Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

การพัฒนาสมองของลูกพุทธบุตรให้ฉลาดรอบด้านตามหลักทฤษฎีพหุปัญญา (8 Multiple Intelligences)


ความฉลาดหรือสติปัญญาทำให้คนเราเป็นมนุษย์ พูดได้ เราทุกคนต่างมีความฉลาด แม้เป็นสิ่งที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด แต่ก็สามารถยืดหยุ่นและพัฒนาได้ ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อม ความฉลาดไม่ได้มีด้านเดียวและบางครั้งใช้ความสามารถหลายๆ ด้านในเวลาเดียวกัน ติดตามค่ายพุทธบุตรได้ที่ www.veeranon.com

ปิดเทอมหน้าร้อนนี้ คุณพ่อคุณแม่พาเด็กๆไปเข้าค่ายพุทธบุตรที่วัดป่าเจริญราชเพื่อพัฒนาความฉลาดรอบด้านกันนะคะ เข้าร่วมฟรีค่ะ กิจกรรมในค่ายพุทธบุตรมีหลากหลาย จัดขึ้นเพื่อพัฒนาเด็กๆหรือลูกพุทธบุตรโดยเฉพาะ ช่วยพัฒนาภาวะผู้นำทางจริยธรรมด้วยค่ะ  ที่สำคัญได้พัฒนาสมองของเด็กๆตามทฤษฎีพหุปัญญาด้วยค่ะ 

            พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระบรมราโชวาทพระราชทานลงพิมพ์ในหนังสือ “วันเด็ก” ประจำปี ๒๕๓๔  ความตอนหนึ่งว่า “ เด็กไทยต้องฝึกอบรมธรรมจริยาให้สมบูรณ์พร้อมในตนเอง จักได้เป็นคนดีมีคุณ มีประโยชน์ และสามารถรักษาตัวรักษาชาติบ้านเมืองให้ดำรงคงอยู่ด้วยความเจริญมั่นคงต่อไปได้” จากพระบรมราโชวาทดังกล่าวนำมาซึ่งการจัดโครงการค่ายพุทธบุตร รุ่นที่ ๕ “เด็กดีของพ่อ” โดยพระครูปลัดวีระนนท์ วีรนันโท ณ ศูนย์วิปัสสนากรรมฐาน วัดป่าเจริญราช

 

 

เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาแด่ “องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า”

เพื่อถวายแด่พ่อของแผ่นดิน  “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช”

เพื่อตอบแทนพระคุณบิดา มารดา “พ่อ แม่ของยุวชนทุกคน”

ซึ่งในการเข้าค่ายพุทธบุตรครั้งนี้ ได้มีการพัฒนาหลักสูตรการอบรมคุณธรรมให้ทันสมัย หลากหลายและคลอบคลุมในหลายๆด้านมากขึ้น โดยนำทฤษฎีพหุปัญญา (8 Multiple Intelligences) มาใช้ในการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ เพื่อให้ลูกพุทธบุตรได้พัฒนาคุณธรรม จริยธรรมและความฉลาดรอบด้านมากขึ้น

    

 

ในปัจจุบัน ทฤษฎีพหุปัญญา (8 Multiple Intelligences) ได้นำเสนอความเชื่อว่า เด็กแต่ละคนมีความฉลาดแต่ละด้านที่แตกต่างกันไป และมีรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะคน ดังนั้น คุณพ่อ คุณแม่ และคุณครูจึงควรพยายามค้นหาจุดเด่นของเด็กว่ามีความฉลาดทางด้านใดบ้าง และมีรูปแบบอย่างไร เพื่อทำความเข้าใจและสามารถช่วยส่งเสริมให้เขามีพัฒนาการตามแบบฉบับของเขาเองได้อย่างเหมาะสม เพราะเด็กทุกคน คือ ส่วนผสมของความฉลาดทั้ง 8 ด้าน ซึ่งแต่ละด้านต่างก็มีความสำคัญเท่าเทียมกัน

 

ศาสตราจารย์โฮเวิร์ด การ์ดเนอร์ (Howard Gardner) นักจิตวิทยา ชาวอเมริกา แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด

 

 

ได้เขียนไว้ในหนังสือ Frames of Mind ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2526 ว่าปัญญาของ มนุษย์หรือความเก่งของมนุษย์มีอยู่ 7 ด้าน และในปี พ.ศ. 2538 ได้เพิ่มเป็น 8 ด้าน นำเสนอ "ทฤษฎีพหุปัญญา" (The Theory of Multiple Intelligences) โดยเสนอแนวคิดว่า สติปัญญาของมนุษย์มีหลายด้านที่มีความสำคัญเท่าเทียมกันขึ้นอยู่กับว่าใครจะโดดเด่นในด้านไหนบ้าง แล้วแต่ละด้านผสมผสานกัน แสดงออกมาเป็นความสามารถในเรื่องใด เป็นลักษณะเฉพาะตัวของแต่ละคน  ปัญญาหรือความฉลาดของมนุษย์ แบ่งได้ 8 ด้าน ตามทฤษฎีพหุปัญญา (8 Multiple Intelligences) ประกอบด้วย

 

 

1. ความฉลาดด้านภาษา (Linguistic intelligence)

คือ ความสามารถรับรู้ เข้าใจภาษา และสามารถสื่อภาษาพูดจาโน้มน้าวผู้อื่น ให้ผู้อื่นเข้าใจได้ตามที่ต้องการ  ความสามารถในการคิดเป็นภาษาพูดและการใช้ภาษาเพื่อแสดงออก ชื่นชอบในความหมายที่สลับซับซ้อนของภาษา มีความสามารถด้านการเขียน ความสามารถด้านบทกวี มีความสามารถในการจำวันเดือนปี และคิดประดิษฐ์คำ สามารถในการใช้ภาษารูปแบบต่างๆ ตั้งแต่ภาษาพื้นเมือง จนถึงภาษาอื่นๆ ด้วย เด็กที่มีความถนัดด้านภาษาจะสามารถเรียนรู้คำศัพท์ใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็ว พวกเขาสนุกกับการต่อคำศัพท์และเกมส์ ชื่นชอบโคลงกลอน เพลง และนิทาน มีบุคลิกภาพดังนี้ ป็นคนมีระเบียบ ระบบ สามารถให้เหตุผลในเรื่องต่างๆได้ดี เป็นนักฟัง นักอ่าน นักเขียน สามารถสะกดคำได้ง่าย ชอบเล่นเกมต่อคำ ช่างจำเรื่องเล็กๆน้อยๆ เป็นนักพูดและนักเล่าเรื่องที่เก่ง

จุดเด่นของเด็กที่มีความฉลาดด้านภาษา

  • จำและคิดเป็นภาษาหรือคำศัพท์ได้ดี เป็นระบบ
  • เรียนรู้คำศัพท์ใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็ว และสามารถนำไปใช้ได้
  • พูดโน้มน้าวผู้อื่น ให้ผู้อื่นเข้าใจได้ตามที่ต้องการ 
  • อธิบายเรื่องที่เกี่ยวกับตนเองอย่างมีเหตุผลได้ดี

 


กิจกรรมค่ายพุทธบุตรเพื่อพัฒนาความฉลาดด้านภาษา เช่น การสวดมนต์ด้วยภาษาบาลี และสวดคำแปลภาษาไทย การอ่านนิทานธรรมะ การเล่าเรื่องธรรมะ การฟังธรรมะ การเขียนบันทึกความดี การเขียนเรียงความความดี การโต้วาทีธรรม การใช้สัญลักษณ์ธรรมะ

 


2. ความฉลาดด้านคณิตศาสตร์และตรรกะ (Logical-Mathematical intelligence)

คือ ความสามารถในการคิดแบบมีเหตุและผล การคิดเชิงนามธรรม การคิดคาดการณ์ และการคิดคำนวณทางคณิตศาสตร์ ความฉลาดทางด้านนี้เกี่ยวกับความสามารถในการนำตรรกะมาแก้ไขปัญหา จำแนกสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระเบียบแบบแผนได้ พิจารณาข้อสันนิษฐานและสมมติฐานต่าง ๆ สามารถทำโจทย์คณิตศาสตร์ที่สลับซับซ้อนได้ และชอบเรียนรู้ปรากฎการณ์ทางวิทยาศาสตร์ต่างๆ อีกด้วย เด็กที่ฉลาดทางด้านนี้จะชอบเล่นเกมส์ที่ต้องแก้ปัญหาทุกชนิด และสามารถเชื่อมโยงเหตุและผลของสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างดี มีบุคลิกภาพดังนี้ ชอบคิดในเรื่องนามธรรม ชอบวิจารณ์ ชอบสนุกสนานในการนับของ ชอบทำงานเป็นระบบ สนุกสนานกับการใช้คอมพิวเตอร์ สนุกสนานกับการแก้ไขปัญหา

จุดเด่นของเด็กที่มีความฉลาดด้านคณิตศาสตร์และตรรกะ

  • เชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างเหตุและผลได้ดี
  • ชอบเล่นเกม ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ
  • เมื่อเผชิญสถานการณ์ที่ซับซ้อน เด็กสามารถแยกแยะ จัดลำดับและเข้าใจรูปแบบของสิ่งที่เกิดขึ้นได้


 

กิจกรรมค่ายพุทธบุตรเพื่อพัฒนาความฉลาดด้านคณิตศาสตร์และตรรกะ เช่น การเล่นเกม การถาม ตอบปัญหาธรรมะ การหาเหตุและผลเชิงจริยธรรม การหาข้อแตกต่างระหว่างบุญ บาป การคิดคำนวณ การจัดลำดับเหตุการณ์ การบำเพ็ญประโยชน์ การสร้างภาพ/ลวดลายต่าง ๆ เป็นต้น

 

 

3. ความฉลาดด้านดนตรี (Musical intelligence)

คือ ความสามารถในการซึมซับ และเข้าถึงสุนทรียะทางดนตรี ทั้งการได้ยิน การรับรู้ การจดจำ และการแต่งเพลง สามารถจดจำจังหวะ ทำนอง และโครงสร้างทางดนตรีได้ดี และถ่ายทอดออกมาโดยการร้องเพลง การฮัมเพลง เคาะจังหวะ และเล่นดนตรี จับระดับเสียงที่มีความแตกต่างได้ดี เด็กที่ฉลาดด้านดนตรีจะมีความว่องไวต่อเสียง และสามารถเชื่อมโยงระหว่างเพลงและเครื่องดนตรีได้ พวกเขามักจะชอบร้องเพลงและใช้เทคนิคในการเรียนรู้ผ่านบทเพลงและจังหวะต่างๆ ได้ มีบุคลิกภาพดังนี้ มีทักษะในเรื่องของจังหวะ ระดับเสียง มีทักษะพิเศษในการรับรู้ถึงพลัง ความซับซ้อน และระดับของเสียงดนตรี เป็นผู้ที่รับรู้สิ่งลึกลับได้

จุดเด่นของเด็กที่มีความฉลาดด้านดนตรี

  • ชอบเต้น  ชอบร้องเพลง มักหลงเสน่ห์ดนตรีและเสียงเพลง
  • ทำให้ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตเป็นคำคล้องจองหรือเป็นแบบแผน ในขณะที่คนอื่นทำไม่ได้
  • ซึมซับและจดจำข้อมูล บอกเล่าเป็นแบบแผนและบทกลอนหรือคำคล้องจองได้


กิจกรรมค่ายพุทธบุตรเพื่อพัฒนาความฉลาดด้านดนตรี เช่น การสวดมนต์ การอ่านทำนองเสนาะ การแสดงบนเวที การร้องเพลงธรรมะ การเล่นดนตรี การปรบมือเข้าจังหวะ การฝึกสมาธิด้วยเสียงดนตรี การร้องเพลงธรรมะประสานเสียง เป็นต้น

 

 

4. ความฉลาดด้านร่างกาย (Bodily-Kinesthetic intelligence)

คือ ความสามารถในการควบคุมและแสดงออกซึ่งความคิด ความรู้สึก โดยใช้อวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกาย  ความสามารถในการใช้สรีระร่างกายได้อย่างคล่องแคล่ว ความสามารถในการเต้นรำ การแสดง และรวมถึงความสามารถในด้านหัตถกรรม ความสามารถในการใช้มือประดิษฐ์ และการใช้เครื่องมือต่าง ๆ
มีบุคลิกภาพดังนี้ เป็นเด็กที่แข็งแรง สามารถทำกิจกรรมและเคลื่อนไหวได้อย่างแคล่วคล่องว่องไว ประสาทสัมผัสไว มีลักษณะในการเรียนรู้การเคลื่อนไหวร่างกายและตอบโต้ได้ดี ชอบแสดงออก ชอบเล่นกีฬา ชอบทำงานหัตถกรรมต่างๆ และสนุกกับกิจกรรมเกี่ยวกับศิลปะและงานฝีมือ ชอบเรียนรู้โดยการมีส่วนร่วมในงานนั้นๆ สามารถควบคุมร่างกายได้ โดยเฉพาะอวัยวะที่คนอื่นทำไม่ได้ เช่นใบหู

 


จุดเด่นของเด็กที่มีความฉลาดด้านร่างกาย

  • ชอบเต้น ชอบรำ ชอบการแสดง พวกเขาตอบสนองต่อสิ่งเร้าทางกายภาพได้ดี
  • ใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่และกล้ามเนื้อมัดเล็กได้อย่างยอดเยี่ยม
  • มักเคลื่อนไหวตลอดเวลาที่เรียนรู้ (ทำให้อาจดูเหมือนนั่งนิ่งๆ ไม่ได้)



กิจกรรมค่ายพุทธบุตรเพื่อพัฒนาความฉลาดด้านการเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น โยคะสมาธิ การเดินจงกรม การเล่นเกม Walk rally ธรรมะ  การเล่นเกม การบำเพ็ญประโยชน์ การแสดงละครธรรม การใช้ภาษาท่าทาง การออกกำลังกาย การทัศนศึกษา เป็นต้น

 

 

5. ความฉลาดด้านมิติสัมพันธ์ (Spatial intelligence)

คือ ความสามารถในด้านจินตนาการ สร้างสรรค์ ความสามารถในการสร้างภาพในสมอง มีความสามารถในการรับรู้ทางสายตาได้ดี สามารถมองเห็นพื้นที่ รูปทรง ระยะทาง และตำแหน่ง อย่างสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน แล้วถ่ายทอดแสดงออกอย่างกลมกลืน ความสามารถในการอ่านภาพแผนที่ แผนภูมิ มีความไวต่อการรับรู้ในเรื่องทิศทาง มีบุคลิกภาพดังนี้ เด็กที่มีความฉลาดด้านนี้จะคิดและสื่อสารด้วยภาพ พวกเขาชอบเล่นเกมส์ต่อรูปภาพ เช่น จิ๊กซอว์ เปี่ยมล้นด้วยจินตนาการ และชื่นชอบงานศิลปะ นอกจากนี้ พวกเขายังจดจำทิศทางได้ดี และอ่านแผนที่เก่ง มีทักษะในการใช้สี  ชอบงานศิลปะ วาดภาพ ระบายสี ปั้นหรือแกะสลัก สามารถจินตนาการและความรู้สึกออกมาเป็นการแสดง รูปภาพ หรือภาพพจน์ได้ มักใช้คำอุปมาอุปไมย

จุดเด่นของเด็กที่มีความฉลาดด้านมิติสัมพันธ์

  • สามารถจินตนาการและสร้างสรรค์โลกใหม่ขึ้นมาในความคิด
  • เล่านิทาน เล่าเรื่องที่แต่งเองได้อย่างน่าสนใจ
  • สามารถจัดการสิ่งต่างๆ ได้ในหัว และวิเคราะห์ได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น
  • สามารถจัดการและเล่นสิ่งของต่างๆ ได้ดี และมีทักษะในการใช้มือที่ดี

 


กิจกรรมค่ายพุทธบุตรเพื่อพัฒนาความฉลาดด้านมิติสัมพันธ์ เช่น การวาดภาพ ระบายสี การต่อภาพ การดูวีดิโอธรรมะ การเขียนแผนที่ Mind  Map กิจกรรม walk rally ธรรมะ การดูและศึกษาภาพจิตรกรรมฝาผนัง การใช้สัญลักษณ์ เป็นต้น

 


6. ความฉลาดด้านมนุษยสัมพันธ์ (Interpersonal intelligence)

คือ ความสามารถในการเข้าใจผู้อื่น ทั้งด้านความรู้สึกนึกคิด อารมณ์ และเจตนาที่ซ่อนเร้นอยู่ภายใน มีความไวในการสังเกต สีหน้า ท่าทาง น้ำเสียง สามารถตอบสนองได้อย่างเหมาะสม  เป็นมิตรกับคนอื่นได้ง่าย ชอบพูดคุยกับผู้อื่น สามารถจูงใจผู้อื่นได้ดี มีความสามารถในด้านการเข้าสังคม มีความสามารถในการสื่อสารการจัดการและมีความเป็นผู้นำ มีมนุษยสัมพันธ์ดี สามารถบริหารความขัดแย้งเจรจาต่อรอง ลดความขัดแย้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความฉลาดด้านนี้จำเป็นต้องมีอยู่ในทุกคน มักจะมีบุคลิกภาพดังนี้ เด็กที่ฉลาดด้านนี้จะมีมนุษยสัมพันธ์ดีเยี่ยม พวกเขาจึงเป็นคนที่มีเพื่อนมาก ชอบทำงานร่วมกับคนอื่น และมีความสามารถในการเป็นผู้นำสูง มีความคิดริเริ่มดี เข้ากับผู้อื่นได้ดี สามารถอ่านความนึกคิดของผู้อื่นได้ สนุกสนานกับการได้อยู่กับบุคคลอื่น มีเพื่อนมาก สื่อสารและปฏิบัติงานร่วมกับผู้อื่นได้ด้วย สนุกสนานกับการทำกิจกรรมกลุ่ม ชอบทำงานร่วมกับผู้อื่น เรียนรู้สังคมได้เก่ง

จุดเด่นของเด็กที่มีความฉลาดด้านมนุษยสัมพันธ์

  • ชอบคุย ชอบเล่นกับเพื่อน ชอบทำงานร่วมกับคนอื่น
  • สามารถนำผู้อื่นได้ดี มีความเป็นผู้นำสูง
  • สนใจความรู้สึกและมักเห็นอกเห็นใจคนอื่น

 


กิจกรรมค่ายพุทธบุตรเพื่อพัฒนาความฉลาดด้านรู้ผู้อื่น เช่น การเล่นเกม กิจกรรม walk rally ธรรมะ การทำงานกลุ่ม การรับประทานอาหารร่วมกัน การสนทนาในกลุ่มและระหว่างกลุ่ม การบำเพ็ญประโยชน์ การโต้วาที การวาดภาพ เป็นต้น

 

 

7. ความฉลาดด้านเข้าใจตนเอง (Intrapersonal intelligence)

คือ ความสามารถในการรู้จัก ตระหนักรู้ในตนเอง มีความรู้เท่าทันอารมณ์ เท่าทันตนเอง มีความมั่นใจในตนเอง ควบคุมการแสดงออกอย่างเหมาะสมตามกาลเทศะ และสถานการณ์ รู้ว่าเมื่อไหร่ควรเผชิญหน้า เมื่อไหร่ควรหลีกเลี่ยง เมื่อไหร่ต้องขอความช่วยเหลือ มองภาพตนเองตามความเป็นจริง รู้ถึงจุดอ่อน หรือข้อบกพร่องของตนเอง ในขณะเดียวกันก็รู้ว่าตนมีจุดแข็ง หรือความสามารถในเรื่องใด และใช้ความรู้นี้ในการวางแผนและชี้นำชีวิตตนเอง ความฉลาดด้านนี้จำเป็นต้องมีอยู่ในทุกคนเช่นกัน เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอย่างมีคุณค่า และมีความสุข มีบุคลิกภาพดังนี้ รู้จักตนเอง รู้จักคุณค่าของตน รับรู้ความรู้สึกผู้อื่นได้ดี มีเป้าหมายของชีวิต มีการพัฒนารับรู้ตนเองได้ดี รู้จักกระตือรือร้น รู้ถึงจุดอ่อน และจุดแข็งของตนเอง ชอบสันโดษ ต้องการที่จะเป็นตัวของตัวเอง ชอบทำงานเพียงลำพัง และแม้ว่าจะไม่ค่อยเข้าสังคม แต่พวกเขาก็เชื่อมั่นในความสามารถของตนและมีแรงจูงใจในการทำสิ่งต่างๆ

จุดเด่นของเด็กที่มีความฉลาดด้านเข้าใจตนเอง

  • มีความฉลาดทางอารมณ์ EQ ดี
  • สามารถทำงานให้ไปถึงเป้าหมายได้
  • รู้จักชัดเจนว่าตนเองชอบหรือไม่ชอบอะไร
  • รักความยุติธรรม



กิจกรรมค่ายพุทธบุตรเพื่อพัฒนาความฉลาดด้านรู้ตนเอง เช่น การนั่งสมาธิ เจริญสติ วิปัสสนากรรมฐาน การประเมินตนเอง การเขียนบันทึกความดี การอ่านหนังสือ การคัดลอกข้อความ/คำคมธรรมะ การแปลความ การคิดฉับพลัน  การวางเป้าหมาย เป็นต้น

 

 

8. ความฉลาดด้านรู้จักธรรมชาติ (Naturalistic intelligence)

คือ ความสามารถในการมองเห็นความงาม ความสัมพันธ์ของสรรพสิ่งในธรรมชาติ รักธรรมชาติ ความสามารถในการรู้จัก และเข้าใจธรรมชาติอย่างลึกซึ้ง เข้าใจกฎเกณฑ์ ปรากฏการณ์ และการรังสรรค์ต่างๆ ของธรรมชาติ มีความไวในการสังเกต เพื่อคาดการณ์ความเป็นไปของธรรมชาติ มีความสามารถในการจัดจำแนก แยกแยะประเภทของสิ่งมีชีวิต ทั้งพืชและสัตว์ เด็กกลุ่มนี้เป็นเด็กที่ชอบผจญภัยในโลกกว้าง (นอกบ้าน) มาตั้งแต่เด็ก จึงมักเห็นเขาชอบเตร็ดเตร่เพื่อสำรวจสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ พวกเขายังสนใจในเรื่องของต้นไม้และสัตว์ต่างๆ อย่างมาก

จุดเด่นของเด็กที่มีความฉลาดด้านรู้จักธรรมชาติ

  • ชอบสังเกตเห็นรูปแบบและคุณลักษณะเฉพาะของสิ่งมีชีวิตต่างๆในธรรมชาติได้ดี
  • ชอบธรรมชาติ รักสัตว์ ชอบดอกไม้  ต้นไม้
  • มีความสามารถในการแยกแยะระหว่างสิ่งของในหมวดเดียวกันและสังเกตเห็นความแตกต่างเล็กๆ น้อยๆ



กิจกรรมค่ายพุทธบุตรเพื่อพัฒนาความฉลาดด้านรอบรู้ธรรมชาติ เช่น การให้อาหารปลา การดูนก ดูปลา ดูเต่า การปลูกต้นไม้ การเดินชมธรรมชาติ (ภายในวัด) การศึกษาพืชสมุนไพรและต้นไม้ต่าง ๆ การบำเพ็ญประโยชน์ การทัศนศึกษา การถ่ายรูป เป็นต้น

 

 

       Albert Einstein แนะนำว่า  จินตนาการสำคัญมากกว่าความฉลาด (Imagination is more important than intelligence)

       ปัจจุบันข้อมูลต่างๆ ทั้งดีและไม่ดี มีมากมายและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การจะให้เด็กเรียนรู้ทุกอย่าง ทุกเรื่องคงเป็นไปไม่ได้ สิ่งที่สำคัญที่สุดในการเรียนรู้ และการสอน คือ การสอนวิธีการแสวงหาความรู้ที่เด็กสนใจมาได้ และคิดเป็น (Learning how best to learn and how to think) เด็กทุกคนจะรู้ว่าตนเองต้องการสนใจสิ่งใด ในช่วงเวลาที่แตกต่างกันของชีวิต และสามารถที่จะค้นคว้าหาความรู้ที่ตนสนใจเพื่อมาพัฒนาความฉลาดในตนเองได้ โดยเฉพาะการพัฒนาความฉลาดด้านคุณธรรม จริยธรรม

 

 

ความฉลาดด้านคุณธรรม จริยธรรม (Moral intelligence) คือ ความฉลาดในการเข้าใจโลกและชีวิตทุกอย่างตามความเป็นจริง มีความเฉลียวฉลาดในการแก้ปัญหา มีศรัทธา มีความเพียร มีสติ สมาธิ ปัญญา หัวใจของคุณธรรม คือ ความฉลาดในการดำเนินชีวิตด้วย ความรัก ความเมตตา รู้จักการให้อภัย คุณธรรมเกิดจากการฝึกฝนจริยธรรม ซึ่งเป็นการฝึกให้รู้จักความรักตนเอง รักผู้อื่น รักธรรมชาติ รักสิ่งแวดล้อม รักชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ด้วยค่ะ



อย่าลืมนะคะ ช่วงเดือนเมษายน พาลูกหลานมาร่วมกิจกรรมดีๆ พัฒนาสมอง พัฒนาปัญญา พัฒนาภาวะผู้นำ ที่ค่ายพุทธบุตร วัดป่าเจริญราช  จัดกิจกรรมดีๆแบบนี้ทุกปีค่ะ  ฟรีทุกอย่าง  แจกเสื้อยืดลายค่ายพุทธบุตรฟรีค่ะ และขนม น้ำหวาน นม ไอศครีม เพียบ 555

ถ้าเด็กๆอายุยังไม่ถึงก็ติดต่อเจ้าหน้าที่ขอมาดูงานที่วัดได้ค่ะ แต่เด็กต้องสวดมนต์ได้ นั่งสมาธิได้ด้วยนะคะ อย่างแพรมีลูกอายุ 4 ขวบ กับหลานอายุ 5 ขวบ  แพรให้เค้าไปดูงาน  อยู่วัด  เข้าร่วมกิจกรรมค่าย  เค้าก็อยู่กันได้ค่ะ  ช่วยฝึกเค้าให้เค้าได้เรียนรู้สิ่งดีๆตั้งแต่ยังเล็กๆค่ะ 

อ่านรายละเอียดค่ายพุทธบุตรได้ที่นี่ค่ะ

ค่ายเด็กดีของพ่อ

http://www.gotoknow.org/blogs/posts/479913

 

 

หมายเลขบันทึก: 483639เขียนเมื่อ 29 มีนาคม 2012 17:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 11:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท