เรียนรู้การจัดการภัยพิบัติผ่านสื่อสร้างสรรค์การเรียนรู้


ฝึกให้เขาสามารถดูแลตัวเองได้ และเป็นที่พึ่งของคนอื่นได้ในเวลาเดียวกัน

(เก็บเกร็ดจากการฟังการบรรยายพิเศษและร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ วันเสาร์ที่ 28 เมษายน 2555 อาคารศูนย์การเรียนรู้ไทยพีบีเอส โครงการนี้จัดโดย องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) และ เจแปน ฟาวเดชั่น กรุงเทพ สถาบันด้านศิลปวัฒนธรรมแห่งประเทศญี่ปุ่น)

 

            นานมาแล้วที่ผู้เขียนไม่ค่อยได้พาสมองมาออกกำลังหรือพาออกมาสูดความรู้ในโลกกว้าง ซึ่งมีสาเหตุที่เข้าใจได้ (เอง) ว่า เป็นเพราะการงานในหน้าที่ที่แทบจะไม่มีเวลาได้พาสมองไปวิ่งออกกำลังให้ได้พบเจอเรื่องราวที่แปลกแตกต่างไปจากสิ่งเดิมๆ แต่เรื่องราวที่ผู้เขียนได้พบในวันนี้กลับกลายเป็นแรงผลักดันที่ก่อให้เกิดไอเดียบรรเจิดขึ้นมากมายจนน่าจดจำและบันทึกเอาไว้

            วันนี้มีโอกาสได้เข้าฟังการบรรยายพิเศษและร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการที่อาคารศูนย์การเรียนรู้ไทยพีบีเอส ในเรื่อง "การจัดการภัยพิบัติผ่านกระบวนการเรียนรู้ทางศิลปะ-วัฒนธรรม และงานออกแบบสื่อสร้างสรรค์สังคมของประเทศญี่ปุ่น (JISHIN ITSUMO)"

            วิทยากรที่มาร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในด้านนี้เป็นชาวญี่ปุ่น คือคุณฮิโรคะซุ นากาตะ ประธานองค์กรไม่แสวงหากำไร (Plus Arts) ซึ่งมีชื่อเสียงด้านการสร้างนวัตกรรมการออกแบบ เพื่อกระบวนการเรียนรู้การจัดการภัยพิบัติของประเทศญี่ปุ่น สิ่งที่องค์กรนี้ทำคือ เรื่องของการให้ความรู้เกี่ยวกับภัยพิบัติผ่านงานกิจกรรมที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ

            ...คำว่า "กิจกรรมที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ" นั้น อธิบายได้ว่า เป็นการรวบรวมองค์ความรู้โดยการถอดประสบการณ์มาจากผู้ประสบภัยจากแผ่นดินไหวในเมืองโกเบเมื่อปี 1995 (2538) ครั้งนั้นเมืองโกเบเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.2 ริกเตอร์ สร้างความเสียหายให้แก่อาคารบ้านเรือนและสาธารณูปโภคหลายอย่าง จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์จำนวนมาก

            องค์กรนี้จึงถือกำเนิดขึ้นเพื่อถอดบทเรียนจากเหตุการณ์นั้น และนำมาถ่ายทอดให้กับเด็กๆ รุ่นใหม่ เพื่อให้พวกเขามีทักษะการช่วยเหลือตนเองจากภัยพิบัติอันร้ายแรง ตลอดจนสามารถให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยรายอื่นๆ ได้ด้วย คือ ฝึกให้เขาสามารถดูแลตัวเองได้และเป็นที่พึ่งของคนอื่นได้ในเวลาเดียวกัน ซึ่งผู้เขียนเห็นว่า นี่เป็นแนวคิดที่ดีมากๆ เพราะคุณนากาตะบอกว่า เขาจะสอนเด็กๆ เสมอว่าเวลาเกิดเหตุการณ์อะไรทำนองนี้ รถดับเพลิงหรือหน่วยกู้ภัยเขามาไม่ทันนะ ต้องช่วยตนเองก่อน ช่วยกันเอง แล้วค่อยรอความช่วยเหลือจากคนภายนอก

            กิจกรรมที่องค์กรฯนี้สร้างสรรค์ขึ้นมาจึงเป็นกิจกรรมที่ทั้งผู้ใหญ่และเด็กสามารถเรียนรู้ร่วมกันได้อย่างสนุกสนาน สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนได้รับรู้จากการบรรยายก็คือ ที่ประเทศญี่ปุ่นนั้น เวลาที่ต้องมีการจัดกิจกรรมกับเด็ก เขาจะต้องให้มีผู้ปกครองติดตามเด็กมาด้วย 1-2 คน จะเป็นพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย หรือใครก็ได้ที่เป็นผู้ปกครอง วิธีนี้ทำให้เวลาเด็กเข้าร่วมกิจกรรม ผู้ใหญ่ก็ได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กันกับเด็ก (คือทำกิจกรรมด้วยกันไปเลย) การให้ความรู้ในลักษณะนี้จึงก่อให้เกิดทั้งเมล็ดพันธุ์ใหม่และไม่ทอดทิ้งคนเก่า ซึ่งนั่นคือเรื่องที่ดีมากมาย เนื่องจากเด็กและผู้ใหญ่ควรเรียนรู้การรับมือกับเหตุการณ์แบบนี้ไปพร้อมๆ กัน อย่างว่าเรื่องภัยพิบัติไม่มีใครรู้มากรู้น้อยไปกว่ากัน

            กิจกรรมที่น่าสนใจที่องค์กรฯนี้สร้างสรรค์ขึ้นมีสารพัดหลากหลาย หนึ่งในกิจกรรมที่ผู้เขียนจำได้คือ เกมส์ความจำ เป็นตัวอย่างเกมส์หนึ่งที่เปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้จากเกมส์ ไม่ใช่แค่จากการฟังบรรยายเท่านั้น โดยลักษณะการเล่นเกมส์ก็คือ ให้เวลาจำของจำเป็น 10 อย่างที่ต้องหยิบใส่เป้(ยังชีพ) ภายในเวลา 60 วินาที จากนั้นเขาก็จะใช้ผ้าปิดข้าวของเหล่านั้นไว้ แล้วให้เด็กๆ ผลัดกันตอบว่ามีอะไรบ้าง พร้อมอธิบายประโยชน์ของของสิ่งนั้นด้วยว่า เอาไว้ใช้ทำอะไร วิธีนี้ช่วยให้เด็กพยายามหาวิธีจำให้ได้ และเมื่อเล่นบ่อยๆ เด็กจะจำได้เอง เป็นธรรมชาติ ไม่ใช่ท่องจำ ชื่อกิจกรรมนี้จริงๆ เขาเรียกว่า Emergency Kit Quiz

            กิจกรรมต่อมาคือ กิจกรรมการประยุกต์สิ่งของใกล้ตัวมาใช้ให้เป็นประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นกระดาษหนังสือพิมพ์ ตะกร้าซักผ้า ถุงพลาสติก ฯลฯ เช่น กระดาษนสพ.สามารถนำมาพับด้วยวิธีแบบออริกามิแล้วทำให้กลายเป็นจาน เป็นถ้วยได้ ที่ผู้เขียนชอบมากคือ สามารถพับแบ่งสัดส่วนให้พื้นที่กับอาหารได้หลากหลายชนิดและแต่ละชนิดไม่ปะปนกันด้วย (เหมือนแบ่งพาร์ทิชั่นกั้นห้อง)

            นอกจากนี้ก็ยังมีกิจกรรมการเรียนรู้การตรึงเครื่องเรือนหรือเฟอร์นิเจอร์ การเรียนรู้ผ่านการออกกำลังกาย หุ่นละครมือ เกมส์กระดาน การ์ดเกมส์ และอีกหลากหลายกิจกรรม แต่มีอีกกิจกรรมหนึ่งที่ผู้เขียนเห็นว่า วิธีคิดน่าสนใจนั่นคือ การเล่นเกมส์ที่คล้ายๆ กับเกมส์จับผิดภาพ เกมส์นี้เริ่มขึ้นด้วยการให้เด็กๆ ดูภาพประกอบที่วาดเรื่องราวเกี่ยวกับการเตรียมตัวรับมือภัยพิบัติประเภทต่างๆ แล้วให้เด็กๆ หาว่า ตรงไหนไม่ถูกต้อง ซึ่งเด็กๆ ต้องหยุดคิดเพื่อที่จะหาว่า ในภาพนี้มีสิ่งใดที่ไม่ควรจะมีแล้วดันมี เช่น ถ้าแผ่นดินไหว แล้ววาดภาพคนใส่เสื้อกันฝน และถือร่ม สิ่งที่ไม่น่าจะมีในรูปก็เช่น เมื่อใส่เสื้อกันฝนแล้ว ยังจะถือร่มอยู่อีกทำไม หรือ เหตุการณ์ที่ต้องวิ่งให้เร็ว แต่ภาพการ์ตูนดันวาดใส่รองเท้าบูท อันนี้ก็ไม่เหมาะสม เพราะที่เหมาะสมควรจะเป็นรองเท้ากีฬาเสียมากกว่า

            หรือแม้กระทั่งการตอบที่บางครั้งดูเป็นแบบแผนเกินไป เช่น ถ้าเจอคนบาดเจ็บต้องทำอย่างไร ถ้าเด็กตอบว่าใช้เปลหามออกมา ก็อาจจะให้คะแนนน้อย เพราะดูเป็นแบบแผน แต่ถ้าตอบว่า ให้ใช้ผ้าห่ม ผ้าคลุมเตียง หรือไม้กระดาน ของที่ใกล้ตัวแถวนั้นมาทำเปลหาม เด็กคนนี้ก็จะได้รับคะแนนมากกว่าเด็กที่ตอบคนแรก เป็นต้น

            การฝึกให้เด็ก ๆ เล่นเกมส์ทำนองนี้ คือ การฝึกทักษะการให้เหตุผล ไม่ใช่ท่องจำ เพราะเมื่อเขาตอบได้ จะไม่ได้แค่ตอบว่าอันนี้ผิดหรือถูก แต่ต้องให้เหตุผลด้วยว่า เพราะอะไรเขาจึงคิดแบบนั้น แบบนี้จะช่วยให้เด็กหยุดคิดมากขึ้น ไม่ใช่ฟังแล้วจำแต่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องประยุกต์ใช้ให้เป็นด้วย นี่จึงเป็นวิธีคิดวิธีสอนที่ดี

            นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดกิจกรรมอื่นๆ ที่น่าสนใจไม่น้อยไปกว่ากัน เพียงแต่สิ่งหนึ่งที่คุณนากาตะฝากไว้ก็คือ เรื่องของการนำโปรแกรมการเรียนรู้เหล่านี้ไปใช้ในที่อื่นๆ ที่ไม่ใช่ประเทศญี่ปุ่น โดยสิ่งที่ต้องคำนึงถึงอย่างมากคือ เรื่องของการปรับเครื่องมือ(กิจกรรม)ให้เข้ากับพื้นที่หรือให้เหมาะสมกับท้องถิ่น และไม่ได้ปรับแค่เพียงโปรแกรมหรือกิจกรรม การปรับนี้ยังรวมไปถึงเครื่องไม้เครื่องมือที่แต่ละพื้นที่มีด้วย หรือรวมไปถึงสถานการณ์ภัยพิบัติที่แต่ละประเทศประสบปัญหา เช่น ถ้าเป็นของไทย ของคนกรุงเทพฯ อาจต้องเริ่มเรียนรู้เรื่องเกี่ยวกับอุทกภัยให้มากขึ้น แต่ถ้าเป็น

ต่างจังหวัด อาจต้องดูภัยที่พื้นที่ประสบบ่อย แล้วประยุกต์ให้เหมาะสมกันไป (เหมือนอย่างที่พี่นุ้ย NGO ในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงได้บอกว่า คนอุบลฯเขาน้ำท่วมจนเข้มแข็ง คือท่วมจนอยู่กับมันเป็น อยู่กันอย่างสบายใจได้แล้ว เป็นต้น)

            ส่วนกิจกรรมในช่วงบ่าย ทางผู้จัดฯงานได้จัดให้มีกิจกรรมร่วมกันถอดประสบการณ์ที่แต่ละคนมีหรือกิจกรรมที่แต่ละคนกำลังทำเกี่ยวกับเรื่องภัยพิบัติกันอยู่มาเล่าสู่กันฟัง และจดเก็บไว้บนกระดานเป็นองค์ความรู้ หลายเรื่องที่ผู้เขียนอาจจะเคยมองข้ามไป เมื่อได้มาร่วมพูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ก็เห็นว่า เป็นประเด็นได้หลายเรื่อง เช่น เรื่องของการสอนให้เด็กมีทักษะการใช้ชีวิต พูดกันถึงในระดับที่ว่า น่าจะเกิดรายวิชาทักษะชีวิตกันเลยทีเดียว ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะอะไร แต่เป็นเพราะไม่รู้จะให้เด็กมีเวลาได้เรียนรู้เรื่องเกี่ยวกับการใช้ชีวิตกันตอนไหน ถ้าสอนในชั่วโมงเรียน เด็กก็ได้ความรู้ไม่ครบตามเกณฑ์ที่เขาต้องไปสอบวัดความรู้กัน ผู้สอนก็เลยไม่รู้ว่าจะสอดแทรกเรื่องเกี่ยวกับการใช้ชีวิตให้รอด (ดูแลตนเองให้เป็น) เข้าไปได้อย่างไร

            หรืออย่างเรื่องการเพาะปลูกพืช ก็เพิ่งได้รู้ว่า มันเด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาวอย่างไร ครูเซียน แห่งโรงเรียนรุ่งอรุณได้เล่าให้ฟังว่า การแก้ไขปัญหาบางอย่างต้องดูสภาพแวดล้อมให้รอบด้าน ดูทั้งเรื่องสภาพภูมิศาสตร์ ไปจนถึงเรื่องการปลูกพืช เช่นที่ทางใต้ พื้นที่หนึ่งมีน้ำป่าไหลหลากเหมือนกันแต่เสียหายน้อยกว่าอีกพื้นที่ เป็นเพราะอะไร หนึ่ง พื้นที่ลาดชัดกว่า หรือพื้นที่มีรากต้นไม้ยึดเกาะไว้น้อยกว่า อย่างยางพาราถ้าเพาะปลูกด้วยเมล็ด ก็จะมีรากที่แข็งแรง ยึดติดหน้าดินได้ดีกว่ายางพาราชนิดที่ใช้การปักชำ  นี่แค่วิธีการปลูกพืช ยังส่งผลได้ถึงเพียงนี้

            แต่ประเด็นที่ดูร่วมสมัยที่สุดน่าจะเป็นเรื่องของการปลูกจิตอาสา ซึ่งก็มีผู้ทักท้วงขึ้นมาให้ข้อคิดว่า จิตอาสา หรือ อาสาสมัคร ช่วยงานภัยใดๆ ก็ตาม ใช่ว่า อยากทำก็มาทำเลยตอนเกิดเหตุการณ์ใหญ่ๆ อันนี้ก็ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เพราะเขาบอกว่า

            "อาสาสมัครต้องไม่ใช่มือสมัครเล่น แต่ควรมีความรู้ในการจัดการความช่วยเหลืออยู่พอสมควร เพื่อที่เวลาทำงานช่วยสังคมจะได้ทำงานกันเป็นระบบ รู้ว่าตนถนัดทำอะไร อยู่ช่วยตรงไหนได้ อะไรรับได้ อะไรรับไม่ได้ เพราะสิ่งที่อาสาสมัครควรจะมีก็คือ "ทักษะการรับมือ" กับอารมณ์ของผู้ประสบภัย..." ซึ่งเรื่องนี้บางครั้งพวกเราก็ลืมคิดกันไป คิดแต่ว่าอยากช่วย จึงไปช่วยจึงไปร่วมด้วย แต่ในบางครั้ง การที่เราขาดประสบการณ์การทำงานจิตอาสามาก่อนหน้า มันอาจทำให้จิตใจเราห่อเหี่ยวมากกว่าจะเบิกบานก็ได้

            เรื่องแบบนี้จึงไม่ใช่ว่า เกิดเหตุการณ์ภัยอะไรที่สำคัญๆ แล้วจึงลงไปทำ แต่ถ้าทุกคนค่อยๆ ช่วย ค่อยๆ ทำในเรื่องเล็กน้อย เหตุการณ์เล็กๆ น้อยๆ ไปเรื่อย ๆ ผู้เขียนเชื่อว่า นั่นก็คือหนทางหนึ่งที่จะช่วยบ่มเพาะความรู้ในเรื่องการเป็นอาสาสมัครที่ทำงานเป็นให้กับเราได้มากทีเดียว อย่างน้อยเมื่อไปช่วยเขาแล้ว ก่อให้เกิดความสบายใจได้มากกว่าไม่สบายใจก็แล้วกัน        

           

           

 

 

หมายเลขบันทึก: 486427เขียนเมื่อ 28 เมษายน 2012 23:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 16:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอขอบคุณอ.วรรณชไม อ.จันทวรรณ และอ.นุ สำหรับดอกไม้แห่งกำลังใจนะคะ ถ้ามีโอกาสได้ไปเปิดสมองอีก จะได้มีแรงมาบอกเล่าแลกเปลี่ยนมุมมองกันอีกค่ะ ^^

น่าสนใจมากๆเลยครับ

เป็นการเรียนรู้ที่ดีมากๆ

ขอบคุณมากเลยค่ะอ.ขจิต อาจารย์เป็นกำลังใจให้เสมอเลย ^^

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท