เรื่องเล่า "พาศิษย์สู่ทักษะอนาคต" ของ ครูชำเลือง รร.วัดไชยนาราษฎร์


       ขอนำเรื่องเล่าดีๆ "พาศิษย์สู่ทักษะอนาคต" ของครูเพื่อศิษย์ คุณครูชำเลือง กลิ่นลำดวน รร.วัดไชยนาราษฎร์  จ.สุพรรณบุรี  มาเผยแพร่ต่อนะคะ

....................................................................................

       ดิฉันนำความรู้ที่ได้จากเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์มาใช้ในโรงเรียน โดยการถ่ายทอดให้เพื่อนครูในโรงเรียน  ถ่ายทอดให้นักเรียนที่สอน โดยการเปิดวงสนทนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เริ่มจากการคิดหารูปแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อให้ทุกคนมีความสุขในการเรียน  นักเรียนต่างเสนอแนวทางให้ทุกคนมีความรักเพื่อน  รู้จักช่วยเหลือเพื่อน  รู้จักการให้อภัยและเสียสละ  มองหาข้อดีข้อเสียของตนเอง  มองหาข้อดีของเพื่อน  กำจัดสิ่งไม่ดีออกไป  เรียนแบบช่วยเหลือกัน  เพื่อนช่วยเพื่อน  พี่สอนน้อง  และคิดโครงการผักสวนครัวเพื่ออาหารกลางวัน  ดำเนินการตามโครงการแบ่งกลุ่มนักเรียนเพื่อรับผิดชอบแปลงผัก ปลูกผักบุ้งจีน  โหระพา  กระเพรา  พริกขี้หนู  มะเขือเทศ  คะน้า  กวางตุ้ง  ตะไคร้  แตงกวา  ฟัก  ผู้ปกครองนักเรียนร่วมสนับสนุน  นำต้นมะกรูด  มะเขือ มาให้ บางคนนำเมล็ดฟักทอง  ฟัก มาให้  นักเรียนช่วยกันหาตำลึงมาปลูก  มีการเพาะเห็ดสำหรับอาหารกลางวัน หากออกปริมาณมากจึงเก็บขาย   มีการทำไข่เค็ม  เนื่องจากในชุมชนมีฟาร์มไก่หลายแห่ง  ร.ร. วัดไชยนาราษฎร์ เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก มีนักเรียน 62  คน  ครูไม่เพียงพอกับชั้นเรียน จึงเรียนแบบรวมชั้น ครูชำเลือง  กลิ่นลำดวน  เป็นครูประจำชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และปีที่ 6      สอนทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ จัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ  ใช้ชีวิตตามวิถีชุมชน  ทุกวันพระพานักเรียนไปทำบุญที่วัด  ให้นักเรียนแต่งชุดขาวทุกวันพระ  ชาวบ้านจะได้เห็นเป็นสัญลักษณ์ของวันพระ  ทำบุญเสร็จจึงกลับมาเรียนตามปกติ  เมื่อได้ไปอบรม “สร้างชุมชนการเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์ หรือ PLC”  ตั้งใจจะนำความรู้มาพัฒนาการเรียนการสอน  สร้างโรงเรียนสอนคนให้ช่วยเหลือตนเองก่อนจะขอความช่วยเหลือจากคนอื่น  เมืองไทยมีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ น้ำดี  ดินดี  หากเด็กขยัน รักการปลูกต้นไม้ เราจะมีอาหารอุดมสมบูรณ์ ท้องอิ่ม  สติปัญญาก็จะดี  ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้เรามีเหตุผล มีความพอประมาณ และมีภูมิคุ้มกันที่ดี  ผลที่ตามมาคือ ชีวิตจะเต็มไปด้วยความสุข

            สิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นตาม หรือเกินที่หวัง คือ เด็กมีความรับผิดชอบมากขึ้น  รักการทำงาน  มีทักษะในการทำงาน  เกิดความภาคภูมิใจในตนเอง  มีความเอื้ออาทรระหว่างเพื่อน   นักเรียนมาโรงเรียนแต่เช้าเฝ้าดูการเจริญเติบโตของผัก  รดน้ำผัก  กำจัดวัชพืช   หาปุ๋ยมาใส่ผัก  เด็กบางคนไปเล่าให้ผู้ปกครองฟังว่าการปลูกเห็ดทำง่าย อยากให้นำเห็ดไปเพาะที่บ้าน 

            อื่นๆ ที่อยากบอก  การเรียนรู้ที่เกิดจากการกระทำ  ได้ลงมือปฏิบัติ  ทำให้เด็กได้รู้ปัญหา  รู้จักแก้ปัญหา  เป็นความรู้ที่ทำให้เกิดปัญญา และเกิดทักษะในการทำงาน   ความสุขอยู่ที่ใจ แม้ไม่มีเงินทองมากมาย แต่เมื่อตื่นขึ้นมาทุกวันมีโอกาสได้ทำสิ่งดีๆเพื่อคนอื่น  มีโอกาสสะสมบุญ  ใจรู้จักคำว่าพอเพียง นั่นคือความสุขที่คนบางคนตลอดทั้งชีวิตอาจไม่มีวันพบเจอ  แต่ครูสามารถพบเจอสิ่งเหล่านี้ได้ในทุกวันของชีวิต  ด้วยรักและศรัทธาในวิชาชีพครู

 

หมายเลขบันทึก: 490941เขียนเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 11:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 02:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท