพลังวิชาการกับพลังชุมชนระดับฐานรากของสังคมที่เข้มแข็งในทุกด้านมากที่สุดเลยนะครับ และทางด้านเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษานั้น ก็จะเป็นหัวหอกนำการปฏิรูปการเรียนรู้ และสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับการพัฒนาทางการศึกษาของสังคม ที่เชื่อมโยงใกล้ชิดกับพลังภาคปฏิบัติได้มากที่สุดสาขาหนึ่ง อย่างที่ได้ติดตามอ่านบันทึก ที่อาจารย์พานักศึกษาทำและเรียนรู้นั้น เป็นตัวอย่างหนึ่งที่เป็นจุดเด่นมากของมหาวิทยาลัยราชภัฏเลยนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท