๒๐.KM การจัดการความรู้ชุมชน : เดินคู่ขนานไปกับชุมชนเรียนรู้ใน GotoKnow


๑๙-๒๑ เมษายน ๒๕๕๕ นี้ ผมจะไปเป็นวิทยากรจัดกระบวนการถอดบทเรียนในบางหัวข้อให้กับเครือข่ายทั่วประเทศของสำนักจัดการความรู้เพื่อพัฒนาเข้มแข็งชุมชน ของศูนย์การเรียนรู้เพื่อพัฒนาความเข้มแข็งชุมชน กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เจ้าของโครงการที่ติดต่อและคงจะเป็นผู้นำเสนอให้ทางกรมการพัฒนาชุมชนเชิญผมก็คืออาจารย์กู้เกียรติ ญาติเสมอ ผู้อำนวยการสำนักจัดการความรู้เพื่อพัฒนาความเข้มแข็งชุมชน ของกรมการพัฒนาชุมชน

ผมกับอาจารย์กู้เกียรติได้ทำความรู้จักกันใน GotoKnow นี้นี่เอง ต่อมาก็ได้สนทนาและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันหลายอย่าง กระทั่งนำมาสู่การได้ร่วมงานและทำสิ่งต่างๆเพื่อส่วนรวมด้วยกัน ๒ โครงการแล้ว โดยครั้งแรกเมื่อปลายปี ๒๕๕๔ ที่ผ่านมา ในการถอดบทเรียนเพื่อประเมินและเสริมพลังเครือข่ายพัฒนาการอ่านสร้างสุขของ สสส และต่อมาก็ในครั้งที่กำลังจะไปร่วมกันทำอีกนี้

นอกเหนือจากเนื้อหาของกิจกรรมและงานของเครือข่ายแล้ว ในอีกแง่หนึ่งที่เป็นการเรียนรู้และเชื่อมโยงความเป็นเครือข่ายบนความมีประเด็นความสนใจร่วมกัน แต่กระจายกันอยู่ในต่างองค์กร ต่างภารกิจ ต่างประเด็นจูงใจ และไม่เคยมีความร่วมมือกันมาก่อน กระทั่งเกิดการประสานความร่วมมือและริเริ่มทำงานเชิงยุทธศาสตร์ความรู้เพื่อสังคมร่วมกันอย่างนี้นั้น ต้องนับว่าเป็นการเดินคู่ขนานไปด้วยกัน ระหว่างการเป็นชุมชนแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยกันใน GotoKnow กับการมีการออกไปสร้างความเป็นจริงด้วยกันอีกในมิติหนึ่งในสังคมการทำงานซึ่งอยู่นอกชุมชนเสมือนใน GotoKnow นี้ ซึ่งนับว่าได้ร่วมกันขยายมิติความซับซ้อนจากการผสมผสานชุมชนออนไลน์กับเครือข่ายปฏิบัติการเชิงพื้นที่ซึ่งอยู่กับแก้ปัญหาในพื้นที่ต่างๆของประเทศเข้าด้วยกัน

ผู้ร่วมเวที เป็นหัวหน้าและคนทำงานในศูนย์จัดการความรู้และพัฒนาการเรียนรู้ของชุมชนจากทั่วประเทศ ผมไม่แน่ใจว่าชื่อหน่วยงานจริงๆนั้นชื่ออย่างไรเพราะยังไม่คุ้นเคย แต่ก็ทราบในหลักการสำคัญและภารกิจจำเพาะว่าเป็นหน่วยจัดการความรู้และพัฒนากระบวนการเรียนรู้ให้กับกลุ่มเป้าหมายที่อยู่ใกล้ชิดระดับปฏิบัติในหน่วยรากฐานของสังคม เช่น ชุมชน ปัจเจก และกลุ่มการรวมตัวกันของประชาชนตามพื้นที่ต่างๆของประเทศ เพื่อเสริมสร้างทักษะการจัดการและสนองตอบต่อความจำเป็นต่างๆในวิถีชีวิต ทั้งตามแนวนโยบายของภาครัฐและตามความจำเป็นของชุมชน ซึ่งในครั้งนี้ จะเป็นการนำเอาผลของการดำเนินงานและประสบการณ์ที่เกิดจากการทำงานของผู้ปฏิบัติ มาวิเคราะห์ ถอดบทเรียน และจัดการความรู้เพื่อจุดหมายสำคัญใน ๒ ส่วน

ด้านหนึ่งจะเป็นการเรียนรู้การพัฒนาและกระบวนการจัดการศูนย์การเรียนรู้จากกรณีตัวอย่างที่คัดสรรมาแล้วจากเกณฑ์บ่งชี้ความสำเร็จ และอีกด้านหนึ่ง จะถอดบทเรียนในด้านการเตรียมการและการจัดการภัยพิบัติในระดับชุมชน เพื่อเสริมสร้างศักยภาพ เตรียมความพร้อม พร้อมกับนำเอาบทเรียนและการคิดวิเคราะห์ของเครือข่ายผู้เกี่ยวข้องทางการปฏิบัติ ไปจัดทำเป็นข้อมูล แนวคิด และตัวอย่างวิธีปฏิบัติ เพื่อให้มีพื้นฐานความพร้อมสำหรับการจัดการของชุมชนต่ออุบัติภัยต่างๆที่เกิดเพิ่มมากขึ้นทั้งในปัจจุบันและอนาคต

กระบวนการอย่างนี้ จัดว่าเป็นกระบวนการจัดการชุมชนและเครือข่ายผู้ปฏิบัติ ซึ่งภายใต้กิจกรรมต่างๆนั้น จะมีมิติสัมพันธ์หลายประการที่จะก่อเกิดและดำเนินไปด้วยกัน ที่สำคัญคือ.......

  • บูรณาการการเรียนรู้การปฏิบัติไปบนเวที : เป็นส่วนหนึ่งในวงจรที่เชื่อมโยงอยู่กับการปฏิบัติและความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงในโลกความเป็นจริงของสังคม ภาคปฏิบัติการดำเนินไปกับการทำงานเชิงพื้นที่และผสมผสานไปกับชุมชน ภาคนโยบายและสนับสนุนอยู่ในองค์กรภาครัฐและหน่วยราชการในพื้นที่ และนัยสำคัญของเวที จัดว่าเป็นกลไกทำงานความคิด ทำงานสนับสนุนทางวิชาการ นำเอาผลการปฏิบัติมาตรวจทาน ทบทวน เรียนรู้ และสะท้อนกลับไปยังวงจรปฏิบัติ
  • สร้างและเพิ่มพูนความรู้เพื่อการปฏิบัติเสริมเข้าไปบนประเด็นร่วมจากการปฏิบัติ : นำเอาข้อมูลการทำงานมาวิเคราะห์และสะท้อนกลับสู่ภาคปฏิบัติด้วยวิธีการต่างๆ เช่น แนวนโยบายที่เหมาะสมมากขึ้น แผนปฏิบัติการที่ต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ก็เพิ่มพูนความรู้และการสนับสนุนทางวิชาการใหม่ๆที่เหมาะสมให้กับเครือข่ายคนทำงาน ทำให้กระบวนการทางการศึกษาและการเพิ่มพูนความสามารถทางการปฏิบัติให้กับบคุลากร ดำเนินไปอย่างคู่ขนานกับการปฏิบัติ
  • การกำกับตนเองด้วยภาวะผู้นำเป็นกลุ่มและเครือข่ายการปฏิบัติของจุดเชื่อมต่อภาครัฐกับชุมชนในหน่วยชุมชนเชิงพื้นที่ขนาดเล็ก : มีความเป็นเวทีปรึกษาหารือ เห็นแนวโน้ม และแนวการตกลงใจในภาพกว้าง ซึ่งเป็นมิติสังคมและสภาพแวดล้อมของชุมชนปฏิบัติในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ ก่อให้เกิดองค์กรการจัดการแบบเครือข่ายที่ทุกคนมีบทบาทในการเป็นผู้ชี้นำการปฏิบัติด้วยตนเอง เชื่อมโยงและส่งเสริมกันในความเป็นส่วนรวมเดียวกัน

ทางอาจารย์กู้เกียรติและคณะ ได้เตรียมประเด็นสำหรับถอดบทเรียนทางด้านการจัดการของศูนย์การเรียนรู้ เพื่อให้เวทีแบ่งกลุ่มและนำเอาประสบการณ์มาวิเคราะห์ให้ได้ชุดความรู้และข้อมูลสำหรับการปฏิบัติ เพื่อที่หลังจากนี้ ก็จะจัดทำเป็นสื่อและระบบจัดการความรู้เพื่อสนับสนุนทางวิชาการและความรู้ปฏิบัติให้กับศูนย์เรียนรู้ทั่วประเทศในลำดับ สะสมเพิ่มไปอีกมิติหนึ่งต่อไปอีก ส่วนทางด้านการจัดการภัยพิบัติและอุบัติภัยนั้น ผมอาจจะต้องตั้งประเด็นเพิ่มให้กับเวที เพื่อจัดกลุ่มศึกษาให้เวทีได้รวบรวมความรู้จากประสบการณ์ แล้วนำมาวิเคราะห์และสรุปบทเรียน เพื่อนำไปเป็นข้อมูลสำหรับการจัดการความรู้และพัฒนาการสื่อสารสร้างพลังเครือข่ายความร่วมมือทางด้านต่างๆที่เป็นจุดหมายของศูนย์การเรียนรู้ต่างๆทั่วประเทศกันต่อไป

ดูต้นทุนทางวิชาการและความมีประสบการณ์ของกลุ่มผู้ร่วมเวทีประมาณ ๒๐๐ คนจากศูนย์การเรียนรู้ในชุมชนท้องถิ่นต่างๆทั่วประเทศ ซึ่งเป็นนักวิชาการพัฒนาชุมชนระดับผู้บริหารระดับกลางค่อนข้างสูงหรือระดับ ๗-๘ อีกทั้งเป็นผู้ทำงานเชิงเครือข่ายกับชุมชนในพื้นที่แล้ว อาจจะสามารถทำให้เป็นชุมชนทำงานความรู้การปฏิบัติ ที่ออกแบบกระบวนการไปบนการวิจัยเชิงปฏิบัติการและพัฒนาศักยภาพเครือข่ายบริหารจัดการอย่างมีส่วนร่วม ตั้งคำถามและประเด็นเพื่อการพิสูจน์ด้วยการปฏิบัติที่มุ่งไปข้างหน้า พร้อมกับได้มีโอกาสวางแผนในความคิดและเตรียมตนเองออกไปทำงานที่เหมาะสมจำเพาะกลุ่ม ผมจึงจะไปขอนั่งสังเกตการณ์ คุ้นเคยกับกลุ่ม และศึกษารายละเอียดที่จำเป็นต่างๆเท่าที่จะเอื้อให้ทำได้ในวันแรก เพื่อวางแผนทำส่วนที่ผมจะดำเนินการให้ในครึ่งบ่ายของวันที่สองให้พอดีๆ

นอกจากการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือและได้ร่วมทำงานด้วยกันแล้ว ผมเองนั้นก็ได้รู้จักและเรียนรู้หลายอย่างจากอาจารย์กู้เกียรติ รวมทั้งมีความประทับใจและชื่นชมอย่างเป็นการส่วนตัวหลายอย่าง ที่สำคัญก็คือ ได้ทราบว่าอาจารย์กู้เกียรตินั้นเป็นญาติทางวิชาการและทางการศึกษาของผมหลายอย่าง เช่น เป็นรุ่นน้องของผมที่โรงเรียนเพาะช่าง อีกทั้งเป็นสาขาเดียวกันคือสาขาจิตรกรรมสากลอีกด้วย ขณะเดียวกัน ก็เป็นศิษย์ร่วมอาจารย์ด้านการวิจัยและระเบียบวิธีการวิจัยของ ดร.อุทัย ดุลยเกษม ซึ่งปัจจุบันเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร

รวมทั้งเป็นคนที่ไม่ขาดการจัดสรรความสนใจให้กับการเขียนรูป เขียนการ์ตูน และศึกษาการทำงานศิลปะสื่อเพื่อสาธิตและชี้นำการปฏิบัติให้ผู้คนในทุกสาขา รวมทั้งเป็นผู้นำในการประยุกต์ใช้สำหรับเป็นเครื่องมือทำงานในสาขาต่างๆให้กับสังคม มุ่งพัฒนาตนให้มีความเป็นสหวิทยาการอยู่ในตนเองอยู่ตลอดเวลา ทั้งศาสตร์ ศิลป์ ปฏิบัติการเชิงสังคม และการพัฒนาชีวิตด้านใน มีเครือข่ายในวงการศิลปะ สื่อ และการโฆษณา หลายกลุ่มที่เป็นเครือข่ายพี่ๆน้องๆร่วมกัน เป็นคนเขียนถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆใน GotoKnow เหมือนกัน นอกจากนี้ ภรรยาของท่าน ก็เป็นลูกศิษย์ปริญญาเอกของผมที่มหาวิทยาลัยมหิดล และต่อมา ก็ได้ทำงานเพื่อสร้างสิ่งดีๆของส่วนรวมด้วยกันดังในครั้งนี้ ซึ่งนอกจากการได้ทำงานที่มีความหมายไปตามกำลังการปฏิบัติของเราเองอย่างนี้แล้ว ก็เป็นการได้เรียนรู้ไปบนความเป็นจริงไปด้วยในการพัฒนามิติสังคมวัฒนธรรมที่ดำเนินไปอย่างพอดีๆในสังคมวิทยาเทคโนโลยีที่ผสมผสานโลกออนไลน์และเทคโนโลยีสมัยใหม่กับการทำงานในสภาพจริงในชุมชนเชิงพื้นที่.

หมายเลขบันทึก: 485517เขียนเมื่อ 19 เมษายน 2012 08:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 16:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

It seems so difficult to keep your eyes on the skies while working at ground level -- the horizon looks forever so far away.

But you prod on. This is what I learn from you.

สวัสดีครับคุณ sr ครับ

ข้อสังเกตของคุณ sr นี้ เป็นแง่มุมที่เป็นหลักตั้งมั่นในใจของผมตลอดเวลาอย่างหนึ่งเลยละครับ อุปมาเหมือนกับมุ่งเดินบนผืนดินเพื่อนำเสนอความสะท้อนสิ่งที่เสมือนเป็นท้องฟ้าเหนือสิ่งต่างๆ พร้อมกับบอกเล่า ถ่ายทอด รายงาน สร้างแรงบันดาลใจในการเชื่อมต่อโลกและผู้คน เหมือนกับจะชวนให้เห็นความหนักแน่นของผืนดินจากการมองฟ้า ซึ่งก็จะแปลกๆไปหน่อยเพราะเป็นการก้มหน้าเพื่อเห็นเบื้องบน และเงยหน้าเพื่อเห็นเบื้องล่าง เห็นความกว้างใหญ่และแผ่นฟ้าบนผืนเดิน เห็นใจเขาใจเรา เห็นใจกันและมีความสามารถในการเรียนรู้เพื่อร่วมทุกข์สุขกัน มีการดำเนินชีวิตและการอยู่ร่วมกันเป็นยารักษาโรคและเป็นปัจจัยหลักอย่าง หนึ่งในอันที่คนซึ่งแม้มีเพียงสิ่งที่เป็นพื้นฐานที่สุดของชีวิตตัวเปล่าๆ ก็สามารถมีวิธีบรรลุจุดหมายชีวิตที่ลึกซึ้งและสูงสุดตามศักยภาพของตนได้ ผ่านการสามารถเห็นและได้เรียนรู้เพื่อพัฒนาการอยู่ร่วมกันในเงื่อนไขแวดล้อม ที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา

ผมเคยเรียกวิชาอย่างนี้ให้น้องๆและเพื่อนร่วมงานฟังว่า ควรมุ่งเป็นสิ่งเล็กๆแต่ให้มีความหมายตามกำลังปฏิบัติของเราตรงส่วนที่คนไม่ค่อยทำ ผสมผสานความแตกต่างไปกับสิ่งที่สังคมและคนทั่วไปมีอยู่ดีแล้ว ซึ่งหากเปรียบระบบสังคมเป็นร่างกายมนุษย์ การทำงานความรู้ในแนวทางอย่างนี้ก็คงจัดเป็นวิชาผังผืดและข้อต่อ ดูไม่สำคัญแต่มีความหมายมากในอันที่จะทำให้สมอง กล้ามเนื้อ กระดูก และระบบต่างๆ สามารถยึดโยงกัน แล้วสร้างปฏิสัมพันธ์ และผุดระบบความเป็นส่วนรวมที่ทำให้เกิดชีวิต เป็นปัจจัยส่งเสริมกัน สร้างความเป็นปรกติสุขของร่างกายและจิตใจ ให้ดีขึ้น เป็นแง่มุมที่สักระยะหนึ่งจะนำมาทบทวนและเล่าแบ่งปันกันครับ ขอบคุณมากจริงๆครับ

มีคนเล่าให้ฟัง เลยเล่าต่อว่า
ในหมู่บ้านชายป่าแห่งหนึ่ง
อำเภอชายแดนในจังหวัดพล.
ปีที่แล้ว สส. ไปสร้างอาคาร
เรียนรู้ชุมชนหลังใหญ่ ติดตั้งเครื่องมือ
เทคโนโลยี่ทันสมัย(ติดอินเตอร์เน็ทครบครัน)

ผ่านไปหนึ่งปี อาคารดังกล่าวเหมือนจะร้าง(คือร้างนั่นแหละ) 
ไม่ต่างกับสร้างศาสนสถานเลย สร้างเสร็จต่อมาก็ว่างเปล่า 

กราบนมัสการท่านพระอาจารย์มหาแลครับ
อาคารก็ถูกทิ้งรกร้าง ระบบไอทีและคอมพิวเตอร์นี่ยิ่งแล้วใหญ่ครับ ความที่ซอล์ฟแวร์เปลี่ยนแปลงและตกรุ่นเร็ว อีกทั้งหากไม่มีใครสร้างข้อมูลป้อนเข้าไปในระบบ ไม่นานก็ต้องดัดแปลงเอาไปทำตู้เลี้ยงปลา เกิดความสูญเสียและสูญเปล่าอย่างนี้เยอะนะครับ ทางด้านนี้นั้น ผมว่าชุมชนหนองบัวเราจะเป็นตัวอย่างให้กับหลายแห่งทั่วประเทศได้เป็นอย่างดีครับว่าการพัฒนามิติสังคมวัฒนธรรม รวมทั้งสร้างวัฒนธรรมทางจิตใจและวัฒนธรรมการสร้างและใช้ความรู้ หรือพัฒนาวิถีชีวิตและรสนิยมทางปัญญาก่อน จากนั้น ก็พากันเดินเข้าไปใช้ประโยชน์จากวิทยาการและเทคโนโลยีต่างๆให้เกิดประโยชน์อย่างพอเพียง ค่อยเป็นค่อยไป สมดุลและสอดคล้องกับการพัฒนาการจัดการตนเองของชุมชน เหล่านี้นั้น ริเริ่มและช่วยกันทำได้อย่างไร ซึ่งดีกว่านำเอาสิ่งของที่ชุมชนไม่ได้พัฒนาและยกระดับความต้องการ อีกทั้งไม่มีกระบวนการช่วยสร้างทักษะการเข้าถึงอย่างมีความหมายและได้คุณค่าในการใช้สอยที่ดีให้ก่อน

                        

                        

กิจกรรมในวันแรก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย กล่าวเปิด กล่าวต้อนรับ ให้แนวทางและร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิดกับผู้เข้าร่วมเวที

                        

อาจารย์ครับ โอโหสมาชิกเต็มเลย ตอนนี้อยู่กับอาจารย์จัน ที่ มศว ประสานมิตรครับ

งานสัมมนานี้จัดที่โรงแรมเอเชีย ข้างสะพานหัวช้างราชเทวี เลยไปอีกนิดเดียวก็ถึง มศว ประสานมิตรนะครับเนี่ย อาจารย์พักกันในมหาวิทยาลัยหรือแถวนั้นหรือเปล่าครับ หากพรุ่งนี้มีจังหวะจะได้ชวนพรรคพวกไปหนีบอาจารย์กับอาจารย์จันไปกินข้าวและนั่งคุยกันที่ร้านเจ้าอัชช์ที่อาจารย์กับเจ้าอ้อยเคยไป

"การเรียนรู้การพัฒนาและกระบวนการจัดการศูนย์การเรียนรู้จากกรณีตัวอย่างที่คัดสรรมาแล้วจากเกณฑ์บ่งชี้ความสำเร็จ" ... ไม่รู้จะนอกเรื่องหรือเปล่า แต่ขอเรียนว่า เรียนรู้ตัวตัวอย่างบันทึกที่เป็นศูนย์การเรียนรู้ ของอาจารย์ค่ะ เกณฑ์นั้น ก็ตั้งในใจเอาเองว่า อ่านแล้วได้ประเด็นงอกงาม ไปคิดไปทำต่อ ยอมรับว่า ถ้าจะอ่านบันทึกอาจารย์ ตัวเองต้องใช้ความพยายามตั้งสมาธิ (ที่มีน้อยนิด) อ่าน จึงจะคิดตามได้ ชื่นชม "บุคลิก" ในบันทึกอาจารย์ค่ะ - ชื่นชมยกย่องคนดีทุกระดับ - ชี้แจงประเด็นอย่างประณีต พร้อมยกตัวอย่าง

สวัสดีครับอาจารย์หมอ ป.ครับ

เห็นแล้วต้องรีบเข้ามาตอบด้วยความประทับใจอย่างยิ่งต่อแง่คิดที่อยู่ในการ สะท้อนทรรศนะเชิงระเบียบวิธีประเมินและวิธีถอดบทเรียนที่สะท้อนความแยบ คายออกจากด้านในตนเองของคุณหมอครับ

ผมนั่งเตรียมประเด็นไปนำการสนทนาเพื่อศึกษากรณีตัวอย่างศูนย์การเรียนรู้ให้ เป็นข้อมูลที่ดีที่สุดที่ผู้เข้าร่วมสัมมนาของกรมการพัฒนาชุมชนจะใช้เวลาไม่ มากนัก เรียนรู้เตรียมตนเองพร้อมกับถอดบทเรียนออกมาเสริมความหนักแน่นและรวบรวมไว้ ให้ปรากฏก่อนเดินทางไปข้างหน้าเพื่อจะได้ใช้เป็น Base-Line ซึ่งจะใช้ทำงานได้อีกหลายอย่าง เช่น ใช้ศึกษาวิเคราะห์เปรียบเทียบกับผลที่จะเกิดขึ้นในข้างหน้าอีกชุดหนึ่ง แล้วทำให้ผุดมิติความรู้อธิบายสิ่งที่เกิดความคืบหน้าหรือเกิดความเคลื่อน ไหวเปลี่ยนแปลงได้ เหล่านี้เป็นต้น

แต่การทำงานกับเครือข่ายคนทำงาน ภายใต้เงื่อนไขแวดล้อมปัจจุบันของสังคมในลักษณะนี้ของกรมการพัฒนาชุมชนซึ่ง เป็นหน่วยบริหารและบริการภาคสาธารณะประเภทหนึ่ง เป็นเรื่องที่ทำงานยากอย่างยิ่ง หากทำภายในหน่วยงานอย่างเดียวก็จะไม่ยาก แต่นี่เป็นการเกี่ยวข้องกับชุมชนและภาคสาธารณะในวิถีชีวิตชุมชน ซึ่งความเป็นสาธารณะเกือบทั้งหมดในชีวิตชาวบ้านจะอยู่ภายใต้ภารกิจของกรมการ พัฒนาชุมชนนิดเดียว ขณะเดียวกัน กลุ่มคนทำงานก็เป็นระดับปฏิบัติการ ซึ่งที่หน้างานนั้น ด้านหนึ่งก็ทำกับชุมชนในพื้นที่ และอีกด้านหนึ่งก็เชื่อมโยงกับงานภายใต้การบังคับบัญชาระดับแผนและนโยบาย นอกจากนี้ ในระดับประเทศ ก็ประกอบด้วยกลุ่มที่จัดระบบบริหารจัดการภาคสาธารณะแบบโครงสร้างเชิงอำนาจ ซึ่งอาจจะสัมผัสกับงาน และติดตามผลการดำเนินงานของคนทำงานทั่วประเทศ ผ่านสื่อกลางที่มักจะไม่สะท้อนวิธีคิดและไม่สะท้อนเหตุผลทางการปฏิบัติใน เงื่อนไขแวดล้อมของสังคมไทยที่ชุมชนและคนทำงานจะรู้ดีกว่าใครเลย ผ่านเอกสารและการประเมินผล ที่กลไกการนำเสนอรายงานก็ทำไปตามที่งานเชิงเทคนิคต่างๆจะบอกให้ทำ แต่ไม่รู้ความหมายและนัยสำคัญต่างๆว่าทำไปเพื่ออะไร

กระนั้นก็ตาม ก็ต้องยอมรับว่ามันเป็นความเป็นจริงของสังคม ที่อื่นๆทั่วโลกก็เป็น ไม่ใช่เพียงในสังคมไทย ดังนั้น ด้านหนึ่งก็ต้องคิดและพยายามทำงานกระบวนการไปภายใต้ข้อจำกัดนี้ ขณะเดียวกัน ก็พยามสะท้อนความเป็นจริงและเสริมกำลังความเป็นจริงภาคปฏิบัติ ให้เข้ามามีส่วนค่อยๆสร้างกระบวนการเรียนรู้เพื่อทำให้สิ่งต่างๆมีความหมายสำหรับการทำงานในเงื่อนไขแวดล้อมที่แตกต่างกัน เท่าที่จะเป็นไปได้ ให้มากที่สุด เลยก็นั่งคิดหัวแทบแตก ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วผมมีความรับผิดชอบที่จะต้องทำเพียง ๓ ชั่วโมง ซึ่งก็ง่ายมาก แต่พออยากทำให้มันมีความหมายจริงๆเมื่อกลับไปทำงานในพื้นที่ ก็กลายเป็นทำงานความคิดและศึกษาข้อมูลกลับไปกลับมาหลายรอบแล้วครับ ตั้งแต่อยู่เชียงใหม่ก็กว่า ๑ สัปดาห์ พอวางแผนแล้ว เมื่อวานไปนั่งสังเกตการณ์  ได้เอกสารเพิ่ม ได้ข้อมูลเพิ่ม ดูสถานที่ ความคาดหวังของระดับนโยบาย อารมณ์และจิตวิญญฯยาณของกลุ่มก้อน เหล่านี้แล้ว ก็กลับมานั่งรื้อ ออกแบบกระบวนการใหม่ และเตรียมเครื่องมือเสียใหม่โดยกลุ่มนี้ จะเป็นกลุ่มที่ผมออกแบบให้ใช้เครื่องมือการวิจัยเข้าช่วยจนเกือบจะเป็นเวทีคุยกันของเครือข่ายปฏิบัติการวิจัยชุมชนไปเลย เพิ่งจะเสร็จนี่แหละครับ ก่อนปิดเครื่องเลยแวะเข้ามาใน GotoKnow เห็นการสนทนาให้ความคิดกันของคุณหมอแล้ว ก็ตรงกับความสนใจอย่างยิ่งอยู่พอดี

เรื่องเล่าที่สะท้อนจากประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับตนเองของคุณหมอนี้ หากเป็นการพัฒนาวิธีถอดบทเรียน สร้างความรู้ และติดตามประเมินเพื่อเสริมกำลังการปฏิบัติ หรือเพิ่มพูนพลังให้กับความสร้างสรรค์สิ่งดีๆที่ริเริ่มได้บ้างแล้วเล็กๆ น้อยๆให้มีกำลังพอที่จะนำการเปลี่ยนแปลงดีๆแก่สังคมขึ้นอีกเรื่องหนึ่งนั้น ก็นับว่าเป็นแนวการวิเคราะห์และสรุปบทเรียน รวมทั้งสร้างหลักเกณฑ์ประเมิน อธิบายสิ่งต่างๆไปตามเงื่อนไขแวดล้อมจำเพาะของสิ่งนั้นๆ ไม่แยกส่วนออกจากบริบทของปรากฏการณ์ ซึ่งเป็น Community-Based Approach and Assessment

กระบวนการอย่างนี้ จะระดมพลังการช่วยกันลงมือต่อเรื่องต่างๆในสังคมได้เยอะ และลงลึกไปถึงความแตกต่างหลากหลาย สะท้อนความเป็นจริงในสังคมได้ดี จะต่างจากการไปเน้นการสร้างมาตรฐานกลาง ซึ่งจะทำให้น้ำหนักของงานไปอยู่ที่เอกสารและการสร้างสื่อกลางหรือตัวแทนความจริง รวมทั้งจะได้แต่ภาพรวม แต่ไม่สามารถเข้าถึงความเป็นจริงในระดับปฏิบัติ แต่วิธีอย่างนี้ ต้องพัฒนากลไก ระบบ และวิธีการอย่างอื่น ที่ต้องดำเนินการต่างออกไป กลุ่มคนที่เกี่ยวข้องก็จะถูกจัดโครงสร้างและเกิดความสัมพันธ์กันในวิถีทางใหม่ๆที่ไม่ใช่โครงสร้างเชิงอำนาจแบบเดิม ซึ่งก็มีเรื่องราวต่างๆอีกมากมายที่จะต้องเรียนรู้และทำเสียใหม่ซึ่งก็ไม่เป็นประโยชน์ที่จะพยายามรู้ไปหมดก่อนให้ได้ เพราะกระบวนการสร้างคน ดึงคนออกมาจากงานและแยกส่วนเพื่อเพิ่มพูนความรู้นั้น นอกจากจะยิ่งยากกว่าแล้ว ก็กลับไปเพิ่มภาระงานของผู้ปฏิบัติซึ่งมีเงื่อนไขการทำงานยากอย่างที่กล่าวมาในข้างต้นและขาดคน ให้กลับอ่อนแรงลงมากเข้าไปอีก จึงยิ่งกระทบต่อโอกาสการพัฒนาตนเองของพื้นที่ทำงานต่างๆ อีกด้วย

ดังนั้น ต้องหาวิธีผสมผสานการเรียนรู้และยกระดับช่วยกันไปบนการสร้างความเป็นจริงบนการปฏิบัติให้เกิดขึ้นในสังคมไปด้วย วิธีเริ่มต้นได้โดยพึ่งตนเองและอาศัยปัจจัยพื้นฐานที่สุดในการอยู่ร่วมกันที่มนุษย์ทุกคนมีจึงมีความหมาย คือ การพูดและฟังคนอื่น กับการเดินเข้าไปเห็นความลึกซึ้งแยบคายในประสบการณ์ของตนเอง ซึ่งหากจำแนกโดยความรู้ทางสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์ ทางด้านจิตวิทยาสังคม ก็พอจะจำแนกได้ว่า ด้านหนึ่งนั้น เป็นปัจจัยการจัดความสัมพันธ์ด่านแรกกับโลกภายนอก หรือ External Determinants กับอีกด้านหนึ่ง เป็นการจัดความสำพันธ์กับระบบภายในหรือวัฒนธรรมทางจิตใจของมนุษย์ Locus Control ซึ่งป็นเบื้องต้นที่สุดของการถือเอาคนและชุมชนเป็นตัวตั้ง

เรื่องเล่าเล็กๆของคุณหมอนี้มีวิถีทรรศนะทางวิชาการที่แหลมคม ลึกซึ้ง และมีความแยบคายต่อสังคมไทยมากครับ จะหาโอกาสเล่าให้ฟังสอดแทรกในบันทึกต่างๆไปเรื่อยๆเมื่อมีตัวอย่างเปิดประเด็นให้นำมาอ้างถึงและพอจะกล่าวถึงได้ครับ

                        

                        

อาจารย์กู้เกียรติ วิทยากรเจ้าของประสบการณ์จาก ๔ จังหวัด ที่จะมานำการถอดบทเรียนให้กับเวที และเครือข่ายเชิงพื้นที่ ตอนบ่ายผมจะพาเวทีคุยกันเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และถอดบทเรียน เพื่อกลับไปขยายผลการทำงานเป็นเครือข่ายทั่วประเทศให้ดีที่สุดและเชื่อมโยงภารกิจด้วยกันเท่าที่จะเกิดขึ้นได้

                        

ภาพกิจกรรม การถอดบทเรียน การจัดการความรู้เพื่อรับมือกับภัยธรรมชาติและพัฒนาคุณภาพชีวิต ของศูนย์เรียนรู้ชุมชน : การจัดกลุ่มวิเคราะห์และอภิปรายข้อมูลจาก ๔ กรณีศึกษา นำเสนอ และสรุปบทเรียน ในครึ่งบ่ายของวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๕๕

 

ไฟแรงไม่มีตกเลยนะคะอาจารย์ ยอดเยี่ยม ๆ

เป็นอิสระแล้วยิ่งโบยบินเลย อิ อิ

ชอบจังที่อาจารย์ตอบคุณ sr ว่า "...ควรมุ่งเป็นสิ่งเล็กๆแต่ให้มีความหมายตามกำลังปฏิบัติของเราตรงส่วนที่คนไม่ค่อยทำ ผสมผสานความแตกต่างไปกับสิ่งที่สังคมและคนทั่วไปมีอยู่ดีแล้ว..." อันนี้เห็นด้วยมาก ๆ เลยค่ะ

คนเราควรหาโอกาสใช้ศักยภาพในตัวเราตามกำลังและโอกาส เล็ก ๆ แต่เปี่ยมความหมาย นั่นแหละค่ะยิ่งใหญ่

เรื่องชุมชนจัดการตนเองนั้น น่าสนใจมากค่ะ ..__..

สวัสดีครับคุณใบไม้ย้อนแสง
คุณใบไม้ย้อนแสงช่วยบังแดดลดความร้อนเยอะๆหน่อยเร็ว
จะว่าไปแล้วนี่ การมุ่งเป็นสิ่งเล็กๆที่มีความหมายทั้งต่อตนเองและต่อความเป็นส่วนรวมหรือระบบขนาดใหญ่นั้น ก็เหมือนกับเป็นคลื่นความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง ที่จะเป็นการดำเนินต่อเนื่องกับสิ่งที่เป็นกระแสสังคมของยุคสมัยการผลิตและบริโภคขนาดใหญ่ที่เน้นการทำสิ่งที่เหมือนกันหมดทีเดียวเยอะๆ ซึ่งหลายอย่างก็ชักจะเกิดความอิ่มตัวและขึ้นสู่ขีดจำกัดสูงสุดของตัวมันเอง หากจะดำเนินต่อไปได้ก็จะต้องออกจากกรอบเดิม ซึ่งก็คือ ต้องออกจากกรอบที่เน้นแต่สิ่งใหญ่ๆรวมๆ ไปสู่การใส่ใจรายละเอียดและมิติที่เป็นคุณค่าที่อยู่เหนือการผลิตและบริโภคสิ่งต่างๆของปัจเจกและสังคม แล้วชุมชนการจัดการตนเอง ซึ่งฉีกออกจากกระแสสังคมแบบ Massive  ก็จะมาเป็นเรื่องเดียวกันกับสิ่งนี้ด้วยเหมือนกันครับ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท