dararat
ดร. ดารารัตน์ อุทัยพยัคฆ์

เริ่มอย่างถูกต้องตั้งแต่ปฐมวัย


เริ่มอย่างถูกต้องตั้งแต่ปฐมวัย

                       

เริ่มอย่างถูกต้องตั้งแต่ปฐมวัย

           ถ้าพูดถึงเรื่องการศึกษากันแล้วเราคงจะมีเรื่องหนึ่งที่มักจะกล่าวถึงด้วยความกังวลสำหรับผู้เกี่ยวข้องกับการศึกษาในทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นครู พ่อแม่ผู้ปกครอง ผู้บริหารระดับต่างๆ ฯลฯ เรื่องดังกล่าวคือผลการประเมินนานาชาติของไทยเราที่ปรากฎว่า ผล PISA 2009 (PROGRAMME FOR INTERNATIONAL STUDENT ASSESSMENT) คะแนนเด็กไทยด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ อยู่อันดับ 50 และวิทยาศาสตร์อันดับ 48 รั้งอันดับท้ายๆทั้งด้านการอ่าน คณิตศาสตร์  และวิทยาศาสตร์ จากการทดสอบดังกล่าวนักเรียนจากฟินแลนด์ได้คะแนนสูงสุดมาตลอด ยกเว้นครั้งล่าสุด ค.ศ. 2009  นักเรียนจากจีน(เซี่ยงไฮ้) ได้คะแนนสูงสุด แต่ฟินแลนด์ก็ยังอยู่ในอันดับต้นๆ ทั้งด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ มีผู้ที่ได้ศึกษาและไปดูงานด้านการศึกษาขั้นพื้นฐานของฟินแลนด์มาแล้ว พบคำตอบที่พอสรุปได้ว่าเหตุใดฟินแลนด์จึงได้คะแนนอ้นดับต้นๆของการประเมินผล PISA มาโดยตลอด ทำไมนักเรียนฟินแลนด์นอกจากเรียนเก่งแล้วนักเรียนส่วนใหญ่ยังเรียนได้ใกล้เคียงกันทั้งประเทศ นอกจากนั้นมีความเครียดน้อยกว่า มีวินัยและรักนับถือครู ด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนมีผลงานวิจัยที่แสดงว่านักเรียนที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะเศรษฐกิจดี จะมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงกว่านักเรียนที่มาจากครอบครัวมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ด้อยกว่า แต่ผลการจัดการศึกษาในฟินแลนด์นั้นปรากฎว่าผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนที่มีพ่อแม่ฐานะการเงินในระดับต่ำ ยังคงมีคะแนนสูงกว่านักเรียนที่มีฐานะทางการเงินระดับดี  ด้วยปัจจัยการศึกษาต่างๆที่เอื้อต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่ดีทั้งคุณภาพครู ระบบการประเมินผล การบริหารจัดการ ความร่วมมือและความเข้าใจด้านการศึกษาโดยเฉพาะในระดับปฐมวัยของพ่อ แม่ ผู้ปกครองและชุมชน  เป็นต้น สิ่งที่สำคัญยิ่งและมีผลต่อการศึกษาของเขาคือ เด็กของฟินแลนด์ร้อยละ 41 รักและชอบการอ่าน   หนังสือ เห็นคุณค่าของการอ่านหนังสือ ถึงแม้ในปัจจุบันนี้มีระบบอินเทอร์เน็ตใช้อยู่ทั่วโลกทำให้ส่งผลต่อพฤติกรรมการอ่านหนังสือของเด็กทั่วไปก็ตาม

                 ข้อคิดที่ได้จากการจัดการศึกษาของฟินแลนด์คือการรักการอ่าน ดังนั้นสิ่งสำคัญของเราที่ควรจะเร่งทำก่อนคือจะต้องร่วมมือกันสร้างเสริมพฤติกรรมการรักหรือชอบการอ่านหนังสือให้กับเด็ก ถ้าเด็กมีพฤติกรรมรักการอ่านหนังสือแล้ว สิ่งนี้จะเป็นพื้นฐานในการเรียนวิชาอื่นๆ เมื่อเด็กมีการรักหรือชอบการอ่านหนังสือ เด็กจะไม่ไปหมกมุ่นกับการใช้อินเทอร์เน็ตมากเกินไป การจะเริ่มให้เด็กชอบหนังสือและรักการอ่านหนังสือนั้นต้องปลูกฝังตั้งแต่ปฐมวัยกันเลย อย่าปล่อยให้เด็กดูโทรทัศน์โดยลำพังแล้วผู้ใหญ่เอาเวลาไปทำงานอย่างอื่นเห็นว่าเด็กไม่ซน มีสมาธิดูแต่โทรทัศน์ซึ่งเป็นผลเสียอย่างมาก ยากที่จะแก้ไขหากเด็กติดพฤติกรรมนั้นแล้ว การดูโทรทัศน์ต้องมีเงื่อนไขในเรื่องของเวลาในการดู ระยะเวลาการดูตลอดจนรายการที่จะให้เด็กดู สิ่งเหล่านี้มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งแต่พ่อแม่คนไทยเราไม่ค่อยตระหนักหรือให้ความสำคัญ   การจะให้เด็กรักการอ่านหนังสือผู้ใหญ่จะต้องรู้กระบวนการเรียนรู้ของเด็กวัยนี้ การเรียนรู้ของเขาคือการเล่น การเรียนหนังสืออย่างเป็นทางการหรือการเอาจริงเอาจังในการให้เด็กอ่าน เด็กจะไม่รักการอ่านหนังสือตั้งแต่แรก เราจะต้องออกแบบการเล่นเพื่อให้เด็กเกิดการเรียนรู้ไปพร้อมกัน หรือให้เด็กได้เล่นอย่างหลากหลาย  โดยเฉพาะการเล่นบทบาทสมมติ เช่น การเล่นขับรถ การเล่นตุ๊กตา การเล่นขายของ การเล่นเป็นสัตว์ประเภทต่างๆ การเล่นอ่านหนังสือ จับหนังสือ ทำท่าทางเปิดหนังสือ เป็นต้น การเล่นเป็นกระบวนการที่สำคัญเพราะเป็นการสร้างกระบวนการคิดให้กับเด็ก เช่น การคิดแก้ปัญหา การคิดสร้างสรรค์ การคิดวิเคราะห์ ฯลฯ  ผู้ใหญ่ซึ่งมีประสบการณ์มากกว่าจะต้องคอยช่วยเหลือและสนับสนุนทำให้เด็กเข้าใจประสบการณ์ที่เป็นอยู่จริงในปัจจุบันซึ่งเด็กจะต้องประสบในแต่ละวัน การทำให้เด็กรักการอ่านต้องผ่านกระบวนการที่ทำให้เด็กเกิดความสนุกสนานเพลิดเพลิน  การพัฒนาภาษาในเด็กที่สำคัญคือ ภาษาในเด็กจะต้องเชื่อมโยงกับสิ่งที่เด็กคุ้นเคย  สิ่งที่เป็นความฝันและจินตนาการผ่านการเล่น  สิ่งสำคัญที่ผู้ใหญ่จะต้องไม่ลืมคือเด็กจะต้องมีความรู้สึกภูมิใจในความสำเร็จของตนเองในการที่เด็กสามารถอ่านได้ด้วยตนเอง การอ่านของเด็กในระยะเริ่มแรกคือเราจะไม่เน้นในเรื่องของความถูกต้อง หรือการสะกดคำ  เด็กจะต้องได้รับการกระตุ้นให้มีความรู้สึกที่จะอยากอ่าน มีความคุ้นเคยกับตัวหนังสือ รักที่จะลองอ่านดู หยิบหนังสือแล้วทำทำท่าทางเหมือนผู้ใหญ่ ถ้าผู้ใหญ่คอยจับผิดในการอ่านเมื่อเด็กอ่านไม่ถูกต้องแล้ว เด็กก็จะหมดกำลังใจในการอ่านและไม่อยากที่จะอ่านต่อไปอีก จึงเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ที่จะต้องเสียสละเวลา เพื่อพัฒนาการอ่านให้กับเด็กตั้งแต่เริ่มแรก ถ้าพ้นช่วงวัยทองของชีวิตไปแล้วจะเป็นการยากมากในการพัฒนาให้เด็กมีความสามารถในการอ่าน การช่วยกันทุ่มเทเวลาให้กับเด็กไม่ว่าครู พ่อแม่ ผู้ปกครองคือ จะต้องทำให้การอ่านของเด็กเป็นเรื่องสนุกสนาน ไม่เคร่งเครียด ไม่เรียนอ่านอย่างเป็นทางการ สิ่งที่ทำได้ง่ายคือการเสียสละเวลาในการอ่านให้เด็กฟัง สิ่งที่เด็กชอบมากคือหนังสือนิทาน หรืออาจจะเป็นคำกลอน บทร้องเล่นต่างๆ การอ่านให้เด็กฟังทุกคนสามารถทำได้และเป็นสิ่งที่เด็กชอบด้วย การชอบฟังเป็นพฤติกรรมนำไปสู่การรักการอ่าน เมื่อเด็กชอบฟังเขาก็อยากอ่าน ความสนใจอ่านของเด็ก เริ่มต้นจากการที่ผู้ใหญ่อ่านก่อนแล้วเด็กชอบฟังสิ่งที่ผู้ใหญ่อ่านให้ฟัง เพราะเด็กมีความรู้สนุกสนานเพลิดเพลิน น่าตื่นเต้น น่าติดตาม และเกิดจินตนาการ ส่งผลต่อความรู้สึกและความคิดของเด็กว่าสิ่งที่อยู่ในหนังสือนั้นเป็นสิ่งที่สนุกสนาน น่าตื่นเต้น และน่าติดตามเป็นอย่างมากทำให้อยากหยิบหนังสือมาเปิด ลองอ่านดูอย่างผู้ใหญ่และอยากอ่านหนังสือได้เองในที่สุด เมื่อเด็กสามารถอ่านได้เองเขาก็จะเกิดความภูมิใจในตนเองและอยากที่จะอ่านถึงแม้จะมีปัญหาหรืออุปสรรคใดๆก็ตาม  ปัญหาการศึกษาของเราส่วนหนึ่งและสำคัญคือเด็กๆเรายังมีพฤติกรรมรักการอ่านน้อยมาก จากผลงานวิจัยครั้งใดก็ตามที่ทำกันมาได้ผลตรงกันทุกครั้งคือเด็กไทยมีพฤติกรรมรักการอ่านไม่น่าพอใจ หากเรายังปล่อยให้เป็นไปเช่นเดิมๆ สอนเด็กเล็กๆให้อ่านอย่างเร่งเรียนตั้งแต่แรกเริ่มแล้ว เด็กก็จะไม่รักการอ่าน ส่งผลต่อพฤติกรรมการอ่านหนังสือเมื่อเขาโตขึ้น หากมีการประเมินครั้งใดในเรื่องการอ่านเราก็จะอยู่ในลำดับที่รั้งท้ายเช่นเดิมอีกถ้าเราไม่ช่วยกันทำหรือแก้ไขให้ดีขึ้นต่อไป

หมายเลขบันทึก: 485629เขียนเมื่อ 20 เมษายน 2012 14:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 20:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท