ชวนคิด ชวนดู ชวนรู้ เรื่องงาน : KM Inside (3) Research Center Open House


“งานวิจัย ถ้าจะทำให้ดีต้องชอบ” อย่าฝืน

 

Research Center Open House : เปิดบ้านวิจัย  เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับประสบการณ์ของการทำงานวิจัย ผลงานที่ทำสำเร็จ Process ของการทำงานวิจัย พร้อมยกตัวอย่างเส้นทางสู่ความสำเร็จอย่างง่ายของคณาจารย์


ในการเปิดบ้านวิจัยครั้งที่ 1 Team KM ได้เรียนเชิญ รศ.ดร.ภญ.ศิริพร  โอโกโนกิ   หัวหน้าโครงการวิจัย RESEARCH AND DEVELOPMENT OF DRUGS AND PRODUCTS FROM BIORESOURCES  มาเล่าเกี่ยวกับการทำวิจัยให้ฟัง


ในวันดังกล่าว ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าฟัง และได้ทำบันทึกการแชร์ประสบการณ์ในวันนั้น จึงอยากนำมาเล่าให้ฟัง


โครงการเติมเต็ม KM  เกี่ยวกับการเรียนการสอน การวิจัย  และกระบวนการทำงาน

กิจกรรม “ Research Center Open House : เปิดบ้านวิจัย ครั้งที่ 1/2554

วันพฤหัสบดีที่  24  พฤศจิกายน  2554  เวลา 12.00 13.00 น.

ณ  ห้องประชุม 2 และห้องโครงการวิจัยฯ

 

โดยมี  รองศาสตราจารย์ ดร. ภญ.ศิริพร  โอโกโนกิ 

หัวหน้ากลุ่มวิจัย Research and Development of Drugs and Products from Bioresources      เป็นผู้นำเสนอและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ 

และ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายประกันคุณภาพการศึกษาและพัฒนาบุคลากร

(ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ภญ.รัตนาภรณ์  อาวิพันธ์) เป็นผู้นำกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

 

ผู้เข้าร่วมเป็นคณาจารย์ และผู้สนใจ  โดยรูปแบบเป็นการนำเสนอความเป็นมาของกลุ่มวิจัย  พันธกิจของกลุ่มฯ  ประสบการณ์ ตลอดจนกระบวนการต่าง ๆ ที่ทำให้กลุ่ม และโครงการวิจัย ประสบผลสำเร็จ รวมถึงผลงานที่สำเร็จ เครือข่ายที่เกิดขึ้น เป็นต้น  และเปิดเวทีให้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ โดยเฉพาะ Process ของการทำงานที่เป็นหัวใจสำคัญ เป็น How to ที่จะเป็นประโยชน์ต่อนักวิจัยรุ่นใหม่ ๆ ได้เรียนรู้ และสร้างกำลังใจในการที่จะเป็นนักวิจัยที่ประสบความสำเร็จได้ 

 

เริ่มต้นด้วย ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายประกันคุณภาพการศึกษาและพัฒนาบุคลากร (ผศ.ดร.รัตนาภรณ์ อาวิพันธ์)  เกริ่นนำวัตถุประสงค์การมีเวทีในครั้งนี้  เป็นการเปิดบ้านวิจัยที่จะนำกลุ่มวิจัยต่าง ๆ ที่มีอยู่ในคณะ ให้เป็นที่รู้จัก เพราะเล็งเห็นว่า แต่ละกลุ่มวิจัยที่มีอยู่นั้น ล้วนเป็นกลุ่มที่ดีทั้งสิ้น  การเปิดเวทีในวันนี้เป็นการนำสิ่งที่ดีมาเล่าสู่กันฟัง  เราจะได้เห็นกระบวนการต่าง ๆ ของกลุ่มแต่ละกลุ่มว่ามีความเป็นมาอย่างไร แต่ละกระบวนการที่เกิดขึ้นภายในกลุ่มวิจัยนั้น ประสบความสำเร็จอย่างไร มีอะไรที่เป็นเกร็ด เป็น How to ที่จะสามารถให้น้อง ๆ ที่เป็นอาจารย์รุ่นใหม่ได้เรียนรู้ และสามารถนำไปปรับใช้ได้  และในวันนี้ก็ได้รับโอกาสอันดีจาก รศ.ดร.ภญ.ศิริพร  โอโกโนกิ  หัวหน้ากลุ่มวิจัยนำร่องในการเปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เปิดบ้านวิจัยของเราเป็นกลุ่มแรก  


 

รศ.ดร.ภญ.ศิริพร  โอโกโนกิ  ได้เกริ่นนำว่า เป็นคนพูดไม่ค่อยเก่ง  ต้องมีเครื่องมือที่จะช่วยในการนำเสนอ จึงขอใช้ระบบ IT โดยจัดทำ powerpoint เป็นตัวช่วยในการนำเสนอครั้งนี้  ก่อนอื่นขอบอกว่า เมื่อได้รับปากว่าจะทำแล้วก็เหมือนทุกข์  เพราะภารกิจมากมาย และต้องมาจัดเตรียมการนำเสนอ  แต่ก็ต้องทำ  เพราะคิดว่าเป็นประโยชน์ต่อน้อง ๆ ต่อไป

 

RESEARCH and

DEVELOPMENT of

DRUGS and

PRODUCTS from

BIORESOURCES
RDDPB

 

อาจารย์กล่าวต่อไปอีกว่า ชื่อของกลุ่มวิจัยนั้นยาวมาก บางครั้งก็จำไม่ได้  ที่มาของกลุ่มเริ่มตั้งแต่สมัย      รศ.ดร.ภญ.จรัสพรรณ  สงวนเสริมศรี  เป็นคณบดี รศ.ดร.จรัสพรรณฯ เล็งเห็นว่า ถ้าต่างคนต่างทำงานวิจัย อนาคตงานวิจัยของคณะจะไม่ก้าวไกล เพราะอาจจะเป็นงานวิจัยเล็ก ๆ ที่ไม่สามารถให้คำตอบที่เป็นประโยชน์ในระดับชาติได้  จึงคิดว่าน่าจะมีการสนับสนุนให้ทำวิจัยแบบบูรณาการ โดยสนับสนุนให้นักวิจัยแต่ละคนในคณะรวมกลุ่มกัน เขียนข้อเสนอโครงการวิจัยขนาดใหญ่เพื่อขอทุนวิจัยระดับชาติ มาร่วมกันทำวิจัยและตอบปัญหาระดับชาติได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งในสมัยนั้น รศ.ดร.ภก.จักรพันธ์  ศิริธัญญาลักษณ์ เป็นรองคณบดีฝ่ายวิจัยฯ ได้สนองนโยบายโดยการจัดพื้นที่ในคณะให้แก่กลุ่มวิจัยต่าง ๆ ที่มีความพร้อม  สำหรับกลุ่มวิจัยกลุ่มนี้ก็มีพื้นที่ดังที่เห็นในปัจจุบันนี้   ในระยะแรกกลุ่มวิจัยนี้ประกอบด้วย  5  นักวิจัยหลัก ได้แก่ รศ.ดร. ศิริพร โอโกโนกิ   รศ.ดร.จักรพันธ์ ศิริธัญญาลักษณ์   รศ.ดร.บุษบัน ศิริธัญญาลักษณ์  รศ.ดร.ภก.   วิรัตน์ นิวัฒนนันท์  และรศ.ดร.ภญ.กนกพร  นิวัฒนนันท์   ต่อมาก็มี Young staff เช่น ผศ.ดร.ทรงวุฒิ    ยศวิมลวัฒน์ ผศ.ดร.สมบัติ เชาวนพูนผล และผศ.ดร.ชฎารัตน์  อัมพะเศวต เข้ามาร่วมอยู่ในกลุ่มในฐานะนักวิจัยหลักด้วย  

 

วัตถุประสงค์  ของโครงการคือ 1. เพื่อวิจัยและพัฒนา ยา/ผลิตภัณฑ์ยาจากชีวทรัพยากร  2. เพื่อสร้าง/ขยายเครือข่ายความร่วมมือการวิจัยในระดับชาติ/นานาชาติ  3. เพื่อพัฒนา/ผลิตนักวิจัยรุ่นใหม่ และ 4. เพื่อเผยแพร่/บริการองค์ความรู้ (ใหม่) สู่ภาครัฐ/เอกชน  ทางกลุ่มวิจัยพยายามทำวิจัยเพื่อแข่งขันในระดับ Inter ไม่แข่งระดับ local  ชื่อกลุ่มวิจัยนั้นมาจากวัตถุประสงค์ข้อแรก  เป็นชื่อที่ยาวมาก ๆ หลังจากตั้งกลุ่มวิจัยแล้วก็สามารถเขียนข้อเสนอโครงการใหญ่ ๆ โดยส่งผ่านคณบดีในสมัยนั้นคือ รศ.ดร.จรัสพรรณฯ ท่านได้กรุณาช่วยเหลือโดยนำข้อเสนอส่งตรงไปยังสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ในตอนนั้นก็ได้ทุนมารวมแล้วหลายล้าน  ได้เครื่องมือด้วย  เมื่อทำวิจัยมาได้ระดับหนึ่ง  เริ่มมีความเข็มแข็ง  จึงเพิ่มวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการวิจัยเพิ่มขึ้นคือ เพิ่มการสร้างเครือข่าย  และต่อมาก็สอนในระดับบัณฑิตศึกษาได้  สร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ได้  ได้ Product  ได้องค์ความรู้  สร้างความร่วมมือกับเอกชน เป็นต้น

 

สถานที่ทำวิจัยของโครงการ  คณะได้จัดสรรพื้นที่ให้ และใช้ชื่อห้องว่า ห้องวิจัยกลาง 1

ซึ่งแรกเริ่มนั้น กลุ่มวิจัยมีโครงการวิจัยขนาดใหญ่เพียง  3  โครงการ ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากแหล่งทุนหลาย ๆ แห่ง

 

โครงการวิจัย ทั้ง 3 โครงการ มีดังนี้

  • โครงการพัฒนาเคมีทางยาจากสมุนไพร
  • โครงการวิจัยและพัฒนาพืชสมุนไพร
  • โครงการวิจัยการใช้แป้งจากแหล่งผลิตในประเทศเพื่อพัฒนาตำรับยาแบบสลายตัวทางชีวภาพในการรักษาโรคปริทันต์และโรคผิวหนัง

 

ต่อมาได้มีโครงการวิจัยเพิ่มขึ้นอีก ได้แก่

  • โครงการวิจัยพัฒนาตำรับซินไบโอติกส์
  • โครงการวิจัยนาโนเทคโนโลยีเพื่อประยุกต์ใช้นำส่งตัวยาและสารออกฤทธิ์จากพืชสมุนไพร
  • โครงการทดสอบฤทธิ์ทางชีววิทยาของสารสกัดจากชีวทรัพยากร

 

อาจารย์ได้บอกในสิ่งที่อยากจะบอกว่า  งานวิจัย ถ้าจะทำให้ดีต้องชอบ อย่าฝืน

ประกอบกับตัวเองเป็นคนที่ชอบศึกษาเกี่ยวกับฤทธิ์ต่าง ๆ ที่หลากหลาย  จึงมีโอกาสได้ทำต่อยอดวิจัย    สิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ เราต้องมีเครือข่าย ไม่ว่าจะเป็นภายในประเทศ บุคคล กลุ่มฯลฯ  และเครือข่ายภายนอกประเทศ  ซึ่งมองเห็นว่า ประโยชน์ของเครือข่ายทำให้การวิจัยคล่องตัวมากขึ้น การมีเครือข่ายเป็นการง่ายที่จะติดต่อกับ Professor ต่าง ๆ และเกิดความร่วมมือ เช่น  การแลกเปลี่ยนนักศึกษา (student exchange) และการแลกเปลี่ยนอาจารย์ (staff exchange) เป็นต้น 

 

 

เครือข่ายในประเทศที่กลุ่มวิจัยมีการติดต่อกันอยู่เป็นประจำได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  มหาวิทยาลัยมหิดล  มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง  มหาวิยาลัยศิลปากร  มหาวิทยาลัยนเรศวร  มหาวิทยาลัยแม่โจ้  ส่วนเครือข่ายในต่างประเทศ ได้แก่ University of Tokyo,  Universty of Utrecht,   University of Utah,  University of Kansas,  University of Otago,  University of Berlin,  University of Vienna,  University of Innsbruck,  Chiba University,  และ Kobe Gakuin University  เป็นต้น  โดยอาจารย์ที่เป็นหัวหน้าหรือตัวแทนของเครือข่ายจะมีการติดต่อกันเสมอมา

 

อาจารย์ได้กล่าวถึงงานวิจัยที่ทำที่มีความหลากหลาย ด้านสมุนไพรนั้น ในส่วนของ Product  ส่วนมากออกมาเป็น bio-extract   จึงต้องมีการทำต่อยอดต่อไป และผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่เป็นแบบ topical

 

อาจารย์ที่เป็นนักวิจัยหลักในกลุ่มสามารถทำหน้าที่เป็น Mentor และ  Advisor   นับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน กลุ่มวิจัยได้ผลิตนักศึกษาระดับปริญญาเอกที่สำเร็จไปแล้ว จำนวน  7  คน  ระดับปริญญาโท  10  คน  ปัจจุบันมีที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาเอก  10  คน  และกำลังศึกษาระดับปริญญาโท  6  คน

 

Key word :

  • การทำวิจัย  ต้องมีความรัก ความชอบ  ต้องไม่ฝืน  ถึงจะทำให้งานวิจัยประสบผลสำเร็จตามที่ตั้งไว้
  • การรวมกลุ่มนักวิจัยที่มีความชำนาญแตกต่างกัน จะช่วยให้งานวิจัยถึงเป้าหมายที่วางไว้อย่างสมบูรณ์  และการเสนอขอทุนแบบบูรณาการก็จะได้รับการพิจารณาง่ายขึ้น
  • การมีเครือข่ายจะช่วยให้การทำวิจัยมีความคล่องตัว รวมถึงการเสนอขอทุนศึกษาต่อของนักศึกษา  การเป็นสถานที่ดูงาน การแลกเปลี่ยนนักวิจัย  เพื่อพัฒนางานวิจัยไปสู่สากล
  • การได้รับการสนับสนุนจากคณะ ไม่ว่าจะเป็นห้องวิจัย เครื่องมือ หรือโอกาส จะช่วยให้เราประสบความสำเร็จในการวิจัยได้
  • การวิจัย เริ่มจากวิจัยเล็ก ๆ จากทุนเล็ก ๆ ก็สามารถพัฒนาต่อยอดเป็นบูรณาการ หรือการเสนอขอทุนในระดับประเทศ ในระดับนานาชาติได้
  • การได้เรียนรู้ความสำเร็จด้วยตนเอง จะนำไปสู่ความสำเร็จในระดับที่ใหญ่ขึ้น
  • การวิจัยที่ทำ ไม่ใช่จะพัฒนาแต่ตัวเนื้อวิจัย หรือผลิตภัณฑ์ แต่เรายังพัฒนาคนเพื่อเป็นนักวิจัยต่อไปทั้งในระดับปริญญาโท และปริญญาเอก

 

ผลงานของโครงการ


ส่วนหนึ่งของห้อง Lab



สิ่งที่ได้เรียนรู้ในวันนี้จะเห็นภารการเริ่มวิจัยจากเล็ก ๆ ไปสู่ภาพใหญ่ การวิจัยเริ่มต้นจากที่เราสนใจ การได้โอกาส ความต้องการที่จะเรียนรู้และพัฒนา เพื่อการต่อยอด จะนำมาซึ่งการพัฒนาที่ก้าวหน้าและนำไปสู่ความยั่งยืนต่อไป ตราบที่เรายังมีไฟและปัจจัยที่เกื้อกูลกัน


 

หมายเลขบันทึก: 491269เขียนเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 14:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 มิถุนายน 2012 16:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ขอบคุณมาก สำหรับบทความดีดีนี้คะ

ขอบคุณมากค่ะที่นำมาแบ่งปัน เป็นประโยชน์มากมาย

ขอบพระคุณอาจารย์หมอ  นะคะ

มาให้กำลังใจเสมอค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท