แท้ที่จริงมะเร็งในเด็กเป็นอย่างไร?


การดูแลผู้ป่วยเด็กมะเร็งองค์รวม โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มข.

วันนี้ 3 พค. 2555 มีโอกาสไปออก Scoop สั้นๆ พูดเรื่องการดูแลผู้ป่วยเด็กโรคมะเร็ง จัดโดยฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ร่วมกับศูนย์บริการวิชาการมหาวิทยาลัยขอนแก่น ขอบพระคุณท่าน ศ. พญ. อรุณี เจตศรีสุภาพ และอาจารย์ศิริพร มงคลถาวรชัยที่ช่วยดู script ให้อย่างรีบด่วน ทุกอย่างผ่านไปด้วยดี ขอบคุณทีมการดูแลเด็กมะเร็งองค์รวม รพ. ศรีนครินทร์ทุกท่าน รวมทั้งผู้ป่วยเด็กและครอบครัว และท่านที่ไม่ได้เอ่ยนามมา ณ ที่นี้ค่ะ

 

คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองส่วนใหญ่พอทราบว่าลูกเป็นมะเร็ง “ตกใจ เสียใจ ร้องไห้ รับไม่ได้ คำว่ามะเร็งมันเป็นคำที่ใหญ่มาก มะเร็ง ก็คือตายไปแล้ว” ดังนั้นเรามาทราบว่าแท้ที่จริงมะเร็งในเด็กเป็นอย่างไร

มะเร็งในเด็ก มีอัตราการเกิดโรคต่ำกว่าในผู้ใหญ่ เกิดในเด็กเพศชายมากกว่าเพศหญิง ไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอน แต่ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรค คือ ความผิดปกติทางพันธุกรรม การติดเชื้อไวรัสบางชนิด การสัมผัสสารเคมี เช่น ยาฆ่าแมลงในปริมาณสูง ส่วนวิธีรักษาที่สำคัญ คือ การผ่าตัด ยาเคมีบำบัด  และฉายแสง นอกจากนี้ การปลูกถ่ายไขกระดูก และการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ เป็นอีกวิธีรักษาสำคัญในโรคมะเร็งระบบโลหิตวิทยาในเด็ก ซึ่งให้ผลการรักษาสูงกว่าในผู้ใหญ่ แต่การรักษายังมีค่าใช้จ่ายสูง และยังให้การรักษาได้จำกัดอยู่เฉพาะในบางโรงพยาบาลใหญ่ เช่น ในโรงเรียนแพทย์ ปัจจัยเสี่ยงต่อความรุนแรงของโรค ขึ้นกับ ระยะของโรค ชนิดของเซลล์ มะเร็ง โอกาสผ่าตัดก้อนมะเร็งออกได้ทั้งหมดไหม และ การตอบสนองต่อยาเคมีบำบัด

 

ทีมสหสาขาดูแลรักษาผู้ป่วยเด็กโรคมะเร็ง โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์

มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประกอบด้วยแพทย์ พยาบาล นักสังคมสงเคราะห์ ครูเพื่อเด็กเจ็บป่วย จิตอาสา องค์กรภายในและภายนอกที่เกียวข้อง เพื่อให้การดูแลรักษาผู้ป่วยเด็กโรคมะเร็งแบบองค์รวมมีประสิทธิภาพสูงสุด รพ. ศรีนครินทร์ มีผู้ป่วยเด็กมะเร็งรายใหม่มากกว่า 150 รายต่อปี มะเร็งในเด็กมีพยากรณ์โรคดี แต่ต้องรักษาเป็นเวลานานเป็นปีหรือหลายๆ ปี มีผลกระทบต่อผู้ป่วยและครอบครัวสูง อัตราการรักษาให้หายขาดมากกว่าร้อยละ 70 แต่มีผู้ป่วยเด็กมะเร็งที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาด ร้อยละ 20-30 ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาแบบประคับประคองโดยหวังผลของคุณภาพชีวิตที่ดี หมายความว่า ณ จุดหนึ่งในผู้ป่วยเด็กบางรายที่โรคมะเร็งแพร่กระจายหรืออยู่ในระยะลุกลาม ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แพทย์ต้องเปลี่ยนวิธีการรักษาเป็นแบบประคับประคอง

 

ดังนั้นวัตถุประสงค์การรักษาโรคมะเร็งในเด็ก  คือ

1.  หวังให้หายขาดในกลุ่มที่การพยากรณ์โรคดี

2. และรักษาแบบประคับประคองในกลุ่มที่โรคลุกลามหรือมะเร็งแพร่กระจาย เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเด็กและครอบครัว :-

-โดยการจัดการความปวดและอาการไม่สุขสบายต่างๆ เช่น เหนื่อยหอบ อาเจียน กังวล ที่มีประสิทธิภาพ

-โดยการดูแลประคับประคองด้านจิตใจ และความต้องการด้านจิตวิญญาณ   

-โดยให้ผู้ป่วยและครอบครัวได้รับคำปรึกษาเฉพาะทางที่มีประสิทธิภาพ

-โดยช่วยให้เด็กและครอบครัวสามารถ ภายใต้ข้อจำกัดของโรคและการรักษา

 

ป้องกันโรคมะเร็งในเด็กได้อย่างไร? การป้องกันโรคมะเร็งในเด็ก โดยเฉพาะในเด็กเล็ก เป็นเรื่องยาก เพราะปัจจัยเสี่ยงสำคัญ คือ จากพันธุกรรม แต่อาจเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงอื่นได้ โดยเฉพาะการเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆของมารดาขณะตั้งครรภ์ (รับประทานอาหารที่มีสารก่อมะเร็ง สิ่งแวดล้อมสารเคมีที่สัมผัส  ฯลฯ)

มีการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งในเด็กไหม? ควรนำเด็กพบแพทย์เมื่อไร? จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีการแนะนำเรื่องการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งในเด็ก ยังไม่พบวิธีการที่มีประสิทธิภาพ ดังนั้น คำแนะนำโดยทั่วไป คือ ผู้ปกครองต้องสังเกตความผิดปกติของเด็ก แล้วรีบนำเด็กพบแพทย์ เช่น คลำได้ก้อนเนื้อผิดปกติ เด็กผอมลงโดยไม่มีสาเหตุอันควร เด็กมีไข้สูงบ่อย หรือ มีจุด/จ้ำห้อเลือดเกิดตามตัวง่าย/บ่อย อ่อนเพลียง่าย ไม่ซุกซนเหมือนเคย หรือโยเยผิดปกติ

โรคมะเร็งในเด็กมีระยะโรคอย่างไร? 1.มะเร็งก้อนทูม  ระยะของโรคมะเร็งในเด็กแต่ละชนิด มีรายละเอียดแตกต่างกัน แบ่งเป็น 4 ระยะหลัก ตามลักษณะการลุกลาม และการแพร่กระจายของโรค 2.โรคมะเร็งระบบเลือด เมื่อเป็นโรคของตัวเม็ดเลือดเอง เช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว เมื่อเกิดโรค โรคจะแพร่กระจายในไขกระดูกทั้งตัวแล้ว ดังนั้นการจัดระยะโรคจึงมักจัดเป็น โรคในกลุ่มมีความรุนแรงทั่วไป และโรคในกลุ่มมีความรุนแรงสูง

แพทย์พยาบาลดูแลผู้ป่วยเด็กโรคมะเร็งหลังครบการรักษาอย่างไร? ภายหลังครบการรักษา แพทย์ยังนัดดูแลเด็กอย่างต่อเนื่อง เพื่อ ตรวจการตอบสนองของโรคต่อการรักษา ตรวจการย้อนกลับเป็นซ้ำของโรค ตรวจการแพร่ กระจายของโรค และการตรวจ/รักษาเพื่อป้องกันและรักษาผลข้างเคียงที่อาจเกิดจากการรักษา ส่วนความถี่ของการนัดตรวจขึ้นกับ สุขภาพของเด็ก ชนิดของโรคมะเร็ง ระยะของโรค โอกาสโรคย้อนกลับเป็นซ้ำ และโอกาสเกิดผลข้างเคียง

อย่างไรก็ตามอยากให้คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองที่มีลูกเจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็งได้ทราบว่าโรคมะเร็งในเด็กมีโอกาสรักษาให้หายขาดได้สูง ไม่ใช่เด็กที่เป็นมะเร็งต้องเสียชีวิตทุกราย แต่ในรายที่โรคลุกลาม ไม่สามารถรักษาให้หายขาด เด็กจะได้รับการดูแลรักษาแบบประคับประคอง เพื่อไม่ให้เด็กทุกข์ทรมาน หวังผลคุณภาพชีวิตที่ดีในช่วงเวาที่เหลือ ทีมการดูแลรักษาพยาบาล ขอให้กำลังใจคุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองที่มีบุตรหลานเจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็งทุกท่าน มา ณ ที่นี้ค่ะ

เกศนี บันทึกไว้กันลืม May3,2012 , 2:00pm

ตรวจสอบเนื้อหา โดย :-

ศ. พญ. อรุณี เจตศรีสุภาพ

เรียบเรียงเนื้อหาโดย :-

เกศนี บุณยวัฒนางกุล APN เด็กโรคมะเร็ง-Advanced practice nurse for children with cancer

จัดทำวีดีทัศน์บริการวิชาการ(Scoop) เพื่อเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน โดย:-

ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

Large_img_2396

บันทึกเทปเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน 3 พค. 2555 เวลา 12.00-12.10 น.

เอกสารอ้างอิง

อรุณี เจตศรีสุภาพ และ สุรพล เวียงนนท์, บรรณาธิการ (พิมพ์ครั้งที่ 1). การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง.

ขอนแก่น: คลังนานาวิทยา, 2550

เกศนี บุณยวัฒนางกุล. การพยาบาลผู้ป่วยเด็กโรคมะเร็งและครอบครัวแบบองค์รวม. ใน  อรุณี เจต

ศรีสุภาพ และ สุรพล เวียงนนท์, บรรณาธิการ (พิมพ์ครั้งที่ 1). การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง. ขอนแก่น: คลังนานาวิทยา, 2550: 25-32.

 

 

หมายเลขบันทึก: 486924เขียนเมื่อ 3 พฤษภาคม 2012 14:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 15:34 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สบายดีนะครับพี่เกด...สุดยอดมากครับ...และขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องด้วยนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท