๑๘. ภาวะผู้นำกับการบริหารสถาบันอุดมศึกษา : (๘) ภาวะผู้นำของ มอ ต่อความเป็นสถาบันอุดมศึกษา


หลังจากผมประมวลภาพทั้งจากบทเรียนที่ถ่ายทอดโดย ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล เชื่อมโยงกับการนำเอาประสบการณ์มาทบทวน และยกตัวอย่างสถานการณ์ของการวิจัยกับการบริการทางวิชาการในเงื่อนไขแวดล้อมและความจำเป็นใหม่ๆ จากนั้นก็ขึ้นแนวคิดกว้างๆ ตั้งประเด็น จัดกลุ่ม และมอบเวทีให้เป็นการนั่งคุยและปรึกษาหารือกันของคน มอ แล้ว กลุ่มผู้บริหารรุ่นใหม่จาก ๕ วิทยาเขตของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จำนวน ๑๐๐ กว่าคน ก็นั่งพูดคุยสนทนากันตลอดช่วงเช้าไปจนถึงพักรับประทานอาหารกลางวัน

หลายกลุ่มมีอาจารย์และผู้บริหารรุ่นอาวุโสร่วมอยู่ในกลุ่ม เช่น ทีมผู้บริหารของวิทยาเขตปัตตานี ซึ่งหัวหน้าทีมเป็นอดีตรองอธิการบดี อีกทั้งมีความอาวุโสทั้งในทางการบริหาร วิชาการ และวัยวุฒิ ก็มีบทบาทในการเป็นพี่เลี้ยงและส่งเสริมการคิดการแสดงบทบาทต่างๆของคนรุ่นใหม่ กลุ่มอื่นๆก็ค่อยๆเกิดการแก้ปัญหาในการหาประเด็นคุยกัน แล้วก็ถือโอกาสทำเวทีให้เป็นการสร้างคนรุ่นใหม่ รวมทั้งเป็นเวทีสำหรับการได้ร่วมกันถักทอจินตนาการที่ใหญ่เพื่อสะท้อนสู่การทำงานให้มีคุณค่าและความหมายมากที่สุด

จากนั้น ในช่วงบ่ายก็นำเสนอ อภิปราย พูดคุยแลกเปลี่ยนทรรศนะ รวมทั้งเสริมกำลังใจและสร้างกำลังความคิดให้กัน ระหว่างการนำเสนอ ผมและคุณรัตติยา ทีมสำนักพัฒนาทรัพยากรบุคคล และคณะ ก็ช่วยกันประสานงานและทำให้เวทีเป็นการบริหารจัดการกันเองของกลุ่มผู้บริหารรุ่นใหม่ในเวที

ผมช่วยเวทีจับประเด็นบางส่วนเพียงเพื่อเป็นตัวอย่างของกระบวนการนำเอางาน ภารกิจขององค์กร และประสบการณ์อันหลากหลายจากการทำงานและการดำเนินชีวิตในชุมชนที่เกี่ยวข้อง มาสร้างให้มีวงจรสำหรับคิดให้แยบคายเป็นชุมชน รวมทั้งทำประสบการณ์ให้เป็นครู เชื่อมโยงการเรียนรู้และการเพิ่มพูนทั้งความรู้และความคิดริเริ่มที่ดีกับการทำงานให้ดำเนินเป็นวงจรที่เชื่อมโยงกัน เป็นเวทีสำหรับร่วมกันเป็นเครือข่ายเรียนรู้งานและบริหารจัดการปฏิสัมพันธ์ให้มีความสะท้อนซึ่งกันและกันและมีความเชื่อมโยงกับสังคมอย่างมีความหมายอยู่เสมอ

ผมสรุป เสริมแนวคิด หลักคิด รวมทั้งให้ข้อเสนอแนะต่อทีมบริหารของมหาวิทยาลัย ในการนำเอาสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในเวที ไปเป็นเครื่องมือและวิธีเสริมประสิทธิภาพเชิงการบริหารจัดการงาน ที่สอดคล้องกับหลักคิดเกี่ยวกับภาวะผู้นำกับการบริหารสถาบันอุดมศึกษา สะท้อนสู่การขับเคลื่อนงานต่อไปหลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการเวทีแล้วทีละเล็กละน้อย ประกอบด้วย

  • การใช้เป็นข้อมูลและวิธีให้น้ำหนักสำหรับลำดับวาระความสำคัญ มีความเป็นส่วนรวม ที่สอดคล้องกับวาระความสนใจของเครือข่ายผู้นำและสมาชิกขององค์กร ภาวะผู้นำระดับเครือข่ายและภาวะผู้นำระดับความเป็นกลุ่มก้อน มีความเป็นอัตลักษณ์ของสังคมและสถาบันอุดมศึกษาสะท้อนอยู่สิ่งที่ดำเนินการโดยปัจเจกและหน่วยงานย่อย
  • การใช้เป็นแนวการอธิบายและการเข้าใจแนวเชื่อมโยงตนเองเข้ากับความเป็นส่วนรวมของมหาวิทยาลัยและของสังคม ของปัจเจก หน่วยงาน และท้องถิ่น ทำให้ผู้บริการของมหาวิทยาลัยสามารถสื่อสารกับระดับนโยบายที่เหนือขึ้นไปได้ด้วยจุดยืนของผู้รับผิดชอบทางการปฏิบัติ ทำให้มหาวิทยาลัยมีพลังความร่วมมือมากยิ่งๆขึ้น
  • การใช้เป็นประเด็นสร้างวาระการสื่อสารและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้ามศาสตร์ ข้ามหน่วยงาน ข้ามวิทยาเขต ทำให้เป็นทุนตั้งต้น ที่จะมีผลต่อการลดต้นทุนและความสูญเสียจากความไร้ประสิทธิภาพในระบบได้หลายอย่าง ด้วยการเชื่อมโยงกันและริเริ่มออกจากตนเองด้วยความมีภาวะผู้นำของคนทำงาน
  • การใช้เป็นข้อเสนอสำหรับนำไปสู่การพัฒนาแนวคิดและแนวนโยบายของมหาวิทยาลัยให้มีความเชื่อมโยงกับการสร้างสุขภาวะสังคมที่พึงประสงค์ ที่จะมีเครือข่ายผู้นำและคนทำงานรู้ เข้าใจ และสามารถสร้างความร่วมมือกันด้วยตนเอง ทำให้สถาบันอุดมศึกษามีโอกาสบรรลุจุดหมายต่างๆได้มากยิ่งๆขึ้น

การอภิปรายและแลกเปลี่ยนทรรศนะต่างๆในช่วงท้ายหลังทุกกลุ่มได้นำเสนอผลการระดมความคิดที่สะท้อนการเชื่อมโยงความคิดจากเวทีและประสบการณ์ที่ได้จากกระบวนการต่างๆไปสู่การดำเนินงานภายใต้บทบาทของสถาบันอุดมศึกษาแล้ว มีความเป็นการพูดคุย หารือ ชื่นชมและเป็นกำลังใจให้กันอย่างคนที่ผูกพันกันด้วยใจ เห็นภาวะผู้นำและจิตวิญญาณระดับความเป็นส่วนรวมของกลุ่มก้อน ที่ออกมาจากการให้ความวางใจและเห็นความสำคัญของคนอื่นอยู่ในจิตใจของตนเองมากขึ้น

ในแง่ของการผสมผสานมิติชุมชนเข้าสู่การพัฒนากระบวนการบริหารจัดการความเป็นองค์กรนั้น ก็สามารถกล่าวได้ว่า ได้เกิดโครงสร้างเชิงวัฒนธรรม รวมทั้งมีความโน้มใจเปิดรับและสร้างความเป็นตัวตนที่ให้ความเป็นส่วนรวมมาก่อนความแยกส่วน รองรับการมีความหมายและการเห็นคุณค่าที่มีความร่วมกันมากขึ้นเกิดขึ้นให้สั่งสมเป็นทุนทางสังคมของมหาวิทยาลัยผ่านกระบวนการที่ได้จัดขึ้นในครั้งนี้เพิ่มขึ้นมาอีก

ตามประสบการณ์ที่มีนั้น ผมก็จะมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างนี้ จะเป็นทุนให้คนสามารถเดินเข้าหากัน สร้างภาวะผู้นำแบบรวมกลุ่มและภาวะผู้นำแบบเครือข่ายที่สามารถผสมผสานความแตกต่างหลากหลายในบริบทหนึ่งๆ ได้ดีขึ้น ผู้คนจะมีประสบการณ์อ้างอิงชุดหนึ่งไว้สำหรับละวางตัวตนและเดินข้ามกรอบความรู้แยกส่วนร่วมกัน มีความอดทนหนักแน่นให้กับความแตกต่างกันได้ดีขึ้น ซึ่งจะทำให้สามารถร่วมกันเป็นปัจจัยส่งเสริมกันและร่วมสร้างสุขภาวะส่วนรวมที่พึงประสงค์ร่วมกันให้ดียิ่งๆขึ้นได้ดีกว่าเดิม.

.................................................................................................................................................................................

หมายเลขบันทึก: 484821เขียนเมื่อ 10 เมษายน 2012 18:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 01:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณอาจารย์ณัฐพัชร์ครับ
ที่แวะมาเยือนและทักทายกัน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท