GNH ชุมชนท้องถิ่น : เวทีการติดตามความคืบหน้า การใช้เป้าหมาย/ตัวชี้วัดขับเคลื่อนความสุขมวลรวม (GNH) ระดับชุมชนท้องถิ่น(3)


15 ก.พ. 55 ผม อยู่บ้านสวนทิพย์  ถ.ติวานนท์ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี
  ร่วมเวที  การใช้เป้าหมาย/ตัวชี้วัดขับเคลื่อนความสุขมวลรวม (GNH) ระดับชุมชนท้องถิ่น
งานนี้ ท่าน อ.ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ได้ปรึกษาหารือถึงความก้าวหน้าในการดำเนินงานกับชุมชน
มีชาวบ้านที่มีประสบการณ์การทดลองใช้ การใช้เป้าหมาย/ตัวชี้วัดขับเคลื่อนความสุขมวลรวม (GNH) ระดับชุมชนท้องถิ่นจาก 3 ตำบล  บันทึกตอน 3 ครับ

 

      

 

อ.วิฑูรย์ ศรีเกษม แกนนำ ตำบลบ้านเลือก อ.โพธาราม จ.ราชบุรี บอกว่า ตัวชี้วัดที่ ดีและจะเกิดประโยชน์จะต้องได้รับการยอมรับจากคนข้างในชุมชนก่อนได้รับการยอมรับจากทั้งท้องถิ่นท้องที่ หน่วยงานราชการนำเอาไปใช้เอาไปปฏิบัติ เป็นการทบทวนสร้างบทเรียนตัวเองภายในตัวด้วย ที่สำคัญกระบวนการจัดทำเป้าหมายตัวชี้วัดความสุข ทำให้ชุมชนได้ค้นหาสิ่งที่ดีๆสิ่งที่น่าชื่นชม หรือทุนทางสังคมร่วมกันก่อน รวมทั้งใช้
หลักการที่สำคัญที่อาจารย์ไพบูลย์กล่าวไว้ว่าต้องมีความดีที่สมดุลกับศักยภาพความสามารถและสมดุลกับความสุขทั้งกายทั้งใจทั้งสังคม และใช้กระบวนการผู้นำดี สามัคคีกันดี

 

 

 

ทำให้ผมนึกย้อนถึงตอนที่เริ่มให้คำปรึกษาการจัดทำเป้าหมาย/ตัวชี้วัดการพัฒนาความสุขมวลรวม(ของสภาองค์กรชุมชนตำบลบ้านเลือกเมื่อช่วง 3 ปีที่ผ่านมา นอกจากการปรึกษาหารือในเรื่องสนับการจัดทำเป้าหมาย/ตัวชี้วัดความสุขชุมชน  การวางแผนการดำเนินงานให้บรรลุตามเป้าหมาย/ตัวชี้วัด แล้ว  ผมคิดว่าขั้นตอนการสำรวจสิ่งที่ดีๆหรือสิ่งที่น่าภาคภูมิใจของคนในชุมชนและ การค้นหาประวัติศาสตร์ของชุมชนเป็นขั้นตอนที่สำคัญ  เป็นกระบวนการที่ทำให้คณะทำงานมีอะไรบางอย่างที่เป็นสำนึกความเป็นชุมชนท้อง ถิ่นร่วมกัน  เกิดการตระหนักในคุณค่าแห่งพวกตน จนสรุปเป็นเอกลักษณ์หรือ อัตลักษณ์ของชุมชนผ่านเรื่องเล่า  เป็นตำนานของชุมชนท้องถิ่นนั้นๆ      นี่เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องเล่าที่เป็นตำนานที่สะท้อนอัตลักษณ์ของคนบ้าน เลือก

 

 

  

 

ครับ การค้นหาความดีด้วยความชื่นชม เป็นส่วนหนึ่งของ "กระบวนการจัดทำตัวชี้วัดความสุขมวลรวมชุมชนท้องถิ่น" เป็นกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมในช่วงแรกๆเลยครับ เป็นสร้างความเชื่อมั่นในพลังของชุมชนตนเองว่าเราก็มีอะไรดีๆครับ

ใน ขั้นตอนนี้   ผมประยุกต์ใช้หลักการ “กระบวนการค้นหาความดีด้วยความชื่นชม”ครับ  หรือเรียกว่า Appreciative Inquiry (AI_สุนทรียสาธกหรือสุนทรียปรัศนี) ครับ    เครื่องมือนี้เป็นกระบวนการที่พัฒนาขึ้นโดย David L. Cooperrider  


ทั้งนี้ หลักการของ  AI _สุนทรียสาธก  มีหลักการสำคัญ  คือ
AI เป็นมุมมองขั้นพื้นฐานถึงธรรมชาติของมนุษย์ เราคือใคร มี่ที่มาอย่างไร พวกเรามีคุณค่า มีความหมาย และมีความสำคัญอย่างไร
AI เป็นกระบวนการให้การยอมรับเชื่อมั่นว่าตัวเรา  ชุมชนเรา บรรพบุรุษของเรา ว่ามีอะไรพวกเราหรือบรรพบุรุษได้ทำสิ่งที่ดีๆไว้  และมีความสามารถที่เคยทำบางสิ่งบางอย่างที่มีคุณค่าไว้  แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆก็ตาม
AI เริ่มจาก  “การค้นพบเล็กๆ”  และ  “ฝันเล็ก”  แต่เป็นการชื่นชมที่ยิ่งใหญ่ ครับ


การจัดทำเป้าหมาย/ตัวชี้วัดการพัฒนาความสุขมวลรวมของสภาองค์กร ชุมชนตำบลบ้านเลือก ได้มีการถ่ายทำสารคดี ว่าด้วยเรื่องนี้ ชื่อ  "ประชาธิปไตยความสุขที่บ้านเลือกครับ"  ดูผ่าน youtube ได้ที่นี่ครับ
                         http://youtu.be/UhkNJ1Cr0MY
    ครับ กระบวนการจัดทำเป้าหมายตัวชี้วัดความสุขมวลรวมชุมชนท้องถิ่นนั้น  ผมคิดว่าขั้นตอนการสำรวจสิ่งที่ดีๆหรือสิ่งที่น่าภาคภูมิใจของคนในชุมชน(ทุน ทางสังคม)และการค้นหาประวัติศาสตร์ของชุมชนเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่ขาดไม่ได้ เพราะนี่คือรากฐานที่เป็นจิตวิญญาณหรือชีวิตจิตใจของชุมชนนั่นเอง

                 

 


ท่าน อ.ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ได้ให้แง่คิดในช่วงท้ายของเวทีว่า ความจริงแล้ว สิ่งที่มนุษย์ต้องการคือความสุขที่แท้จริง นั่นคือ “ความสงบ ความสันติ การอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข มีชีวิตที่ดี มีครอบครัวที่ดี มีชุมชนที่ดี มีสังคมที่ดี มีสิ่งแวดล้อมที่ดี ไม่ใช่เพียงแค่มีรายได้ดี ไม่ใช่เรื่องของเศรษฐกิจอย่างเดียวเท่านั้น” หากชุมชนคิดถึงการพัฒนา อย่างมีเป้าหมาย และกำหนดตัวชี้วัดของตัวเอง ก็จะสามารถกำหนดการพัฒนา กำหนดวิถีชีวิตการ อยู่ร่วมกันของชุมชนได้ และส่งต่อเป้าหมายและตัวชี้วัดเหล่านี้ ขึ้นไปสู่ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และประเทศชาติ เป็นกระบวนการจัดทำเป้าหมายตัวชี้วัดการพัฒนาประเทศ ที่ริเริ่มมาจากข้างล่าง อย่างแท้จริง ส่งผลต่อการพัฒนาที่สมดุลสอดคล้องและยั่งยืน เป็นการกำหนดความสุข ของประชาชนโดยประชาชนและเพื่อประชาชน

 

 


วิธีการสร้างตัวชี้วัดความสุข นั่นคือแนวทาง “ความสมดุล” ต้องเอาความสมดุล มาใส่ในตัวชี้วัดการพัฒนา เพราะเป็นความก้าวหน้าที่แท้จริง ยิ่งกว่าดัชนีความก้าวหน้า ทางเศรษฐกิจ ความสมดุล คือสมดุลระหว่างความดี ความสามารถและความสุข  และใช้ตัวชี้วัดความสุขทำให้เกิดการรวมพลัง ของคนในสังคม

หมายเลขบันทึก: 478921เขียนเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2012 17:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 มีนาคม 2012 20:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท