ธรรมหรรษา
รศ.ดร. พระมหา หรรษา นิธิบุณยากร

ความสามัคคี: เป้าหมายสำคัญต่อการสื่อสารทางการเมือง




      หากถามว่า "สิ่งใดคือเป้าหมายสำคัญต่อการในการสื่อสารทางการเมือง" กลุ่มผู้ให้สัมภาษณ์ส่วนใหญ่ให้คำตอบที่ค่อนข้างคล้ายคลึงกันว่า "ความสามัคคี" ซึ่งหมายว่า "การสื่อสารทางการเมืองของนักการเมือง สื่อมวลชน และประชาชนนั้น ต้องเป็นไปเพื่อการสร้างความสมัครสมานสามัคคีของกลุ่มชนต่างๆ ที่อยู่ร่วมกันภายในชาติ"

      ความสามัคคีนั้น แปลว่า "ความพร้อมเพรียงกันทั้งการคิด การพูด และการแสดงออกทางกาย" ซึ่งไม่ได้หมายถึงการสมยอม หรือการเชื่อฟังของผู้ที่มีอำนาจน้อยกว่าต่อผู้ที่มีอำนาจมากกว่า หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งสั่งให้คนอีกกลุ่มต้องแสดงความพร้อมเพรียง สาระสำคัญในประเด็นนี้ จุดเริ่มต้นอยู่ที่ความเห็นพ้องต้องกันของกลุ่มต่างๆ ต่อการตัดสินที่จะกระทำการอย่างใดอย่าง ซึ่งสอดรับกับแนวทางในการแสวงหาฉันทามติร่วมกัน เมื่อได้ข้อสรุปร่วมกันแล้ว จึงจะนำไปสู่การกำหนดท่าทีการสื่อสารทั้งการพูด และการกระทำให้เป็นไปในทิศทางที่สอดรับกัน เพื่อให้การพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองก้าวหน้าและสร้างความผาสุกทั้งทางกาย และเกิดสันติสุขแก่กลุ่มคนต่างๆ ในประเทศชาติที่เราอาศัยอยู่ร่วมกัน

      สามัคคีตามแนวทางดังกล่าว จึงหมายถึง "ความปรองดอง" (Reconciliation) ในอีกความหมายหนึ่งที่เป็นเป้าหมายหลักในการสื่อสารทางเมือง ดังนั้น ตัวผู้สื่อ วิธีการ และเครื่องมือในการสื่อ ข้อมูลที่จะสื่อ และเป้าหมายในการสื่อจะต้องเป็นไปเพื่อการสร้างความปรองดอง หรือเพื่อให้เกิดความสามัคคีทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้ ทุกคนที่กำลังเข้าสู่บริบทในการควรตระหนักว่า หากสิ่งที่จะสื่อสารนั้น ไม่จริง ไพเราะ เหมาะกาล ไม่มีประโยชน์ ขาดเมตตา และไม่ก่อให้เกิดความสามัคคี หรือความปรองดอง ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะสื่อสารสิ่งใดๆ ทั้งสิ้น

      เป้าหมายสำคัญต่อการสื่อสารทางการเมืองเพื่อให้เกิดบรรยากาศความสามัคคีปรองดองนั้น ผู้เข้าร่วมสัมมนา และให้สัมภาษณ์ได้นำเสนอเอาไว้อย่างน่าสนใจดังต่อไปนี้

      ๑. ไผ่รวมก่อ (Unity) ลักษณะของไผ่รวมก่อสามารถอธิบายเชิงเปรียบเทียบว่า กิ่งไผ่เมื่อมีเพียงลำเดียวสามารถหักโค่นได้ง่าย แต่เมื่อใดกิ่งไผ่รวมกันหลายๆ ลำ รวมเป็นมัดเป็นก่อแล้ว การจะหักทำลายย่อมทำได้ยาก มนุษย์ก็เช่นกัน หากอยู่ตามลำพัง เมื่อเจออุปสรรคใดๆ ย่อมมิอาจต้านทานเอาไว้ได้ แต่เมื่อใดมนุษย์รู้จักรวมตัวเป็นกลุ่ม ความรัก ความสามัคคีย่อมเกิดขึ้น หากต้องเผชิญหน้ากับอุปสรรคต่างๆ ย่อมเป็นเรื่องง่ายที่จะผ่านพ้นไปได้

      ๒. ประสมกลมเกลียว (Harmony) ความประสมกลมเกลียวมีนัยสำคัญประการหนึ่งที่ชี้ให้เห็นถึงความประสานสอดคล้องกันเป็นหนึ่งเดียวประดุจการเล่นดนตรีไทยเป็นวง ซึ่งมีการประสานบรรเลงทั้งฉิ่ง กลอง ระนาด แตร และปี่พาท จึงจะทำให้เสียงในการละเล่นเกิดความกังวาล การอยู่ร่วมกัน การทำงานร่วมกัน หรือการสื่อสารของกลุ่มคนต่างๆ ในสังคม จำเป็นต้องอาศัยท่วงทำนองที่เป็นไปเพื่อสร้างความกลมเกลียวและกลมกลืนมากกว่าการสื่อสารที่นำไปสู่ความแตกแยก ในความกลมกลืนนั้น แม้ว่าเสียงของดนตรีอาจจะมีความแตกต่างกัน แต่ความเป็นจริงแล้วความแตกต่างของเสียงดนตรีคือความงดงาม และความไพเราะของเส้นเสียงแต่ละเส้น

      ๓. มิตรภาพในเป็นเพื่อนเป็นพี่เป็นน้อง และการยอมรับความแตกต่าง(Fraternity) ในแนวทางนี้ สามััคคีที่มีนัยถึงว่าในความเป็นพี่เป็นน้องจะต้องมีความความพร้อมเพรียง หรือทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเหมือนกันเท่านั้น โดยไม่สามารถเห็นต่าง หรือกระทำแตกต่างไม่ได้ จุดเริ่มแรกก่อนที่จะได้ฉันทามตินั้น ทุกคนย่อมมีสิทธิ และเสรีภาพที่จะแสดงความเห็น และความต้องการของตัวเองและกลุ่มได้ แต่สิ่งเหล่านั้นจะผ่านการหลอมรวมจุดเด่นต่างๆ เพื่อให้ได้บทสรุปที่ถือว่าดีที่สุดของกลุ่มคนหรือสังคมนั้น เพื่อเป็นหลักในการยึดถือและปฏิบัติร่วมกัน จะเห็นว่าจุดเด่นของความสามัคคีคือทุกคนสามารถเห็นต่างกันได้ โดยการพัฒนาความต่างให้กลายเป็นคุณค่าเพิ่มที่จะพัฒนาสังคมให้เป็นประชาธิปไตยที่ดีงามและอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่างได้อย่างมีความสุขต่อไป

      เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว เกณฑ์สำคัญที่จะชี้วัดความสามัคคีนั้นควรประกอบด้วยตัวแปรสามประการคือ ความเป็นหนึ่งเดียวประดุจไผ่รวมก่อ ความประสมกลมเกลียวระหว่างกลุ่มคนต่างๆ และความเป็นพี่เป็นน้องที่สามารถอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่างได้อย่างมีความสุข


คำสำคัญ (Tags): #NVCR#unity
หมายเลขบันทึก: 486008เขียนเมื่อ 25 เมษายน 2012 01:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 15:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
อรอุษา ตะเพียนทอง มจร.ป.โท รุ่น 6..

กราบนมัสการพระอาจารย์เจ้าค่ะ  หนูได้อ่านแล้วว่า ตัวแปรสำคัญที่จะทำให้เกิดความสามัคคีนั้น มีอยู่สามตัวแปรดังที่พระอาจารย์ได้กล่าวมาข้างต้นนั้นก็มีส่วนอย่างมากเลยเจ้าค่ะที่จะสามารถเป็นตัวชี้วัดความสามัคคีของมนุษยชาติเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งภายในและภายนอกรวมถึงสังคมและประเทศชาติ แต่อีกนัยหนึ่งซึ่งในทัศนะคติของหนูนั้น  หนูคิดว่าหากบุคคลเหล่านั้น (บุคคลที่ทำให้ความสามัคคีนั้นหายไปจากสังคมไทย)  มีความเห็นแก่ตัวน้อยลงหรือไม่เห็นแก่ตัวเลย  ถึงเวลานั้นความขัดแย้งต่างๆก็อาจจะเกิดขึ้นน้อยหรือไม่เกิดเลย หรืออีกประเด็นหนึ่งก็คือ การให้มีการจัดการอบรมเกี่ยวกับคุณธรรมจริยธรรมของบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องของความขัดแย้งทั้งหลายเหล่านั้น   หนูคิดว่าหลักการคำสอนของพระพุทธเจ้ามีหลายคำสอน น่าจะน้อมนำมาปฏิบัติเพื่อให้เกิดความสอดคล้องทางสังคมและประเทศชาติได้เป็นอย่างดีเจ้าค่ะ  สาธุ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท