๑๒.ภาวะผู้นำกับการบริหารสถาบันอุดมศึกษา : (๒) การริเริ่มนำการเปลี่ยนแปลงจากจุดที่ยืนอยู่


ภาวะผู้นำนั้นมีอยู่ในตัวเราเองทุกคน โดยพื้นฐานที่สุดนั้น ภาวะผู้นำก็ใช้เพื่อนำชีวิตตนเอง สร้างความเป็นตัวของตัวเอง แต่กลุ่มผู้เข้าร่วมการสัมมนา ๑๗๐ กว่าคน เป็นผู้อยู่ในตำแหน่งผู้นำและทีมบริหาร อันประกอบด้วยรองอธิการบดี ผู้ช่วยอธิการบดี รองคณบดีและผู้อำนวยการ กับผู้ช่วยคณบดีและผู้อำนวยการ ซึ่งก็ย่อมเป็นเครื่องบ่งชี้อย่างแน่ชัดมากเข้าไปอีกว่า ทุกคนมีภาวะผู้นำอย่างแตกต่างจากผู้อื่น ทั้งโดยบุคลิกภาพและโดยตำแหน่งหน้าที่ตามสิทธิอำนาจที่ได้รับจากองค์กรและระบบสังคม

ในสถานการณ์วิกฤติเฉพาะหน้า ย่อมต้องการภาวะผู้นำเพื่อการเผชิญปัญหาด้วยความเด็ดเดี่ยวกล้าหาญและรวดเร็วทันการณ์ หากแสดงภาวะผู้นำมุ่งความเยือกเย็นรอคอย ก็จัดว่าผิดกาลเทศะ เมื่ออยู่ในสถานการณ์ทำสงครามและระหว่างทำการบของทหาร หากเลือกใช้ภาวะผู้นำในการเดินไปให้ความเมตตาและบริจาคอาวุธเป็นทาน ก็เป็นการผิดกาลเทศะ เป็นครู พระ หมอ กำลังสอน แสดงธรรม และรักษาผู้ป่วย หากใช้ภาวะผู้นำเหมือนทหารกำลังทำสงคราม ถึงแม้จะดีในสถานการณ์หนึ่ง  แต่ในเงื่อนไขแวดล้อมอย่างนี้ก็จัดว่าผิดกาลเทศะและไม่ถูกต้อง ดังนั้น ภาวะผู้นำในสาขาต่างๆ จึงต้องมีความเชื่อมโยงสอดคล้องกับองค์ประกอบด้านจุดหมายในสถานการณ์ที่แตกต่างกันด้วย ภาวะผู้นำในการบริหารสถาบันอุดมศึกษาก็เช่นเดียวกัน

ภาวะผู้นำจึงไม่ใช่ความสำเร็จรูป ไม่ใช่สิ่งเดียวกันกับตำแหน่งผู้นำ แต่เป็นการแสดงออกทางการปฏิบัติและอยู่ในวิถีปฏิบัติของปัจเจกในสถานการณ์เงื่อนไขที่แตกต่างหลากหลาย ผมเคยได้ยินคำกล่าวของผู้บริหารและผู้นำในหลายสาขาของสังคมท่านหนึ่งซึ่งเป็นที่ยอมรับแพร่หลายทั้งของไทยและนานาชาติคือ ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์กระแส ชนะวงศ์ ที่ใช้สื่อแนวคิดเกี่ยวกับภาวะผู้นำได้สั้นแต่ให้วิธีคิดดีอย่างยิ่งว่า Leadership is not position, but action หรือ ภาวะผู้นำไม่ใช่ตำแหน่ง แต่อยู่ในการปฏิบัติ ซึ่งก็ได้เล่าถ่ายทอดให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาและนำเข้าสู่การให้วิธีคิด ตั้งกรอบการศึกษา ตั้งประเด็นความสนใจ เพื่อนำไปสู่การจัดกระบวนการ สำหรับมองเข้าไปในสิ่งที่กำลังทำอยู่ เห็นความเป็น ‘ภาวะผู้นำ’ ที่สะท้อนอยู่ในชีวิตและการงานตนเอง พร้อมกับทำให้กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้บนเวที เป็นกระบวนการถักทอความเป็นชุมชนผู้นำ สร้างภาวะผู้นำแบบกลุ่มก้อนและภาวะผู้นำแบบเครือข่ายของคณะสถาบันต่างๆจาก ๕ วิทยาเขตของมหาวิทยาลัยสงขขลานครินทร์ไปด้วย

ผมขยายประเด็นให้เชื่อมโยงและเสริมต่อความคิดกันกับการให้แนวคิดไว้ก่อนหน้านั้นของอาจารย์ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ว่าภาวะผู้นำของสถาบันอุดมศึกษานั้น ต้องมุ่งสร้างปัจจัยนำการเปลี่ยนแปลงให้สังคมและเชื่อมโยงอย่างมีความหมายกับสิ่งที่ต้องทำอยู่แล้วโดยสถาบันอุดมศึกษา อันได้แก่ การสร้างคน การจัดการเรียนการสอน การวิจัยและพัฒนา การบริการทางวิชาการแก่สังคม และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ที่มีความเชื่อมโยงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างใกล้ชิด 

การทำงานระดับนี้ ต้องมีวิธีคิดในการทำให้มากกว่าการทำงานประจำอย่างไม่มีความหมาย อีกทั้งต้องเห็นนัยสำคัญของงานที่ไม่เพียงสิ้นสุดลงที่การบรรลุวัตถุประสงค์จำเพาะกิจกรรมขององค์กร ซึ่งถ้าหากคนทำงานและภาวะผู้นำในการบริหารของสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาของประเทศคิดและทำเพียงในระดับนี้ ก็จะเป็นการใช้โอกาสและทุนทางสังคมมาลงทุนทำให้องค์กรเล็กๆในสังคมประสบความสำเร็จ แต่สังคมกลับล้มเหลว ดังนั้น จึงต้องเห็นความเป็นตัวของตัวเองของมหาวิทยาลัย ที่จะสะท้อนอยู่ในการงานและชีวิตของทุกคนให้ได้ก่อน จากนั้น จึงค่อยศึกษาให้เห็นเงื่อนไขแวดล้อมและบริบทของการแปรสิ่งที่เป็นแนวคิดไปสู่การปฏิบัติ สิ่งที่ทำในแง่มุมนี้ จึงจะเป็นส่วนที่สะท้อนความเชื่อมโยงกับสังคม แต่อยู่ในสิ่งที่เราลงมือทำได้ ทั้งผ่านบทบาทของตัวบบุคลลและผ่านบทบาทการดำเนินงานขององค์กรที่เราสังกัด

ผมเชื่อมโยงวิธีคิดและการเห็นให้ทั่ว ก่อนที่จะนำกระบวนการให้เวทีได้เจาะจงลงไปถอดบทเรียนการปฏิบัติที่คนของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จะมีอยู่ในตนเอง แสดงให้ให้ความกว้างขวางในความเป็นทั้งหมดของสถาบันอุดมศึกษากับสังคมแบบทั่วไป และชี้ให้เห็น ‘ภาวะผู้นำ’ ที่เป็นเสมือนใบไม้เพียงหยิบมือหนึ่งจากทั้งป่าอันกว้างใหญ่ แต่เกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมทางการปฏิบัติใกล้ชิดกับผู้เข้าร่วมสัมมนาและจะส่งเสริมพลังปฏิบัติในชีวิตการงานของทุกคน ณ ขณะนี้ที่สุด

จากภาพ ผมได้แสดงให้เห็นตำแหน่งแห่งหนในความเป็นรองและผู้ช่วยผู้บริหารกลุ่มใหญ่ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งเป็นเพียงหนึ่งในความเป็นสถาบันอุดมศึกษาของสังคมไทยและสังคมโลกเท่านั้น ตรงจุดที่ทุกท่านยืนอยู่นั้น จะเชื่อมโยงกับสังคมผ่าน ๒ ทาง คือ ผ่านความเป็นปัจเจกและความเป็นพลเมือง กับผ่านบทบาทหน้าที่ในระบบและโครงสร้างการจัดการตนเองของระบบอุดมศึกษา ซึ่งในเวทีสัมมนามีระยะเวลาจำกัด จึงจะเน้นประการหลังนี้ก่อน โดยชี้ให้เห็นว่า ทุกท่านมีความเชื่อมโยงกับสังคมผ่านบทบาทหน้าที่หลายมิติและหลายช่วงชั้น ที่สำคัญคือ ความเป็นรองและผู้ช่วยผู้บริหารระดับต่างๆนั้น มีความหมายจำเพาะสำหรับแนวคิดและการนปฏิบัติคือ

  • เป็นผู้อยู่ในตำแหน่งที่ต้องทำหน้าที่ในลักษณะเชื่อมประสานระหว่างผู้บริหารที่อยู่เหนือขึ้นไปกับผู้ใต้บังคับบัญชาและผู้ร่วมงาน ซึ่งในโครงสร้างองค์กรก็จะต้องคำนึงถึงคน ๓ กลุ่ม อันได้แก่ (๑) กลุ่มวิชาการอาจารย์และผู้สอน (๒) กลุ่มปฏิบัติสนับสนุนทางวิชาการ และ (๓) กลุ่มบริหาร
  • เป็นคนรุ่นใหม่ที่จะได้รับการเตรียมความเป็นผู้นำและสร้างศักยภาพสำหรับเป็นผู้บริหารในอนาคตขององค์กร
  • เป็นทีมผู้บริหาร  

ผมจึงขอย้ำให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาเน้นการมุ่งพิจารณางานและประสบการณ์ในด้านที่มีธรรมชาติจำเพาะบนการทำบทบาทหน้าที่ในความเป็นรองและผู้ช่วยผู้บริหารของสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งจะมีความสืบเนื่องกับเงื่อนไข ๓ ประการดังที่กล่าวมา และเป็นบทบาทที่เหมาะสมมากสำหรับการพัฒนาวิธีคิดกับการแปรความคิดไปสู่การปฏิบัติ ของกลุ่มผู้บริหารในระดับรองและผู้ช่วยผู้บริหาร ในสถาบันอุดมศึกษา คือ

  • งานบริหารผู้นำ สื่อสารเชื่อมโยงกลไกปฏิบัติ  และการประสานความร่วมมือ ระดมพลังแปรนโยบายสู่การปฏิบัติ 
  • ความเป็นผู้เรียนรู้งานบริหารแบบมีพี่เลี้ยง มิใช่เป็นผู้นำสูงสุดขององค์กร มีโอกาสใช้ภาวะผู้นำของตนเองด้วย ขณะเดียวกันก็มีผู้นำเป็นพี่เลี้ยงให้ด้วย
  • เป็นผู้ร่วมความเป็นทีมบริหารที่ได้รับความไว้วางใจจากผู้บริหาร

เพื่อเห็นถึงความเชื่อมโยงของการสร้างสรรค์ภาวะผู้นำและริเริ่มนำการเปลี่ยนแปลง ให้สะท้อนขึ้นจากจุดที่ยืนอยู่ ทุกคนจึงต้องมุ่งตอบตนเองและใช้เวทีเป็นโอกาสหาความเข้าใจร่วมกัน พร้อมกับสร้างชุมชนผู้นำ ที่หล่อหลอมกล่อมเกลาจินตภาพและวิสัยทัศน์ให้กันไปด้วยว่า ..... มหาวิทยาลัยเป็นเวทีทำงานเพื่อสังคมได้อย่างไรบ้าง การเป็นทีมบริหารควรมีบทบาทอย่างไร จึงจะร่วมสร้างความสำเร็จขององค์กรให้ดีที่สุด และเป็นโอกาสเรียนรู้พัฒนาตนเองอย่างไรบ้าง ....

ผมใช้วิธีตั้งประเด็นแบบคนทำงานสื่อสารเรียนรู้ ผสมกับทักษะการวิเคราะห์ประเด็นเพื่อภิปรายทางวิชาการซึ่งผมใช้ออกแบบกระบวนการประชุมและเวทีชุมชนอยู่เสมอๆ มาจัดวาระและประเด็นความสนใจด้วยสถานการณ์ หรือการทำ Agenda Setting และ Issues for Discuss Generating ให้ผู้บริหารมีแนวเก็บข้อมูลและพิสูจน์ด้วยการปฏิบัติหาความรู้ความเข้าใจที่สอดคล้องกับธรรมชาติของตนเองเอาเองบนกระบวนการเวทีที่จะดำเนินต่อไปอีกวันครึ่ง

เมื่อนำเข้าสู่รายการ ขยายประเด็นล้อไปกับสิ่งที่อาจารย์ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ท่านได้ถ่ายทอดและจัดกระบวนการให้ในช่วงเช้าวันแรกแล้ว ผมก็เชื่อมโยงเรื่องราวต่างๆเข้ากับสิ่งใกล้ตัวและเงื่อนไขจำเพาะเพื่อให้สามารถศึกษาเรียนรู้กันในระดับที่พอเหมาะสำหรับเวทีครั้งนี้ จากนั้น ก็ตามด้วยแสดงหลักการเพื่อให้เห็นกระบวนการเรียนรู้ที่จะเป็นกระบวนการชุมชนและกระบวนการกล่อมเกลาทางสังคมให้บังเกิดเครือข่ายและชุมชนผู้นำ เตรียมผู้นำรุ่นใหม่ให้กับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ทุกวิทยาเขต ตั้งคำถามเพื่อเป็นแนวให้แต่ละคนเก็บเกี่ยวประสบการณ์และพัฒนาความเป็นตัวของตัวเองให้พอเหมาะพอดีที่สุดจากสถานการณ์และกระบวนการที่จะทำไปด้วยกันบนเวที ซึ่งภายใต้ความแตกต่างหลากหลายที่จะได้แก่ตนเองนั้น ผมจะจัดกระบวนการสรุปบทเรียน ให้หลักทฤษฎี และวิธีคิด ปิดท้ายกระบวนการเวทีในวันที่สอง ซึ่งจะไม่บรรยายและให้ความรู้แบบทั่วไป แต่จะเชื่อมต่อกับประเด็นที่สะท้อนขึ้นจากชีวิตและการงาน จึงจะไม่มากและไม่น้อยไปสำหรับนำกลับไปทำงาน

ขณะเดียวกัน ข้อมูล การวิเคราะห์ และยุทธศาสตร์การคิดต่างๆ ที่เกิดจากการทำงานบนเวที ก็มีบทบาทเหมือนเป็นข้อมูลการประเมินสภาวการณ์และศักยภาพความพร้อมของตนเอง พร้อมกับได้เอกสารหลักฐานบันทึกพัฒนาการและการมุ่งไปข้างหน้า สามารถเป็นรายงานสั่งสม ใช้สำหรับบริหาร นำกลับมาตรวจสอบและติดตามความเปลี่ยนแปลง เรียนรู้ และบันทึกรายงานควบคู่ไปกับยุทธศาสตร์การปฏิบัติ เวทีการทำงานครั้งนี้จะบูรณาการหลายอย่างไปด้วยกัน ซึ่งผมจะสรุปและเปิดเวทีให้ศึกษาทบทวนไปด้วยกันอยู่เสมอตลอดกระบวนการที่จัดขึ้น.

.................................................................................................................................................................

หมายเหตุ : อ่านเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกัน ๑๑.ภาวะผู้นำกับการบริหารสถาบันอุดมศึกษา : (๑) เยือนถิ่นชาว มอ. ใน  http://www.gotoknow.org/blogs/posts/482942

หมายเลขบันทึก: 483792เขียนเมื่อ 31 มีนาคม 2012 09:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2012 11:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

กราบนมัสการขอบพระคุณท่านพระอาจารย์มหาแล
และขอขอบคุณทิมดาบมากครับ ทั้งสองท่านเข้ามาเยือนอย่างรวดเร็วอย่างนี้ มีความเป็น Be the front seat ซึ่งเป็นสิ่งสะท้อนภาวะผู้นำที่มีอยู่โดยธรรมชาติเลยนะครับเนี่ย

ขอขอบคุณอาจารย์ณัฐพัชร์ที่แวะมาเยือนและคลิ๊กทักทายกันครับ
ตอนนี้ไปนั่งกินผักน้ำพริกบูดูกับมะปรางเปรี้ยวหรือทีมอาจารย์ดร.จันทวรรณ
อยู่แถว มอ.แล้วกระมังครับ

ทำไมไม่ชวนพี่เหมียวไปกินน้ำพริกบูดู ด้วยครับ รออ่านอีกครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท