การดูแลผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะที่ ๓ อนุสรณ์ที่ดีงามและประวัติแม่คำ ทองเลิศ


การดูแลผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะที่ ๓

 

อนุสรณ์งานฌาปนกิจแม่คำ  ทองเลิศ

วันที่  ๒๑  เมษายน  ๒๕๕๕ ณ วัดระหาร

การดูแลผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะที่

คำนำ

หนังสืออนุสรณ์เล่มนี้ เป็นการถ่ายทอดประสบการณ์ของลูก ๆ ในการดูแลผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะที่ ๓ (ระยะแพร่กระจาย) ผู้ป่วย........โรคความดัน วัณโรคกระดูก และผู้ป่วยวัยชรา ตลอดระยะเวลา ๑๓ ปี จากอายุ ๗๓ ปีจนถึงอายุ ๘๕ ปีที่ลูก ๆ ได้ดูแลแม่คำ  ทองเลิศ เป็นประสบการณ์ตรงที่อยากถ่ายทอดให้เป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่มาในงานฌาปนกิจศพของแม่ครั้งนี้  

ขอขอบคุณผู้มีเกียรติทุกท่านที่ให้เกียรติกับแม่และครอบครัวทองเลิศ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า หนังสืออนุสรณ์เล่มนี้จะมีประโยชน์บ้างสำหรับผู้อ่าน ผู้สนใจทั่วไป และขอให้คุณค่าและคุณประโยชน์จากหนังสือเล่มนี้ให้เป็นบุญหนุนนำให้แม่คำ  ทองเลิศ สู่สุขคติภพด้วยบุญกุศลที่ดีงามเทอญ

                                                                                          

                                                                                      ลูก

 

การดูแลผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะที่ ๓ ตอน “ความท้อแท้ของแม่”

          ประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะที่ ๓ ผู้เขียนได้ดูแลแม่ซึ่งป่วยเป็นมะเร็ง ประสบการณ์แรกที่รับรู้ว่าแม่เป็นมะเร็งดูเหมือนจะหมดความหวังเพราะ ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ที่พบเมื่อเจ็บป่วยด้วยเวลาอันรวดเร็ว ภายในเดือนสองเดือนคือโรคมะเร็ง จึงมีคำถามว่า แม่จะอยู่ได้นานเท่าไหร่ จะรักษาอย่างไร รักษาที่ไหน เหมือนว่าความหวังนี้กำลังจะหมดเพราะแม่ก็อายุ ๗๓ ปี(ปี ๔๓) แล้ว ยิ่งต่อมาต้องบอกความจริงกับแม่ว่า เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะที่ ๓ (ตรวจชิ้นเนื้อที่ รพ.ศิริราช)แม่ก็ยิ่งหมดความหวังตามประสาของคนแก่ คำแรกที่แม่บอกคือ อยากกลับไปอยู่บ้าน ไปตายที่บ้าน หายาสมุนไพรกิน เพราะแม่เป็นหลายโรค ทั้งเบาหวาน ความดัน ซึ่งเป็นมาก่อนนี้สัก ๒๐ ปี ด้วยความเป็นคนชนบทของลูกหลานที่ไม่ค่อยจะมีความรู้มากนัก ก็ต้องมานั่งคุยกันว่าจะดูแลแม่อย่างไร รักษาอย่างไร จะยอมหรือจะสู้(ผู้เขียนเห็นว่าสำคัญที่สุดกับคำว่ายอมหรือสู้) ลูกๆ ทุกคนบอกว่าจะสู้ แม้จะไม่มีเงินทองมากนัก

          วันเวลาก็ไม่ได้เป็นใจในความรู้สึกของแม่ เหมือนว่าไม่อยากเป็นภาระของลูกๆ ประหนึ่งคิดว่าเหมือนไม้ใกล้ฝั่ง ไม่ยอมที่จะรักษา จะหายาสมุนไพรกินอย่างเดียว(พ่อเป็นหมอยาสมุนไพรที่พอจะมีความรู้บ้าง)  แม่ กลับมาอยู่บ้านทบทวนความรู้สึก ความคิด ความเข้าใจและความห่วงหาอาทรต่อลูกหลาน ลูกหลานทุกคนก็ห่วงและหวังว่า แม่จะสู้ ทำอย่างไรแม่ก็ไม่ยอมจะอยู่บ้านเท่านั้น ลูกๆก็เข้าใจความรู้สึกของแม่ ให้แม่ทบทวนความรู้สึกเก่าๆ ที่เป็นมาในชีวิตครอบครัว ทั้งสุข ทุกข์ ทั้งความสำเร็จและล้มเหลวของลูกหลาน 

          ด้วยเวลาประมาณสองอาทิตย์ ต้นปี ๔๓ (หลังจากรู้ผลจาก รพ.ศิริราช)ลูกทุกคนพยามทำให้แม่รู้สึกว่า ชีวิตยังมีความหวัง ชีวิตต้องเดินต่อ ไม่ยอมแพ้เหมือนแม่ที่สอนลูกๆ(ตอนกินข้าวตอนเย็นที่บ้านเมื่อครั้งลูกๆยัง เล็ก) ซึ่งแม่จะสอนเสมอว่า ไม่ให้ยอมแพ้ ไม่เอาเปรียบ รู้จักให้(แม้ว่าผู้ที่เราให้จะเป็นคนบ้า หรือเสียสติ) แม่ก็ทำอย่างนี้ให้ลูกๆเห็นตั้งแต่เล็กจนโต แต่แม่ก็ยังจมอยู่กับความรู้สึกที่แพ้และยอมจำนนต่อความตาย ที่กำลังวนเวียนอยู่ในภวังค์และความรู้สึกของแม่ แม่ซึมเศร้าลงทุกวันลูกๆ ยิ่งวิตกกังวลมากขึ้น

          ลูกๆต้องมานั่งคุยอีกทีจะเอาอย่างไร ความเห็นคือต้องหาความรู้เกี่ยวกับมะเร็ง วิธีการรักษาที่ดีที่สุดการหาความรู้และข้อมูลจะต้องมีมากพอสมควรในการพูดคุยระหว่างลูกๆ เพื่อนำไปคุยกับแม่(ยังมีต่อคุยกับแม่อย่างไร จึงจะยอมรักษา ติดตามตอน๒)

การดูแลผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะที่ ๓ ตอน “แม่ยอมรับการรักษา”

     หลังจากลูกๆทุกคนคุยกันว่าต้องสู้ ผู้เขียนได้ไปปรึกษาหมอหลายคนที่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับโรคมะเร็ง ได้ความรู้ที่สำคัญ และประเด็นที่น่าสนใจคือ การรักษาที่หมอบอกว่าทันสมัยที่สุดที่มีในโลก(ปี ๔๓) คือ ๑ การผ่าตัด(ถ้าตำแหน่งที่เป็นผ่าตัดได้)๒ การฉายรังสีตามจำนวนครั้ง(แสง)ขึ้นอยู่กับอาการและการตอบสนองของผู้ป่วย ๓ การให้คีโม(เปรียบเหมือนการใช้ปรณูเข้าไปยิงทำลายเชื้อมะเร็งที่กระจายไปที่ อื่น) สอบถามหมออยู่หลายที่ทั้งที่อุบล หมอบอกต้องผ่าตัดสำไส้ แล้วถ่ายทางหน้าท้อง ไปที่ รพ.ศิริราช หมอบอกขั้นต้นต้องผ่าตัด เพราะอยู่ในส่วนที่ผ่าตัดได้แต่มีเครื่องมือแพทย์ตัวใหม่คือลำไส้เทียมไม่ต้องถ่ายทางหน้าท้อง  หากการรักษาอย่างต่อเนื่องทั้งสามวิธีได้ผลก็จะทำให้หายและใช้ชีวิตได้อย่าง ปกติ

          มาคิดดูแม่อายุ ๗๓ ปี โรคความดันโรคเบาหวาน แล้วจะทำอย่างไรความวิตกไม่ใช่อยู่ที่แม่คนเดียวแต่อยู่ที่ลูกก็วิตกไม่น้อย ช่วงเวลาที่แม่กลับมาอยู่บ้านก็ให้ผู้เขียนซึ่งอยู่กับแม่อาจจะเรียกว่าแม่ ไว้ใจและรักมากที่สุด ในฐานะที่เป็นลูกชายคนเดียวของแม่ในจำนวนพี่น้อง ๕ คนรวมกับน้องชายบุญธรรมอีกคน (ที่บอกว่ารักมากที่สุดเพราะผู้เขียนจำได้ เมื่อตอนเด็กยังไม่เข้าโรงเรียน ทุกวันพระ ๑๕ ค่ำ แม่จะให้ผู้เขียนนั่งในกระด้งที่มีผ้าขาวรอง ให้พี่น้องผู้หญิงเก็บดอกไม้มาขอขมา ผู้เขียนก็ไม่เข้าใจว่าเพื่ออะไร ก็เคยถามว่าทำทำไมแม่บอกว่าเลี้ยงยาก ก็เลยกลายเป็นว่าผู้เขียนกลายเป็นคนไม่กล้าพูด พูดน้อยจนถึงทุกวันนี้ ) ผู้เขียนใช้เวลาอยู่นานที่พูดคุยกับแม่ทั้งปลอบ ทั้งขู่ ที่สำคัญต้องให้ความรู้ให้แม่มองเห็นทางชนะ(แม้จะมีคำว่าแม่รักลูกทุกคน เท่ากัน) สุดท้ายแม่ก็เห็นดีเห็นงามกับผู้เขียนเพราะทุกคำพูดคือคนที่แม่รัก และแม่มีความหวังที่จะอยู่ดูความสำเร็จของลูกหลาน มองโลกน่าอยู่ (ติดตามตอนที่ ๓ การรักษาแม่ที่ รพ.ศิริราช เป็นอย่างไรหายหรือเปล่า)

การดูแลผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะที่ ๓ ตอน “บวชทดแทนคุณ”

จากการที่ผู้เขียนพูดคุยกับแม่ให้เห็นข้อดีข้อเสีย สร้างแรงจูงใจทางบวก โดยอาจใช้คำพูดที่อาจดูรุนแรงและให้แม่มองเห็นอนาคตที่ดีและรับรู้ความจริง ว่าโรคมะเร็งคืออะไร ทำให้แม่ยอมรับการรักษาทางวิทยาศาสตร์ แล้วต้องเลือกว่าจะรักษาที่ไหน อย่างไร แม่รับรู้หมดแล้วจากที่ผู้เขียนอธิบายและพูดคุยกับแม่ สุดท้ายต้องรักษาที่ รพ.ศิริราช แต่ลูกทุกคนต้องลำบากในการเดินทางค่าใช้จ่ายย่อมสูง คงเป็นสิ่งนี้กระมังที่แม่ไม่อยากไปรักษา ตอนนั้น สามสิบบาทก็ยังไม่มี แต่ลูกๆทุกคนพูดคุยกันใครมีมากก็ช่วยมาก ใครมีน้อยก็แล้วแต่ให้กำลังใจกับแม่ก็ยังดี ด้วยความเป็นหนึ่งเดียวของลูกๆ และการปรึกษาหารือกันอยู่เสมอทำให้รู้สึกว่า การดูแลแม่ครั้งนี้ลูกๆ ทุกคนได้ตอบแทนบุญคุณพ่อแม่  

          เมื่อถึงโรงพยาบาลประมาณกลางเดือนมิถุนายน ๔๓ สิ่งที่ต้องทำก็คือต้องนอนรอที่โรงพยาบาลเกือบครึ่งเดือนรอหมอ หาห้อง ทำกระบวนการอีกเกือบเดือนและเราคนบ้านนอกยิ่งไม่รู้จักใครยิ่งมืดมนในกระบวน การและขั้นตอนแต่เราก็โชคดีจะด้วยอานิสงค์อะไรก็ช่างมีหมอที่ดูแลแม่ที่อุบล แนะนำผ่านอาจารย์หมอที่   รพ.ศิริราชในการดูแลทำให้มีหวังได้รักษาตามขั้นตอนเร็วขึ้น(แต่จำชื่อหมอสองท่านไม่ได้จริงๆ) เมื่อได้ห้องวันนัดผ่าตัดแม่ก็ยังดูแข็งแรงสดชื่นอยู่ดูว่ามีกำลังใจสู้ และไม่ยอมจำนนต่อโรคร้าย

          เป็นช่วงเดียวกับที่แม่มีคำพูดว่าแม่อาจไม่มีโอกาสกลับมาหาลูกๆ อีกนะในการไปรักษาครั้งนี้ เราอาจไม่มีอะไรเหลือทั้งที่หาเก็บออมมาทั้งชีวิต ลูกๆ ก็ได้แต่บอกแม่ว่าเสียเท่าไรก็เสียแม้ว่ารักษาแม่แล้วจะอยู่ได้นานหรือไม่ก็ตาม(เพราะน้องชายแม่เป็นเร็งลำไส้ตายก่อนแม่ประมาณ สี่ ห้าเดือนผ่าตัดก็ตายกลับมาอยู่บ้านไม่กี่เดือนอายุ๖๐ ปี )  แต่ลูกๆ ก็คิดว่าอยู่ได้เท่าไหร่ก็คือกำไรแม้จะเป็นการลงทุนครั้งสุดท้ายกับแม่ ทำให้ลูกๆ ทุกคนมีความหวัง ซึ่งช่วงนี้ก็ยังเข้าออกโรงพยาบาลอยู่เพราะรอหมอรอห้อง

          ก่อนแม่จะผ่าตัดผู้เขียนได้ตั้งใจที่จะบวชให้เจ้ากรรมนายเวรในฐานะลูกชายคนเดียวและคงเป็นสิ่งเดียวที่จะทำให้แม่(เพราะยังไม่เคยบวช) ซึ่งเป็นช่วงเข้าพรรษาพอดี เลยลาราชการบวชหนึ่งพรรษา วันบวชก็ไม่ได้บอกใครถึงเวลาก็เข้าวัดโกนหัวมีพ่อแม่พี่น้องสักสิบคน สิ่งที่ผู้เขียนตั้งใจอย่างยิ่งคือต้องการผลบุญครั้งนี้ส่งผลให้แม่หายเร็ววัน ด้วยความดีใจที่แม่ไม่เคยคิดว่าลูกชายจะบวชเพราะยังไม่เคยคิดสักครั้ง คำหนึ่งที่แม่พูด คือแม่คงตายตาหลับได้เห็นชายผ้าเหลืองของลูก เพราะพอบวชเสร็จเย็นวันนั้นแม่ก็เดินทางเข้ากรุงเทพเตรียมผ่าตัด สิ่งที่ผู้เขียนบอกแม่ได้ก็คือลูกตั้งใจบวชเพื่อแม่ ให้แม่มีกำลังใจ ผู้เขียนบอกแม่ว่าจะฉันวันละครั้ง เพราะลาบวช ๙๙ วัน และจะสวดคาถาชินบัญชร วันละ ๓ จบ ให้แม่ทุกวัน(ยังมีต่อ ประสบการณ์ ที่บวช ใช้คำพูดอย่างไร คนแก่จึงจะมีพลัง ต่อสู้)

 

 การดูแลผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะที่ ๓ ตอน “ผลบุญ ผลของการรักษา”

       เมื่อผู้เขียนตั้งใจจะบวชให้แม่และเข้าวัดก็ได้ตั้งใจอธิฐานว่าจะทำบุญกฐิน หลังแม่กลับจากโรงพยาบาล ทำให้แม่มีความหวังมีพลังที่จะสู้ ยิ่งแม่ต้องเดินทางไกลไปหาหมอ ผู้เขียนก็ยิ่งเกิดความเหงา ห่วงใย และผู้ดูแลแม่ก็ไม่มีประสบการณ์เพียงพอในการเดินทางพูดคุยกับหมอ  ผู้เขียนเข้าสู่ร่มกาสาวพัตรด้วยความมุ่งมั่น การฉันมื้อเดียวก็ยิ่งทรมานกับความหิว แต่ก็อดทน และสวดคาถาชินบัญชรวันละสามจบทุกวันก่อนจำวัด นอกจากนั่นก็มานั่งสมาธิเป็นประจำ ซึ่งผู้เขียนเคยมีประสบการณ์จากการศึกษาด้วยตนเองโดยไม่เคยเข้าวัดเลย แต่นั่งสมาธิอยู่ที่บ้าน(ตอนเรียนมัธยม ฝึกกับน้าคนที่เป็นมะเร็งตาย) การนั่งสมาธิทำให้จิตใจสงบขึ้นมาก ทบทวนความเป็นมา ปล่อยวางจากงานที่ทำมาแม้ว่างานจะเป็นอนาคตของเรา แต่วันนี้เราก็ทำดีเพื่อแม่ ก่อนที่เราจะไม่ได้ทำ การอยู่กับตนเองแม้เสี้ยววินาทีทำให้เรามองเห็นทางบางอย่างได้ ย้อนดูสิ่งที่แม่ทำมาทั้งชีวิตที่เราเห็น แม่เป็นผู้ให้ด้วยจิตเมตตาไม่เลือกที่จะให้ตามสมควร แม่สวดมนต์ไหว้พระก่อนนอนทุกวัน ยิ่งวันพระต้องมีการแต่งขันห้า ขันแปด(การไหว้พระของคนอีสานแต่ไม่รู้ว่าเป็นอะไรบ้าง) แม่ไปวัดทุกวัน และต้องเดินวันละสามกิโลทุกวัน(วัดอยู่คนละหมู่บ้าน) วันไหนลูกหลานว่างก็ให้ไปส่งแต่แม่เดินก็มีความสุขดี ตื่นเช้าหุงข้าวแม่ก็จะต้องบูชาข้าว ด้วยการเอาข้าวบูชาที่หิ้งพระทุกวัน เอาข้าวบูชาที่ประตูบ้านทุกวัน บุญ ทาน คือ สิ่งที่แม่ปฏิบัติให้เราเห็นไม่เคยขาด ไม่ดื่มของมึนเมา ไม่สูบบุหรี่ เคี้ยวหมากบ้างถ้ามีแขกมาหา ปลูกผักกินเอง แม่ดูแลตัวเองดีมาก หมอห้ามอะไรแม่หิวอย่างไรก็ไม่กิน เพราะเบาหวานกับความดัน ต้องดูแลอาหารอย่างเหมาะสม

          สิ่งที่ผู้เขียนตั้งใจทำให้แม่ในห้วงเวลาสุดท้ายของชีวิต กับบทสรุปของโรคมะเร็งคือความตายผู้เขียนต้องยอมรับสิ่งที่ตามมา แม้จะคิดว่าวันนี้ได้ทำดีที่สุดสำหรับแม่ กับคำว่า แม่ตายตาหลับที่ได้เห็นชายผ้าเหลืองของลูก ผู้เขียนได้ปฏิบัติในกิจของสงฆ์อย่างเคร่งครัด การสวดคาถาชินบัญชร ทำให้เราสงบ ทำให้เรามีความหวัง อาจทำให้เรามีอานิสงค์มากขึ้น เราจึงหวังว่าคุณงามความดีของแม่ ความตั้งใจของเราจะเป็นเนื้อนาบุญที่ยิ่งใหญ่สำหรับแม่

          ขณะที่แม่เข้ารับการผ่าตัดที่โรงพยาบาลลูกๆ ทุกคนก็ได้แต่หวังว่าแม่จะดีขึ้น ตอบสนองต่อการรักษา และสิ่งมหัศจรรย์สำหรับลูกๆ คือการผ่าตัดต่อลำไส้เทียมเป็นไปด้วยดี การตอบสนองดีมากสำหรับการรักษาผู้ป่วยอายุ ๗๓ ปี หลังแม่ผ่าตัดได้สักสามอาทิตย์อาการของแม่ดีขึ้นมากแต่ขั้นตอนการรักษาต่อไป จะทำอย่างไร เพราะที่ รพ.มีคนไข้เยอะมากต้องรอคิว ในการรักษา ผู้เขียนต้องเดินทางเข้าโรงพยาบาลกลางพรรษา ปกติการไปค้างที่อื่นระหว่างพรรษาเชื่อว่าจะได้ผลกุศลแห่งบุญน้อยลง แต่ถ้ามีความจำเป็นสำหรับบุพการีก็ทำได้เรียกว่า การสัตหะ(หลวงพ่อบอกถ้าจำคำไม่ผิด)ผู้เขียนต้องคุยกับอาจารย์หมอเจ้าของไข้ว่าจะรักษาอย่างไร ต่อ(ยังมีต่อ ในการรักษาด้วยการให้คีโม การฉายแสง)

การดูแลผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะที่ ๓ ตอน “ความสำเร็จ ความภูมิใจของลูกๆ”

        หลังจากผู้เขียนพูดคุยกับหมอถึงกระบวนการรักษา และการตอบสนองต่อการผ่าตัดได้ผลดี หมอก็มั่นใจว่าแม่มีโอกาสดีมากในการรักษาซึ่งหมอบอกมีน้อยรายที่จะรักษาขั้น แรกได้ดีอย่างนี้ ด้วยความลำบากในการเดินทางการอยู่รักษาขั้นที่ ๒ คือการให้คีโมและฉายแสง ด้วยที่โรงพยาบาลศิริราชมีคนไข้มามาก ต้องรอคิวยาวในการรักษาแต่ละครั้งและแม่ฟื้นจากฝ่าตัดเร็วสามารถเดินทางได้ หมอจึงส่งตัวแม่มารักษาที่ศูนย์มะเร็งอุบลเพราะก็เป็นกระบวนการรักษาเดียวกัน แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้แม่ท้อแท้ในบางครั้งก็คือ ขณะที่อยู่ รพ.ศิริราช แม่จะเห็นคนตายเกือบทุกวันจนรับสภาพไม่ไหว ต้องหาห้องพิเศษอยู่ การตายทั้งเด็กผู้ใหญ่ที่เป็นมะเร็งหลายๆอย่าง เกือบสามเดือนที่ รพ.ศิริราชคงจะทรมานความรู้สึกแม่มากเพราะบางคนนอนเตียงใกล้กันคุยกันดีอยู่รู้อีกที่ก็เสียชีวิตแล้ว สิ่งเหล่านี้เป็นประเด็นหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยถดถอยต่อการรักษา

          การรักษาด้วยการให้คีโมที่ศูนย์มะเร็งอุบลคุณหมอก็ดูแลแม่อย่างดี การให้คีโมก็เหมือนใช้ปืนไล่ยิงเชื้อมะเร็งที่กระจายไปตามส่วนต่างๆของร่างกาย การฉายรังสีก็เป็นการควบคุมมะเร็งในจุดที่เป็นไม่ให้กระจายออกไปจากจุดที่เป็น การให้คีโมของแม่มีผลข้างเคียงบ้าง ในรายที่มีผลข้างเคียงรุนแรงผมร่วงทานอาหารไม่ได้ ฟันมีอาการผิดปกติ น้ำหนักลด  แต่แม่ให้คีโมจำนวนครั้งผู้เขียนจำไม่ได้แต่ฉายรังสีประมาณ ๒๕ ครั้งเท่าที่จำได้ เมื่อเข้าอยู่ที่ศูนย์มะเร็งอุบลหมอต้องรอดูอาการผู้ป่วยประมาณสองอาทิตย์ เห็นว่าแม่แข็งแรงก็เริ่มกระบวนการรักษา แต่สิ่งที่เห็นที่อุบลก็ไม่ต่างจาก รพ.ศิริราชก็คือมีผู้เสียชีวิตบ่อย แม่ทนสภาพไม่ไหวก็ต้องหาห้องพิเศษให้อยู่ แต่ปัญหาอีกก็คือผู้ป่วยเหงาไม่มีเพื่อนคุยที่เป็นหัวอกเดียวกัน การคุยกับผู้ป่วยด้วยกันดูจะทำให้แม่ทำใจได้ดีขึ้นมาก จากการรักษาที่ศูนย์อุบล แม่อาการดีขึ้นไม่มีผลข้างเคียงมากนักสามารถทานอาหารได้ ไม่เหนื่อย เดินเล่นพูดคุยได้ แต่การรักษาขั้นนี้ไม่ได้ทำทุกวัน ต้องรอผู้ป่วยแข็งแรงจึงรักษาด้วยคีโมและฉายแสง จนเกือบจะออกพรรษาแม่ทวงถามว่าจะได้ทำบุญกฐินหรือไม่ปีนี้ ผู้เขียนตั้งใจจะทำเพื่อแม่อยู่แล้วก็รับปากว่าจะทำกับพี่น้องช่วยกันคนละเล็กละน้อย จึงปักสลากจองกฐินที่วัดที่ผู้เขียนบวช คือวัดระหาร อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งการรักษาที่ศูนย์อุบล แม่อาการดีมากเหมือนคนปกติแล้วแต่ต้องให้คีโมและฉายรังสีอย่างต่อเนื่องจน ครบตามที่หมอนัด เสาร์อาทิตจึงกลับมาอยู่บ้านตามปกติ วันจันทร์ก็ไปนอนที่ศูนย์อุบล จนออกพรรษาแม่ก็มาทำบุญกฐินที่บ้านและถวายกฐินผู้เขียนได้รับองค์กฐิน และเทศนาการรับองค์กฐินด้วยตนเอง สิ่งที่แม่ภาคภูมิใจวันนี้คงไม่ใช่การประสบผลสำเร็จในการทำงานการใช้ชีวิตในสังคม หากแต่การได้เห็นลูกๆ ได้ทำบุญเป็นผู้สืบทอดพระพุทธศาสนา เป็นเนื้อนาบุญสำหรับแม่ สำหรับครอบครัวชาวบ้านธรรมดา ที่มีความสุขจากการเป็นผู้ให้ที่แม่ไม่เคยหวังสิ่งตอบแทนใดเลย

          รอยยิ้มและน้ำตาของแม่ทำให้ผู้เขียนเปี่ยมด้วยความหวังว่าแม่จะหายจากโรคร้าย และใช้ชีวิตในสังคมอย่างปกติสุข ด้วยแรงอธิฐานจิตในบทคาถาชินบัญชร ด้วยกำลังใจ ด้วยความดีงามที่แม่สร้างสมมาทั้งชีวิต อาจเป็นพลังให้แม่หายได้ การทำบุญกฐินเป็นอานิสงค์อันยิ่งใหญ่สำหรับแม่และครอบครัว เมื่อออกพรรษาผู้เขียนลาสิกขาบททำงานตามปกติ แม่ยังรักษาต่อที่ศูนย์อุบลในความดูแลของหมออย่างใกล้ชิด แม่ดีขึ้นทุกวันหลังจากเข้ารักษา และเสาร์อาทิตย์กลับมาพักบ้าน ญาติพี่น้องใกล้ไกลมาถามข่าวพูดคุย ได้กำลังใจทำให้แม่ดูเหมือนจะหายเร็วขึ้นไม่ต้องนอนอยู่กับที่เดินเหินทำงานเบาๆ ได้ อาการของแม่ดีขึ้นมากจนเกือบจะปกติจนหมอก็แปลกใจ พยาบาลก็ให้กำลังใจดีดูแลแม่อย่างดี และทุกครั้งที่ไปศูนย์อุบล แม่ก็จะมีของติดไม้ติดมือไปทุกครั้งผลไม้ตามฤดูที่มีในบ้านไม่ว่าจะเป็น กล้วย ผัก มะพร้าว ข้าวสาร(ต้องมะลิเท่านั้นเพราะที่บ้านทำนา) ขนไปทุกครั้งที่ไปโรงพยาบาล เพราะผู้เขียนไปส่งแม่ตีห้าให้พี่สาวดูแลต่อพี่ทำงานสอนหนังสือที่โรงเรียนอัสสัมชัญอุบล จึงพอรู้จักผู้ปกครองเด็กได้เอื้ออารีย์ต่อกันในกระบวนการต่างๆ พอวันศุกร์เย็นพี่ก็มาส่งแม่ที่บ้าน การได้พูดคุยกับลูกหลานเป็นการรักษาทางจิตอย่างหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยมีกำลังใจ การไม่ต้องกังวลกับค่ารักษาก็ทำให้เรารักษาได้เต็มที่ และเป็นประเด็นสำคัญให้แม่ดีขึ้น

          การรักษามะเร็งที่ศูนย์อุบล ประมาณ ๔ เดือนแม่มีอาการดีขึ้นมากเหมือนคนปกติเพราะไม่แพ้คีโม และการฉายแสงการรักษาครบตามกระบวนการ การตรวจเลือดหาระดับมะเร็งลดลงจนเป็นปกติ และวันที่ดูแม่จะมีความสุขมากที่สุดคือวันที่หมอบอกว่า แม่กลับบ้านได้ หายเป็นปกติแล้ว หมอนัดมาตรวจจุดผ่าตัด ตรวจเลือดทุกสามเดือน 

          แววตาและรอยยิ้มของแม่  กับสีผมที่แซมดอกเลาของวัยแม่ ๗๓ ปี(ผมแม่ไม่ค่อยหงอก แม่ไม่เคยใช้แชมพูแต่ใช้น้ำซาวข้าวกับใบไม้อะไรก็ไม่ รู้มาตำแล้วสระผม) เป็นห้วงเวลาที่แม่มีความสุขมากที่สุดอีกครั้งหนึ่งในชีวิต ลูกหลานทุกคนไปรับแม่ที่โรงพยาบาล คุณหมอพยาบาลก็คงมีความสุขที่ผู้ป่วยที่รักษาหายเป็นปกติ วันนั้นแม่ก็บริจาคให้โรงพยาบาลหลายพันบาทเพราะค่ารักษาเบิกสวัสดิการ แม่กลับมาบ้านลูกทุกคนดีใจมีความสุขและหวังว่าแม่จะไม่เป็นอะไรมากไปกว่านี้(ยังมีต่อ ดูแลแม่อย่างไรดี  อาหารอะไรที่กินแล้วมีผลข้างเคียง และยอดพระคาถาชินบัญชร ที่ผู้เขียนพกติดตัว ตอนจบ)

  การดูแลผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะที่ ๓  ตอน “จาก ๗๓ ปีเป็น ๘๑ปี มีแต่กำไร”

        จากวันที่แม่ป่วยอายุ ๗๓ ปีวันนี้แม่ ๘๑ ปี มีความสุขกับลูกหลานตามอัตภาพทำบุญเข้าวัด ปลูกผักเก็บผักสวนครัวขายเล็กๆ น้อยๆ ไม่ให้เหงาแม่จะอยู่ที่สวนทุกวันถ้าไม่ได้ไปที่ไหน แม่ลากสายยาง ใส่สปริงเกอร์ รดผักเป็นการออกกำลังกาย แต่ต้องคอยบังคับไม่ให้ทำงานมาก กินข้าวให้เป็นเวลา

          อาหารที่มีผลข้างเคียง เห็ดป่าต่างๆ หมูที่มีมันมากๆ น้ำที่มีสารปนเปื้อน กินแล้วทำให้ท้องเสีย อย่าให้ตกใจหรือกังวล เครียด เพราะทำให้ระบบขับถ่ายเสีย  อาการถ่ายบ่อยแต่ไม่ใช่อาการท้องเสีย เป็นเรื่องปกติของผู้ป่วยที่ผ่าตัดลำไส้  ตรวจสุขภาพตามที่หมอนัด หรือถ้ามีอาการผิดปกติ รีบพบหมอ

          มีโรคอื่นร่วมด้วยเช่น เบาหวาน ความดัน ควรซื้อเครื่องวัดความดัน เครื่องตรวจระดับนำตาลเก็บไว้ที่บ้าน มีคนตรวจสม่ำเสมอ(ใช้ง่ายๆ ราคาประหยัด เพิ่มเงินอีก ๗๐๐๐-๘๐๐๐ บาท)

          ที่สำคัญ อย่าปล่อยให้เป็นเรื่องของคนแก่ แต่ต้องเป็นหน้าที่ของลูกหลานที่จะต้องเอาใจใส่สอบถามอาการอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเป็นการให้กำลังใจ

          หากว่าสิ่งที่ทำทั้งหมดคือการลงทุนก็ถือว่าคุ้ม และความสุขที่แม่มีในวันนี้คือกำไร แต่ความจริง พ่อแม่ คือผู้ที่บุตรธิดาพึ่งเคารพและปรนนิบัติให้มีความสุขตามอัตภาพ จึงจะได้ชื่อว่าเป็นลูกกตัญญู

          และสิ่งที่ผู้เขียนเชื่อมั่นคือคุณงามความดีที่แม่ประพฤติปฏิบัติ เป็นกุศลกรรม ทำให้ผ่านพ้นวิกฤตในชีวิต แรงศรัทธาของลูกหลานเป็นผลบุญต่อพ่อแม่อย่างแท้จริง วันนี้ผู้เขียนจึงเอาคำขึ้นต้นในบทสวดคาถาชินบัญชร มาสลัก(ภาษาพระว่า จาน) ลงเครื่องประดับ (สร้อยข้อมือ)ใส่ไว้ประจำ มีดังนี้          ชะ  จะ  ตะ  สะ  สิ  สัง  นะ  โก  ทะ  กะ  เก  นิ  กุ  โส  ปุ  เถ  เส  เอ  ชะ  ระ  ธะ  ขะ  อา  ชี  วา  สะ  อิ  ตัง  อา  วะ  ชิ

          คาถาชินบัญชร เป็นพระคาถาแห่งพุทธคุณ สวดก่อนนอนทุกวันจะเป็นพุทธคุณสำหรับตนเองและครอบครัว (เป็นความเชื่อส่วนบุคคล)

          วันนี้เป็นเพียงประสบการณ์หนึ่งที่ผู้เขียนอยากถ่ายทอดให้ผู้ที่กำลังทุกข์กับโรคมะเร็ง จะเป็นจุดใดของร่างกายก็ตามอยากให้ผู้ใกล้ชิดคอยเป็นกำลังใจ ให้มีความหวังเพราะมะเร็งเป็นโรคที่คร่าชีวิตคนไทยเป็นอันดับต้นๆในตอนนี้

          หากท่านใดมีข้อคิดเสนอแนะในการดูแลผู้ป่วยที่ดี เหมาะสมผู้เขียนพร้อมที่จะนำไปปฏิบัติต่อแม่ และหากข้อเขียนนี้มีประโยชน์สำหรับท่านอื่นบ้าง ก็ให้คุณงามความดีเกิดกับพ่อแม่ ผู้มีพระคุณทุกคน

การดูแลผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะที่ ๓ ตอน “๘๔ ปีที่เป็นไม้ใกล้ฝั่ง”

จากวันเข้าพรรษาปี ๒๕๔๓ เดือนกรกฎาคมนี้จะครบ ๑๒ ปี ที่แม่ป่วยเข้าโรงพยาบาลรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะที่ ๓ การดูแลผู้ป่วยหลังการรักษาได้พยายามดูแลให้ดีที่สุด หลีกเลี่ยงอาหารที่อาจส่งผลต่อลำไส้ หรือโรคอื่นๆเช่น เบาหวาน ความดัน ที่สำคัญอวัยวะคนอายุมากเสื่อมสภาพ เช่น ลำไส้บาง กระดูกเปราะ สายตาฝ้าฟาง หูเริ่มจะไม่ค่อยได้ยิน ความจำเสื่อม แม่จะมีปัญหาเฉพาะลำไส้บางเท่านั้น อาหารที่ส่งผลต่อการทำงานของลำไส้ เช่น อาหารมีมันมากๆ ห้ามเด็ดขาดเพราะจะทำให้ท้องเสียทันที และที่สำคัญที่สุดคนป่วยก็ถ่ายบ่อยแต่ถ่ายยากเนื่องจากลำไส้ถูกตัดต่อจึงมีปัญหาเหล่านี้ร่วมด้วย
          ตลอดเวลาที่ดูแลรักษาแม่ที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ลูกๆ ทุกคนได้ดูแลแบ่งปันความสุขให้แม่กันทุกคน มากบ้างน้อยบ้างตามอัตภาพและแม่ก็ยังแข็งแรงแต่สิ่งที่ห้ามไม่ได้เลยคือการทำงานที่แม่ไม่เคยหยุดนิ่งสักวัน เว้นว่าวันที่ป่วยหรือท้องเสีย ยังเป็นงานที่อยู่ที่สวน ปลูกผักถอนหญ้า เก็บหน่อไม้ที่สวน มีรายได้วันละเล็กละน้อย(บางครั้งเห็นคนปกติมาขอซื้อผักที่สวนกับแม่ยังรู้สึกว่าคนปกติทำไมไม่ปลูกกินเองบ้าง) ห้ามปลูกก็ไม่ได้แต่ก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่อะไร เพียงแต่คนป่วยต้องกินอาหารให้เป็นเวลา คงเหมือนเราๆ ท่านๆ ทำงานแล้วเพลินจนลืมรับประทานอาหารให้ตรงเวลา
          วันนี้แม่อายุ ๘๔ ปีผ่านวิกฤตชีวิตอย่างน่าภูมิใจจะว่าแม่แข็งแรงก็ได้ แต่ปัญหาที่อยากบอกกล่าวก็คือ การให้ผู้ป่วยนอนบนที่สูง(เตียง) หรือนั่งบนที่สูงอาจมีปัญหาได้ หรือแม้แต่การเข้าห้องน้ำ เพราะคนสูงอายุจะประสบอุบัติเหตุถึงขั้นเสียชีวิตได้เช่น จับประตูดึงเพื่อเปิดประตูอาจพลาดล้มหงายหลัง(เคยมีมาแล้วที่เสียชีวิตคือ พี่ชายของแม่อายุ ๘๗ ปีดึงประตูพลาดล้มหงายหลังไม่มีคนเห็นตอนกลางคืนเสียชีวิตในที่สุด) เข้าห้องน้ำที่ลื่นๆ เดินไม่มีราวจับ ไม้ค้ำยัน โถส้วมควรเป็นแบบนั่ง สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งทีลูกหลานต้องเอาใจใส่ ลูกหลานได้พยายามทำในสิ่งที่เรียกว่าป้องกันสำหรับแม่ แต่ก็เกิดจนได้เมื่อแม่นั่งบนเตียงนั่งเล่นที่นั่งทุกวัน จะก้าวลงจากเตียงที่สูงไม่ถึง ๕๐ ซ.ม.พลาดตกลงมาฟกช้ำดำเขียวมากกว่าปกติ อาจเป็นเพราะเส้นเลือดเปราะบางแตกง่ายจึงซ้ำเขียวมากกว่าปกติ ผู้ดูแลคนป่วยจึงต้องดูแลอย่างใกล้ชิดและมากกว่าปกติ
          ปีนี้จะเป็นอีกปีที่ลูกหลานจะพาพ่อแม่ทำกฐินอีกครั้งเป็นครั้งที่ ๓ ในรอบ ๑๐ ปีเพราะโบราณว่าถ้าทำกฐินครบ ๓ ครั้งจะเป็น ๓ วัดด้วยหรือเปล่าไม่แน่ใจ จะทำให้ได้กุศลยิ่ง  หากสิ่งเหล่านี้เป็นความเชื่อหรือความหวัง มันจะเป็นพลัง เป็นหวังเป็นบุญกุศลสำหรับคนที่อยู่ในโลกที่มากด้วยความขัดแย้ง แย่งชิง สิ่งที่เราทำดีแม้จะไม่มีคนเห็นหรือไม่มีใครรับรู้ก็ให้มันเป็นความฝัน ความหวังตลอดจนความสวยงามที่เราอยากให้คนที่เรารักอยู่กับเราต่อไปนานแสนนาน
          และขอเป็นกำลังใจสำหรับทุกท่านให้ผ่านพ้นวิกฤตชีวิต ก้าวข้ามอุปสรรคหากไม่มีทางเลือกหรือไม่มีความหวังใดเหลืออยู่ในชีวิต ธรรมะ ยังเป็นหนทางที่ดีที่สุดสำหรับชีวิตที่เหลืออยู่บนโลก(โรค)นี้

การดูแลผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะที่ ๓ ตอนเมื่อแม่ต้องล้มหมอนนอนเสื่อ”

           ในช่วงเวลาหนึ่งของชีวิตที่ลูกทุกต้องเสียใจ กับคำว่าสัตว์โลกต้องเป็นไปตามกรรม “เกิด แก่ เจ็บ ตาย” เป็นวัฏจักร หรือเป็น “กงล้อ” ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ วันนี้แม่มีอาการของคนแก่วัย ๘๔-๘๕ ปี ที่มีอาการปวดหลัง(เกือบ ๑ เดือน กันยายน ๒๕๕๔)  ทุกครั้งที่ลูกๆทุกคนอยู่กับแม่ มีแต่ แววตาที่วิตกกังวล กลัวการสูญเสีย ที่จะเกิดขึ้นกับแม่ ในวัยนี้คุณหมอก็ได้แต่รักษาตามอาการที่เกี่ยวกับกระดูก การตรวจเบื้องต้นตามขั้นตอน การรักษา มีโรคที่อาจเกี่ยวข้อง เช่น วัณโรคกระดูก ไตอักเสบ กระดูกเสื่อม ทรุด(ตามอายุ)หรือมะเร็งลามไปที่กระดูก หมอวินิจฉัยโดยการเอ็กเรย์ว่าอาจเป็นจากกระดูกเสื่อมตามอายุ เนื่องจากไม่มีร่องรอยการงอก แตกหรือผิดปกติจากการตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ
       แม่จึงได้แค่ลุกนั่ง ลุกเดินแบบมีคนพยุง(ป้องกันขาอ่อนแรงต้องเดินบ้าง) หรือนั่งรถเข็นใส่บาตรตอนเช้า ที่หน้าบ้าน แม่ยังมีความรู้สึกดี พูดคุย หัวเราะ กินหมากกับเพื่อนบ้านเวลามาเยี่ยมถามข่าวคราว ซึ่งคนแก่รุ่นนี้ในหมู่บ้านเหลือเพียงสามคน คือ พ่อ แม่ ของผู้เขียนและญาติ อีกคนซึ่งก็ยังแข็งแรงแต่ความจำเสื่อม
       วันนี้ผู้เขียนเองในฐานะลูกชายคนเดียวของแม่ที่แกอาจจะรักมากกว่าลูกทุกคน ก็อดคิดไม่ได้ว่าหากวันเวลาแห่งชีวิตของแม่ คือช่วงสุดท้ายของชีวิตคนๆหนึ่งที่เราเรียกว่า “แม่” ต้องจากเราไป เราต้องทำอย่างไร เป็นอย่างไร แม้ว่า วันนี้เราจะ “ยอมรับ”และ “ทำใจ” กับสิ่งที่จะเกิดขึ้น ไม่ช้าก็เร็ว บ่อยครั้งที่ผู้เขียนต้อง แอบร้องไห้ เมื่อเวลาที่คิดถึงวันนั้น แต่ก็คิดว่าเราได้ดูแลแม่ดีที่สุด ให้สิ่งที่ดีที่สุดตลอดเวลาที่เรารับรู้ว่าแม่ไม่สบาย ก็พอทำให้เรารู้สึกดีขึ้นบ้าง เราจึงจะไม่อ่อนแอไปมากกว่านี้
        ลูกๆของแม่ทุกคนได้ดูแล ให้กำลังใจ ปลอบโยน ให้แม่มีความหวัง มีความสุขกับลูกหลานให้นานที่สุดทุกครั้งที่ผู้เขียนเข้าวัด ไหว้พระจะอธิษฐาน ให้แม่มีความสุข หายป่วยจากโรคภัย ไข้เจ็บ ก่อนนอนแม่กับพ่อยังไหว้พระสวดมนต์ทุกวัน มันเป็นความรู้สึกหนึ่งที่ทำให้เราเบาใจได้ว่า แม่ยังมีความสุข มีความหวัง ลูกที่อยู่ไกล ก็มาหาแม่บ่อยขึ้น นอกจากจะมีผู้เขียน กับพี่น้องสี่คนที่ผลัดเปลี่ยนกันดูแลอย่างใกล้ชิด นั่นจึงเป็นสิ่งที่ลูกๆได้ดูแลแม่ยามป่วยไข้ เป็นยาขนานเอกสำหรับแม่
       จึงอยากฝากความรู้สึกของความเป็นลูก ให้กับทุกท่านที่เป็นลูกที่ทำดีกับพ่อแม่อยู่แล้วให้ภาคภูมิใจ และทำต่อไปแม้จะไม่มีใครรับรู้ ส่วนลูกที่มีโอกาสดูแลพ่อแม่น้อย ก็ควรสละเวลาบางส่วนของชีวิต เพื่อดูแลและให้กำลังใจพ่อแม่ ในสิ่งที่คนแก่คนหนึ่งที่เคย “ฟูมฟัก”เรา ให้เราได้มีวันนี้ เมื่อถึงวันสุดท้ายของพ่อแม่เราอาจเสียใจที่มีโอกาสได้ดูแลพ่อแม่น้อยไป ผู้เขียนจึงเขียนป้ายติดที่หน้าบ้านไว้เตือนใจลูกๆพร้อมคาถาชินบัญชร ว่า

              “บิดา มารดา คือ ผู้ที่บุตรธิดาพึงเคารพ ดูแลให้มีความสุขตามอัตภาพ”

การดูแลผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะที่ ๓  ตอน “เมื่อแม่ต้องล้มหมอนนอนเสื่อ

ความพ่ายแพ้ที่ไม่แพ้กับอาการปวดหลัง”

     

หมายเลขบันทึก: 485822เขียนเมื่อ 23 เมษายน 2012 10:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 08:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท