ตัวตนแท้และตัวตนเทียม


"ตัวตนแห่งแก่นแท้ คือ บรรดาความจริง ความดี ความงาม ความสงบ ทั้งหลายที่ "มีอยู่แล้ว" ในตัวมนุษย์ทุกคน บางคนเรียกตัวตนแห่งแก่นแท้นี้ว่า "จิตเดิมแท้" หรือ "จิตประภ้สสร" ที่เป็นจิตงามมีความบริสุทธิ์ หากไม่ถูกปรุงแต่งก็จะมีความสงบเป็นธรรมดา เป็นธรรมชาติ"

หนังสือ "รักผลิบาน งานผลิผล เข้าใจคนด้วยเอ็นเนียแกรม" ของเฮเลน พาล์เมอร์ แปลโดย ร.จันเสน จัดพิมพ์โดยมูลนิธิโกมลคีมทอง เมื่อปี ๒๕๕๐ มีคำนำเขียนโดยศาสตราจารย์ น.พ.เดวิด เอ็น. แดเนียลส์ แห่งภาควิชาจิตเวชศาสตร์และพฤติกรรมศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ความว่า

          คนเราไม่มีใครถูกหรือผิด เราเพียงแต่ไม่สมบูรณ์พร้อม...
          ถึงที่สุดแล้ว คนเราต้องอยู่ให้ดีที่สุดทั้งกับตัวตนแห่งบุคลิกภาพ
          และตัวตนแห่งแก่นแท้
          บุคลิกภาพสามารถเอื้อหนทางให้เรากลับคืนสู่แก่นแท้แห่งสรรพชีวิต
          และพลังแห่งแก่นแท้ก็สร้างหนทางมุ่งหน้าสู่การพัฒนาชีวิต
          ส่วนบุคคลที่เปี่ยมสุขด้วยดุลยภาพ 

ข้อความสั้นๆ ข้างบนอมความหมายไว้มากมาย เพราะเป็น "ผลึกทางความคิด" (crystallized idea) ของ ศ.แดเนียลส์ ผมอ่านข้อความนี้แล้วต้องอ่านซ้ำเพื่อทำความเข้าใจอย่างช้าๆ พร้อมอยาก "ถอดความ" และขยายความตามความเข้าใจของผมจากการอ่านแต่ละคำและแต่ละวลีของข้อความข้างต้น

อันดับแรกคือคำ "สมบูรณ์พร้อม"   ในพระพุทธศาสนา คนส่วนใหญ่ไม่ใช่ "มนุษย์ที่สมบูรณ์" เรียกว่า ปุถุชน คำ ปุถุ ในบาลีแปลว่า หนา คำนี้จึงหมายถึงคนที่ยังหนาด้วยกิเลส   คนที่กิเลส (โลภ โกรธ หลง) หนามากกว่าคนทั่วไป ในพระพุทธศาสนาเรียก พาล หากหนาอย่างสาหัสก็เรียก อันธพาล   คำ พาล ในบาลีแปลว่า อ่อน ในที่นี้คือ อ่อนในปัญญา ไม่รู้บาปบุญคุณโทษ ผิดชอบชั่วดี   คำ อนธ แปลว่า มืด   คำ อันธพาล จึงหมายถึง ทั้งอ่อนและมืดในปัญญา   ปุถุชนที่พัฒนาตนจนเป็นผู้รู้บาปบุญคุณโทษ ผิดชอบชั่วดี มีคุณธรรมจริยธรรม เรียกว่า กัลยาณชน   กัลยา แปลว่า งาม จึงหมายถึง คนงาม (กัลยาณี แปลว่า หญิงงาม)   งามในที่นี้คือ งามใน (คือใจงาม รู้ผิดชอบชั่วดี บาปบุญคุณโทษ) และงามนอก (กิริยา วาจา)   กัลยาณชน (ที่ยังเป็นปุถุชนอยู่) หากพัฒนาตนจนกิเลสเบาบางลงได้มากๆ ก็อาจสามารถข้ามฝั่งไปสู่การเป็น อริยบุคคล อันประกอบด้วยพระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี ที่กิเลสเบาบางลงตามลำดับ และเมื่อดับกิเลสลงได้อย่างสิ้นเชิงก็เป็นพระอรหันต์   พระอรหันต์จึงเป็นมนุษย์สมบูรณ์ที่สุดตามความหมายในพระพุทธศาสนา

อันดับต่อมาคือคำ "ตัวตนแห่งบุคลิกภาพ"   คำ บุคลิกภาพ อาจเปรียบได้กับคำ จริต ในพระพุทธศาสนา   คำนี้มีรากมาจากคำ จร ที่แปลว่า ท่องเที่ยวไป ดังในคำ จราจร   คำ จริยา ก็มีรากมาจากบาลีคำเดียวกันนี้   พระอรรถกถาจารย์ในพระพุทธศาสนาท่านจำแนกบุคลิกภาพหรือจริตคนออกเป็น ๖ จำพวก เรียกว่า จริต ๖ ได้แก่ ราคจริต (รักสวยรักงาม) โทสจริต (ใจร้อน ขี้หงุดหงิด) โมหจริต (เขลา งมงาย) สัทธาจริต (เลื่อมใสอะไรง่าย) พุทธิจริต (ชอบใช้ความคิด เย็นชาไร้ความรู้สึก) และวิตกจริต (ขี้กังวล สงสัย วกวน ฟุ้งซ่าน)   ในทางจิตวิทยาก็มีวิธีจำแนกบุคลิกภาพคนหลายแบบมาก "ตัวตนแห่งบุคลิกภาพ" ที่ตัวเราหรือแต่ละคนมักแสดงออกเป็นประจำอย่างอัตโนมัติ (จนกลายเป็นบุคลิกประจำตัว เช่น ขี้กังวล หรือใจร้อน หรือเชื่อคนง่าย ฯลฯ) ในทางจิตวิทยา (โดยเฉพาะตามแนวคิดแบบเอนเนียแกรม) ถือว่าเป็น "ตัวตนเทียม" (false personality)  หรือ "เปลือก" หรือ "เกราะ" หรือ "หุ่นเชิด" ซึ่งถูกเชิดอย่างอัตโนมัติโดยแรงผลักดันภายในบางอย่าง ที่แต่ละคนค่อยๆ ก่อตัวขึ้นในตัวเราตั้งแต่วัยเด็ก (อย่างไม่รู้สึกตัว) โดยเฉพาะจากปฏิสัมพันธ์ในครอบครัวและสิ่งแวดล้อม เช่น หากในวัยเด็กต้องร้องเสียงดัง กระทืบเท้า ลงไปนอนชักดิ้นชักงอ จึงจะได้สิ่งที่ตนต้องการจากพ่อแม่ (ขอดีๆ พ่อแม่ไม่ให้) ก็จะค่อยๆ ก่อบุคลิกภาพแบบ "เจ้านาย" (ชอบบังคับ ควบคุม คนอื่น)   หรือหากในวัยเด็กต้องทำอะไรให้พ่อแม่ถูกใจ ท่านจึงจะให้อะไรเรา (ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของ ความรัก ความใส่ใจ) ก็จะค่อยๆ ก่อบุคลิกภาพแบบ "คนชอบเอาใจคนอื่น" (ที่มักหลงลืมความต้องการของตนเอง ยอมเบียดเบียนตนเองเพื่อเอาใจคนอื่น เพียงเพื่อให้ได้รับการยอมรับ ความนิยม ความรัก ความใส่ใจ) จนเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ที่มีบุคลิกภาพแบบนั้นๆ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเพียงเปลือกนอกของเราแต่ละคน ไม่ใช่ "ตัวตนแห่งแก่นแท้"

ตัวตนแห่งแก่นแท้ คือ บรรดาความจริง ความดี ความงาม ความสงบ ทั้งหลายที่ "มีอยู่แล้ว" ในตัวมนุษย์ทุกคน   บางคนเรียกตัวตนนี้ว่า "จิตเดิมแท้" หรือ "จิตประภ้สสร" ที่เป็นจิตงามมีความบริสุทธิ์ หากไม่ถูกปรุงแต่งก็จะมีความสงบเป็นธรรมดา เป็นธรรมชาติ   ไม่ใช่ตัวตนแห่งบุคลิกภาพคนแบบ "เจ้านาย" (The boss) ที่ชอบจัดการ ชอบบังคับควบคุมคนอื่น   "นักเอาใจ" (The placator) ที่ yes ตลอดกับทุกคน ไม่กล้ายืนยันความเห็นของตน   "คนขี้กังวล" (The doubter) ที่ขี้ระแวงสงสัยจนไม่ได้ลงมือทำอะไรสักที   "คนเจ้าเหตุผล" (The super-resonable person) ที่เย็นชาไร้ความรู้สึก   "คนเนี๊ยบ" (The perfectionist) ที่มักหงุดหงิดกับอะไรๆ ที่ไม่ "สมบูรณ์แบบ" (เป็นความทุกข์ประจำตัว) หรือคนที่มีตัวตนแห่งบุคลิกภาพแบบไหนๆ ก็ตามแต่  

ความสัตย์ซื่อ ความเมตตา ความกรุณา มุทิตา และอุเบกขา ฯลฯ ล้วนมีอยู่แล้วในจิตที่เป็นตัวตนแห่งแก่นแท้   หลักจิตวิทยาบุคลิกภาพอธิบายว่า การเติบโตขึ้นมาในสภาพแวดล้อมของครอบครัว-สังคมได้ "พราก" เราแต่ละคนออกจากจิตเดิมแท้นั้นหรือตัวตนแห่งแก่นแท้นั้น สู่ (หรือ "กลายเป็น") ตัวตนแห่งบุคลิกภาพ   บางสำนัก (เช่นซาเทียร์) ใช้คำว่า ถูกพรากจาก "บ้าน" (home) อันเป็นที่อยู่เดิมของแต่ละคน  

วลีที่ว่า "บุคลิกภาพสามารถเอื้อหนทางให้เรากลับคืนสู่แก่นแท้แห่งสรรพชีวิต" จึงหมายถึง การ "กลับกลาย" หรือ "กลายเป็น" หรือ "กลับคืน"  สู่ตัวตนแห่งแก่นแท้ จิตเดิมแท้ จิตประภัสสร หรือบ้านเดิม ของเราแต่ละคน   หรือจะเรียกว่า "การกลายเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ขึ้น" (becoming more fully human) ก็ได้   ตัวตนแห่งบุคลิกภาพที่เราแต่ละคนเป็นอยู่ ณ ปัจจุบันนั้น "เอื้อหนทาง" หรือเปิดโอกาส หรือเป็นประตูให้เราได้เดินทางกลับ "บ้าน" หรือเชื่อมโยงกับตัวตนแห่งแก่นแท้หรือบ้านเก่าของเรา หมายถึง เมื่อทำความเข้าใจบุุคลิกภาพเทียมหรือจริตของตน หรือจะเรียกว่าทำความ "รู้จักตนเอง" หรือรู้จัก self ของเรา ช่วยให้เราเห็นทางกลับบ้าน คือ รู้ว่าเรามาจากไหน กำลังอยู่ที่ใด และจะไปไหน (กลับบ้าน) โดยผ่านกระบวนการใคร่ครวญ ทบทวนที่มาของพฤติกรรมที่เรามักแสดงออกโดยอัตโนมัติ(บุคลิกภาพเทียม) ของเรา   วิธีที่ใช้โดยทั่วไปก็คือการ "สังเกตตนเอง" อยู่เสมอในชีวิตประจำ เช่น คนมีบุคลิกแบบ "เจ้านาย" (แม้จะเป็นคนธรรมดาที่ไม่ใช่เจ้านายในกิจการอะไร) สังเกตตนเองแล้วอาจโยน "ของร้อน" (ความก้าวร้าว ดุดัน) ใส่คนอื่น (โดยไม่รู้ตัว) น้อยลง โยนความทุกข์ที่ก่อกวนจิตใจตนใส่คนอื่นน้อยลง

วลี "พลังแห่งแก่นแท้ก็สร้างหนทางมุ่งหน้าสู่การพัฒนาชีวิตส่วนบุคคลที่เปี่ยมสุขด้วยดุลยภาพ" หมายถึง "พลัง" แห่งความเป็นธรรมดา ธรรมชาติ หรือธรรมะ แล้วแต่จะเรียก) ซึ่งก็คือ ความสงบ ความรัก ความเมตตา ความกรุณา ความสัตย์ซื่อ ฯลฯ จะเป็นพลังให้เรามีชีวิตอยู่อย่างสมดุลระหว่างตัวตนทั้งสองแบบได้ นั่นคือ ตัวตนแห่งบุคลิกภาพก็ยังคงอยู่ แต่อานุภาพของมันจะลดลง เพราะตัวตนแห่งบุคลิกภาพ (หรือที่อาจอนุโลมเรียกว่า อัตตา) ถูกจับได้ไล่ทันบ่อยขึ้น ไม่สามารถมีบทบาทครอบงำเราได้มากดังแต่ก่อน เช่น คนเนี๊ยบ (perfectionist) พอคำว่า "ต้อง" จะหลุดออกมาจากปาก ก็เห็นเสียก่อน ชีวิตก็จะพบความสุข อันเป็นสุขแท้จากภายใน มากขึ้นๆ จากการเป็นอิสระจากตัวตนแห่งบุคลิกภาพนั้น และเมื่อเป็นอิสระมากขึ้นๆ แล้วก็จะเป็นผู้ที่ดำเนินชีวิตอย่างเป็นประโยชน์กับสังคมได้มากด้วย

ตัวอย่างเช่น คนแบบเจ้านายที่เชื่อมโยงตนเองกับพลังแห่งแก่นแท้ของตน ได้แก่ ความเมตตากรุณา แล้วก็จะ "กลายเป็น" ผู้นำที่ยอดเยี่ยม เป็นผู้สนับสนุนคนอื่นๆ ที่ทรงพลัง เป็นผู้คอยปกป้องอันตรายให้คนอื่น เป็นผู้ทรงความยุติธรรมในสังคมที่มีพลัง   คนแบบนักเอาใจที่เชื่อมโยงกับพลังแห่งแก่นแท้ของตนได้แล้วก็จะไม่ต้องอาศัยสายตาคนอื่น (มองเห็นคุณค่าตนผ่านสายตาคนอื่น ไม่สามารถเห็นคุณค่าตนด้วยตนเอง) อีกต่อไป   ก็จะกลายเป็นผู้ที่เอาใจใส่และช่วยเหลือคนอื่นอย่างมีพลังด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่หวังสิ่งตอบแทน แม้คำขอบคุณ   คนสมบูรณ์แบบที่เชื่อมโยงกับพลังแห่งแก่นแท้ของตน ได้แก่ ความสงบเย็น ได้แล้วก็จะกลายเป็นผู้มีความเฉียบแหลมในการวิจารณ์และเป็นผู้นำทางจริยธรรม   คนขี้ระแวงก็จะกลายเป็นสมาชิกในทีมที่ยอดเยี่ยม เป็นเพื่อนที่ดี เป็นคนที่ทำงานเพื่ออุดมการณ์โดยไม่คิดถึงประโยชน์ส่วนตัว   คนเจ้าเหตุผล เจ้าหลักการ ก็จะกลายเป็นนักคิด นักตัดสินใจที่ยอดเยี่ยม เป็นนักผู้ทรงภูมิปัญญาที่ให้คำปรึกษาแก่ผู้อื่นหรือองค์กรได้อย่างมีพลัง   คนแบบอื่นๆ ก็เช่นกัน

อนึ่ง มีข้อน่าสังเกตว่า คำสอนในพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะเถรวาท (หมายถึงพุทธศาสนิกที่นับถือ "วาทะของพระเถระ" ซึ่งเป็นพุทธศาสนิกกลุ่มน้อยในไม่กี่ประเทศ เช่น ศรีลังกา ไทย ลาว เขมร   พุทธศาสนิกส่วนใหญ่ในโลกเป็นมหายาน หรืออาจาริยวาท - ผู้นับถือคำสอนของอาจารย์ มีคัมภีร์ที่ทั้งเหมือนทั้งคล้ายและทั้งต่างจากเถรวาท) กล่าวถึง อนัตตา (non-self) ต่างจากหลักจิตวิทยาตะวันตกที่ผมสังเกตว่ากล่าวถึงแต่ อัตตา (self)

สุรเชษฐ เวชชพิทักษ์
๙ พ.ค.๕๕

หมายเลขบันทึก: 487534เขียนเมื่อ 9 พฤษภาคม 2012 17:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 22:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เป็นการตีความที่มีประโยชน์มากค่ะ. ทำให้เชื่อมโยงกับงานที่ทำอยู่ทุกวัน. ในระยะหลังผู้ป่วยในโรงพยาบาลจิตเวช ที่ไม่ได้เป็นโรคจิตจ๋า. (ป่วนิดเข็นไม่ขึ้น). พบว่าส่วนใหญ่มีความหลงวกวนอยู่กับตัวตนเทียม. ซึ่งบางคนพอรู้ตัวบ้างว่าตนมีนิสัยแย่ๆ. ยังไงบ้าง. แต่ไม่สามารถพาตนเดินออกจากเส้นทางวกวนนั้นได้ แล้วพบพบว่าโชดดีที่เขาเป็นชาวพุทธ. การใช้จิตบำบัดแนวพุทธทำให้หลายคนเดินต่อได้. แต่ก็ต้องใช้พลังและเวลาพอควร เพราะจรืตที่เขามีเป็นยางเหยียวที่ติดหนึบ. ในบางรายต้องทำใจว่าเขาไปต่อไม่ได้

คุณสายลมทำงานอย่างนี้คงต้องใช้ความอดทน แต่เป็นงานที่เป็นกุศล ขอส่งกำลังใจไปช่วยนะครับ

ขอบคุณที่นำสิ่งดีๆ มาแบ่งปัน ซึ่งมันทำให้รู้สึกเป็นอิสระมากขึ้น อยากจะบอกว่าชอบความหมายของ วลี นี้ที่สุดเลย ที่ว่า " พลังแห่งแก่นแท้ก็สร้างหนทางมุ่งหน้าสู่การพัฒนาชีวิตส่วนบุคคลที่เปี่ยมสุขด้วยดุลยภาพ"

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท