ไทยเหมาะกับMedium-Techมากกว่าHigh-Tech


Medium tech มีลู่ทางที่สดใสน่าเดินกว่า High tech มากมายนัก เหมาะสมกับสถานะปัจจุบันของเราเป็นที่สุด เพราะเป็นสิ่งที่พอทำได้..ไม่ไกลเกินฝัน

            นิสัยประจำชาติที่ไม่ดีอย่างหนึ่ของคนไทยงคือชอบฟุ้งเฟ้อโก้หรูเกินสถานะของตัวเอง เช่น ต้องขับรถเบนซ์ทั้งที่มีรายได้เพียงโตโยต้า หรือ ต้องขับโตโยต้าทั้งที่รายได้ระดับรถเมล์ ต้องใช้นาฬิกาข้อมือแพงๆ กระเป๋าถือ รองเท้า เข็มขัด แพงๆ ฯลฯ  ซึ่งต้องเป็นสินค้าต่างประเทศเสียด้วย

นิสัยแบบนี้พัฒนาขึ้นมาได้เนื่องเพราะคนไทยส่วนใหญ่นั้นมีนิสัยเคารพนพนอบต่อผู้ที่มีสถานะดี ว่าไปแล้วชนทุกชาติก็มีนิสัยเคารพนบนอบต่อผู้มีสถานะดีด้วยกันทั้งนั้น แต่ของไทยเราดูจะหนักหน่วงที่สุดในโลก โดยเฉพาะเราไม่สนใจกันด้วยว่าสถานะดีที่ว่านั้น ได้มาได้อย่างไร มันจึงเป็นปัจจัยให้คนไทยเราพัฒนานิสัยฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมกันจนสุดกู่ที่สุดในโลกก็ว่าได้

            นิสัยฟุ้งเฟ้อเชิงรูปธรรมดังได้ยกตัวอย่างมาพอสังเขปนั้นได้แปรสภาพมาเป็นความฟุ้งเฟ้อเชิงนามธรรมด้วย โดยเฉพาะในหมู่นักนักวิชาการและนักการเมืองส่วนใหญ่ของประเทศ ดังนั้นเมื่อพวกท่านเหล่านั้นคิดวางแผนพัฒนาประเทศ จึงคิดได้แต่เรื่องฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมเป็นส่วนใหญ่ เช่นจะพัฒนากันแต่ไอ้ประเภทที่ไฮเทคและฟุ้งเฟ้อทั้งหลายแหล่ จึงทุ่มงบประมาณชาติกันมากๆเพื่อจะทำงานพัฒนาและวิจัยกันทางด้าน Micro electronic, NanoTechnology, ชีวภาพโมเลกุล,  Detriot of  Asia, เมืองไทยเมืองแฟชั่น กันเป็นการใหญ่

            ส่วนการพัฒนาการเกษตรกลับไม่ค่อยสนใจเท่าที่ควร ทั้งที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรที่มีทักษะด้านการเกษตรสูงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และสภาพดินน้ำและภูมิอากาศของประเทศเราก็เหมาะสมต่อการเกษตรมากที่สุดในโลก พวกเขาเหล่านั้นไม่สนใจการเกษตรเท่าที่ควรแม้ข้อมูลจะตบหน้าท้าทายอยู่ทุกวันว่าผลผลิตข้าวต่อไร่ของประเทศเรายังต่ำกว่าเวียตนามและอินโดนีเซียเสียอีก ซึ่งทั้งสองประเทศนั้นถือว่า”ยากจน”กว่าเราอยู่มาก

            ถามว่า..แล้วเราจะผลิตสินค้าไฮเทคอะไรออกมาแข่งกับญี่ปุ่น อเมริกา และ ยุโรปอีก 10 ประเทศ  ผลิตออกมาแล้วจะสู้เขาได้หรือ ลงทุนไปแล้วจะได้คุ้มเสียไหม และที่สำคัญผลลัพธ์สุดท้ายในระยะยาวจะทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศมีความสุขมากขึ้นไหม  เราไม่ค่อยได้ตั้งคำถามทำนองนี้กันสักเท่าไร มุ่งแต่จะเอาโก้อย่างเดียวเท่านั้น คือคิดได้ตื้นๆแต่เพียงว่าชาติเราจนกว่าเขา ซึ่งมันเป็นปมด้อยที่น่าอับอายเหลือเกิน ดังนั้นเราต้องเร่งสร้าง”ความเจริญ”ให้ทัดเทียมเขา จะได้มีศักดิ์ศรีเท่าเขา ความคิดแบบนี้ไม่ได้เป็นความผิดบาปมหันต์แต่ประการใด เพราะมันเป็นสัญชาติญาณของมนุษย์ทุกชาติทุกภาษา ชนชาติใดก็คงต้องมีสัญชาติญาณตื้นๆแบบนี้กันทั้งนั้นแหละ

            แต่สัญชาติญาณแห่งความอยู่รอดและสัญชาติญาณแห่งความโก้นั้นแม้แต่สัตว์เดรัจฉานก็มีเหมือนมนุษย์ เช่น สัตว์บางสกุลพัฒนาขนให้มีสีสวยสดงดงามเพื่อความโก้หรู แต่มนุษย์ต่างจากสัตว์ตรงที่มีสมองที่พัฒนามากกว่า ดังนั้นจึงต้องถ่วงความต้องการของสัญชาติญาณให้สมดุลด้วยพลังสมอง และพลังวิญญาณด้วย

คนไทยเราทุกระดับส่วนใหญ่ในปัจจุบันนี้มีสัญชาติญาณแรง สมองพอมี ข้อมูลพอมี แต่จิตวิญญาณตกต่ำจนอ่อนแอเป็นอย่างยิ่ง ทำให้เราคลำเป้าที่แท้จริงไม่เจอ จนต้องให้คนชาติอื่นเขามาชี้เป้าให้เรายิงตลอดเวลา (พวกที่ปรึกษาต่างประเทศทั้งหลายทั้งที่ทรงคุณวุฒิและกำมะลอ)  ....แล้วเขาก็ลากเหยื่อชิ้นงามเอาไปกิน ส่งกระดูกและเศษเนื้อให้เราแทะ ด้วยความภูมิใจว่าเป็น”เพื่อน”ร่วมล่ากับพรานใหญ่แห่งป่าโลกาภิวัฒน์น์นั้นเทียว (แท้จริงเป็นเพียงลูกหาบ)

            หากเราลดระดับความสูงของกำแพงปมด้อยที่บังตาลงสักนิด จะมองเห็นวิวข้างหน้าได้ชัดเจนว่า Medium tech มีลู่ทางที่สดใสน่าเดินกว่า High tech มากมายนัก  เหมาะสมกับสถานะปัจจุบันของเราเป็นที่สุด เพราะเป็นสิ่งที่พอทำได้..ไม่ไกลเกินฝัน และ ถือว่าเป็นการเดินทางที่ค่อยเป็นค่อยไปอย่างมั่นคงตามธรรมชาติ

 

พึงตระหนักด้วยว่าทุกวันนี้ทุกชาติต่างก็อยากไปสู่ไฮเทคด้วยกันทั้งนั้นไม่ว่าประเทศรวย ยากจน หรือประเทศชั้นกลาง ทำให้เกิดช่องกว้างที่มีเดียมเทค ซึ่งทำให้มีคู่แข่งทางการตลาดน้อย แต่กลับมีตลาดเยอะ            แทนความฝันอันโก้หรูบรรเจิดที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม เราควรปรับมาเป็นสิ่งที่ทำได้จริงและมีผลกระทบสูง เช่นการผลิตเครื่องยนต์การเกษตรขนาดเล็ก เครื่องอัดแท่งฟืน เครื่องสีข้าวขนาดเล็ก เครื่องอบแห้งข้าวเปลือก ไซโลเก็บเมล็ดพันธ์  ซึ่งนอกจากจะขายทำเงินจากต่างประเทศได้แล้วยังช่วยเกษตรกรไทยได้อีกอักโข จากความฝันลมแล้งที่จะโก้หรูด้านไมโครคอมพิวเตอร์ ก็อาจปรับมาเป็นระบบควบคุมอัตโนมัติของรถเกี่ยวข้าว และเรือประมงขนาดเล็ก จะได้ไหม เอาแค่นี้ก็ทำกันไม่หวาดไหวแล้ว

            สิ่งที่น่าเสียดายที่สุดประการหนึ่งของประเทศไทยคือ อุตสาหกรรมต่อเรือ ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพมหาศาลเนื่องจากมีกองเรือประมงขนาดเล็กจำนวนมากติดอันดับต้นๆของโลก จนเรือประมงไทยต้องออกไปหากินนอกน่านน้ำจนถูกจับกันระนาว โดยเรือเหล่านี้ส่วนใหญ่ต่อเองในประเทศไทยทั้งสิ้น แต่รัฐบาลและมหาวิทยาลัยไทยต่างไม่ใส่ใจ ปล่อยให้อู่ต่อเรือเอกชนจำนวนมากทั่วประเทศพัฒนากันไปตามยถากรรม ปล่อยให้เกาหลีสร้างประเทศได้อย่างเงียบเชียบด้วยอุตสาหกรรมต่อเรือ แม้สิงคโปร์ซึ่งเป็นประเทศเล็กๆและมีกิจกรรมประมงนิดเดียวก็ยังมีอุตสาหกรรมต่อเรือ..ทั้งเรือสินค้าและเรือรบ ที่ส่งขายให้ประเทศไทยมาแล้วมากหลาย

            แทนที่จะเอาเงินไปตำละลายในนาโนฯและชีวภาพโมเลกุล ก็ปรับมาเป็นนาข้าวและเกษตรชีวภาพ เพื่อมุ่งเน้นการผลิตอาหารสำเร็จเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตรได้อย่างมหาศาล รัฐบาลคิดจะเป็นครัวโลก แต่กลับไม่มีการเตรียมการด้านการศึกษาในด้านนี้เพื่อขับเคลื่อนในระยะยาวเลย จึงดูเหมือนว่าเป็นคารมทางการเมือง (political rhetoric) มากกว่าความจริงใจเชิงนโยบาย

            หากคิดให้รอบคอบจะเห็นได้ว่า Medium Tech  เป็นสิ่งที่ประเทศที่กำลังพัฒนาแบบไทยต้องการบริโภคมากที่สุด จะเป็นการสร้างความพอเพียงในประเทศ และยังสามารถสร้างรายได้จากการขายให้ต่างชาติได้อีกด้วย..เนื่องจากมีความต้องการสูงและมีคู่แข่งน้อย จึงนับว่าเป็นเทคโนโลยีที่เหมาะสมต่อระดับวิวัฒนาการของประเทศในขณะนี้มากที่สุด ทำให้คุ้มค่าต่อการลงทุนและน่าจะสามารถประสบความสำเร็จสูงกว่าการพัฒนา high-tech เป็นร้อยเท่าพันทวี

            แนวทางพัฒนาประเทศไทยนั้นเราควรเร่งพัฒนาประเทศให้เป็นเลิศทาง medium tech ทางอุตสาหกรรมการเกษตร ภายใน 20 ปีเป็นขั้นต้น จากนั้นค่อยก้าวไปสู่การเป็น high-tech ในด้านต่างๆ ภายในอีก 20 ปีในช่วงต่อไป

            ส่วนพวกไฮเทคก็ใช่ว่าจะทิ้ง ก็ต้องเหล่ตาดูโลกไว้บ้าง สักวันหนึ่งถ้าเชื่อกันว่าเทคฯพวกนี้จะนำความสุขมาให้สังคมได้ เราก็คงต้องพัฒนา ไปให้ถึงระดับนั้น

 

...คนถางทาง

 

หมายเหตุ: บทความนี้เขียนเมื่อประมาณปี 2547

            

หมายเลขบันทึก: 487491เขียนเมื่อ 9 พฤษภาคม 2012 09:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 23:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

บทความปี 47 แต่วันนี้ก็ไม่เก่าเลยครับ

For Thailand high-tech R&D must be turned into economic machines, otherwise it is money and resources wasted. We are not rich enough to "play" high-tech games for fun like rich spoiled brats.

At present we people to think about building honest enterprises rather than wealth by corruption. If it is low-tech that we can use to achieve sufficiency and to regain the pride of being honest, Buddhist and Thai, so be it. (Not Let it be!)

I am, of course, pushing innovation as a mean/vehicle to get there (in 21stC or 26thBC -- Buddhist Century).

ท่าน sr ครับ ตอนนี้อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรขนาเล็กของไทยดีมากๆ มีบริษัทกว่า 500 บริษัทแต่รัีฐบาลไม่ให้ความสนใจเลย กลับเอาเงินเป็นร้อยล้านไปทำวิจัยช่วยพวกบริษัทต่างชาติที่ทำ ฮาร์ดดิสก์ เฉยเลย

I don't expect much from government(s). I believe the best way to go forth is to do it 'ourselves' -- from the bottom up.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท