เรื่องดีที่ มวล. : Workshop แผนการสอนทางคลินิก (1)


โดยทั่วไปหลักการทำแผนการสอน ทำไว้ให้คนอื่นสอนแทนได้ แต่ในคลินิกไม่ใช่ แผนการสอนมีคุณค่า มีประโยชน์ ทำให้มีทิศทางในการสอน เพราะไปเจอโจทย์ที่ต่างกันตลอดเวลา

สืบเนื่องจากการที่ผู้ทรงคุณวุฒิจากสภาการพยาบาลมาตรวจเยี่ยมสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ของเราเมื่อวันที่ 7-8 มีนาคม 2555 (อ่านที่นี่) และให้คำแนะนำเกี่ยวกับการจัดทำแผนการสอนทั้งรายวิชาภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เรามองเห็นความสำคัญของการสอนทางคลินิก จึงรีบกำหนดจัด Workshop การจัดทำแผนการสอน (หรือแผนการจัดการเรียนรู้) ในรายวิชาปฏิบัติการพยาบาลขึ้น ในวันที่ 15-16 พฤษภาคม 2555

ผู้เข้าประชุมเป็นอาจารย์และผู้ช่วยสอนประจำสำนักวิชาฯ น่าดีใจที่อาจารย์ทั้งอาจารย์เก่าและใหม่ให้ความร่วมมือเข้าประชุม มีผู้ที่ติดภารกิจเข้าประชุมไม่ได้เพียงไม่กี่คน เสียดายที่เชิญพี่เลี้ยงในแหล่งฝึกไม่ทัน

เราชวนอาจารย์จากวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีนครศรีธรรมราชมาด้วย มีอาจารย์มาได้ 2 คน เดิมทีผู้บริหารคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ก็สนใจที่จะให้อาจารย์มาเข้าประชุมด้วย แต่ในวันนี้ที่คณะมี Professor มาจากต่างประเทศและมีการประชุม เลยไม่มีใครมาร่วมได้ เจตนาที่เราชวนอาจารย์จากสถาบันอื่นมาด้วย ก็เพื่อให้อาจารย์ได้รู้จักกันและเราจะได้เรียนรู้จากหลายสถาบัน

กิจกรรมในการประชุมเน้นการเรียนรู้จากผู้ที่มี Best practice คือ ผศ. สาระ มุขดี และอาจารย์บุญทิวา สู่วิทย์ จากคณะพยาบาลศาสตร์เกื้อการุณย์ มหาวิทยาลัยนวมิทราธิราช การเรียนรู้จากการฝึกปฏิบัติทำแผนการสอนในรายวิชาที่ตนเองรับผิดชอบ ตลอดจนการอภิปรายและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกัน

เราจัดห้องประชุมเป็นโต๊ะเก้าอี้รูปตัว U และด้านหลังห้องจัดโต๊ะสำหรับกลุ่มย่อยเล็ก ๆ เพื่อให้อาจารย์เข้ากลุ่ม ๆ ละ 3-4 คน ตามรายวิชาที่รับผิดชอบทำกิจกรรมตามใบงาน บันทึกต่อไปนี้เนื้อหาไม่สมบูรณ์ครบถ้วนเพราะบางช่วงเวลาดิฉันต้องออกไปเข้าประชุมเรื่องอื่นของมหาวิทยาลัย

วันที่ 15 พฤษภาคม 2555
เริ่มการประชุมเมื่อเวลา 09 น. ดิฉันกล่าวต้อนรับวิทยากรและผู้เข้าประชุม ชี้แจงวัตถุประสงค์ เชิญวิทยากรแนะนำตนเอง อาจารย์สาระบอกว่าการมาครั้งนี้เป็นการกตัญญูต่อ ผศ.นันทวรรณ เภาจีน อดีตผู้อำนวยการวิทยาลัยพยาบาลเกื้อการุณย์ที่เป็นผู้เสนอชื่อให้มาเป็นวิทยากร และต่อดิฉันที่เคยเป็นทีมทำงานอยู่เบื้องหลังการจัดตั้งมหาวิทยาลัยนวมิทราธิราช และเล่าว่าเคยทำงานกับ ผศ.ดร.นัยนา หนูนิล เมื่อครั้งเป็นพยาบาลวิชาชีพ ตอนนั้นได้ร่วมกันจัดกิจกรรมประกวดเด็กสุขภาพดี ที่เป็นต้นแบบของโครงการทำนองนี้ในระยะต่อมา

อาจารย์บุญทิวา เป็นอาจารย์รุ่นใหม่ กำลังเรียนปริญญาเอกด้านหลักสูตรและการวิจัย ผู้บริหารสถาบันอยากให้มาเปิดโลกทัศน์และ share idea

อาจารย์สาระเล่าว่าลูกศิษย์ที่เกื้อการุณย์ผ่านการสอบของสภาการพยาบาลกันประมาณเท่าใด สอบ Comprehensive ของสถาบันที่ไปสมทบได้ประมาณเท่าใด อาจารย์ต้องช่วยกันสอบปากเปล่าโดยจัดเป็น station แม้จะต้องใช้เวลามากแต่อาจารย์ก็ได้เรียนรู้จากนักศึกษาแล้วเอามาปรับปรุงการเรียนการสอน

ดิฉันขอให้ผู้เข้าประชุมทุกคนแนะนำตนเอง พร้อมบอกความคาดหวังที่อยากได้จากการประชุม 2 วันนี้ (BAR) อาจารย์แต่ละคนแนะนำว่าตนเองเป็นใคร อยู่สาขาวิชาอะไร จบพยาบาลจากที่ไหน เรียนอะไรต่อบ้าง มีความคาดหวังคล้าย ๆ กัน ดังนี้

  • อยากได้แผนการสอนในคลินิกที่เข้าถึงผู้เรียน (รายบุคคล) จริง แผนการสอนที่เอาไปใช้ได้จริง
  • อยากได้แบบที่เพื่อนพูด และกระบวนการที่จะทำให้เด็กสอบของสภาการพยาบาลได้เยอะ
  • กระบวนการจัดการเรียนการสอนในคลินิกที่เด็ก active และมีความสุข
  • การเขียนแผนการสอน บางทีเข้าใจทฤษฎีแต่เวลาปฏิบัติจริง...
  • แผนการสอน (2 คน)
  • แผนการสอนด้านคลินิกและการสอน
  • การดูแลเด็ก วิธีการดูแลเด็กของเกื้อการุณย์และการเขียนแผนการสอน
  • อยากเรียนรู้จากเกื้อการุณย์ (2 คน)
  • อยากรู้ว่าเวลาที่ขึ้นไปสอนในคลินิก เขาทำกันอย่างไร (อาจารย์ใหม่)
  • อยากได้ความรู้เพื่อพัฒนางาน แผนการสอนภาคปฏิบัติ
  • เทคนิคการเขียนแผนการสอน (บอกว่าเคยไปสอบเข้าเกื้อการุณย์แต่ไม่ติด เลยต้องไปเรียนที่มหาวิทยาลัยมหิดล)
  • เคยเขียนแผนการสอนมาพอสมควร อยากรู้เทคนิคการสอน
  • อยากจะ ลปรร.จาก best practice และ refresh ความรู้เรื่องการวางแผนการสอนที่จะเอาไปใช้ได้จริง (เพิ่งกลับจากลาเรียนปริญญาเอก)
  • กระบวนการทำแผนการสอนภาคปฏิบัติ ถ้าจะใช้กระบวนการเรียนรู้แบบต่าง ๆ จะเขียนอย่างไร
  • อยากได้เหมือนกับเพื่อน ๆ และอยากได้เครือข่าย
  • จะพยายามเก็บตกให้ได้มากที่สุด
  • อยากเรียนรู้ทั้งหมดเกี่ยวกับแผนการสอนและการเอาไปใช้

อาจารย์สาระเล่าว่าในที่ทำงานของตนเองนั้นตอนเริ่มต้นก็ประสบปัญหา อาจารย์ถามว่าจะทำแผนการสอนไปทำไม ไม่ได้ใช้ ไม่ได้ทำตาม ไม่ต้องมีก็สอนได้ ไม่มีอะไรเอื้อให้ใช้....ถ้าเริ่มด้วยอุปสรรค ใจไม่เปิด ไม่เห็นประโยชน์ ทำแล้วก็จะไม่ได้ใช้

โดยทั่วไปหลักการทำแผนการสอน ทำไว้ให้คนอื่นสอนแทนได้ แต่ในคลินิกไม่ใช่ แผนการสอนมีคุณค่า มีประโยชน์ ทำให้มีทิศทางในการสอน เพราะไปเจอโจทย์ที่ต่างกันตลอดเวลา จึงต้องทำแผนว่าในสาขามีเรื่องอะไรบ้าง เอาเนื้อหามาเทียบกับ blueprint ของสภาการพยาบาล ส่วนกิจกรรมต้องประยุกต์ไปตามหอผู้ป่วย ถ้าไม่มีแผนการสอน อาจารย์จะสอนตามประสบการณ์

ที่เกื้อการุณย์เมื่อทำแผนการสอนแล้วจะช่วยกันวิพากษ์ ไม่ได้ทำแผนไว้เพื่อให้สภาฯ มาตรวจ การบอกว่า “ไม่ยาก” เป็น self talk ทำให้งานเดินไปได้ ต้องกล้าให้เขาวิพากษ์ เวลามีคนมามอง งานก็จะยิ่งดีขึ้น งานนี้ไม่ใช่งานของเรา แต่เป็นงานของสาขา พี่คนโตต้องเริ่มก่อน...

ครูในคลินิกต้องอยู่กับสภาพที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เป็นการเปิดโอกาสให้ได้เรียนรู้... เวลาที่ต้องเปลี่ยนแปลงต้องเปิดมุมกว้าง อาจารย์สาระเล่าว่าที่ภาควิชาฯ อาจารย์เขียนแผนการสอนทุกคน ทำเป็นแผนการสอนกลาง ส่วนการนำไปใช้เป็นกระบวนการ

ที่มาก่อนจะเป็นแผนการสอน... ไม่ใช่ทำเพื่อใคร ทำแล้วปฏิบัติได้จริง นักศึกษาเกิดความสุข เป็นใจที่อยู่บนความไม่กลัว ทำให้ได้มาตรฐาน การที่ทุกคนมีส่วนร่วมทำให้ได้เกินมาตรฐาน... อย่าให้คนอื่นมาบีบเรา

สิ่งที่จะมาในแผนการสอน ต้องมองไปให้ถึงปรัชญาการศึกษาพยาบาล แต่ละที่ (สถาบัน) อาจมีความแตกต่างแต่ตั้งอยู่บนพื้นฐานเดียวกัน รวมทั้งมาตรฐานผลการเรียนรู้ จะเขียนอย่างไรให้รู้ว่าสอนให้เกิดอะไร ต้องมีการออกแบบ

ครูต้องจับเหตุการณ์ตรงหน้าสอนเลย ถึงในแผนการสอนเรายังไม่ได้ระบุ ก็มีบันทึกหลังการสอน (บันทึกได้เป็นรายบุคคล)... ถ้าแผนการสอนทำขึ้นด้วยเจตนาดี จะเหมือนมีชีวิต ปรับได้ แผนการสอนทั้งชุด ทุกช่องจะสอดคล้องกันหมด

อาจารย์บุญทิวาเสริมว่าการออกแบบการจัดการเรียนรู้ ต้องวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง เช่น หลักสูตร ผู้เรียน บริบทแวดล้อม... สร้างแผนการเรียนรู้ นำแผนไปปฏิบัติ และปรับปรุงแก้ไข แต่ละปีจะพัฒนาดีขึ้นเรื่อย ๆ การวิพากษ์แผนการสอนมีการทำอย่างดีเหมือนการวิพากษ์ข้อสอบ... ต้องเข้าใจผู้เรียนจริง ๆ เช่นบางคนเลี่ยงไม่เข้าหางานเพราะเขากลัว ครูก็เอื้อให้เขาพัฒนาตนเอง

วัลลา ตันตโยทัย

หมายเลขบันทึก: 488640เขียนเมื่อ 21 พฤษภาคม 2012 07:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 20:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท