ลองใช้กระบวนการเรียนรู้แบบกลุ่มมาใช้ประกอบการเรียนรู้ของน้องๆ


วันนี้ไปเป็นพี่เลี้ยงให้น้องในห้องเรียน e-commerce ว่าด้วยเรื่องชุมชนออนไลน์ (Online Community) ค่ะ

เปลี่ยนกระบวนท่ากลางอากาศ

กระบวนการที่ออกแบบไว้วันนี้ คาดหวังว่าน้องๆ จะอ่านบทความกันมาก่อน เพื่อเรียนรู้ประเด็นหลักๆ เพื่อมาต่อยอดแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในห้องเรียนแบบกลุ่ม ตั้งใจว่าจะโยนประเด็นให้คิดและแลกเปลี่ยนเรียนกันระหว่างสมาชิกภายในกลุ่ม

แต่เมื่อเข้าห้องเรียน กระบวนการที่คิดไว้ก็ต้องเปลี่ยน เพราะน้องๆ ไม่ได้เตรียมตัวกันมา ซึ่งการปรับเปลี่ยนกระบวนการก็เลยต้องจัดให้สอดคล้องกับสภาพของตัวผู้เรียนรู้ และถือได้ว่าเป็นความสนุกของการออกแบบกระบวนการที่จะปรับกระบวนการและสร้างบรรยากาศให้น่ารื่นรมย์ต่อการฝึกฝนและพัฒนาตัวน้องๆ ค่ะ และกลายเป็นเรื่องสนุกของพี่เลี้ยงคนนี้ ที่จะทำยังไงที่จะเพิ่มความสนุกในห้องเรียน

 

มาช่วยกันจับประเด็นกันเถอะ

การปรับเปลี่ยนกระบวนการนั้น ก็ปรับเป็นให้น้องๆ ช่วยกันเรียนรู้ โดยช่วงแรกการจับประเด็นร่วมกันจากเอกสาร การจับประเด็นได้มาก ได้น้อยไม่เป็นไร เพราะไม่ได้คาดหวังความรู้วิชาการจากเอกสารมากนัก แต่อยากสอดแทรกกระบวนการเรียนรู้ไปด้วย ผลที่ออกมาอาจจะจับประเด็นได้บ้างไม่ได้บ้าง ดังนั้นต้องเสริมให้ความเข้าใจมากขึ้น โดยการอธิบายให้ตัวอย่างเพิ่มเติม และทุกคนตั้งใจฟังกันมาก ถึงแม้จะมีเวลาเป็นตัวจำกัด แต่ก็เป็นการกระตุ้นให้สมองและหัวใจได้ฝึกลองทำอะไรในเวลาสั้นๆ ที่มีข้อจำกัด ดูเหมือนจะเป็นอะไรที่ตื่นเต้นกันพอสมควรค่ะ ซึ่งก็จะทำให้ได้เห็นศักยภาพของน้องๆ แต่ละกลุ่มว่า จะจัดสรรช่วยกันยังไงให้ได้ประเด็นจากเอกสารมากที่สุด เพื่อเป็นพื้นฐานไปต่อยอดเข้าช่วงที่ 2 ของการเรียนรู้

แต่ก่อนจะเข้าช่วงที่ 2 ก็ต้องช่วยเหลือน้องๆ เพื่อปรับพื้นฐานความเข้าใจให้สอดคล้องกับหลักวิชาการไปพร้อมๆ กัน โดยการช่วบสรุปประเด็นให้เพิ่มเติม จากทุนเดิมที่เรียนรู้ร่วมกัน อย่างน้อยจากกระบวนการในช่วงแรกน้องๆ ก็รับข้อมูลเข้าสมองไปแล้วระดับหนึ่ง การอธิบายเพิ่มเติมน่าจะช่วยให้การจัดระเบียบความเข้าใจชัดเจนมากขึ้นค่ะ ซึ่งน้องๆ ต่างก็ตั้งใจฟังกัน

 

ทำไมน้องถึงตั้งใจฟัง

ในระหว่างนั้น ตัวพี่เองก็คิดว่า การที่น้องๆ ตั้งใจฟังกันมาก บรรยากาศในห้องเงียบมากเชียว เกือบทุกสายตาจับจ้องมาที่พี่ ก็อาจจะเป็นเพราะน้องๆ คงจะได้เห็นแล้วว่า การที่น้องๆ ยังไม่เข้าใจประเด็นจากการอ่านในเวลาอันสั้นมากนัก และเรียนรู้ว่าการไม่ได้เตรียมตัวมาก่อนมันเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้อย่างไร ผนวกกับความสงสัยว่าการจับประเด็นของตนเองที่เรียนรู้แบบกลุ่มไปนั้นจะถูกต้องหรือไม่ ก็เลยทำให้ตั้งใจฟังกัน

เมื่อสรุปประเด็นแล้ว หลายๆ คนก็ดูเหมือนว่าจะเข้าใจประเด็นมากขึ้น ดังนั้นการโยนประเด็นให้ได้ลองคิดต่อยอดจากความรู้ทางวิชาการ สู่แนวคิดที่จะไปใช้งานจริงจึงเกิดขึ้น น้องๆ ทั้ง 12 กลุ่ม ต่างก็คุยหารือกันว่าจะเอาไปประยุกต์ใช้ยังไง ต่างช่วยกันคิด เมื่อกระดาษผลลัพธ์จากการแลกเปลี่ยนมาถึงมือพี่ ก็ได้ลองอ่านคร่าวๆ อย่างรวดเร็ว อันเนื่องมาจากเวลาจำกัด

 

น้องๆ พอจะเริ่มเข้าใจแล้ว

การอ่านคร่าวๆ ก็ทำได้เห็นความคิดสร้างสรรค์ต่อยอดจากเชิงวิชาการสู่การคิดที่จะนำไปใช้ ซึ่งก็ประเมินคร่าวๆ ได้ว่า น้องๆ เข้าใจประเด็นมากขึ้น ผนวกกับการยกตัวอย่างเพิ่มเติมเพื่อให้เห็นภาพการนำไปใช้จริงเพิ่มเติม ก็ดูเหมือนว่าอย่างน้อยน้องๆ ก็ได้รับสารบางอย่าง เข้าซึมไปบ้างแล้ว

 

พี่ดีใจ

ในช่วงเวลาสั้นๆ ของการเป็นพี่เลี้ยงให้น้องๆ ในเวลา 1 ชั่วโมง 20 นาที กระบวนการเรียนรู้ที่ต้องผสมผสานความรู้เชิงวิชาการ กับการฝึกคิดต่อยอดความรู้ อาจจะไม่สมบูรณ์หนัก แต่ก็สมปราถนาในความคาดหวังของพี่เลี้ยงว่าเราได้เริ่มต้นฝึกกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการจัดกระบวนการนี้ก็ได้ดึงความสนใจของน้องๆ ให้มาตั้งหน้าตั้งตาจับความรู้จากกระบวนการได้ระดับหนึ่ง เพียงเท่านี้ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่ดี และคงเป็นต้นทุนที่ดีในการนำไปใช้ในการเรียนรู้และการทำงานต่อไปในอนาคตค่ะ

หมายเลขบันทึก: 478058เขียนเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2012 18:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 เมษายน 2014 20:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เหมือน "คุณครูสอนนักเรียน" แล้วทำให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ขึ้น ;)...

ใช่เลยครับ นักเรียนจับประเด็นไม่เป็น ไม่ว่าจากการอ่าน หรือการดู การฟัง เวลาให้ตอบคำถาม โดยเฉพาะความหมาย เวลานักเรียนตอบ จะตอบตามเอกสารเลย ซึ่งบางครั้ง ใช้คลิปวีดีโอ จาก Youtube .ในการสอนเรื่องการเจริญเติบโตของพืช โดยภาพจะแสดงตั้งแต่การงอก จนกระทั้งโต แล้วถามว่า การเจริญเติบโตของพืชหมายถึงอะไร โดยตอบจากภาพที่นักเรียนเห็น นักเรียนก็อดที่จะตอบโดยเปิดเอกสารไม่ได้ ซึ่งบางครังเราต้องเสียเวลาในการสอนให้จับประเด็น แค่ความหมายอย่างเดียว ก็ใช้เวลา 1 ชั่วโมง เพื่อให้นักเรียนได้ฝึกจับประเด็นให้ได้ การตอบคำถามอธิบาย นักเรียนก็ตอบไม่ได้ ลอกมาโดยย่อ คือ ข้าบรรทัด ข้ามข้อความเพื่อให้ย่อ แต่อ่านแล้วใจความไม่ต่อเนื่องกันเลย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท