การดูแลผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะที่ ๓ เมื่อแม่ต้องล้มหมอนนอนเสื่อ : ความพ่ายแพ้ที่ต้องแพ้กับลมหายใจสุดท้าย


การดูแลผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะที่ ๓

การดูแลผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะที่ ๓  เมื่อแม่ต้องล้มหมอนนอนเสื่อ

: ความพ่ายแพ้ที่ต้องแพ้กับลมหายใจสุดท้าย

๑๓ เม.ย.๕๕  “เมื่อแม่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ”

          ๑๕- ๒๕ ธ.ค. ๕๔ แม่เข้ารับการรักษาตัวที่ รพ.สรรพสิทธิประสงค์ ลูกๆ ได้กลับมาสวดอิติปิโส ๑๐๘ จบให้แม่ที่บ้าน โดยมีญาติๆ เพื่อนบ้านประมาณ ๒๐ คนร่วมสวดเพื่อเป็นกำลังใจกับแม่ และแม่ได้กลับบ้านออกจาก รพ.สรรพสิทธิประสงค์ครั้งนี้แม่นอนโรงพยาบาล ๑๙ วัน

          และวันนี้ ๑๓ เม.ย. ๕๕ แม่กลับเข้าโรงพยาบาลอีกครั้งจาก รพ.ศรีสะเกษในวันที่ ๘ เม.ย. ๕๕ ส่งต่อ รพ.สรรสิทธิประสงค์ จังหวัดอุบลราชธานีในวันที่ ๑๑ เม.ย. ๕๕ อาการแม่ทรุดหนักลงเรื่อยๆ ความดันต่ำ นอนหลับลึกแบบไม่รู้สึกตัว หมอบอกว่า ..........

          เป็นอาการของคนแก่เหมือนรถเก่าซ่อมตัวหนึ่งก็เจออีกชิ้นหนึ่งที่เสียไป หมอก็ให้กำลังใจว่าค่อยรักษาไป

          หมอถามว่า จะให้ใส่ท่อช่วยหายใจหรือเปล่าลูกทุกคนลงความเห็นว่าให้อยู่ในดุลยพินิจของหมอ วันนี้ ลูกๆ ได้ดูแลแม่มาจนสุดความสามารถแม้ว่า เราจะหวังให้แม่กลับบ้านอยู่กับลูกหลานต่อไปทั้งที่อาจเป็นไปไม่ได้ หากแต่บุญคุณ คุณงามความดีที่แม่ทำมา จะทำให้แม่ปลอดภัย

          ในเวลา ๑๓ ปี ที่ลูกๆ ดูแลแม่ เข้าออกโรงพยาบาล เจอหมอที่เก่ง ลูกๆ บอกว่าแม่ผ่านความตายมาแล้ว จึงทำให้ลูกๆ ไม่คิดอะไรมาก กระนั้นน้ำตาทุกคนที่ปริ่มด้วยความรักที่มีต่อแม่

          การก้าวผ่าน “ความตาย”ของแม่และลูกๆ ทุกคนเห็นความตาย เห็นความเจ็บปวด ทรมาน พบเจอผู้คนที่จำนนและ “ยอมแพ้” ต่อความตายของญาติมิตร ของผู้ตาย ลูกๆ ได้แต่บอกกันว่า สักวันแม่เราก็เป็นเช่นนี้

          บทเรียนที่ลูกได้จากการดูแลแม่ “การก้าวผ่าน” “ความตาย”ของแม่ รู้ว่า ความดีงามต่างหากที่จะเป็นบุญหนุนนำให้คนมีความสุขและความหวังในชีวิตที่แท้จริง ทรัพย์สินเงินทองเป็นเพียงเปลือกของความสุขที่ทุกคนไขว่คว้า โหยหา แก่งแย่ง เอารัดเอาเปรียบ ละโมบ และสุดท้ายคือ เห็นแก่ตัว

          “ความตาย” ในแต่ละวันแต่ละครั้งที่แม่เข้าโรงพยาบาลตลอด ๑๓ ปี ทุกครั้งแม่เข้าพักที่หอผู้ป่วยหนัก ทำให้เห็นคนตายทุกวันๆ ละหลายคน

          วันนี้ ๑๓ เม.ย. ๕๕ วันสงกรานต์ ปีนี้ลูกๆ ได้รดน้ำดำหัวให้แม่ ตั้งแต่วันที่ ๖ เม.ย. ๕๕ ก่อนที่แม่จะเข้าโรงพยาบาล ทำให้ลูกๆ เห็นรอยยิ้มและความหวังของแม่ในการรักษาโรควัณโรคกินกระดูก...

          หากแต่วันนี้ แม่ทรุดหนักลงเรื่อยๆ ลูกๆ ได้แต่หวังว่า สิ่งดีงามจะคุ้มครองให้แม่ปลอดภัย แม้ลูกๆ จะยอมจำนน “ยอมพ่ายแพ้” ต่อความตายที่เห็นอยู่เบื้องหน้า

          ข้อคิดสำหรับการดูแลผู้ป่วยในวัยชรา ผู้ดูแลจะต้องมีความเข้าใจลักษณะของผู้ป่วย ลักษณะของอาการโรคที่เป็นตลอดจนมีความรู้เรื่องยาบ้างตามที่หมอแนะนำเพราะผลข้างเคียงของยา บางอย่างรุนแรงและที่สำคัญที่สุดคือ การตรวจวัดความดันเบื้องต้น การเตรียมปรอทวัดไข้ ผู้ดูแลจะต้องทำได้ จดบันทึกไว้         ในแต่ละวันเพื่อเปรียบเทียบดูการเปลี่ยนแปลง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้หมอที่รักษา วินิจฉัยโรคได้ง่ายขึ้น

           ๑๕ เม.ย. ๕๕   “กลับบ้านเรานะแม่ ”

          ตลอดเวลาที่ลูกๆ ดูแลรักษาแม่ให้หายจากโรคที่ป่วยอยู่ ในช่วงที่ผ่านมาผู้เขียนและลูกๆทุกคน หลังจากแม่รับประทานอาหารเย็นก่อนนอน จะต้องพาแม่สวดอิติปิโสอย่างน้อยวันละ ๓ จบ บอกแม่ว่าสวดให้พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ถ้าแม่ไม่เหนื่อยจนเกินไปก็เพิ่มสวดให้พ่อ-แม่ แล้วต่อด้วยการชวนแม่คุยถึงสิ่งที่ได้ทำมาต่อสัตว์เหมือนที่คิดว่าเป็นบาปในใจ ด้วยการแผ่เมตตาให้เจ้ากรรมนายเวร

          สุดท้ายก่อนนอนหลังแผ่เมตตาก็คือการทำกัมฐานท่องพุทโท จนกว่าแม่จะหลับบางครั้งก็ให้แม่     ท่องตาม หรือท่องในใจ ทุกวันวันละ ๕ นาที ๑๐ นาที หรือแล้วแต่แม่จะหลับอย่างสบายทุกวัน สิ่งที่ผู้เขียนพยายามทำก็คือให้แม่สงบ มีสติ และผ่อนคลาย

          คืนวันที่ ๑๔ เม.ย. ๕๕ ความหวังแม่ต่ำลง วัดความดันไม่ได้ เหลือเพียงความรู้สึกตอบสนองเวลาเรียก แม่พยายามลืมตาความรู้สึกแม่ยังดี เพียงแต่ร่างกายไม่ไหว

          ลูกๆ ที่เฝ้าดูแลแม่ ได้แต่ปลอบใจและทำใจให้เป็นเรื่องปกติในการก้าวผ่าน “ความตาย”ด้วยการสวด อิติปิโสให้แม่ สวดบทพุทธคุณให้แม่ฟัง ดูแม่มีความสุข สุดท้ายสวดพุทโทให้แม่จนสงบในเวลาประมาณหกทุ่ม แม่หลับทุกครั้งที่ท่องพุทโทให้ฟัง แม่ท่องตามในใจเหมือนทุกครั้งที่อยู่บ้าน ถ้าท่องไม่ไหวแม่จะท่องในใจ และหลับในที่สุด

          ความดันแม่ลดลงเรื่อยๆ หมอบอกแม่ไม่ไหวแล้ว ลูกๆ บอกหมอว่าให้แม่ไปอย่างสงบที่โรงพยาบาลโดยไม่ต้องปั้มหัวใจ

          เวลา ๐๗.๓๐ น. (วันที่ ๑๕ เม.ย. ๕๕) ระบบการหายใจแม่ลดลงเป็นศูนย์นั้นคือหัวใจหยุดทำงาน สัญญาณชีพสิ้นสุดลง นั่นคือเวลาสุดท้ายของแม่ที่อยู่กับลูกๆ ได้สิ้นสุดลงจึงเป็นเวลาต่างภพต่างเวลาต่อกัน

          แต่สิ่งที่มั่นคงต่อกัน ระหว่างแม่-ลูกมันยิ่งใหญ่กว่าภพไหนๆ “ความรัก ความผูกพัน” สำคัญยิ่งกว่า การจากไปที่ไม่มีวันกลับสิ่งที่แม่เป็นแบบอย่างเป็นครูคนแรก เป็นสิ่งดีงามสำหรับลูกๆ ยังอยู่ต่อไป

          สุดท้ายลูกๆบอกกับแม่ว่า “กลับบ้านเรานะแม่” ขอให้แม่หลับให้สบาย หากแม่เหนื่อยแม่ได้พักแล้ว หากแม่กังวลลูกๆของแม่มีแม่เป็นแบบอย่างที่ดี และวันนี้ แม่ยังเป็นแม่ที่ดีเป็นแม่ที่มีแต่ความดีงามที่ฟูมฟักลูกๆทุกคนให้มีวันนี้.........

     ในการดูแลผู้ป่วยในวัยชรา เช่นนี้สิ่งจำเป็นที่สุดคือ

๑.     การเอาใจใส่ ความเข้าใจชวนพูดชวนคุยถึงเรื่องราวเก่าๆ ให้เล่าเรื่องสมัยเด็กบ้าง เพื่อเป็นการทบทวนความทรงจำของคนแก่ซึ่งก็ได้ผลดีดูแม่มีความสุขขึ้น

๒.    การพยายามให้แม่สวดบทสวดต่างๆ ที่แม่จำได้ การแผ่เมตตาการทำสมาธิด้วยการท่องพุทโท

ทุกวัน เหมือนเป็นยาขนานเอกที่ทำให้แม่มีชีวิตที่ยืนยาวไม่เจ็บ ไม่ปวดและหลับอย่างสบายทุกวัน

๓.    ผู้เขียนเองจะทดสอบแม่ทุกวัน โดยเฉพาะเรื่องสายตา ผู้เขียนยกนิ้วกี่นิ้วแม่นับเลขได้ถึงเท่าไหร่

ทุกวัน สิ่งเหล่านี้จะทำให้เรารู้ว่า คนชราอยู่ในสภาพใดหากนับได้เหมือนวันก่อน จำได้เหมือนเมื่อวาน อาการไม่ทรุด นั่นคือความมั่นใจว่า ยังปกติ

๔. การรับประทานอาหารต้องสังเกตและดูปริมาณอาหารในแต่ละมื้อที่คนชราว่าได้มากน้อยเพียงใด หากพบว่าน้อยลงเราต้องดูว่าเพราะอะไรว่าต้องพบแพทย์หรือไม่

ทั้งหมดที่ผู้เขียนกล่าวมาเป็นเพียงประสบการณ์ส่วนหนึ่งในระยะเวลา ๑๓ ปีที่ลูกๆ ได้ดูแลแม่ซึ่งป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะที่ ๓ (ระยะแพร่กระจาย) ความดัน เบาหวาน วัณโรคกระดูก และโรคของคนชราในวัย ๘๔ ปี ๑๑ เดือน ๗ วัน

หมายเลขบันทึก: 485820เขียนเมื่อ 23 เมษายน 2012 10:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 08:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท