การถอดบทเรียนตามแนวมานุษยวิทยา


ความงดงามของการถอดบทเรียนแนวมานุษยวิทยาสรุปก็คือการเขียนเชิงบูรณาการให้ได้มาซึ่ง "ศาสตร์" คือการผลิตสร้าง "องค์ความรู้ใหม่" และ "ศิลป์" คือลีลาในการเขียนเชิง "true fiction" ได้อย่างลงตัว

หลักการถอดบทเรียนตามแนวมานุษยวิทยาที่ผู้เขียนนำเสนอในครั้งนี้เกิดขึ้นจากการที่ผู้เขียนมีประสบการณ์ในการถอดบทเรียนเกี่ยวกับกิจกรรมแต่ละโครงการ ประกอบกับเมื่อผู้เขียนมีประสบการณ์จากการเขียนงานวิจัยภาคสนามเชิงมานุษยวิทยา จึงทำให้เข้าใจว่าการถอดบทเรียนอาจถือว่าเป็นอีกขั้นหนึ่งถัดจากการบันทึกสนาม ซึ่งนำไปใช้ประโยชน์ในการรวบรวม ประมวลผล วิเคราะห์ สังเคราะห์ให้เป็นผลงานวิจัยต่อไปได้ ในขณะเดียวกันการถอดบทเรียนก็อาจจะเป็นผลงานการเขียนที่เก็บตกระหว่างการวิจัยภาคสนามเพื่อทำความเข้าใจประสบการณ์ความรู้ของ KI (Key Informant) หรือกลุ่มตัวอย่างผู้ให้ข้อมูลที่มีประเด็นร่วมกัน

 

มุมมอง ความรู้ ความเข้าใจต่อการถอดบทเรียนอาจจะมีหลากหลาย ในการนำเสนอครั้งนี้ ผู้เขียนขอตีกรอบว่าเป็นการแลกเปลี่ยนในเรื่องการถอดบทเรียนประสบการณ์ของ KI  จากการที่เคยทำวิจัยภาคสนามและเขียนงานในเชิงมานุษยวิทยา โดยเห็นว่าสามารถนำแนวทางมาปรับใช้ร่วมกันได้ เนื่องจากประเด็นร่วม ซึ่งเป็นสิ่งที่ศึกษานั้น คือ "เรื่องราวของมนุษย์" เช่นกัน การนำเสนอเรื่องราวของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิต กิจกรรม และบริบทที่เกี่ยวข้อง ล้วนแล้วแต่จะต้องนำมา "เล่าเรื่อง" ให้ได้ครอบคลุมหลายมิติ  ซึ่งในความเป็นจริงแล้วแบบแผนการดำรงชีวิตของมนุษย์ในแต่ละพื้นที่อาจจะแตกต่างกันไม่มากนัก แต่ประสบการณ์ของมนุษย์ที่อยู่ร่วมกันเป็นชุมชนในแต่ละพื้นที่/ท้องถิ่น อาจจะมีความโดดเด่นเฉพาะไม่เหมือนกัน เทคนิคการเล่าเรื่องประสบการณ์เหล่านั้น ไม่เพียงแต่จะต้องสะท้อนอัตลักษณ์ ความเป็นชุมชนของท้องถิ่นนั้น ๆ ออกมาให้ได้ ยังมีการสะท้อนกลับตัวตนของผู้เล่าเรื่องเอง นั่นหมายความว่าการถอดบทเรียนจะมีสองมิติที่ซ้อนกันอย่างใกล้ชิดแนบแน่นอยู่เสมอ คือประสบการณ์และการตีความความหมายชีวิตของ KI หรือ "คนใน" ที่อยู่ในพื้นที่ที่เราเลือกมาศึกษา กับผู้ถอดบทเรียนหรือผู้เล่าเรื่องนั่นเอง

 

การถอดบทเรียนในภาคสนามแตกต่างจากการถอดบทเรียนในเวทีที่จัดขึ้น ตามความเข้าใจของคนทั่วไปก็คือ "บริบท" ผู้ถอดบทเรียนจะเห็นบริบทที่แวดล้อมชุมชน ผู้คนหรือ KI ที่เราศึกษา ทำให้เราทราบโดยนัยเกี่ยวกับกระบวนการสังคมกรณ์ (socialization) และองค์ประกอบที่หล่อเลี้ยงความเป็นตัวตนและทำให้เขามีวิถีชีวิตและวิธีการมองโลกเช่นนั้น  ในขณะที่การถอดบทเรียนในเวทีที่จัดขึ้น เราจะมองเห็นบริบทผ่านประสบการณ์ผู้เข้าร่วมกระบวนการ ("participant") นอกจากนี้ ความแตกต่างที่สำคัญก็คือฐานะของผุ้ถอดบทเรียนภาคสนามจะเสมือนกับเป็น "คนใน" แม้ว่าจะเป็น "คนนอก" ก็ตาม  แต่การถอดบทเรียนในเวที เราคือ "คนนอก" โดยแท้ ที่กล่าวเช่นนี้ก็คือการที่เราจะถอดบทเรียนประสบการณ์ของ KI ได้อย่างลึกซึ้งนั้น เราควรที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในชุมชนด้วย  ที่เรียกกันว่า "การสังเกตการณ์อย่างมีส่วนร่วม (participant observation)" หมายถึงการสังเกตพฤติกรรมของผู้ที่ใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนหรือสังคมแห่งหนึ่งโดยผู้ถอดบทเรียนจะเข้าไปร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ทำการสังเกต สัมภาษณ์และบันทึกข้อมูลอย่างเป็นระบบ

ผู้เขียนนั่งเรือเข้าไปในศูนย์เรียนรู้ของสมาคมคนป่าทามที่ชุมชนราษีไศลกับหัวนาร่วมมือร่วมใจกันขอพื้นที่จากหน่วยงานราชการเพื่อจัดตั้งขึ้นเป็นศุูนย์เรียนรู้ถ่ายทอดวิถีชีวิต ภูมิปัญญาท้องถิ่น และจัดกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน  ช่วงนั้น ประมาณปลายเดือนตุลาคม ๒๕๕๔ เป็นช่วงมหาอุทกภัยอย่างที่ไม่เคยประสบกันมาก่อนในรอบหลายสิบปีซึ่งเป็นข่าวมากมายโดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศไทยแต่ในพื้นที่ชายขอบ อย่างชุมชนราษีไศลและหัวนาก็มีสภาพ "น้ำท่วม" หนักไม่แตกต่างกัน สาเหตุส่วนหนึ่งก็ไม่น่าจะต่างกันคือมาจาก "น้ำมือมนุษย์ด้วยกัน" นอกจากฝนฟ้าตามธรรมชาติที่มีเป็นจำนวนมากเป็นพิเศษ คำพูดที่ผู้เขียนได้ยินแว่วมา ฟังแล้วก็ละอายใจก็คือ "ทีนี้ คนกรุงจะได้รู้ซึ้งว่าทำไมพวกเขาจึงไปประท้วงที่ทำเนียบ มันไม่ใช่แค่เรียกค่าชดเชย..."

ชาวบ้านบอกผู้เขียนว่าน้ำท่วมครั้งนี้มีปริมาณมากที่สุดในรอบหลายสิบปี ปกติน้ำท่วมและไหลไปเร็ว แต่ระยะหลังน้ำท่วมนาน  วันที่ผู้เขียนลงพื้นที่เป็นวันที่น้ำขึ้นสูงที่สุด รถเกือบเข้าไม่ได้ แต่ก็ผ่านพ้นวิกฤติมาได้หวุดหวิด

 

 

                                       กินอยู่ด้วยกัน

                                       ส้วมลอยน้ำ

 ณ ศูนย์เรียนรู้ที่ประกอบไปด้วยสิ่งปลูกสร้างหลายหลัง มีอยู่หลังหนึ่งที่ปลูกไว้สูงพอจนน้ำท่วมไม่ถึง สามารถพายเรือเข้าไปได้ และเป็นเรื่องที่ผู้เขียนต้องขอชื่นชมไว้ในที่นี้คืออาหารการกินในภาวะน้ำท่วมไม่มีขาดแคลน ผู้เขียนไปร่วมวงรับประทานอาหารหลายมื้อ อาหารก็สามารถหากินได้ง่าย เพราะที่นี่เลี้ยงเป็ดไว้หลายตัว ออกไข่หลายฟอง ผักที่ปลูกไว้บางประเภทอยู่กับน้ำได้ ส่วนกับข้าวบางอย่างก็สามารถหาซื้อในตลาดใกล้ ๆ ได้เช่นกัน

     

ที่สำคัญที่นี่ถูกตัดไฟ เพื่อป้องกันกระแสไฟฟ้าช๊อตผู้คนที่อาศัยในบริเวณนั้น ดังนั้น การหุงหาอาหารใช้เตาถ่าน ไม่ลำบากเหมือนการใช้ชีวิตในเมืองที่ต้องพึ่งพา "ไฟฟ้า" สิ่งนี้เป็นเรื่องพื้นฐานที่ชาวกรุงหรือคนเมืองตระหนักดีว่าถ้าเกิดภัยธรรมชาติขึ้นเมื่อไหร่ หายนะย่อมมาเยือน เพราะเราไม่สามารถใช้ชีวิตสามัญกับธรรมชาติที่แวดล้อมขึ้นได้เลย เนื่องจากธรรมชาติที่รอบตัวเรา   เราล้วนสร้าง ประดิษฐ์และปรุงแต่งขึ้นทั้งสิ้น  การเรียนรู้ชีวิตที่แท้จริงคือการเข้าใจในชีวิตที่เปลือยเปล่าปราศจากสิ่งห่อหุ้มปรุงแต่ง จึงจะเห็นชัดเจนว่า "สิ่งจำเป็น" สำหรับชีวิตเหลือแค่กี่อย่าง

 

 

 ศูนย์เรียนรู้ที่นี่ "เลี้ยงกบ" "ปลูกผักบุ้ง"  "ปลูกข้าว" "เพาะเห็ด" และมี "เรือนสำหรับประชุมสัมมนา" แม้ว่าเรือนบางหลังจะจมน้ำ แต่สิ่งจำเป็นก็ถูกเก็บไว้ในที่สูงแล้วเป็นส่วนใหญ่

 

ตามที่ผู้เขียนกล่าวไว้แล้วในเบื้องต้นว่า "บริบท" ในการถอดบทเรียนภาคสนามเป็นเรื่องที่สำคัญ การเก็บเกี่ยวประสบการณ์ผ่านประสาทสัมผัสทั้งหมดเป็นสิ่งที่ไม่อาจละเลยได้ การมุ่งกระโจนไปเจาะประเด็นที่จะสัมภาษณ์หรือเก็บข้อมูลอย่างเดียวทำให้ผู้ถอดบทเรียนขาดมิติในการทำความเข้าใจปัจจัยภายนอกที่แวดล้อม KI หรือชุมชนที่เราศึกษา ดังนั้น การนำความรู้ที่ได้มาถอดเป็นตัวหนังสือ เรื่องเล่านั้นต้องมี "ฉาก"  (setting)  ซึ่งเป็นการฉายภาพบริบทโลกภายนอกทางกายภาพที่แวดล้อม KI หรือชุมชนนั้น ก่อนที่จะเข้าสู่โลกภายในของ KI เราจำเป็นต้องเข้าใจโลกภายนอกของเขาก่อน ประกอบกับเมื่อต้องนำความรู้ที่ได้มาเขียนจำเป็นที่จะต้องให้บริบททางประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ การเมืองและวัฒนธรรม เมื่อเขียนในลักษณะนี้จะทำให้ผู้อ่านรู้สึกว่ากำลังอ่านนวนิยายเล่มหนึ่งอยู่ หากทว่าเป็นนวนิยายชีวิตจริง ซึ่งผลงานการเขียนของนักมานุษยวิทยาที่ดีจะมีลักษณะเป็น “true fiction”[1]  โดยเป็นการนำเสนอชีวิตจริงในรูปแบบการร้อยเรียงด้วยถ้อยคำสละสลวยมีชีวิตชีวามีลีลาเสมือนการใช้ศิลปะในงานเขียนนวนิยายที่เรียกว่า        การเขียนเชิงวรรณกรรม (literary approach)             สะท้อนการเขียนที่ตัวผู้เขียนเป็นส่วนหนึ่งของผลงานการเขียน ซึ่งเป็นการสะท้อนกลับ (reflexivity) ตัวตนของเราออกมา จากการที่เราได้ไปใช้วิธีการสังเกตการณ์อย่างมีส่วนร่วม (participant observation) และ “สะท้อนผลิตผลของการมีส่วนร่วม”[2]นั้นออกมาให้ปรากฎ  กล่าวคือเราเป็นคนนอกที่เข้าไปใช้ชีวิตร่วมกับคนในด้วยนั่นเอง

             อาจารย์สนั่น ชูสกุล ผู้ให้ความรู้ อธิบายบริบทชีวิตชุมชนให้ผู้เขียน

                                 ขอกราบขอบพระคุณมา ณ โอกาสนี้ 

สิ่งที่ผู้วิจัย/ในที่นี้ขอย่อส่วนรวมถึงผู้ถอดบทเรียนด้วย จะต้องตระหนักก็คือ KI ไม่ใช่ วัตถุที่ศึกษาแบบเฉื่อยชาไร้ชีวิตจิตใจ ในทางตรงข้าม KI   เป็นผู้กระทำการที่มีบทบาทอย่างมาก โดยไม่ได้เป็นบุคคลที่รอให้เข้ามาศึกษา แต่เป็นผู้มาศึกษาตัวผู้ถอดบทเรียนด้วยเช่นกัน เช่น ในบางครั้ง ผู้ถอดบทเรียนอาจจะต้องแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับ KI เพื่อสะท้อนกลับสิ่งที่ได้จากการทำงานในพื้นที่ หรือแม้กระทั่งการถูกซักประวัติ ความรู้ ความเข้าใจ รวมถึงให้ข้อเสนอแนะ/ข้อสังเกต ผู้ถอดบทเรียนจึงอาจถูกถอดบทเรียนด้วย จึงต้องทำการบ้านเกี่ยวกับพื้นที่ที่ศึกษา และมีความรู้ความเข้าใจในชุมชนนั้น ๆ พอสมควร ตลอดจนความอ่อนน้อมถ่อมตนที่จะไปขอความรู้ประสบการณ์จาก KI ซึ่งเปรียบเสมือนเป็น "ครู" ในพื้นที่และเวลานั้นๆ  และแบบอย่างที่ได้จาก KI ก็จะเป็น "ครู" ให้กับผู้อ่านทั่วไป ดังนั้น บทบาทของผู้ถอดบทเรียนและ KI จึงมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันและมีส่วนร่วมกันในการประกอบสร้างความหมายของ ”ตัวตน” "องค์ความรู้"  ในงานเขียนนั้น ๆ ให้ปรากฎสู่สาธารณะ

ลักษณะโดดเด่นของงานเขียนแนวมานุษยวิทยาที่ไม่เหมือนกับงานเขียนในสาขาวิชาอื่นคือการทำให้เสียงหลากหลายปรากฎตัวตนขึ้นมาจากเดิมที่ไม่เคยมีการเหลียวแล โดยอาจจะถูกมองข้ามหรือถูกกดทับเอาไว้   แต่ละเสียงของผู้คนในสนามวิจัยจึงมีคุณค่าและความหมายเพราะเป็นเสียงที่พวกเขาสะท้อนออกมาจากตัวตนของพวกเขาเอง ผู้ถอดบทเรียน/ผู้วิจัยเพียงแต่ทำหน้าที่เสมือนสะพานเชื่อม “ตัวตน” ที่ไม่เคยมีใครมองเห็นในสนามวิจัยเล็ก ๆ แห่งหนึ่งให้ปรากฎออกมาสู่สนามวิชาการหรือพื้นที่สาธารณะ

 

นอกจากที่กล่าวมาแล้ว  สิ่งที่น่าสนใจที่จะนำเสนอปิดท้ายก็คือกลวิธีการเขียนแนวมานุษยวิทยาตามที่คลิฟฟอร์ด เกียรตซ์เสนอไว้ว่าอย่างน้อยมี ๖ วิธีการ[4] ได้แก่    

๑.บริบททางสังคม (Contextuality)                                             

๒.สำนวนภาษาที่ทำให้เข้าใจขนบธรรมเนียมประเพณี (rhetorically)                                   

๓.ยกระดับข้อมูลเป็นการต่อต้านโครงสร้างเดิม (institutionally)   รื้อสร้างระบบความเชื่อที่เคยมีมา                            

๔.การให้ข้อสรุปเป็นการทั่วไป (generically)                                                                  

๕. มีนัยยะทางการเมือง (politically)                                     

๖. การให้บริบททางประวัติศาสตร์ (historically)          

จึงกล่าวได้ว่าหากการถอดบทเรียนนำการเขียนแนวมานุษยวิทยามาปรับใช้จะทำให้ผลงานการเขียนมีความลุ่มลึก มีหลายมิติ มีบริบท มีการสะท้อนกลับระหว่างผู้ที่ถอดบทเรียนและประสบการณ์ความรู้ของ KI  โดยผู้เขียนเห็นว่าหัวใจของการถอดบทเรียนคือ "การผลิตความรู้ (production of knowledge)" ขึ้นใหม่จากประการณ์ความรู้ที่ได้จาก KI โดยการยกระดับ พัฒนา ข้อมูลประสบการณ์ความรู้ที่ได้มาวิเคราะห์ สังเคราห์ ภายใต้กรอบความรู้ทางวิชาการที่ก่อเกิดขึ้นมาจากผลงานวิจัยภาคสนามมากมายที่กระทำ "ซ้ำ ๆ " จนตกผลึกเป็น "วิธีวิทยา" "แนวคิด" "ทฤษฎี" และเมื่อเราทบทวนนำมาปรับใช้ เราได้สร้างความแตกต่างต่อยอดขึ้นได้อย่างไรในเนื้อหาและกระบวนการ  อันจะนำไปใช้ได้ในเชิงประยุกต์เพื่อเป็นแบบอย่างให้กับสังคมโดยรวม หรือสังคมต่างพื้นที่  และหรือเพื่อการแก้ไขปัญหาสังคมให้สอดคล้องกับยุคสมัยนั้น ๆ ได้

 

      ความงดงามของการถอดบทเรียนแนวมานุษยวิทยาสรุปก็คือการเขียนเชิงบูรณาการให้ได้มาซึ่ง "ศาสตร์" คือการผลิตสร้าง "องค์ความรู้ใหม่" และ "ศิลป์" คือลีลาในการเขียนเชิง "true fiction" ได้อย่างลงตัว 


[1]Clifford, “Partial Truths” in Writing Culture : The Poetics and Politics of Ethnography, p. 6

[2]Hammersley and Atkinson, Ethnography Principles in practice, p. 15.

 [3]พัฒนา กิติอาษา, ““สนาม” ในความทรงจำของนักเรียนมานุษยวิทยา” ใน คนใน, หน้า 114.

[4]Clifford, “Partial Truths” in Writing Culture : The Poetics and Politics of Ethnography, p. 6.

 

   ผู้ต่อสู้ชีวิตเพื่อขอใช้ชีวิตอย่างพอเพียง 

 

หมายเลขบันทึก: 481637เขียนเมื่อ 11 มีนาคม 2012 11:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 สิงหาคม 2012 11:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (16)

พี่กิ่งครับ

อยากขอให้ช่วยติด tag คำว่า ถอดบทเรียน  เเละ facilitator ด้วยครับ เพื่อการเผยเเพร่ในวงกว้างมากยิ่งขึ้นไปสำหรับบันทึกที่ดีๆครับ

 

ขอบคุณครับ

...

เรามาถอดบทเรียนตามอาจารย์
ให้เบิกบานหัวใจใสสะอาด
ชีวิตคนดั่งฟ้าให้มาวาด
จักให้บาดลงไปในใจตน

เกิดเป็นคนทำตนเป็นมนุษย์
ให้พิสุทธิ์หลุดขอบกรอบทุกหน
เพียงคิดดีทำดีอยู่ที่ตน
เกิดเป็นคนแบบนี้จึงดีงาม

...

(แวะมา ๑ รอบ แต่ไม่รู้จะตอบอะไรครับ อาจารย์นพลักษณ์ ๙)

ฝากสิ่งดีงามไว้กับบันทึกนี้นะครับคุณsila

  • ดำเนินการแล้วค่ะคุณเอก Ico48 ขอบคุณที่แนะนำค่ะ ตอนแรกแค่คิดว่าเขียนเล่นๆ หากจะเป็นประโยชน์แก่ท่านใดในวงกว้าง คงต้องมาปรับแก้ไขในโอกาสต่อไปค่ะ  
  • แด่อาจารย์นพลักษณ์ Ico48 ๑๐

       "อ่านกวีที่เฉียบคม ชมภาษา

       แก่วิชา โคลง กลอน และกาพย์ ฉันท์

       ทั้งความหมายซ่อนอยู่ รู้ใจกัน

       ร่วมแบ่งปันทั้งความรู้และความงาม"

ดอกไม้ก็งาม คนให้ก็งดงามอยู่เสมอค่ะ  ขอบคุณค่ะIco48

เห็นทั้งวิธีการสะท้อนชีวิตความเป็นอยู่และหลักการถ่ายทอดบทเรียนค่ะ

ว้าว พี่หญิงศิลา ลุย ซะหมือนกันนะคะ

ชอบๆ บรรยากาศ เชิงรุก ถึงผู้คนแบบนี้ ส่งกำลังใจ ขอบคุณค่ะ

ชัดเจน  แจ่มแจ้ง  เป็นประโยชน์มาก ๆ ต่อการงานที่คลุกคลี (วงใน) ปัจจุบัน

จะพยายามเขียนถอดออกมาให้เป็นงานที่น่าอ่าน

ขอบคุณมากนะคะอาจารย์ Sila Phu-Chaya

อ่านบันทึกเรื่องนี้ เสมือนการอ่านงานวิจัยเล่มหนึ่งชัดๆ เลยก็ว่าได้

คำถามจากคนภายนอก มักหมายถึงการรวบรัดตอบคำถามเองไปในตัว

โดยไม่ให้เวลากับคนภายในได้ตอบคำถามนั้นด้วยตนเอง..

การลงพื้นที่สู้การเรียนรู้แบบฝังตัว

ทำให้เราเห็นคำตอบที่มีอยู่ในบริบทตรงนั้นอย่างแท้จริง

ถึงแม้บางคำตอบอาจยังต้องอาศัยบริบทภายนอกเป็นกลไกหนุนเสริม หรือแม้แต่นำพา

นั่นแหละครับ ทำไม ผู้คนเหล่านี้จึงพาตัวเองไปปักหลักประท้วงในเมืองกรุงฯ

อ่านบันทึกนี้แล้ว มีความสุขมากครับ.

ขอบคุณจริงๆ ครับ

  • ขอบคุณพี่นงนาทสำหรับกำลังใจที่มีให้เสมอมาแก่กัลยาณมิตรทุกคนใน G2K ด้วยค่ะ
  • ขอร่วมเสวนาด้วยครับ

  • "....... ลักษณะโดด เด่นของงานเขียนแนวมานุษยวิทยาที่ไม่เหมือนกับงานเขียนในสาขาวิชาอื่นคือการ ทำให้เสียงหลากหลายปรากฎตัวตนขึ้นมาจากเดิมที่ไม่เคยมีการเหลียวแล โดยอาจจะถูกมองข้ามหรือถูกกดทับเอาไว้   แต่ละเสียงของผู้คนในสนามวิจัยจึงมีคุณค่าและความหมายเพราะเป็นเสียงที่พวก เขาสะท้อนออกมาจากตัวตนของพวกเขาเอง ผู้ถอดบทเรียน/ผู้วิจัยเพียงแต่ทำหน้าที่เสมือนสะพานเชื่อม “ตัวตน” ที่ไม่เคยมีใครมองเห็นในสนามวิจัยเล็ก ๆ แห่งหนึ่งให้ปรากฎออกมาสู่สนามวิชาการหรือพื้นที่สาธารณะ ...... " ดีจังเลยครับ

  • ตรงที่กล่าวถึงว่าคลิฟฟอร์ด เกียรตซ์ มีข้อเสนอ ๑ ในข้อว่างานวิจัยแนวนี้ จะต้องมีนัยยะทางการเมือง (politically)  นั้น หากเห็นนัยสำคัญดังกล่าวนี้ต่อสังคมไทย ก็จะเป็นโอกาสทำวิจัยและทำงานเชิงสังคมไปด้วยกัน โดยทำกระบวนการที่จะต้องออกแบบให้มีความสะท้อนการเรียนรู้และทำให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องมีประสบการณ์ต่อสังคมไปบนกระบวนการวิจัยอยู่เสมออย่างหนึ่งได้ก็คือ 'สังคมวัฒนธรรมประชาธิปไตยที่สะท้อนอยู่ในกระบวนการสร้างและใช้ความรู้'

  • แง่มุมที่มีนัยทางการเมืองอย่างนี้ จะทำให้เรื่องอำนาจ ความขัดแย้งแตกต่าง และโครงสร้างเชิงอำนาจแบบเดิมๆที่มีขีดจำกัด มีการจัดการบนระเบียบวิธีการวิจัยมาช่วย ให้สังคมได้เกิดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาเป็นโครงสร้างทางปัญญาและการสร้างพลังอำนาจที่มีโอกาสกลมกลืนสู่ชีวิตประจำวัน เพิ่มโอกาสและทางเลือกในการสร้างพัฒนาการทางสังคมไปบนการวิจัยเล็กๆ ที่ถือเอาแก้ปัญหาของประชาชนและชุมชนเป็นตัวตั้ง ไปด้วย

  • การสร้างความจริงและความรู้ความจริงของการวิจัยแบบนี้ จึงมีข้อดีที่ทำให้คนที่มีกำลังความรู้และกำลังทางวิชาการ มีวิธีเดินไปบวกกับชุมชนและสังคม ทำให้ทุนมนุษย์และทุนทางปัญญาเป็นปัจจัยการแก้ปัญหาและร่วมสร้างสรรค์สุขภาวะสังคมได้มากขึ้น

  • เป็นข้อสังเกตและร่วมสั่งสมบทเรียนไปด้วยน่ะครับ

  • สวัสดีค่ะอ.Sila
  •  เสียดายจังมาช้าไปหน่อย แต่ก็มานะคะ
  •  ไปลุยเก็บข้อมูลถึงที่แบบนี้
  • เป็นการประกันคุณภาพของงานอย่างดีนะคะ
  • เยี่ยมค่ะ
  • ชื่นชม ก็เลยส่งชวนชมมาให้ด้วย

 

ขอบคุณที่นำมาเรียนรู้การถอดบทเรียน

มาเชียงใหม่บ้างหรือเปล่าค่ะ หน้าฝนแล้วปลูกต้นไม้ใหม่บ้างหรือยัง

อย่าลืมปลูกฟักข้าวด้วยนะคะ มีประโยชน์มากมายค่ะ คิดถึงนะคะ

 

กลับมาอ่านและทบทวนอีกครั้ง มีความสุขคะ ได้เรียนรู้อีกมากมายในเรื่องที่ยังไม่เคยทำ 

ชอบมากคะ เป็นการถอดบทเรียนที่ได้อ่านแล้วมองเห็นภาพได้เลยคะอาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท