หนานเกียรติ
เกียรติศักดิ์ หนานเกียรติ ม่วงมิตร

ค่ายเด็กบ้านเปร็ดใน


ค่ายลูกไม้ป่าชายเลน เป็นค่ายที่เอาเด็ก ป.4 ป.5 และ ป.6 จาก 2 โรงเรียนที่อยู่ใกล้ ๆ กัน คือโรงเรียนบ้านเปร็ดใน และโรงเรียนห้วงน้ำขาว มาเข้าค่ายด้วยกัน

การประสานความรู้ระหว่างโลกข้างนอก และโลกข้างใน

ณ ค่ายเยาวชนลูกไม้ป่าชายเลน บ้านเปร็ดใน จังหวัดตราด

ปลายเดือนก่อนมีโอกาสได้ไป “เที่ยว” ค่ายเด็ก ที่บ้านเปร็ดใน จังหวัดตราด ผ่านคำเชิญชวนของนักพัฒนาด้านการเรียนรู้ที่ชื่อว่า “ครูเอก” จตุพร  วิศิษฐ์โชติอังกูร ไม่ได้คิดว่าจะเขียนอะไร เพราะเป้าหมายหลักคือพาลูกไปเรียนรู้ และเป้าหมายรองคือไปดูป่าชายเลน แต่ด้วยความที่ถูกแนะนำว่าเป็น “วิทยากร” และแถมยังได้ใบ “ประกาศนียบัตร” (ซึ่งทุกวันนี้ยังอยู่ที่ครูเอก) มาด้วย จึงทำให้ต้องบอกเล่าถึงโอกาสที่ได้เรียนรู้เมื่อครั้งนั้น 25-27 พฤษภาคม 2555

ค่ายลูกไม้ป่าชายเลน เป็นค่ายที่เอาเด็ก ป.4 ป.5 และ ป.6 จาก 2 โรงเรียนที่อยู่ใกล้ ๆ กัน คือโรงเรียนบ้านเปร็ดใน และโรงเรียนห้วงน้ำขาว มาเข้าค่ายด้วยกัน การเรียนรู้หลัก ๆ ที่เด็ก ๆ น่าจะได้รับไปเต็ม ๆ จากกิจกรรม 3 วัน คือ ความรู้จากโลกข้างใน ความรู้จากโลกข้างนอก และการเริ่มสร้างนักอนุรักษ์ตัวน้อยขึ้นในพื้นที่ โดยการออกแบบกิจกรรมทำให้ 3 องค์ความรู้ที่ว่าประสานกันอย่างกลมกลืน และราบรื่น ท่ามกลางฝนที่ตกกระหน่ำทุกวัน ราวกับอยากจะรดน้ำพรวนดินเด็กน้อย ให้เติบโตไปพร้อมกับความรู้ที่ได้รับ

ความรู้จากโลกข้างใน : เติมความสนใจในชุมชนของตนเอง

กิจกรรมหลักในวันแรก เป็นการเปิดโลกแห่งความรู้ ไม่ใช่ความรู้ในตำรา หากแต่เป็นความรู้ที่มีอยู่แล้วในชุมชน กิจกรรมแบ่งออกเป็น 6 ฐาน เพื่อให้เด็กที่แบ่งกลุ่มไว้แล้ว 6 กลุ่มได้เวียนฐานและเรียนรู้ครบทุกฐาน ได้แก่ (1) ฐานจักสาน (2) ฐานอาหารพื้นบ้าน (3) ฐานปรุงยาสมุนไพร(4)ฐานพลังงานทางเลือก (5) ฐานป่าชายเลน และ (6)ฐานวิทยาศาสตร์ทางทะเล

4 ฐานแรก เป็นฐานที่ใช้คนอย่างคุ้มค่า ด้วยการนำเอาผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ มากให้ความรู้แก่เด็ก ๆ โดยเฉพาะ เช่น การสานพัด การทำบัวลอย การใช้พืชสมุนไพรมารักษาโรคภัยไข้เจ็บเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน การใช้ทรัพยากรใกล้ตัวอย่างพืชสมุนไพร หรือไผ่ที่นำมาทำตอกเพื่อสานพัด เป็นสิ่งที่เด็ก ๆ คุ้นเคยแต่มองข้าม เพราะไม่มีผู้ใหญ่คนไหนมาชวนเรียนรู้ หรือนั่งสอนกันในบรรยากาศสบาย ๆ อย่างในค่าย ส่วนฐานพลังงานทางเลือก เป็นองค์ความรู้ของชุมชนที่เปิดโลกของเด็ก ๆ ได้อย่างน่าทึ่ง เพราะไม่เชื่อว่า “ขยะ” ก็สามารถนำมาเป็นพลังงานได้

อีก 2 ฐาน แม้จะมีเนื้อหาหลักเป็นเรื่องของชุมชน คือป่าชายเลน และทะเล แต่ด้วยตัวองค์ความรู้ที่ต้องการถ่ายทอดให้เด็กเห็นความสำคัญจึงมีการเชิญวิทยากรจากภายนอกมาให้ความรู้เรื่องป่าชายเลน และสัตว์ทะเลที่เด็ก ๆ ประทับใจอย่าง “แพลงตอน” เพื่อเชื่อมโยงเข้าสู่การสร้างจิตวิญญาณนักอนุรักษ์ให้กับเจ้าของพื้นที่ตัวน้อย ๆ ให้เห็นความสำคัญของป่าชายเลนและสัตว์ทะเลที่อยู่ในชุมชนของพวกเขาเอง

ทั้ง 6 ฐานเป็นความรู้พื้นฐานสำหรับผู้ใหญ่ในชุมชน แต่มันอาจจะไม่ถูกถ่ายทอดไปสู่เด็ก หากค่ายนี้ไม่ได้เกิดขึ้น นอกจากนี้วิธีการถ่ายทอดแบบไม่ธรรมดายังช่วยให้เกิดความประทับใจ และประสบการณ์ที่ดีกับเด็ก ๆ อีกด้วย เนื่องจากเครื่องมือทั้ง 3 ชิ้นในการถ่ายทอดนั้น เป็นความรู้ “ใหม่” แต่ “สนุก” จนทำให้เด็ก ๆ วางแผนที่จะทำงานต่อหลังจบค่าย

เครื่องมือใหม่ ๆ : การถ่ายทอดความรู้จากโลกข้างนอก

ค่ำคืนแรก หลังจากเรียนรู้ทั้ง 6 ฐาน เด็ก ๆ ต้องออกมาเล่าสิ่งที่พวกเขาได้เรียนรู้ แต่ค่ายเด็กคราวนี้ไม่ใช้การเล่าแบบธรรมดา แต่ใช้วิธีการใหม่ ๆ ที่เด็ก ๆ ไม่คุ้นเคย นั่นก็คือ “เล่าเป็นภาพ” แรก ๆ ก็มีเขินกันบ้าง แต่วันรุ่งขึ้น ทุกคนต่างก็กระตือรือร้นที่จะพัฒนาฝีมือในการเล่าเรื่องผ่านภาพให้มากขึ้น แต่ภาพในที่นี้ไม่ใช่ภาพวาด แต่เป็นภาพที่เกิดจากการใช้ร่างกายของพวกเด็ก ๆ เอง

เช้าวันรุ่งขึ้น โปรแกรมการเรียนรู้ถูกปรับเปลี่ยนทันที เมื่อฝนซาเม็ด เพราะความหวังของทุก ๆ คนที่มาค่ายนี้ ทั้งเด็ก ๆ และวิทยากร ก็คือการได้เดินทัศนศึกษาที่ป่าชายเลนบ้านเปร็ดใน  เมื่อฝนเป็นใจทีมงานจึงปรับกิจกรรมด้วยการนำน้องออกไปเดินป่าทันที

ตลอดเส้นทางเกือบ 2 กิโลเมตร ไป – กลับเกือบ 4 กิโลเมตร เต็มไปด้วยเสียงหัวเราะ หยอกล้อ ชี้ชวนกันชมต้นไม้ โดยเฉพาะต้นที่มีชื่อคุ้น ๆ จากห้องเรียนสมุนไพรเมื่อวันวาน ดอกไม้ ปู และปลาตีน ดูจะเป็นไฮไลท์อีกส่วนหนึ่งที่เด็ก ๆ ตื่นเต้น เพราะอยากเจอมาตั้งแต่เข้าฐานป่าชายเลนวานนี้ กลับออกจากป่า (ชายเล่น) การเดิน 4 กิโลไม่ได้ทำให้เด็ก ๆ หมดแรง แต่สนุกสนาน และมีเรื่องราวพูดคุยต่อกันถึงช่วงบ่าย

 วันนี้มีกิจกรรมอีก 3 ฐาน ที่เป็นองค์ความรู้จากโลกนอกชุมชน แต่เป็นเครื่องมือที่จะสร้างทักษะการทำงานชุมชน การพัฒนาการเรียนรู้ และถ่ายทอดประสบการณ์ให้กับเด็ก ๆ ที่มาเข้าค่าย นั่นก็คือ ฐานดีเจ ฐานมัคคุเทศก์น้อย และฐานละคร

เด็ก ๆ ได้เวียนกับเข้าฐานทั้ง 3 ฐาน และเย็นย่ำของวันนั้น แต่ละกลุ่มต้องมาบอกเล่าเรื่องราวที่พวกเขาได้เรียนรู้เมื่อวานนี้ให้เพื่อน ๆ อีกเกือบ 60 คนได้รับรู้ โดยแต่ละกลุ่มต้อง “กลายร่างเป็น” ดีเจ ชักชวนท่านผู้ฟังให้มารับฟังรายการวิทยุที่บอกเล่าเรื่องป่าชายเลน เรื่องพลังงาน เรื่องยาสมุนไพร ฯลฯ เท่านั้นยังไม่พอยังต้อง “รับบทเป็น” มัคคุเทศก์น้อยนำชมชุมชนเปร็ดในในมิติต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอาหารอร่อยของเปร็ดใน บ้านไหนสานพัด สานตะกร้า หรือความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลน และสัตว์ทะเลในชุมชน การแสดงชุดสุดท้ายเด็ก ๆ “สวมวิญญาณ” นักละครด้วยการใช้ร่างกายสร้างภาพ 3 ภาพที่สื่อสารการเรียนรู้ 6 ฐานของพวกเขาได้อย่างน่าทึ่ง เช่น

กลุ่มสมุนไพร นำเสนอ

ภาพแรก                 เป็นคนป่วยจะรอดแหล่มิรอดแหล่ ไปโรงพยาบาลไม่ได้

ภาพที่สอง              เป็นภาพคนกำลังเก็บสมุนไพรมาทำยารักษาคนป่วย

ภาพที่สาม              คนป่วยหายป่วยได้จากการรักษาด้วยยาสมุนไพร

กลุ่มวิทยาศาสตร์ทางทะเล นำเสนอ

ภาพแรก    ป่าชายเลนอุดมสมบูรณ์ แพลงตอนมีอาหาร มีปลา คนมีอาหารกิน

ภาพที่สอง              ป่าถูกตัด สัตว์ทะเลไม่มีอาหาร ค่อย ๆ ล้มตาย

ภาพที่สาม              แพลงตอนตาย ปลาตาย คนตาย

นี่เป็นเพียงตัวอย่างการนำเสนอของเด็ก ๆ ที่ไม่ต้องบอกให้ยืดยาวว่าพวกเขาได้เรียนรู้อะไร เพราะสิ่งที่พวกเขาได้เรียนรู้นั้นสะท้อนออกมาทั้งความรู้จากคนรุ่นปู่ย่าตายายที่ถ่ายทอดผ่านฐานความรู้ทั้งหก และการเรียนรู้เพียงวันเดียวยังทำให้พวกเขาสามารถใช้เครื่องมือที่ไม่คุ้นเคยอย่างละครถ่ายทอดเรื่องราวหรือสิ่งที่พวกเขาเข้าใจได้อย่างเห็นภาพ

วันที่ 3 เป็นกิจกรรมสนุกสนานอย่างการเล่นเกมส์ ตอบคำถาม และสร้างพันธะสัญญาในการทำงานต่อด้วยการให้เด็ก ๆ ลองคิดโครงการที่อยากทำแล้วนำไปมอบให้กับมือคุณครู อีกทั้งยังเชิญชวนผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนมาร่วมสนุกและมีส่วนร่วมกับชุมชนด้วยการแสดงวิถีพื้นบ้านเช่น การฝัดข้าว การร้องเพลงกลองยาว ฯลฯ อีกทั้งการสร้างกำลังใจในการเรียนรู้ให้มากขึ้นด้วยคำสอน “บทบาทของเยาวชนกับการอนุรักษ์” โดย พระอาจารย์สุบิน ปณีโต และมอบประกาศนียบัตรปิดท้ายก่อนจากกัน

ค่ายเด็กครั้งนี้ นอกจากการให้ความรู้กับเด็ก ๆ แล้ว ยังเป็นการสร้างคุณค่า ความภูมิใจให้กับผู้เฒ่าผู้แก่และปราชญ์ชุมชนอย่างเห็นได้ขัด ขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้เครือข่ายความร่วมมือเล็ก ๆ และความสัมพันธ์ทั้งในและระหว่างชุมชนได้เกิดขึ้น ทั้งระหว่างเด็กกับเด็ก เด็กกับครู ครูกับครู ครูกับผู้ปกครอง

ป่าชายเลนบ้านเปร็ดในวันนี้ฉ่ำไปด้วยฝน...ที่นอกจากจะรดน้ำให้ต้นไม้เติบโต ยังสร้างความชุ่มชื่นใจให้กับคนที่ได้มาพบเห็นเยาวชนของที่นี่ ที่น่าจะเติบโตขึ้น งอกงามขึ้น ด้วยจิตใจของนักอนุรักษ์ตัวน้อย เป็นเยาวชนที่เข้มแข็ง มั่นคง ดังเช่นป่า และชุมชนของพวกเขา


หมายเลขบันทึก: 489885เขียนเมื่อ 2 มิถุนายน 2012 18:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 03:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

เรียนอาจารย์กวาง.... ผมเตรียมกลอนโนห์รา ที่ชื่อว่ากลอนความจริงไปฝาก กะว่าจะได้ร้องโนราให้ฟังคั่นรายการ

จึงขอนำมาฝากไว้ในบันทึกอาจารย์ กวาง(หมายเหตุ เห็นชื่อหนานเกียรติ ขึ้นที่หน้าบ้านโกทูโนว์ รีบเข้าอ่าน แล้วหวนให้นึกถึงกิจกรรมค่ายที่ร่วมกันมา)

สิบนิ้วพนมบังคมมนัส//
ขอกล่าวเจนจัดประวัติความจริง //
ตัวผมเป็นชายไม่ใช่เป็นหญิง//
ประวัติความจริง จริงจังดังกล่าว // เด็กเกิดสามวันไม่ทันเต็มสาว// ผู้ชายรุ่นบาวไม่เฒ่าไม่แก // นครพระธาตุไม่ใช่ตลาดญวนแหล // พลูกำสีแบ้ทางแค่ไม่ไกล//
ขวานทำด้วยเหล็กถ้าเล่มเล็กก้าไม่ใหญ่ / /จีนไม่ใช่ไทยไม้ไผไม่มีแกน // มะพร้าวหนึ่งลาย
นับได้ไม่ถึงแสน // ลูกเป็ดปากแบนสิบแสนหนึ่งล้าน // ส้มแป้นลูกเขียวไม่เปรี้ยวก้าหวาน // แกเพราะเกิดนานหัวล้านไม่มีผม//
ไม่ใสเหล็กกล้ามีดพร้าไม่คม // ไม้เหลียมไม่กลมของหวานไม่ขม//
ลมไม่มีตัว เต่าไม่มีหูปูไม่มีหัว/// ลูกควายลูกวัวสองตัวแปดตีน // ศักดิ์สิทธิ์เป็นทวดลูกกรวดเป็นหีน // พ่อไทยแม่จีนได้ลูกบาบา // ที่มืดไม่หวางผ้าบางไม่หนา//
ของมีราคาถ้าซื้อถูกก้าไม่แพง //
แดดออกแดงแดงของแข็งไม่นวล / / ไม่มีเพื่อนสองราต้องเดินแต่สวน // หลงทางเพราะทวนพร้าด้วนไม่มีกั้น // ในขุมอบายไม่ใช่สวรรค์ // กลางคืนกลางวันผิดกันคนละอย่าง // ลูกวัวพอหัดไถไม่ใหญเท่าช้าง // คนอยู่ด้านล่างหวันอยู่ด้านบน // ปืนดังเพราะเสียงหวันเที่ยงวันละหน// หวันอยู่ด้านบนล่ะคนเดินตีนลง'

ขอบคุณมากค่ะบัง หนูใช้ไม่เป็นหรอกค่ะ gotoknow เนี่ยะ เข้ามาเพราะคิดว่าจะส่งการบ้านอาจารย์เอก พิมพ์ไปก็ไม่รู้ว่าติดหรือเปล่า แต่ถ้าบังได้อ่าน จารย์เอกเขาก็คงได้อ่าน แหะ แหะ เสียดายวันนั้นไม่ได้ร้องอ่ะ อยากฟังร้องสด คงมีโอกาสเจอกันอีกนะคะ

สวัสดีค่ะอาจารย์กวาง

  • เห็น "หนานเกียรติ" ออนไลน์อยู่ก็แวะมาดู
  • ดีใจค่ะที่เจออาจารย์กวางที่นี่
  • น้องเฌวาคงได้เรียนรู้เรื่องป่าชายเลนและเรื่องอื่น ๆ อย่างสนุกสนาน
  • อยากเห็นภาพหลานสาวจัง
  • ขอบคุณนะคะที่แบ่งปัน ขอให้อาจารย์กวางและหลานเฌวา มีความสุขเสมอ ๆ นะคะ

เห็นภาพคุณหนานเกียรติออนไลน์แล้วหวนระลึกถึงบทความดีๆ ที่คุณหนานเกียรติแบ่งปันให้อ่านเสมอๆ ครับ ดีใจที่ได้อ่านบันทึกจากอาจารย์กวางครับ

ขอบคุณค่ะอ.กวางสำหรับเรื่องเล่าที่เร้าพลังที่ร่วมสร้างเด็กไทยตัวน้อยๆ ทั้งหลายให้เห็นโลกของป่าชายเลน

 

ส่วนการใส่รูปใน GotoKnow จะเป็นลักษณะแบบ File sharing นะคะ คือ upload ครั้งเดียวนำไปใช้ได้หลายต่อหลายครั้งค่ะ และจะติดตัวไปทุกที่ใน GotoKnow ให้ใช้ได้อย่างสะดวกค่ะ อ่านคู่มือฉบับย่อได้ที่นี่นะคะ http://co1la8ji.gotoknow.org/assets/media/files/000/786/274/original_GotoKnow_KM_Manual.pdf

  • ดีใจที่น้องกวางเข้ามาเล่าเรื่องดีๆที่นี่..หลานเฌวาคงโตมากขึ้นแล้ว..ได้ออกทัศนศึกษากับคุณแม่ด้วย

  • มาเขียนบ่อยๆนะคะ..

ยังทำไม่ค่อยเป็นนะคะ จะค่อย ๆ หัดทำไป ขอบคุณทุกท่านมาก ๆ ค่ะ เริ่มต้นด้วยจะพยายามเอารูปเฌวามาลงให้ดูกันนะคะ


สวัสดีปีใหม่ นะครับ อาจารย์ กวาง ครับ

เห็นรูปสาวน้อยแล้ว....น่ารักมากเลยนะครับ

ด้วยความระลึกถึง นะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท