๑๓.ภาวะผู้นำกับการบริหารสถาบันอุดมศึกษา : (๓) เตรียมพื้นฐานความเป็นชุมชนเรียนรู้การปฏิบัติ


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ท่านปิดท้ายกระบวนการในช่วงเช้าให้เป็นพื้นฐานสำหรับผมทำกระบวนการต่อในช่วงบ่ายด้วย โดยได้แบ่งกลุ่มและให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาซึ่งแต่เดิมนั่งรวมกันแบบชั้นเรียนและกระจุกตัวเป็นกลุ่มย่อยตามการมีความรู้จักคุ้นเคยหรือมาจากหน่วยงานย่อยในวิทยาเขตต่างๆของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ให้กระจายออกเป็นกลุ่มคละกลุ่มละ ๑๐ คนแล้วนั่งระดมความคิดกัน

กระบวนการของดร.ปริญญาท่านมุ่งให้ประสบการณ์ต่อการสร้างภาวะผู้นำสำหรับการเป็นผู้บริหารองค์กร ส่วนผมนั้นเป็นหัวข้อ ภาวะผู้นำกับการบริหารสถาบันอุดมศึกษา ท่านมีตัวอย่างของจริงมาเป็นกรณีศึกษาหลายลักษณะ อันได้แก่...........

  • ภาวะผู้นำโดยสถานการณ์วิกฤติและในภาวะการเกิดอุบัติภัยของสังคม : บทเรียนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในการจัดศูนย์พักพิงและให้ความช่วยเหลือประชาชน รวมทั้งบริหารจัดการสถานการณ์อุบัติภัยน้ำท่วมจากภาวะน้ำท่วมใหญ่ที่ผ่านมา
  • ภาวะผู้นำผู้บริหารที่บูรณาการกับไปกับการบิกเบิกริเริ่มการสอน : การบุกเบิกริเริ่มการให้กระบวนการเรียนรู้แก่นักศึกษาโดยเน้นการเรียนรู้เป็นโครงการและการเรียนรู้จากกิจกรรม เพื่อสร้างการเรียนรู้อย่างบูรณาการ ให้นักศึกษาได้เข้าถึงการศึกษาทางวิชาการอย่างลึกซึ้งรอบด้าน มีภาวะผู้นำทางการปฏิบัติ และได้สร้างเสริมจิตสำนึกความเป็นพลเมืองเพื่อเติบโตงอกงามไปเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงของสังคม
  • ภาวะผู้นำกับการบริหารทรัพยากรมนุษย์และบุกเบิกการสร้างอาจารย์ในแนวทางใหม่ๆ : การลงทุนสร้างกลุ่มอาจารย์รุ่นใหม่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ๔๐ คน เพื่อปฏิรูปวิธีจัดกระบวนการเรียนการสอนเป็นโครงการและการเรียนรู้จากกิจกรรม

หลังจากให้หลักคิดและตัวอย่างกรณีศึกษาแล้ว ท่านก็จัดกระบวนการให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาเรียนรู้ภาวะผู้นำสำหรับผู้บริหารองค์กรจากสถานการณ์สมมติโดยอิงอยู่กับเหตุการณ์จริงอันเกิดจากความขัดแย้งและเผชิญหน้ากันของผู้คนในสถานการณ์น้ำท่วม ผู้เข้าร่วมสัมมนากลุ่มเล็ก ๑๐ คน มีโจทย์สำหรับระดมความคิดว่าในเหตุการณ์น้ำท่วมและการเกิดความขัดแย้งกันที่ให้เป็นตัวอย่างนั้น หากต้องการหาทางออกแบบต่างเป็นที่พอใจของทุกฝ่ายหรือมีความเป็น Win-Win Situation แล้ว แต่ละกลุ่มมีข้อเสนอในการแก้ปัญหาอย่างไร หลังจากระดมความคิดแล้ว ทุกกลุ่มก็นำเสนอวิธีการแก้ปัญหาได้อย่างหลากหลาย จากนั้น อาจารย์ก็สรุปและเสริมแนวคิดโดยเน้นความสำคัญกับภาวะผู้นำในการบุกเบิกริเริ่มการสร้างความเปลี่ยนแปลงของสังคมที่สะท้อนลงสู่การสอนด้วยกระบวนการเรียนรู้จากกิจกรรม การเรียนรู้จากโครงการ การเรียนรู้การบริการสังคม ซึ่งท่านใช้คำว่า Service Learning

เมื่อถึงช่วงบ่าย ผมได้ทบทวนให้เห็นประเด็นความคิดที่สำคัญและตัวอย่างภาวะผู้นำสำหรับผู้บริหารองค์กรที่ได้จากอาจารย์ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล จากนั้น ก็ให้วิธีคิดบางประการที่ต้องการให้นำมาใช้เรียนรู้จากกระบวนการเวทีที่ผมจะเป็นผู้ดำเนินการและจัดถอดบทเรียนปิดท้ายเวทีให้ ที่สำคัญคือเรื่องอัตลักษณ์องค์กรที่สะท้อนความเป็นสังคม อัตลักษณ์ขององค์กรที่สะท้อนอยู่บนวิธีคิดและการปฏิบัติของคนทำงาน ซึ่งจะทำให้สมาชิกขององค์กรทุกคนสามารถคิดและทำสิ่งต่างๆให้มีความเป็นตัวแทนขององค์กรบนการปฏิบัติของตนได้ แง่มุมดังกล่าวนี้จะทำให้สามารถเข้าใจถึงความสำคัญของวัฒนธรรมการสื่อสารและกระบวนการเรียนรู้ในองค์กร ในการหล่อหลอมให้คนทำงานเข้าถึงความมีจิตวิญญาณขององค์กรร่วมกัน ร่วมสร้างระบบคุณค่าและความหมายต่อสิ่งต่างๆร่วมกัน กระทั่งสะท้อนความเป็นอัตลักษณ์ขององค์กรได้บนความเป็นปัจเจก

นอกจากนี้ ก็ได้ให้หลักคิดต่ออัตลักษณ์ขององค์กรและอุดมคติการทำงานเชิงสังคมที่สะท้อนอยู่ในตัวแบบบุคคลซึ่งผมได้ถือโอกาสเชื่อมโยงแง่มุมนี้เข้ากับพัฒนาการการก่อตั้งของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เพื่อให้สามารถนำเอาประสบการณ์ใกล้ตัวมาคิด

ขณะเดียวกัน ก็ขออัญเชิญพระกรณียกิจและการทรงแสดงภาวะผู้นำทางการปฏิบัติให้เป็นแบบอย่างของสมเด็จพระมหิตลบาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม กรมหลวงสงขลานครินทร์ สมเด็จพระบรมราชชนก ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระบรมราชนุญาตให้มหาวิทยาลัยน้อมเกล้าอัญเชิญพระนาม 'สงขลานครินทร์' มาเป็นนามมหาวิทยาลัย อีกทั้งพระองค์ท่านได้ทรงเป็นอธิบดีกรมมหาวิทยาลัยในยุคแรกเริ่มของประเทศ จึงไม่เกินจริงหากจะถือว่าทรงบุกเบิกความเป็นผู้นำของระบบบริหารจัดการการอุดมศึกษาของประเทศ

นอกจากนี้ ในฐานะครูแพทย์ หมอ และนักวิชาการ ก็ทรงเป็นแบบอย่างทางการปฏิบัติในความเป็นครูเพื่อสร้างคนให้มีจิตวิญญาณแห่งความเสียสละต่อปวงชน และทรงเป็นนักบริหารอุดมศึกษาของประเทศที่มองการณ์ไกล วางพื้นฐานหลายอย่างที่ได้มีการถือเป็นแนวปฏิบัติมากระทั่งในปัจจุบัน

นอกจากมหาวิทยาลัยจะมีตัวแบบทางสังคมซึ่งถือเป็นเกียรติภูมิขององค์กร และสาธิตให้เห็นถึงรูปธรรมของแนวปฏิบัติเพื่อสร้างสังคมในเชิงอุดมคติได้เป็นอย่างดีแล้ว ในความเป็นสังคมอุดมศึกษาและความต้องมีภาวะผู้นำในการบริหารสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งต้องนับว่าเป็นสถาบันทางปัญญาและระบบการใช้เหตุผลของสังคมนั้น ผู้บริหารและภาวะผู้นำในความเป็นสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งเป็นการศึกษาขั้นสูงของประเทศ ต้องมีวิธีคิดที่อิงอยู่กับตัวปัญญาและการสร้างความรู้ที่จำเป็นขึ้นมาใช้ของตนเองให้เหมาะสมแก่สภาวการณ์ต่างๆอยู่เสมอๆ มากกว่าการที่จะมุ่งไปติดอยู่กับตัวคนแต่เข้าไม่ถึงคุณค่าและความหมาย ตลอดจนตัวปัญญาทั้งปวงที่อยู่เบื้องหลังการปฏิบัติ

ดังนั้น หลังจากให้แนวคิด กรณีศึกษาจากตัวแบบการปฏิบัติ ตลอดจนหลักคิดสำหรับมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายและทำให้ได้สิ่งต่างๆเป็นของตนเองให้มากที่สุดจากกระบวนการเรียนรู้บนเวทีแล้ว ผมจึงนำผู้เข้าร่วมสัมมนาเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้เพื่อมีประสบการณ์ร่วมกันสักชุดหนึ่งสำหรับเข้าถึงสิ่งที่ทุกคนต้องการ คือ ภาวะผู้นำกับการบริหารสถาบันอุดมศึกษา ในลำดับต่อๆไป

ผมใช้กลุ่มย่อยที่ท่านดร.ปริญญาได้แบ่งและทำกระบวนการไปบ้างแล้วในครึ่งเช้าจัดกระบวนการกลุ่มตลอดในครึ่งบ่ายหลังรับประทานอาหารกลางวันและให้แนวคิดเบื้องต้น ๑ ชั่วโมงเศษ โดยดำเนินการต่างๆเป็นลำดับคือ......

  • ให้แต่ละกลุ่มนั่งคุยกันเป็นกลุ่มเล็กๆ กลุ่มละประมาณ ๑๐ คน แต่ละกลุ่มมีโต๊ะตั้งอยู่ตรงกลาง
  • ใช้รูปแบบการคุยและฟังกันอย่างลึกซึ้ง ให้แต่ละกลุ่มวงางปากกาหรือวัตถุสมมุติเป็นกติการร่วมกันในกลุ่มย่อย วางไว้กลางโต๊ะ
  • เมื่อคนใดในกลุ่มพร้อมที่จะคุย ก็ให้หยิบปากกา ก้อนหิน หรือวัตถุที่วางอยู่กลางโต๊ะขึ้นมาถือ
  • ผู้ที่หยิบปากกาและวัตถุซึ่งถือเป็นกติกากำกับการพูดคุยของกลุ่ม มาถือไว้ในมือ เป็นผู้ได้สิทธิในการพูดไปจนกว่าต้องการหยุดและวางปากกกาหรือก้อนหินลงที่เดิม ส่วนสมาชิกในกลุ่มคนอื่นๆต้องนั่งฟังอย่างตั้งใจ
  • ผู้ที่พูดแล้ว สามารถพูดอีกรอบได้เมื่อมีคนอื่นพูดคั่น ๒-๓ คน
  • ทุกคนในกลุ่มต้องได้พูดจนครบทุกคน

เพื่อให้เวทีได้ประสบการณ์การเรียนรู้เชิงกระบวนการ อีกทั้งเห็นความหมายและวิธีคิดที่อยู่ภายใต้กระบวนการ จำเพาะในด้านที่สอดคล้องกับชุมชนผู้นำในเวทีครั้งนี้ ซึ่งควรถือเป็นหลักปฏิบัติมากกว่าติดอยู่ที่รูปแบบและตัวกิจกรรมที่ได้ทำในโอกาสต่างๆบนเวที ผมจึงได้ชี้แนะวิธีปฏิบัติที่เวทีควรให้ลำดับความสำคัญที่จะนำมาใช้ในจังหวะที่เหมาะสมตลอดเวลา คือ.....

• การเรียนรู้ทางสังคม การเรียนรู้อย่างเชื่อมโยง
• ตัวตนส่วนรวมขององค์กรและภารกิจ
• การสื่อสารและบริหารผู้นำ
• ทัศนะเชิงบวกและสร้างสรรค์
• ศักยภาพและกระบวนการเรียนรู้
• วิถีผู้นำและการสะท้อนอัตลักษณ์องค์กร
• การทำงานเป็นกลุ่ม
• บรรยากาศ สิ่งแวดล้อม และสิ่งสนับสนุน
• ข้อมูล เทคโนโลยี
• เครื่องมือสร้างปฏิสัมพันธ์เชิงสร้างความร่วมมือ
 
ผมได้ขยายความบ้างพอสมควร แม้จะมีข้อจำกัดมาก โดยเฉพาะความหลากหลายสาขาวิชาการและเวลาอันสั้นของเวที กระนั้นก็ตาม ก็เชื่อในศักยภาพ พลังการคิด และภาวะผู้นำของกลุ่มในการใคร่ครวญและริเริ่มการนำมาใช้ในโอกาสต่างๆด้วยตนเอง จากนั้น ก็ให้ประเด็นในการทำความรู้จักและเข้าถึงภาวะผู้นำเป็นกลุ่มผ่านการนั่งคุยกันให้รู้จักชีวิตและการงาน ซึ่งจะได้เป็นโอกาสสร้างความเป็นตัวตนส่วนรวมของคน มอ.ด้วยกันในโอกาสที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนักในเวทีนี้

โจทย์ : ประเด็นและแนวคำถามเพื่อใช้เวลาอันจำกัดให้ทีมผู้บริหารจำนวนมากจาก ๕ วิทยาเขตได้พูดคุยกันอย่างสบายๆและทั่วถึง

  • ท่านเป็นใคร องค์กรท่านทำอะไร มีบทบาทและความสำคัญอย่างไรต่อผู้คนและสังคม ท่านมีบทบาทต่อภารกิจเหล่านั้นอย่างไรบ้าง ในฐานะผู้บริหาร ภาวะผู้นำอย่างไรที่ท่านจะนำมาใช้ ทำไม หลักคิดและตัวแบบเป็นอย่างไร...เล่าสู่กันฟัง ?
  • แนะนำตนเอง แนะนำงาน แนะนำองค์กร
 
 
เมื่อเตรียมบรรยากาศเวทีให้คลายความเป็นทางการ และจัดจังหวะให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้มีเวลาทำความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมและวิธีการต่างๆของเวทีอย่างค่อยเป็นค่อยไปได้บ้างแล้ว ผมก็ได้ฉายประเด็นการพูดคุยกันค้างไว้บนจอแล้วก็ให้ทั้งเวทีนั่งคุยกันในกลุ่มย่อยไปตามสบาย อยากเข้าห้องน้ำ เดินไปชงกาแฟ หรือเดินออกไปทำธุระและกลับเข้ามานั่งคุยต่ออย่างไร ก็ขอให้ทีมบริหารจัดการตนเองไปตามความเหมาะสม
 
เมื่อเวลาผ่านไปพอสมควรและทุกกลุ่มได้พูดคุยกันอย่างทั่วถึงแล้ว ก็จัดกระบวนการให้เวทีได้ร่วมกันอภิปราย แลกเปลี่ยนประสบการณ์ สะท้อนความคิดเห็น แลกเปลี่ยนความประทับใจและความบันดาลใจ ที่ได้จากการนั่งสนทนากัน ซึ่งก็มีการอภิปรายและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในประเด็นต่างๆที่เป็นไปตามความคาดหวังของการจัดกระบวนการกลุ่มในขั้นแรก กล่าวคือ การได้รู้จักและเรียนรู้ความเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่อยู่ในความเป็นมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ทุกวิทยาเขตรวมทั้งจากต่างคณะและสาขาวิชา ที่คนในองค์กรเดียวกันไม่เคยได้รู้จักอย่างซาบซึ้งมาก่อน เช่น ผู้คนและสิ่งที่อยู่ในความเป็นวิทยาลัยภูเก็ต ความเป็นคณะและหลายสาขาของวิทยาเขตปัตตานี รวมทั้งคณะและหลายสาขาของวิทยาเขตหาดใหญ่
 
ผมสรุปกระบวนการเรียนรู้ของเวทีและแจ้งให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้ทราบว่ากระบวนการเวทีดังกล่าวนี้ จะใช้เป็นพื้นฐานสำหรับกิจกรรมในวันที่สอง ก่อนที่จะถอดบทเรียนและให้ข้อแนะนำต่างๆปิดท้ายการสัมมนาเชิงปฏิบัติการของชุมชนผู้นำครั้งนี้
 
ก่อนแยกย้ายกันกลับที่พัก ผมกับทีมของ มอ.และทีมของรองศาสตราจารย์นายแพทย์วรัญ รองอธิการบดีฝ่ายทรัพยากรบุคคล และรองศาสตราจารย์ ดร.ปริญญา รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการของ มอ. อันได้แก่คุณรัตติยาผู้รับผิดชอบดำเนินโครงการสัมมนา และคุณเมตตา ผู้ช่วยประสานงานและช่วยบันทึกข้อมูลเวที กับท่านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จันทวรรณ ปิยะวัฒน์ มิตรทางวิชาการจาก GotoKnow ผู้ให้น้ำใจเอื้ออาทรอย่างยิ่งสำหรับการไปจัดกระบวนการเวทีให้ครั้งนี้ของผม ก็ได้ช่วยกันประมวลภาพกระบวนการ พร้อมกับให้ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงกิจกรรมต่างๆให้เสริมกับวันแรกและให้ประสบการณ์แก่เวทีได้ดีมากยิ่งๆขึ้น
 
วันรุ่งขึ้น ผมจะเล่าตัวอย่างของเวทีคนหนองบัวและงานวิจัยชุมชนของมหาวิทยาลัยมหิดลจากประสบการณ์ตรงของตน ให้เป็นกรณีศึกษาเพื่อนำเข้าสู่หัวข้อภาวะผู้นำทางวิชาการและภาวะผู้นำด้านการวิจัย ที่คนทำงานและทีมผู้บริหารในสถาบันอุดมศึกษา จะสามารถเห็นสถานการณ์เพื่อการวิเคราะห์เงื่อนไขการใช้ภาวะผู้นำ ทั้งสำหรับนำการปฏิบัติในงานของตนเองและต่อการสนับสนุนการปฏิบัติของผู้อื่น ในการเชื่อมโยงสู่การสอน การสร้างคน การวิจัย การบริการวิชาการ และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม อันเป็นบทบาทของสถาบันอุดมศึกษา ในเงื่อนไขและความเป็นจริงใหม่ๆของสังคมไทยและสังคมโลก.

.................................................................................................................................................................................

หมายเลขบันทึก: 483913เขียนเมื่อ 1 เมษายน 2012 13:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 20:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

ขอบคุณอาจารย์ศิลาที่แวะมาเยือนและคลิ๊กทักทายกันครับ

มาทักทายอีกคนนะคะพี่อาจารย์

จำได้ว่าอาจารย์ชวนไว้ แต่ผมลืมสนิท อาจารย์กลุ่มใหญ่มากเลยครับ

ผู้นำ ต้อง ทำให้ดู อยู่ให้เห็น เน้นให้กำลังใจ ครับ

สวัสดีเจ้าหนูอ้อย หายไปนานเลยนะครับเนี่ย

สวัสดีครับอาจารย์ ดร.ขจิตครับ

งานนี้อยากชวนอาจารย์และหลายคนให้ได้ไปทำด้วยกันมากจริงๆครับ ไม่เพียงในแง่ของการเป็นงานของกลุ่มที่ผมเห็นความสำคัญและต้องการกำลังปัญญา กำลังวิชาการที่ดีที่สุด ของทีมที่มีส่วนผสมที่ดีเท่านั้นหรอกนะครับ แต่เวทีอย่างนี้ น่าจะได้สร้างโอกาสที่ดีๆไปด้วยสัก ๒ อย่าง คือ (๑) โอกาสในการทำให้ผู้คนเป็นเพื่อนกัน  เป็นพลังความริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งต่างๆของสังคมด้วยกัน และ (๒) โอกาสในการพาคนมือดีๆ ไปมีเวทีทำงานเชิงสังคมในเงื่อนไขแวดล้อมต่างๆ เพื่อเป็นการช่วยกันสร้างพลังปัญญาของสังคม ผ่านการสร้างปัจจัยการเปลี่ยนแปลงที่อยู่ในการสร้างคนรุ่นใหม่ๆเรื่อยๆ

แต่วิธีทำงานในสังคมของเราทั่วๆไปก็เป็นระบบที่ขจัดโอกาสของตัวเองเหมือนกันครับอาจารย์ โดยทั่วไปนั้น หากเป็นการทำงาน ผมก็มักจะหาโอกาสพาชาวบ้านและคนทำงาน ไปมีประสบการณ์กับการทำงานต่างๆให้ดีที่สุดอยู่เสมอ ซึ่งไม่ใช่ต้องการทีมหรือต้องการการมีส่วนร่วมแบบใช้แรงงาน เพราะงานอย่างนี้เป็นการจัดกระบวนการที่จะทำให้ประสบการณ์และการลงมือเองของคนที่อยู่ในเวที เป็นครูของกันและกันเอง เนื้อหามันอยู่ในงานของเขากันในตัวคนทำงานที่ร่วมเวที ผมเป็นเพียงคนคอยวิเคราะห์ข้อมูลที่จำเป็นต่างๆแล้วออกแบบกระบวนการ จัดกระบวนการและกำกับให้ผู้คนได้อยู่ในบรรยากาศที่ส่งเสริมพลังการเรียนรู้จากการทำงาน เพื่อกลับออกไปสร้างความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงบนการทำงานตามเงื่อนไขของตนเองให้ดีที่สุดเท่านั้น ดังนั้น ผมเพียงคนเดียวก็จะมีวิธีสร้างทีมบริหารจัดการกระบวนการต่างๆด้วยตนเองอยู่ในทุกเวทีนั่นเอง

งานอย่างนี้ เวลาคนเชิญบอกว่าผมมีทีมกี่คนและเป็นใครบ้าง ก็ให้มีอันกระอักกระอ่วน เพราะตอบไม่ได้ หากบอกตามจริงว่าทีมผมก็คือผู้เชิญและคนที่จะเข้าร่วมเวทีนั่นเองก็เกรงจะหาว่าเล่นสำบัดสำนวน และหากจะบอกว่าประกอบด้วยผู้คนมากมายที่ผมอยากชวนไปด้วยเหตุผลอย่างที่กล่าวถึงในข้างต้น ซึ่งในโอกาสต่างๆก็จะแตกต่างหลากหลายไม่ซ้ำกัน มันก็ไม่เข้าเกณฑ์และไปกันได้กับวิธีคิดอย่างที่คนอื่นๆเขาคิดเขาเข้าใจกัน คงต้องรออีกสักระยะหนึ่ง ที่วิธีทำงานเชิงสังคมไปบนเวทีวิชาการต่างๆอย่างนี้จะทำให้เกิดวัฒนธรรมการทำงานความคิดและงานทางปัญญารวมกลุ่มด้วยกันของผู้คนที่แตกต่างหลากหลาย จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบนพิธีกรรมทางวิชาการหลายรูปแบบที่กำลังไม่เพียงพอจะรองรับพลังการเรียนรู้ของผู้คนที่มาจากหลากหลายสาขาและเป็นความเป็นจริงที่กำลังเกิดขึ้นของสังคม เป็นเรื่องพัฒนาวิธีทำงานเล็กๆน้อยๆ แต่สาระสำคัญนั้นก็สำคัญพอๆกับเรื่องการปฏิรูปการเรียนรู้เหมือนกันนะครับผมว่า วันนี้ตื่นเช้า กินมะยงชิดไป ๖ ลูก เดินจงกรม นั่งสมาธิ ทำกายบริหาร เสร็จแล้วเลยกำลังเหลือ เลยคุยไปเรื่อยเปื่อย ความหมายจริงๆจึงน่าจะเป็นการขอทักทายและให้อาจารย์มีความสุขหลายๆน่ะครับ....

สวัสดีครับท่านอาจารย์หมอ JJ ครับ
ผู้นำที่คอยเป็นกำลังใจ ทำและอยู่ให้เป็นที่อุ่นใจนี่
เป็นวิถีผู้นำที่จะทำให้เกิดความทุ่มเทการทำงานออกมาด้วยใจ
ของคนทำงานในสาขาต่างๆเลยนะครับ

แวะมาทักทายและเรียนรู้ "บริบทของการสร้างเสริมสภาวะผู้นำทางการศึกษา"

ดูจากรูปแล้วมีกระบวนการที่น่าสนใจในการให้ผู้เรียนสะท้อนความในใจสู่ความเข้าใจเพื่อพัฒนาการศึกษาไทยได้ก้าวหน้าครับ

สวัสดีครับอาจารย์ Dr.Pop

งานนี้ทำให้ผมนึกถึงเวทีพัฒนาเครือข่าย UKM18 ที่พวกเราชาวมหิดลกับเครือข่าย ๘ มหาวิทยาลัยไปนั่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สั่งสมภูมิปัญญาปฏิบัติจากกันและกัน ที่สวนสามพรานเมื่อปีก่อนเลยนะครับอาจารย์ ตอนนั้นเราเน้นเรื่องการจัดการศึกษาทั่วไป (General Education) กับเทคโนโลยีและนวัตกรรม และระบบสนับสนุนต่างๆ เพื่อมุ่งสร้างบัณฑิตที่มีความเป็นผู้นำทางการปฏิบัติอย่างบูรณาการ

เวทีที่มอ.นี้ดร.ปริญญากับผมก็นึกถึงเรื่องการศึกษาทั่วไปเหมือนกัน แต่คงต้องมีกระบวนการอย่างนี้สักพักหนึ่งจึงจะสามารถยกระดับไปสู่การระดมสมองเพื่อคิดและทำให้เหมาะสมกับที่ต้องการได้ เงื่อนไขจำเพาะของ มอ.สำหรับกระบวนการนี้ ที่ผมลองประเมินดูแล้วว่าหากจะทำได้ ก็ต้องมีกระบวนการสร้างพื้นฐานบางประการสักนิดหนึ่งก่อนเนื่องจากว่ามหาวิทยาลัยมีหลายวิทยาเขต อีกทั้งแต่ละวิทยาเขตและแต่ละสาขาของคณะต่างๆที่มีอยู่ ก็มีประสบการณ์ของการปฏิบัติและธรรมชาติของหน่วยงานย่อยๆที่มีความแตกต่างหลากหลาย การเกิดประเด็นร่วมและหยั่งถึงพื้นฐานบางอย่างให้เป็นที่ยืนร่วมกันได้ จึงต้องมีกระบวนการบางอย่างที่ต้องดำเนินการขึ้นอย่างเป็นการจำเพาะของตนเอง

กระนั้นก็ตาม กระบวนการทั้งที่ดร.ปริญญากับผมทำให้กับเวทีนั้น โดยสาระสำคัญแล้ว ก็เป็นเรื่องกระบวนการและการบริหารจัดการการศึกษาทั่วไป ทั้งที่จัดขึ้นอย่างเป็นโครงการจำเพาะ และที่บูรณาการเข้าสู่การเรียนการสอน การวิจัย และอื่นๆ เหมือนกันครับ เพียงแต่ไม่ได้เรียกว่าเป็นการศึกษาทั่วไปเท่านั้น อีกทั้งได้ทราบว่า ก่อนหน้านี้ ทางมหาวิทยาลัยก็ได้ท่านดร.ปริญญาไปช่วยและนักศึกษาก็ถืออาจารย์เป็นบุคคลตัวแบบในการเป็นผู้มีจิตอาสาคนหนึ่ง เรียกว่ามีพื้นฐานที่จะเตรียมระดมทำทั้งมหาวิทยาลัยอยู่แล้วเหมือนกันครับ

อาจารย์สบายดีนะครับ ไปเกาหลีมาหรือครับ ดูจากรูปน่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท