ระบบอุปถัมภ์กับระบบราชการไทย


“สายโลหิต ศิษย์ข้างเคียง เสบียงหลังบ้าน กราบกรานสอพลอ ล่อไข่แดง แกร่งวิชา ถลามาเอง ” นี่คือสโลแกนของผู้ที่ต้องการความก้าวหน้าในระบบราชการไทย

ระบบอุปถัมภ์เป็นระบบความสัมพันธ์ที่ บุคคลสองฝ่ายที่มีสถานภาพทางสังคมไม่เท่าเทียมกัน แต่อยู่ด้วยกันได้เพราะมีลักษณะต่างตอบแทนกันและกัน มีผลประโยชน์ร่วมกัน และมีความเป็นเพื่อนระหว่างกันอยู่ด้วย ซึ่งภายใต้ระบบดังกล่าวจะมีผู้อุปถัมภ์คอยให้คุณให้โทษกับคนที่ติดตามให้การ สนับสนุนตน  หรือที่เรียกว่าผู้อยู่ใต้อุปถัมภ์ โดยต่างคนได้ประโยชน์จากกันและกัน  ในทางสังคมวิทยาแล้ว เว็บเบอร์ (Maximilian Carl Emil Weber) นักสังคมวิทยาชาวเยอรมันได้ให้ความหมายของ “ ระบบอุปถัมภ์ ” หรือ ” ระบบพรรคพวก ” ว่าหมายถึง  การได้รับสิทธิพิเศษจากผู้ใหญ่ หรือญาติมิตรของตน และเป็นระบบที่ตรงข้ามกับ ระบบความชอบธรรมซึ่งนิยมใช้ในปัจจุบัน

     ระบบอุปถัมภ์  ได้อยู่คู่กับสังคมไทยมานาน สืบเนื่องมาจากในสมัยก่อนสังคมไทยเป็นการปกครองระบบเจ้าขุนมูลนาย ที่ส่งเสริมสนับสนุนระบบอุปถัมภ์อย่างชัดเจน  กล่าวง่ายๆ คือ เอาประโยชน์เพื่อพวกพ้องของตนแต่ฝ่ายเดียว  อีกทั้งยังเป็นระบบที่อาจก่อให้เกิดการทำลาย หลักนิติรัฐ (Legal State) หรือ รัฐที่อาศัยกฎหมายเป็นหลักในการปกครองประเทศ เนื่องจากระบบอุปถัมภ์ บางครั้งอาจจะอ้างอิงโดยหลักคุณธรรม แต่ก็มิใช่อ้างจากระเบียบ หรือหลักกฎหมาย และแม้ในปัจจุบันสังคมไทยจะมีระบอบการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยแล้วก็ตาม   ระบบอุปถัมภ์ก็ยังคงมีให้เห็นในสังคมไทยอยู่ทุกวัน และยังลุกลามไปทุกหย่อมหญ้า  ซึ่งจะเห็นได้อย่างชัดเจนในระบบราชการไทย  เช่น การประเมินความดีความชอบ การรับสินบน การฝากฝังลูกหลานเข้าทำงาน  ความไม่ซื่อตรงในการออกข้อสอบเพื่อสอบเข้ารับราชการ  ฯลฯ (หากกล่าวในที่นี้คงจะเกินหนึ่งหน้ากระดาษเป็นแน่)  แม้ว่าระบบราชการไทยมีการตั้งคณะกรรมการต่างๆ (เช่น คณะกรรมการสภา  คณะกรรมการบริหารงาน ฯลฯ) เพื่อถ่วงดุลอำนาจการบริหารงานของผู้บริหารแล้วก็ตาม  แต่สุดท้ายระบบราชการไทยยังต้องอาศัยอำนาจการตัดสินใจจากผู้บริหารสูงสุดใน หน่วยงานนั้นอยู่ดี ซึ่งอยากให้ท่านลองคิดดูว่าถ้าผู้บริหารสูงสุด ซึ่งมีอำนาจในการแต่งตั้ง พิจารณาความดีความชอบ โยกย้าย  ถอดถอนผู้บริหารระดับต่ำลงมา (เช่น ผู้บริหารในส่วนภูมิภาค  หรือหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ)  แล้ว ผู้บริหารในระดับต่ำลงมาจะต้องทำงานเพื่อใคร เพื่อประชาชน? หรือ เพื่อผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงาน?  ซึ่งถ้าหากผู้บริหารสูงสุดมีคุณธรรม หรือมีความชอบทำในการบริหารงานแล้ว  แน่นอนว่าผลประโยชน์สูงสุดคงตกแก่ประชาชนเป็นแน่แท้ (หัวไม่ส่ายหางก็ไม่กระดิก) แต่ในทางกลับกันถ้าผู้บริหารสูงสุดขาดคุณธรรม และความชอบธรรมในการบริหารแล้ว ก็เป็นที่แน่นอนเช่นกันว่าคงเกิดผลเสียอย่างร้ายแรงที่สุดต่อประชาชน และระบบราชการไทยเช่นกัน   ซึ่งโดยปกติวิสัยแล้วการกระทำของผู้บริหารส่วนใหญ่จะเน้นการรักษาพื้นที่ ทางสังคม (ว่ากันตรงๆ คือ เอาหน้า)  และเน้นการตอบสนองความต้องการของตนเองหรือเจ้านายเสียเป็นส่วนใหญ่  ซึ่งการกระทำเหล่านี้ล้วนเป็นผลเสียต่อระบบราชการทั้งสิ้น  และยังก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคม อีกทั้งไม่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนอีกด้วยผมคิดว่าหากผู้บริหารมีการ กระทำที่ไม่เหมาะสม การรับสินบน หรือมีความประพฤติโดยมิชอบเพื่อหาประโยชน์ใส่ตน หรืออาจมีความประพฤติโน้มเอียงไปทางใดทางหนึ่ง เพื่อเอื้อผลประโยชน์ให้กับบุคคลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นตนเอง          ลูก หลาน ญาติพี่น้อง ลูกศิษย์ เพื่อน ไม่เว้นแต่รุ่นร้องร่วมสถาบัน ฯลฯ  แสดงว่าผู้บริหารคนนั้นเป็นผู้บริหารที่ไม่มีระบอบประชาธิปไตย และไม่มีความชอบธรรมในการบริหารงานอย่างยิ่ง  ซึ่งหมายความอีกนัยหนึ่งก็คือเป็นผู้บริหารยุคโบราณนั่นเอง (หากมีผู้บริหารแบบนี้อยู่แสดงว่าเขาเกิดผิดยุคแล้ว และถ้าเกิดในยุคของฮิตเลอร์ก็น่าจะโดนฆ่าตายเหมือนกันครับ)

คำกล่าวนี้หลายคนคงเคยได้ยิน สายโลหิต  ศิษย์ข้างเคียง  เสบียงหลังบ้าน  กราบกรานสอพลอ  ล่อไข่แดง  แกร่งวิชา  ถลามาเอง นี่คือสโลแกนของผู้ที่ต้องการความก้าวหน้าในระบบราชการไทย  ผมต้องขอขยายความเพิ่มเติม ดังนี้  “สายโลหิต” คือ ลูกหลาน ญาติพี่น้องร่วมตระกูล   “ศิษย์ข้างเคียง” คือ เพื่อนร่วมรุ่น รุ่นพี่รุ่นน้อง สถาบันเดียวกัน “เสบียงหลังบ้าน”  คือ การติดสินบนให้ตนได้รับการอุปถัมภ์   “กราบกรานสอพลอ” คือ ประจบประแจง เอาใจผู้มีอำนาจ                 “ล่อไข่แดง”ก็คือ แต่งงานกับลูกของเจ้านาย หรือผู้มีอำนาจ   “แกร่งวิชา” คือ            การมีความรู้ความสามารถในหน้าที่การงานของตนเอง  “ถลามาเอง”  คือ อาศัยความพยายามและอาศัยโชค (ซึ่งโชคในความหมายของผม คือ การเตรียมพร้อมที่มาพร้อมกับโอกาส)  ซึ่งผมคิดว่าผู้ที่มีความก้าวหน้าในระบบราชการโดย “แกร่งวิชา” และ “ถลามาเอง”  ซึ่งเป็นการอาศัยความสามารถของตนเองน่าจะมีน้อยครับซึ่งจากประสบการณ์ และเหตุการณ์ต่างๆ ที่ประสบมาทำให้ผมคิดเช่นนั้น และคิดว่าท่านผู้อ่านคงจะเห็นเป็นเช่นเดียวกัน  (นอกจากนี้สังเกตได้ว่าข้อความ “แกร่งวิชา” และ “ถลามาเอง”   ยังมาเป็นอันดับสุดท้ายอีกด้วย  ) นั่นแสดงว่า ถ้าสโลแกนข้างต้นไม่มีความจริงคงไม่มีคนกล่าวเช่นนี้ใช่หรือไม่ครับ? (พูดง่ายๆ ประสาชาวบ้าน คือ ถ้าไม่มีมูลสุนัขคงไม่ถ่ายครับ) ท่านผู้อ่านคงให้ตอบตัวเองได้

          ดังนั้นการกำจัดระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทยให้สิ้นซากโดยพึ่งพาผู้หลักผู้ใหญ่ ที่ ช่วยประพฤติให้เป็นตัวอย่างที่ดีแก่เด็กๆ ที่กำลังเติบโตเป็นอนาคตของชาติ อีกทั้งยังอาจจะต้องพึ่งพาผู้บริหารในหน่วยงาน หรือองค์กรต่างๆ ในระบบราชการช่วยเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อให้เป็นตัวอย่างที่ดีของคนในองค์กร ผมว่าน่าจะช่วยบรรเทา หรือลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่เกิดจากระบบอุปถัมภ์ได้เหมือนกันครับ  หรือหากผู้อ่านมีแนวคิดดีๆ ก็เข้ามาร่วมแบ่งปันได้กันได้เหมือนเดิมนะครับ

คำสำคัญ (Tags): #ระบบอุปถัมภ์
หมายเลขบันทึก: 479441เขียนเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2012 11:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 09:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท