ทำไมมหาวิทยาลัยดังๆ ถึงเปิดหลักสูตรให้คนภายนอกเรียนฟรี?


นักการศึกษาและผู้ที่สนใจติดตามข่าวสารวงการศึกษาคงเคยได้ยินข่าวก่อนหน้านี้เกี่ยวกับ MITx ซึ่งเป็นเว็บแพลทฟอร์มสำหรับการเรียนรู้ออนไลน์ ทำไมถึงเป็นเรื่องใหญ่ ทั้งที่การศึกษาออนไลน์ และการศึกษาทางไกลก็มีมานาน และ MIT เองก็เปิดให้สาธารณชนเข้ามาศึกษาผ่านระบบ OpenCourseWare หรือ OCW ที่ให้บริการมาเป็นสิบปีแล้ว โดย OCW เปิดให้คนทั่วไปเข้ามาดูวิดีโอบรรยาย เอกสารการบรรยาย แบบฝึกหัดและข้อสอบ

มันเป็นเรื่องใหญ่ก็เพราะ MITx ก้าวไปไกลกว่า ด้วยระบบทดสอบที่สามารถให้ฟีดแบคอัตโนมัติ แถมยังให้ประกาศณียบัตรแก่ผู้ที่สำเร็จการศึกษาด้วย นั่นหมายความว่าถ้าเรียนจบหลักสูตรวิชาใดๆ คุณสามารถเอาไปอวดชาวบ้านและอาจถึงกับเอาไปสมัครงานได้เลย สรุปง่ายๆ ว่าจุดแข็งของ MITx คือการสร้างแบรนด์ให้กับ MIT ด้วยประกาศณียบัตร และการเปลี่ยนระบบการเรียนแบบทางเดียวไปเป็นสองทางครับ เมื่อระบบมีการโต้ตอบ ผู้เรียนก็สามารถปรับปรุงตัวเองได้ เรียนรู้จากข้อผิดพลาดของตัวเองได้ MITx จะเปิดสอนวิชา Circuits and Electronics เป็นวิชาแรกในเทอมแรกของ 2012 (Fall 2012) ที่จะถึงนี้นะครับ

แต่ MIT ไม่หยุดแค่นั้น เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ยังประกาศผนึกกำลังกับHarvard เพื่อสร้าง EDx กันบ้าง ซึ่งเป็นเว็บแพลทฟอร์มโอเพนซอร์ซ นั่นหมายความว่าสถานศึกษาใดๆ ก็สามารถเอาระบบนี้ไปใช้ได้เช่นกัน และจะสามารถสร้างเครือข่ายชุมชนนักพัฒนาที่จะต่อยอดสร้างโมดูลเพิ่มเติม เหมือนชุมชนของแพลทฟอร์มโอเพนซอร์ซระบบการจัดการการสอน (learning management system หรือ lms) อย่างมูเดิล (Moodle) ได้อีกด้วย

แล้วมันต่างกับมูเดิลยังไง? สงสัยใช่ไหมครับ ส่วนตัวผมเองคิดว่ามูเดิลมีจุดแข็งเหนือ lms อื่นๆ ในตลาดตรงที่มันวางอยู่บนรากฐานของ social constructionist pedagogy ซึ่งเป็นหลักการที่ดีและเหมาะสมกับการเรียนออนไลน์หรือแม้แต่เรียนแบบผสมผสาน (hybrid/blended learning) ในขณะที่ lms ระบบอื่นๆ ไม่ได้ยืนอยู่บนหลักการการเรียนรู้ใดๆ อย่างชัดเจน แต่ปัญหามันอยู่ที่ทฤษฏีที่มูเดิลกล่าวถึงเหล่านี้มันไม่ได้ถูกบังคับไว้ในการใช้งานจริงน่ะสิครับ ทีมงานของมูเดิลเองยอมรับแบบอ้อมๆ ว่าผู้สอนควรคำนึงถึงหลักการเหล่านี้เวลาออกแบบหลักสูตร (ซึ่งแปลว่า เราไม่ได้บังคับนะจ๊ะ) เท่าที่ผมสัมผัส อาจารย์หลายท่านก็ใช้มูเดิลหรือ lms ตัวอื่นเพื่อเก็บสื่อการสอนหรือให้เด็กได้ดาวน์โหลดเอกสารการสอน อย่างมากก็ใช้ในการทดสอบออนไลน์ ซึ่งประหยัดและสะดวกกว่าการสอบด้วยกระดาษ

ตรงนี้แหละครับที่ EDx จะทำได้ดีกว่ามูเดิลหรือ lms อื่นๆ เพราะมุ่งเน้นที่การพัฒนาการศึกษาเป็นหลัก ด้วยการเชิญชวนให้มหาวิทยาลัย และสถาบันการศึกษาต่างๆ เข้ามาใช้ระบบเขา หรือเอาระบบเขาไปลงที่เซิร์ฟเวอร์ตัวเอง และทางทีมงานจะเก็บข้อมูลว่ากิจกรรมการศึกษาแบบใด เทคโนโลยีแบบใดที่เหมาะกับการเรียนการสอนทั้งในสถานศึกษาและแบบออนไลน์

คำถามถัดมาก็คือ ทำไมมหาวิทยาลัยดังๆ ถึงกล้าเปิดสื่อการสอนทุกอย่างแบบหมดเปลือก ไม่กลัวว่าใครจะลอกเลียบแบบ เหตุผลก็คือ เขารู้ว่าการเรียนการสอนในชั้นเรียน บรรยากาศในวิทยาเขต และทรัพยากรต่างๆ ที่นักศึกษาที่อยู่ในวิทยาเขตสามารถเข้าถึงนั้นมีความสำคัญอย่างมาก ที่จะ “หล่อหลอม” และ “บ่มเพาะ” ผู้เรียน ต่างกับการเรียนรู้ผ่านสื่อออนไลน์ ซึ่งผู้สนใจทั่วโลกสามารถเข้าถึงได้ แต่ต้องอาศัยความตั้งใจ แรงจูงใจ และกำลังใจอย่างมากที่จะเรียนให้จบแต่ละวิชา อย่างที่รู้ว่าการเรียนแบบออนไลน์โดยที่ผู้เรียนแต่ละคนไม่ได้เห็นหน้าค่าตากันนั้น มีเปอร์เซ็นต์การดร็อปเอ้าท์หรือเรียนไม่จบสูงกว่าการเรียนในระบบมากหลายเท่าตัว พูดง่ายๆ ก็คือ ถึงแม้จะเปิดให้เห็นสื่อการสอนทุกอย่างก็ใช่ว่าทุกคนจะมีปัญญา มีเวลา และทรัพยากรที่จะเรียนได้นั่นละครับ

สำหรับบ้านเราที่กำลังตื่นเต้นเรื่องประชาคมอาเซียนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ยังไม่ต้องหวังว่าจะไปตามเขาให้ทัน แต่ถ้าเราเอาแต่ชูนโยบายแจกแท็บเล็ต ไม่ว่าจะในระดับประถม มัธยม หรือมหาวิทยาลัย มันก็เป็นแค่นโยบายระยะสั้นนะครับ หรือการโฆษณารับสมัครนักศึกษาว่าทางมหาวิทยาลัยเรามีดารา มีคนดังมันก็เป็นกลยุทธ์ทางการตลาดเท่านั้น ผมว่าเราควรหาจุดยืนของเราให้เจอก่อนแล้วเร่งพัฒนาบุคลากรให้มีความสามารถ รู้เท่าทันเทคโนโลยีและสามารถออกแบบการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสมกับผู้เรียนในบ้านเราให้ได้ นั่นหมายถึงงานวิจัยที่จะต้องเกิดขึ้นในภูมิภาคของเราเอง เอาองค์ความรู้จากต่างประเทศมาดัดแปลงก็ได้ หรือเอาหลักการทางพุทธศาสนามาปรับใช้อย่างที่หลายโรงเรียนเขาเริ่มใช้กันก็น่าสนใจ

นโยบายระยะสั้นอย่างที่นักการเมืองเขาใช้หากินกันมันไม่พอครับ พวกนั้นเขาหวังจะเข้ามากอบโกย โกงกินกันแบบโจ๋งครึ่ม ไม่กลัวบาปกรรม และเราไม่ใช่ศูนย์เรียนพิเศษที่เปิดการทั่วเมืองที่มุ่งหวังจะเพิ่มสุญญากาศระหว่างคนรวยกับคนจน มุ่งแต่จะกอบโกยเงินจากคนมีอันจะกินโดยไม่ผลกระทบต่อสังคมโดยรวม สถาบันอุดมศึกษาต้องมองการณ์ไกล ผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพและคุณธรรม ถ้าเราไม่ทำแบบนี้ มันก็เป็นการกอบโกยทางอ้อมเหมือนกัน ว่าไหมครับ?

หมายเลขบันทึก: 487954เขียนเมื่อ 13 พฤษภาคม 2012 19:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มกราคม 2013 01:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

เป็นประโยชน์มากค่ะ ใจจดจ่อว่า คอร์สที่จะมาลง MITx คืออะไร

แต่เข้าใจว่าคอร์สที่ทำแบบนี้ได้ คงเป็นความรู้ที่มีสูตรตายตัว มากกว่าทักษะที่ต้อง "บ่มเพาะ"

ต้องยอมรับนะครับว่าวิชาที่สามารถเอามาทำหลักสูตรเรียนออนไลน์แบบอัตโนมัติ จะเป็นทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีเสียส่วนมาก เพราะด้านสังคมศาสตร์มันต้องใช้ทักษะด้านอื่นที่ยังไม่สามารถตรวจด้วยคอมพิวเตอร์ได้ หรือถ้าได้ก็ยังไม่ดีเท่าที่ควร ลองนึกถึงว่าถ้าเราต้องตอบคำถามแบบเรียงความวิชาการเมืองการปกครองแล้วให้คอมพิวเตอร์ตรวจ มันคงลำบากน่าดู

ปัญหานี้เราก็เห็นในข้อสอบ admission ของบ้านเรา ว่าทำไมสายวิทย์ ไม่ค่อยมีคนโวยวาย เพราะมันชัดเจน ส่วนสายศิลป์ จะมีปัญหามาก เพราะออกเป็นข้อสอบแบบตัวเลือกถูกผิด ส่วนมากมันวัดได้แค่ความรู้ระดับล่าง ถ้าวัดความรู้วิเคราะห์ ต้องออกแบบโจทย์ดีๆ ทำได้ครับแต่ยาก

ขอบคุณที่แวะเวียนมาทักทายนะครับคุณ ป. :)

  • ชอบแนวคิดของอาจารย์จัง
  • ใช้ Moodle มานานจนไม่ได้ใช้แล้ว
  • ตอนนี้มี http://www.classstart.org
  • อาจารย์ได้ลองใช้ไหมครับ
  • สนใจ course ที่ online ในต่างประเทศครับ
  • นักการเมืองบ้านเราทำอะไรแปลกๆนะครับ
  • แค่อาเซียน จะเริ่มปี 2558 จะทันชาวบ้านใกล้เรือนเคียงไหมเนี่ย

ผมใช้หลายกิจกรรมใน moodle และกำลังทำวิจัยการเรียนการสอนด้วย moodle ด้วยครับ ชอบที่ชุมชนนักพัฒนาเขาเข้มแข็งดี แต่เรื่องเอกสารการใช้งานยังน่าเป็นห่วง (อ่านยาก ภาษาเทคนิค) สำหรับ classstart.org ยังไม่เคยลองครับ

อาเซียนจะเริ่มแล้ว ตอนนี้ประชุมเรื่องอะไร ทำกิจกรรมอะไร เราก็ใช้เหตุผล เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับอาเซียนได้ เป็นเหตุผลครอบจักรวาลไปแล้ว ถึงเวลาจริงๆ ผมรอแค่ว่าจะไปเที่ยวแบบไม่ต้องขอวีซ่าแค่นั้นละฮะ (ฮา!)

อย่ากลัวเลยอาเซียน เรื่องภาษาอาเซี่ยน ไม่ต้องกังวลครับ เพราะเมืองไทยจะเป็นแหล่งแรงงานเสรี เพื่อนบ้านต้องเรียนรู้ภาษาไทย ที่น่าห่วงแรงงานไทย เรียนอาชีวะเพียงร้อยละ ๓
ในขณะที่ไทยผลิตบัณฑิตสายศิลปศาสตร ร้อยละ ๗๐ สายวิทยาศาสตร์(ซึ่งแนวโน้มตกงานสูง) ร้อยละ ๓๐ จึงขาดพลังคิด ผมยังห่วงเรื่อง ท้องอิ่มและยิ้มได้ มากกว่าครับ คุณภาพชีวิตจะดีขึ้นไหม ผมว่ามหาวิทยาลัยอย่ากลัวเลยกับสื่อการเรียนรู้ออนไลน์ เพราะคนไทยไม่รักการอ่านมากนัก เขาอ่านให้ก็เป็นเครดิต ของคนเขียนเพียงให้เขามีมารยาททางวิชาการ อ้างอิงที่มาก็เป็นผลงานทางวิชาการของผู้ผลิตแล้วครับ ขออนุญาตเสวานากับ ดร.ขจิต ฝอยทองผ่านที่ ดร.วสะ บูรพาเดชะ ครับผม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท